จับตาโค้งสุดท้ายสัญญา TOR ใหม่ เปิดโอกาสรายเล็กชิงเค้กรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 เม.ย. 2560 | อ่านแล้ว 2355 ครั้ง

จับตาโค้งสุดท้ายสัญญา TOR ใหม่ เปิดโอกาสรายเล็กชิงเค้กรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง

บทวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ จับตาการแก้ไขสัญญา TOR และสั่งการดำเนินการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบฯ, ประจวบฯ-ชุมพร, มาบกะเบา-จิระ, ลพบุรี-ปากน้ำโพ มูลค่ารวม 97,783 ล้านบาท เชื่อการแข่งขันจะทวีความเข้มข้นขึ้น ผู้รับเหมาขนาดกลางจะมีความพร้อมมากขึ้น-มีความได้เปรียบเชิงสถานที่ตั้ง เนื่องจากผู้รับเหมาขนาดกลางมักกระจายตัวอยู่ต่างจังหวัดจึงใกล้กับเส้นทางรถไฟทางคู่มากกว่ารายใหญ่ที่มักอยู่ในกรุงเทพฯ ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ออกบทวิเคราะห์ประจำวันที่ 31 มี.ค. 2560 ระบุว่าคณะรัฐมนตรีรับทราบการแก้ไขสัญญา TOR และสั่งการดำเนินการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ภายใน 3 เดือน ประกอบด้วย นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบฯ, ประจวบฯ-ชุมพร, มาบกะเบา-จิระ, และลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทางทั้งหมดราว 670 กิโลเมตร มูลค่ารวม 97,783 ล้านบาท ซึ่งจากเดิมแบ่งเป็นเส้นทางละสัญญา โดยมีมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป เปลี่ยนเป็นสัญญาย่อยทั้งหมด 13 สัญญา ทำให้แต่ละสัญญามีมูลค่าลดลงอยู่ที่ 5,000-10,000 ล้านบาทต่อสัญญา ประกอบด้วย งานโยธาและราง 9 สัญญา งานก่อสร้างอุโมงค์ 1 สัญญา และงานระบบอาณัติสัญญาณ 3 สัญญา รวมถึงลดข้อกำหนดด้านประสบการณ์ของผู้รับเหมาจากเดิม 15% เป็น 10% ของมูลค่าโครงการ และยกเลิกข้อกำหนดที่เอกชนต้องส่งมอบเครื่องมือเครื่องจักรคืนแก่ รฟท.

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์มองว่า สัญญา TOR ใหม่จะเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาขนาดกลางเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ด้วยมูลค่างานโยธาและงานรางที่สูงถึงราว 85,000 ล้านบาท หรือราว 85% ของมูลค่างานรวม ซึ่งจูงใจให้ผู้รับเหมาสนใจประมูลงานจำนวนมาก แต่ด้วยข้อจำกัดด้านประสบการณ์และลักษณะสัญญาเดิมที่ผู้รับเหมาต้องรับงานทั้งหมดคืองานโยธา งานรางและอาณัติสัญญาณ ทำให้ผู้รับเหมาบางรายอาจพลาดโอกาสไป อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับ TOR ใหม่จึงเปิดโอกาสแก่ผู้รับเหมามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดข้อกำหนดด้านประสบการณ์และมูลค่างานที่ลดลง รวมถึงการแบ่งสัญญางานโยธาและงานอาณัติสัญญาณออกจากกันส่งผลให้ผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 8 ราย เป็นกว่า 20 ราย

นอกจากนี้ การยกเลิกข้อกำหนดที่เอกชนต้องส่งมอบเครื่องมือเครื่องจักรคืนแก่ รฟท. ยังทำให้ผู้รับเหมาไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่และมีความพร้อมมากขึ้นในการรับงานถัดไปในอนาคต

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์มองว่าการแข่งขันเพื่อรับงานรถไฟทางคู่ในอนาคตจะทวีความเข้มข้นขึ้น เนื่องจากผู้รับเหมาขนาดกลางจะมีความพร้อมมากขึ้นทั้งด้านประสบการณ์และเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง รวมถึงด้านความได้เปรียบเชิงสถานที่ตั้ง เนื่องจากผู้รับเหมาขนาดกลางมักกระจายตัวอยู่ต่างจังหวัดจึงใกล้กับเส้นทางรถไฟทางคู่มากกว่ารายใหญ่ที่มักอยู่ในกรุงเทพฯ

ทั้งนี้การแก้ไขสัญญา TOR ใหม่ส่งผลกระทบต่อการรับรู้รายได้ของผู้ประกอบการระบบอาณัติสัญญาณในปี 2017 เนื่องจากการแยกระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานโยธาและงานรางส่งผลให้การติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณจะเริ่มหลังจากงานโยธาและงานรางแล้วเสร็จ ดังนั้นผู้ประกอบการระบบอาณัติสัญญาณจึงเริ่มงานช้ากว่าเดิม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: