เปิดข้อเสนอยกระดับศาลไทย ใช้ระบบ 'บันทึกภาพ-เสียง'

ทีมข่าว TCIJ : 6 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 9543 ครั้ง

แนวคิดการใช้ระบบบันทึกภาพและเสียงในการพิจารณาคดีในชั้นศาล จะช่วยสร้างความเป็นธรรมทั้งโจทย์และจำเลย เกิดความโปร่งใสในการค้นหาความจริง และสามารถขอตรวจสอบย้อนหลังได้ ที่มาภาพประกอบ: ecourts.wordpress.com

ปัญหาระบบบันทึกคำพยานของศาลไทย

ปัจจุบันพบว่า ศาลในหลายประเทศมีการใช้ระบบบันทึกการพิจารณาคดีโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Hearing Recording System) ซึ่งระบบนี้จะมีการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในห้องพิจารณาคดี เพื่อบันทึกภาพและเสียงระหว่างการสืบพยานในคดีต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ในสิงคโปร์ มีการนำเอาระบบบันทึกภาพและเสียงในการสืบพยานคดีทุกประเภทรวมถึงกระบวนการระงับข้อพิพาท คู่ความสามารถเข้าถึงภาพและเสียงที่มีการบันทึกครั้งล่าสุดเมื่อนำคดีขึ้นสู่ศาล หรือที่สหรัฐอเมริกา ผู้พิพากษามีอำนาจในการอนุญาตให้นำระบบบันทึกภาพและเสียงมาใช้ในห้องพิจารณาคดี บันทึกการสืบพยานและบันทึกกระบวนการพิจารณา เป็นต้น ทั้งนี้ประเทศไทยเองก็เริ่มนำระบบนี้มาใช้บ้างแล้ว เพื่อแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมในด้านระบบการบันทึกคำพยาน เพิ่มประสิทธิภาพในการสืบพยาน และอำนวยความสะดวกแก่บุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมและแก่ประชาชน

จาก รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรื่อง การใช้ระบบบันทึกภาพและเสียงในการพิจารณาคดีในชั้นศาล ได้ระบุถึงสภาพปัญหาของระบบสืบพยานของศาลไทยว่า ระบบการสืบพยานของศาลในอดีต ไม่มีเครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์ในการรวบรวมค้นหาข้อเท็จจริงและสภาพการพิจารณาคดีในห้องพิจารณาคดี ศาลยังคงใช้เฉพาะการจดบันทึกคำเบิกความด้วยลายมือ ต่อมาจึงมีการบันทึกเทป แล้วถอดเป็นคำบันทึกโดยการพิมพ์ถ้อยคำจากการที่ศาลสรุปความจากคำเบิกความของพยานเท่านั้น และเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลสูง การพิจารณาก็อาศัยข้อเท็จจริงที่เป็นคำเบิกความของพยานบุคคลที่ศาลชั้นต้นได้สรุปความไว้แล้ว ซึ่งทำให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาไม่เห็นภาพบรรยากาศในการสืบพยาน ไม่เห็นอากัปกริยาของพยานและข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยาน จึงเกิดแนวคิดให้ศาลสูงพิจารณาคดีแบบได้รับฟังข้อเท็จจริงจากการสืบพยานด้วย เพราะเคยเกิดกรณีความสงสัยในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น หรือกรณีมีปัญหาเรื่องโต้แย้งคำเบิกความที่ศาลสรุปความ หรือมีการกระทำอันเป็นปัญหาโต้แย้งในห้องพิจารณาคดีจนถึงขั้นละเมิดอำนาจศาลในระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งหากมีการบันทึกภาพและเสียงในการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะไม่เกิดปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ในงานศึกษาเรื่อง 'ระบบบันทึกคำพยานในคดีอาญา' ของ กิตติพงษ์ เชิดชูจิต วิทยานิพนธ์หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พ.ศ. 2554 ได้ระบุถึงปัญหาของระบบบันทึกคำพยานในคดีอาญาว่า ระบบบันทึกคำพยานในคดีอาญาโดยวิธีบันทึกด้วยถ้อยคำสำนวนของผู้พิพากษานั้น มีจุดอ่อนหลายประการ และมีผลต่อการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีทั้งในศาลชั้นต้นและศาลสูง โดยมีเหตุมาจากปริมาณคดีที่มากกว่าจำนวนผู้พิพากษา ทำให้ผู้พิพากษาไม่อาจพิจารณาคดีให้ครบองค์คณะในทุกชั้นศาล ผู้พิพากษาศาลที่ทำการบันทึกคำพยานจะใช้ดุลยพินิจในการเลือกบันทึกข้อเท็จจริงให้ได้ความสั้นและกระชับเพื่อให้การพิจารณาสืบพยานเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเพื่อลดภาระศาลสูงในการอ่านคำเบิกความพยาน ผลที่ตามมาก็คือผู้พิพากษามีความกระตือรือร้นที่จะค้นหาความจริงด้วยตัวเองจากคำให้การของพยานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นการสืบพยานด้วยวิธีซักถามด้วยตนเอง หรือการเรียกสำนวนการสอบสวนมาประกอบการวินิจฉัย นอกจากนี้ผู้พิพากษาในศาลสูงต้องใช้เวลากับการวินิจฉัยคดีที่อุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมีจำนวนมากไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้พิพากษาที่มีอยู่ จนทำให้ผู้พิพากษาไม่สามารถออกนั่งพิจารณาสืบพยานเพิ่มเติมในชั้นศาลสูงได้ เหตุทั้งหลายเหล่านี้มีผลต่อการค้นหาความจริงในคดีอาญาอย่างมากอีกด้วย

