อย. ยังไม่อนุญาตให้ใส่ “หมามุ่ย” ในอาหารเสริม

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3619 ครั้ง

อย. ยังไม่อนุญาตให้ใส่ “หมามุ่ย” ในอาหารเสริม

อย. ย้ำ “หมามุ่ย” ยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัด เกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภค ยังไม่เคยมีการอนุญาตให้ใส่สารสกัดหมามุ่ยในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2560 ว่านายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงกรณีมีผู้บริโภคร้องเรียนว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผสมสารสกัดหมามุ่ย ได้รับอนุญาตจาก อย. โฆษณาสรรพคุณในการรักษาโรคได้นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอยืนยันว่า อย. ยังไม่เคยมีการอนุญาตให้ใส่สารสกัดหมามุ่ยในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากมีสารสำคัญในเมล็ดหมามุ่ยที่ชื่อว่า L – dopa ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาท dopamine ที่มีผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ ในปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดเกี่ยวกับความปลอดภัยของการบริโภคสารสกัดจากหมามุ่ยที่นำมาเป็นอาหาร หรือส่วนประกอบของอาหารและยังไม่ปรากฏหลักฐาน จากหน่วยงานของรัฐในต่างประเทศที่อนุญาตให้ใช้หมามุ่ยเป็นอาหาร หรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร จึงขอเตือนภัยผู้บริโภคอย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ก็คือ อาหาร ไม่ใช่ยารักษาโรค ไม่อาจแสดงสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา หรือป้องกันโรคได้

ทั้งนี้มาตรการการดำเนินการของ อย. กรณีพบการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการโฆษณา แสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือ สรรพคุณอาหารอันเป็นเท็จ โอ้อวด หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อ โดยไม่สมควร ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ หากพิสูจน์ได้ว่า ข้อความบนฉลากเป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ เข้าข่ายหลอกลวง มีโทษจำคุก 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท รวมทั้งประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อดำเนินการตรวจสอบว่ามีการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจแบบตรงหรือไม่ และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อตรวจสอบเรื่องการจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับร้านค้าออนไลน์ หากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือพบการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง สามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: