ผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษา ประกาศเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (แคปซีล) กระตุ้นประชาชนเข้าใจและเห็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วหันมาซื้อน้ำดื่มที่ไม่มีแคปซีลมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มทั้งหมดเลิกใช้แคปซีลภายในปี 2562 ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2560 ว่านางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตขวดพลาสติกน้ำดื่มประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปี มีสัดส่วนการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (แคปซีล) ร้อยละ 60 หรือประมาณ 2,600 ล้านขวด ก่อให้เกิดขยะพลาสติก 2,600 ล้านชิ้นต่อปี หรือประมาณร้อยละ 60 คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 520 ตันต่อปี เมื่อคิดเป็นความยาว 260,000 กิโลเมตร หรือความยาวรอบโลก 6.5 รอบ ทำให้ปัญหาปริมาณขยะพลาสติกและแคปซีลขวดน้ำดื่มเพิ่มขึ้น โดยเป็นขยะมีขนาดเล็ก เบา จัดเก็บยาก และกระจัดกระจายปะปนในชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงเร่งขับเคลื่อนการเลิกใช้แคปซีลในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ภาครัฐ และเอกชน ในเบื้องต้นมีบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มบริษัทใหญ่ที่ไม่ใช้แคปซีลแล้ว คือ บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด // บริษัท เอ็ม วอเตอร์ จำกัด // บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด // บริษัท ซีโน-แปซิฟิก เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด // บริษัท ทิปโก้ เอฟแอนด์บี จำกัด // บริษัท ทีทีซี น้ำดื่มสยาม จำกัด // บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท ทิพย์วารินวัฒนา จำกัด สำหรับบริษัทและองค์กรที่ดำเนินการเลิกใช้แคปซีลในปีนี้ คือ บริษัท คาราบาวแดง จำกัด (น้ำดื่มตราคาราบาว) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งส่วนที่มหาวิทยาลัยผลิตเองและร้านค้าในมหาวิทยาลัย ขณะที่ประชาชนผู้บริโภคมีความเข้าใจว่าแคปซีลไม่ได้รับรองความสะอาดของน้ำดื่มและเห็นความสำคัญผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงหันมาบริโภคน้ำดื่มที่ไม่มีแคปซีลมากขึ้น ทั้งนี้ คพ. จะนำข้อเสนอของภาคเอกชนบางรายที่ขอยืดระยะเวลาการเลิกใช้แคปซีลมากกว่า 1 ปี โดย คพ.จะร่วมกับสถาบันพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สมาคมอาเซียนไวนิล เคาน์ซิล ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบด้านต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาประกอบการกำหนดระยะเวลาการเลิกใช้แคปซีลให้เหมาะสม รวมทั้ง จะหารือในที่ประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการเลิกใช้แคปซีลแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ บริษัทผู้ผลิตนำดื่มอย่างน้อยร้อยละ 50 ของบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่ม เลิกใช้แคปซีลภายในปี 2561 และ บริษัทผู้ผลิตนำดื่มทั้งหมด เลิกใช้แคปซีลภายในปี 2562
ขณะที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินหน้าลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ซึ่งร้านค้าส่วนใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่จำหน่ายน้ำดื่มที่มีแคปซีลแล้ว เช่นเดียวกับร้านค้าในมหาวิทยาลัยจำหน่ายน้ำดื่มไม่มีแคปซีล คาดว่าสิ้นปีนี้แคปซีลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะหมดไป พร้อมกันนี้ ได้แจกกระบอกน้ำและถุงผ้าให้กับนักศึกษาในวันปฐมนิเทศเพื่อลดการเกิดขยะพลาสติก โดยแจกมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว และติดตั้งเครื่องกรองน้ำดื่มอย่างเพียงพอ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