ข้อเสนอ ‘การใช้ระบบบันทึกภาพและเสียงในการพิจารณาคดีในชั้นศาล’

ผังแสดงแนวทางการกำหนดตำแหน่งสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ในระบบบันทึกการพิจารณาคดีโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Hearing Recording System) ที่มา: รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรื่อง การใช้ระบบบันทึกภาพและเสียงในการพิจารณาคดีในชั้นศาล

จากรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ระบุว่าในกระบวนการพิจารณาคดีควรให้มีการบันทึกภาพและเสียง เนื่องจากเห็นว่าเป็นระบบที่ดีและสามารถสร้างความเป็นธรรมและเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบพยานการพิจารณาคดีของศาล และจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและประชาชนได้ดียิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันยังไม่ได้มีการนำระบบการบันทึกภาพและเสียงมาใช้ให้แพร่หลาย และยังไม่ได้มีการกำหนดประเภทของคดีที่จะนำไปใช้ รวมทั้งยังมีปัญหาความไม่เพียงพอของอุปกรณ์ นอกจากนี้กฎหมายและระเบียบในปัจจุบันยังไม่สามารถทำให้คู่ความและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้งานจากระบบที่มีได้อย่างเต็มที่

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ยังเสนอให้มีการแก้ไขระเบียบในเรื่องการสืบพยานหลักฐานจากการบันทึกภาพและเสียง เพราะปัจจุบันเป็นเพียงการขอความร่วมมือระหว่างหน่วยงานซึ่งยังไม่มีระเบียบข้อบังคับที่ชัดเจน จึงอาจทำให้มีความล่าช้าหรือไม่ครบถ้วน และส่งผลให้ไม่ได้พยานหลักฐานตามที่ต้องการ นอกจากนี้ ในการสืบพยานในบางคดีซึ่งเป็นคดีที่มีพยานเป็นจำนวนมากและใช้ระยะเวลานำสืบหรือการพิจารณาคดีเป็นระยะเวลานาน จึงควรมีการจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยได้มาตรฐานสืบค้นสะดวกรวดเร็วโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เกี่ยวกับการนำระบบระบบบันทึกภาพและเสียงในการพิจารณาคดีในชั้นศาลมาใช้ในประเด็นที่สำคัญ ๆ ดังนี้

การสืบพยานโดยบันทึกภาพและเสียงในศาลยุติธรรม การบันทึกภาพและเสียงของศาลยุติธรรม ให้มีการติดกล้องในระบบการประชุมทางจอภาพ เป็นสัญญาณภาพที่ส่งเข้ามาสู่ระบบบันทึกภาพ รวมทั้งระบบไมโครโฟน จะสามารถรับเสียงรอบ ๆ ห้องพิจารณาได้พอสมควร ส่วนกล้องสามารถย่อขยาย (Zoom) ให้เห็นถึงรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้นของวัตถุหรือบุคคลที่เป็นเนื้อหาหลักให้อยู่ในระยะใกล้ไกลได้อย่างชัดเจน ระดับความละเอียดของกล้องที่ใช้ประมาณ 5 ล้านพิกเซล นอกจากนี้ต้องมีการจัดทำระบบ Electronic Litigation System (e-Litigation) ควบคู่ สอดคล้อง และให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบ e-Litigation) ทั้งนี้จะต้องให้ศาลยุติธรรมศึกษาและเตรียมความพร้อมการใช้งานให้ระบบมีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา สามารถใช้งานได้อย่างเปิดเผย รวมถึงให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้

