พบสาเหตุเชื่อมโยงการเป็น ‘มะเร็ง’ ในคนงาน ‘อิเล็กทรอนิกส์’ มากขึ้น

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 7 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 9519 ครั้ง

พบสาเหตุเชื่อมโยงการเป็น ‘มะเร็ง’ ในคนงาน ‘อิเล็กทรอนิกส์’ มากขึ้น

ปัจจุบันคนงานอิเล็กทรอนิกส์ในทวีปเอเชียและลาตินอเมริกามีปัญหากับการใช้สารเคมีเป็นพิษ และในรอบหลายปีที่ผ่านมาพบหลักฐานความเชื่อมโยงความเจ็บป่วย ‘โรคมะเร็ง’ กับ ‘งาน’ ที่คนงานทำในโรงงานอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น ที่มาเลเซียเครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายแรงงานเริ่มตระหนักในปัญหานี้แล้ว ที่มาภาพประกอบ: electronicswatch.org

สืบจากการประชุมของสมาคมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือ EICC ที่ประกอบด้วยบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กว่า 100 แห่ง เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2015 ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม ได้ถกเถียงเรื่อง ยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี โดยมีองค์การภาคประชาสังคมลงชื่อกว่า 200 องค์กรทั่วโลกออกแถลงการณ์ ผลักดันให้สมาคมฯ มีมาตรการป้องกันอันตรายจากการใช้สารเคมี รับผิดชอบต่อพนักงาน และชุมชนรอบข้างให้ได้รับความปลอดภัย

จากกรณีของ Yumi Hwang แรงงานหญิงอายุ 23 ปีทำงานในบริษัท ซัมซุง (Samsung) เกาหลีใต้ มาเป็นเวลาหลายปีเป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาวเมื่อเดือน มี.ค. 2007 ความเจ็บป่วยของเธอนั้น ศาลได้ตัดสินว่ามาจากการทำงาน หลังจากนั้นเธอและครอบครัวได้ต่อสู้ทางคดีความมาเป็นเวลา 8 ปี และยังมีคนงานอีก 10 คนเสียชีวิตด้วยโรคนี้ตั้งแต่ปี 2007 กรณีนี้เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ได้ส่งผลสะเทือนต่อทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้เลยทีเดียว

ก่อนหน้านี้เมื่อเมื่อเดือน มี.ค. 2010 Park Ji-yeon แรงงานหญิงอายุ 23 ปี เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว (Leukemia of Lymphoma) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสารเคมีและรังสี ในแผนกตรวจสอบชิ้นงานสารกึ่งตัวนำ (เซมิคอนดัคเตอร์) บริษัทซัมซุง สาขาโอน-หย่าง (On-yang) ประเทศเกาหลี รวมทั้งเพื่อนร่วมงานอีก 14 คนที่ได้รับความเจ็บป่วย และเสียชีวิตตามมาอีก 9 คน ด้วยโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาวเช่นเดียวกัน เพราะทำงานใช้เครื่องฉายรังสีเอ็กซ์เรย์ และดมกลิ่นเหม็นจากกาวเป็นประจำ ก่อให้เกิดอาการปวดหัวและถ้าหากทำงานอย่างเร่งรีบจะทำให้สัมผัสรังสีโดยตรง

นอกจากนี้ยังมีพนักงานเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและอื่น ๆ จำนวนหลายสิบคน ในเดือน ม.ค. 2011 แรงงานชายชื่อ Kim Joo hyun อายุ 26 ปี กระทำอัตวินิบาตกรรมที่หอพักของบริษัทซัมซุง ที่เมืองเชินอัน (Chun-ahn) เนื่องจากเป็นโรคผิวหนังและโรคซึมเศร้าจากการทำงานหนัก ซึ่งก่อนหน้าเขาไม่นานก็ได้มีคนงานคนหนึ่งกระทำอัตวินิบาตกรรมเช่นกัน

ที่มา: [1] [2]


ณ ปัจจุบัน คนงานอิเล็กทรอนิกส์ในทวีปเอเชียและลาตินอเมริกามีปัญหากับการใช้สารเคมีเป็นพิษ องค์กรภาคประชาสังคม ได้รายงานว่า มีกรณีปัญหากว่าร้อยคดีที่คนงานอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศจีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย ฯลฯ เจ็บป่วยเป็นเวลากว่า 5 ปี โดยมาจากการใช้สารเคมี เช่น เบนซิน ในกระบวนการผลิตชิพ

แม้สถานการณ์ในมาเลเซียยังไม่เด่นชัด แต่กลุ่มคนงานกว่า 200 กลุ่ม องค์การด้านสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและกลุ่มประชาสังคมอื่น ๆ ที่นำโดยเครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์ และการรณรงค์ระดับโลกขององค์กรเทคโนโลยีที่รับผิดชอบ หรือ ICRT สมาคมผู้บริโภคปีนัง (Consumers Association of Penang) และสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ประเทศมาเลเซีย ร่วมกันท้าทายบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในประเด็นความปลอดภัยในการทำงาน

ความท้าทายนี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเปลี่ยนมาใช้สารเคมีทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าเพื่อปกป้องพนักงาน เสรีภาพในการรวมกลุ่ม การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบสถานที่ทำงาน สภาพแวดล้อม รวมถึงค่าชดเชยของพนักงานและชุมชน นายทุนอุตสาหกรรมควรรับผิดชอบและมีมาตรการให้ไปไกลกว่ามาตรฐานที่อ่อนแอและระบบการตรวจสอบภายในที่ไร้ประสิทธิภาพในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่ทำให้ประหลาดใจคือ บริษัทส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองใช้สารเคมีในการผลิตอะไรบ้าง แม้แต่โรงงานในห่วงโซ่การผลิตของตัวเอง ตัวแทนจาก ICRT ระบุว่าสิ่งที่เราต้องการเรียกร้องจากอุตสาหกรรมนี้ คือ งานที่ปลอดภัยและครอบครัวที่มีสุขภาพดี

ณ ปัจจุบัน EICC ได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านสารเคมี แต่ตัวแทนจากอุตสาหกรรมกลับบอกว่าการตรวจสอบภายในบริษัทไม่ยอมรับว่าการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยนั้นเป็นปัญหาแต่อย่างใด ดังนั้น ทางเครือข่าย GoodElectronics ยังคงเรียกร้องให้อุตสาหกรรม รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องลดการใช้สารเคมีเป็นพิษ แสวงหาทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่า

 

แปลและเรียบเรียงจาก:
Growing evidence of illnesses and cancer among electronics workers , S.M. Mohamed Idris, Consumers Association of Penang, เข้าถึงต้นฉบับเมื่อ 4/1/2016

อนึ่ง S.M. Mohamed Idris เป็นประธานสมาคมผู้บริโภคปีนัง (Consumers Association of Penang) ประเทศมาเลเซีย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: