กรมโรงงานยอมรับแรงงานเพื่อนบ้านกลับประเทศกระทบโรงงานใช้แรงงานมากมีการผลิตชะลอลงบ้าง เชื่อ ม. 44 ขยายเวลาบังคับจะช่วยบรรเทาผลกระทบและแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด ที่มาภาพประกอบ: Realframe
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลประกาศชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จำนวน 4 มาตรา โดยจะเริ่มบังคับใช้ปี 2561 ทำให้ช่วงนี้แรงงานต่างชาติกลับประเทศ เพื่อดำเนินการเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทยนั้น ส่งผลกระทบบ้างในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากต้องชะลอการผลิต เช่น อุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมรองเท้า เป็นต้น เพราะแรงงานบางส่วนเป็นต่างชาติ อุตสาหกรรมประมงกระทบเรื่องวัตถุดิบที่จะป้อนโรงงาน เพราะเรือไม่สามารถออกไปทำประมงได้ สำหรับระยะเวลาชะลอการบังคับใช้ 4 มาตรานั้น ส่วนหนึ่งเชื่อว่าการที่รัฐบาลดำเนินการและนายกรัฐมนตรีเห็นผลกระทบแล้ว จึงเชื่อว่าจะช่วยทุเลาปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้บ้างและปัญหาจะสามารถแก้ไขไปได้ในที่สุด
อธิบดีกรมโรงงานฯ ยังเปิดเผยสถิติการจดประกอบกิจการและขยายกิจการ ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค.-มิ.ย.) ว่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาสถิติทรงตัว มียอดรวม 2,469 โรงงาน ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมามียอด รวม 2,442 โรงงาน ด้านการจ้างงานเพิ่มขึ้น 151,223 คน จากปีที่ผ่านมามียอดรวม 97,238 คน ด้านเงินลงทุนลดลงเล็กน้อยมียอดรวม 218,551 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมามียอดรวม 228,654 ล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงสุด 5 อันดับแรกช่วงครึ่งปีแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร โลหะ พลาสติก อะโลหะ และยานยนต์
สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลัง เชื่อว่าการขอจดประกอบกิจการและขยายกิจการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น เช่น โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ภาครัฐสร้างมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ สำหรับพื้นที่จดประกอบการและขยายมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง ตะวันออก เฉียงเหนือ ใต้ เหนือ และภาคตะวันตก เงินลงทุนก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามการลงทุน
นายมงคล กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของ กรอ.ขานรับอุตสาหกรรม 4.0 และ S-curve ตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาสามารถดำเนินการไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน สะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง ในการยื่นคำขออนุญาต รง. 4 ลดขั้นตอนการอนุญาต ระยะเวลาการพิจารณาทั้งสำนักงานจังหวัด และ กรอ.หน่วยงานละ 15 วันเท่านั้น และยืนยันว่าไม่มีคำขอค้าง ส่วนการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงานด้วยระบบดิจิทัลจะให้แต่ละจังหวัดอนุญาต โดยขณะนี้มีจังหวัดที่ยื่นความจำนง 64 จังหวัด ทำให้การขออนุญาตลดน้อยลง และสิ้นปีนี้จะคิกออฟระบบอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน รวมถึงการแจ้งเรื่องวัตถุอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออก รวมถึงปรับแก้กฎหมายซึ่งขณะนี้อยู่ชั้นกฤษฎีกา
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