การติดตั้งกล้องภายในห้องพิจารณาคดีของระบบบันทึกภาพและเสียงในศาลยุติธรรม เพื่อประสิทธิภาพในการบันทึกภาพและเสียงในการพิจารณาคดี ควรให้มีการติดกล้องภายในห้องพิจารณาคดีแบบตำแหน่งคงที่ (Fixed Camera) จำนวน 4 กล้อง และกล้องแบบตำแหน่งภาพเคลื่อนที่ (PTZ Camera) จำนวน 1 กล้อง รวมเป็นจำนวน 5 กล้องต่อ 1 ห้องพิจารณาคดี

ตำแหน่งการติดตั้งกล้องวีดิทัศน์เพื่อการบันทึกภาพและเสียงในห้องพิจารณาคดี ที่มา: รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรื่อง การใช้ระบบบันทึกภาพและเสียงในการพิจารณาคดีในชั้นศาล

ตำแหน่งที่ 1 และ 2 เป็นการติดตั้งกล้องแบบตำแหน่งภาพคงที่ (Fixed Camera) ด้านซ้ายและขวาของมุมห้อง ใช้ในการดูภาพรวมของการพิจารณาคดี โดยกล้องจะเห็นหน้าของพยาน โจทก์ จำเลย ทนายความ และอัยการระหว่างซักถาม รวมถึงเห็นบรรยากาศภายในห้องของผู้รับฟังการพิจารณาคดี

ตำแหน่งที่ 3 เป็นการติดตั้งกล้องแบบตำแหน่งภาพเคลื่อนที่ (PTZ Camera) ที่ตำแหน่งเพดานเหนือบริเวณกลางพื้นที่พิจารณาคดี เพื่อใช้ในการจับภาพใบหน้าของพยานขณะมีการซักถาม ณ บริเวณคอกพยาน หรือใช้ในการจับภาพบริเวณฝ่ายโจทย์หรือฝ่ายจำเลย และสามารถใช้ในการจับภาพอื่น ๆ ภายในห้องพิจารณาคดีตามความต้องการใช้งาน

ตำแหน่งที่ 4 เป็นการติดตั้งกล้องแบบตำแหน่งภาพคงที่ (Fixed Camera) บริเวณเพดานเหนือแนวกั้นเขตพิจารณาคดีเพื่อใช้ในการจับภาพบริเวณบัลลังก์ผู้พิพากษา และตำแหน่งที่ 5 เป็นการติดตั้งกล้องแบบตำแหน่งภาพคงที่ (Fixed Camera) บริเวณเหนือโต๊ะพยานเพื่อใช้สำหรับการจับภาพบนโต๊ะพยานเพื่อบันทึกภาพการลงลายมือชื่อหรือลายเซ็นของพยานหลังจากเบิกความต่อศาลแล้ว หรือการลงลายเซ็นในเอกสารอื่น ๆ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงตัวตนของพยาน

[คุณสมบัติของกล้องและอุปกรณ์ต่าง ๆ อ่านเพิ่มเติมใน จับตา: อุปกรณ์ในระบบบันทึกภาพและเสียงที่สำนักงานศาลยุติธรรมอยู่ระหว่างเตรียมจัดซื้อจัดจ้างเพื่อติดตั้งให้แก่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศศาลละ 1 จุด (ประจำปีงบประมาณ 2560)]

เปิดราคากลาง 7.9 แสนบาท ต่อห้องพิจารณาดี

จากตัวอย่างการจัดซื้อระบบ e-Hearing Recording System จำนวน 1 ระบบ ณ ศาลอาญารัชดาภิเษก พบว่ามีราคากลางที่ 796,700 บาท โดยอุปกรณ์หลัก ๆ ที่สำคัญจากข้อมูลราคากลาง  ณ เดือน ส.ค. 2559 ประกอบไปด้วย ค่าติดตั้งอุปกรณ์พร้อมสายสัญญาณ, ติดตั้งและปรับแต่งอุปกรณ์พร้อมซอฟแวร์และการรับประกัน 1 ปี (ราคากลาง 140,000 บาท) กล้อง Indoor IP Fixed Camera Axis P1354 Network Camera 4 ชุด (ราคากลาง 137,200 บาท) ซอฟต์แวร์บันทึกภาพและเสียงระหว่างพิจารณาคดี 1 ชุด (ราคากลาง 86,200 บาท) คอมพิวเตอร์สำหรับติดตั้งซอฟต์แวร์บันทึกภาพและเสียง Core i7/8GB RAM/SSD 256GB/1TB HDD 1 ชุด (ราคากลาง 69,600 บาท) เป็นต้น [อ่านเพิ่มเติมราคากลางอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างละเอียดได้ที่ ประกาศศาลอาญา เรื่อง สอบราคาจัดซื้อระบบบันทึกการพิจารณาคดีโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Hearing Recording System) พร้อมติดตั้ง]

แต่ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้ประเมินว่าการติดตั้งระบบ e-Hearing Recording System  นี้จะใช้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 482,100 บาท ต่อ 1 ห้อง (ซึ่งยังไม่รวมค่าบำรุงรักษา มีเพียงค่าอุปกรณ์) โดยเริ่มแรกใช้งบประมาณในปี 2560 กำหนดให้ติดตั้งศาลละ 1 ห้อง 252 ศาล แต่หากจะติดตั้งทุกบัลลังก์คือ 2,500 ห้อง (ยังไม่รวมศาลที่จะเปิดทำการใหม่อีก) จะต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท [อ่านเพิ่มเติม อุปกรณ์ในระบบบันทึกภาพและเสียงที่สำนักงานศาลยุติธรรมอยู่ระหว่างเตรียมจัดซื้อจัดจ้างเพื่อติดตั้งให้แก่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศศาลละ 1 จุด (ประจำปีงบประมาณ 2560)]

นำร่องใช้ที่ศาลอาญารัชดา ตั้งเป้าทั่วประเทศ 252 แห่งภายในปี 2560 นี้

ตัวอย่างห้องพิจารณาคดีที่มีเทคโนโลยี e-Hearing Recording System (ห้องพิจารณาคดี 907ชั้น 9 ศาลอาญารัชดา) ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

จาก รายงานข่าวของสำนักข่าวไทยเมื่อเดือน เม.ย. 2560 พบว่าได้มีการนำระบบ e-Hearing Recording System มาทดลองใช้ในประเทศไทยแล้ว โดยห้องต้นแบบอยู่ที่ห้องพิจารณาคดี 907ชั้น 9 ศาลอาญารัชดา ภายในห้องมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ 3 จุด สำหรับบันทึกภาพเคลื่อนไหวระหว่างการสืบพยาน ส่วนกล้องบนเพดานกึ่งกลางห้องตัวนี้จะคอยบันทึกภาพหลักฐานเอกสารที่พยานนำมาใช้ประกอบการเบิกความ เช่น หลักฐานภาพถ่ายของตำรวจ นอกจากนี้ภายในห้องยังติดตั้งไมโครโฟนทั้งบนบัลลังก์ผู้พิพากษา ที่นั่งพยาน และที่นั่งทนายความ มีฟังก์ชั่นบันทึกเสียง ซึ่งในอนาคตจะมีส่วนช่วยลดขั้นตอนและเวลาในการสืบพยาน ผู้พิพากษาอาจไม่ต้องใช้เทปบันทึกคำให้การของพยานอีกต่อไป

ทั้งภาพและเสียงการสืบพยานที่เกิดขึ้นภายในห้องนี้ รวมถึงเอกสารสำนวนคำให้การของพยาน ทั้งหมดจะถูกอัพโหลดและบันทึกไว้ในเซิร์ฟเวอร์ที่เชื่อมต่อกับโปรแกรมซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ สำหรับให้ผู้พิพากษาเข้าระบบเรียกดูภาพและเสียงการสืบพยานย้อนหลัง ประกอบสำนวนคำให้การ ในกรณีเกิดข้อโต้แย้งระหว่างพิจารณาคดีในศาลสูง หรือเกิดข้อสงสัยในคำให้การของพยานที่ให้ไว้ในศาลชั้นต้น    ก็สามารถเรียกดูย้อนหลังได้ทันที

ทั้งนี้ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมระบุว่า ระบบบันทึกการสืบพยานด้วยภาพและเสียงจะช่วยให้ผู้พิพากษาในศาลสูงสามารถพิเคราะห์พฤติกรรมของพยานระหว่างเบิกความ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาคดีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับระบบบันทึกการสืบพยานด้วยภาพและเสียงในห้องพิจารณาคดี สำนักงานศาลยุติธรรมตั้งเป้าขยายใช้ในศาลทั่วประเทศ 252 แห่งภายในปี 2560 นี้ โดยจะใช้โมเดลห้องพิจารณาคดี 907 ของศาลอาญา เป็นห้องต้นแบบ

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: อุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงที่เตรียมจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศศาลละ 1 จุด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: