เปิดแผนมอเตอร์เวย์ 'บางปะอิน-โคราช' ผ่าชุมชน-รุกป่าสงวน-ถมลำตะคอง!

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 50545 ครั้ง

 'ทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน–นครราชสีมา' มอเตอร์เวย์ลำดับที่ 3 ของประเทศและเส้นทางแรกสู่อีสาน หลังรัฐผลักดันมากว่า 20 ปี และเริ่มก่อสร้างไปเมื่อ ส.ค. 2559 คนในพื้นที่หวั่นผลกระทบมหาศาลทั้งระหว่างการก่อสร้างและหลังแล้วเสร็จ ที่มาภาพ: กรมทางหลวง

ความเป็นมา ‘โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 6’ และ ‘ทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน–นครราชสีมา’

‘ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6’ หรือ ‘ทางหลวงพิเศษสายตะวันออกเฉียงเหนือ’ เป็นโครงการทางหลวงพิเศษเชื่อมระหว่างเมือง เริ่มต้นจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ขึ้นสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปสิ้นสุดที่ จ.หนองคาย เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายเส้นทางในแผนแม่บทระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อปี 2540 ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างเส้นทาง 3 สายต่อเนื่องกัน (ระยะทางตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2540) ได้แก่ สายบางปะอิน–นครราชสีมา, สายนครราชสีมา–ขอนแก่น และสายขอนแก่น–หนองคาย ทั้ง 3 เส้นทางนี้จะมีระยะทางรวมกัน 535 กิโลเมตร โดย ‘ทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน–นครราชสีมา’ เป็นโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 ที่เริ่มดำเนินการเป็นโครงการแรกซึ่งมี พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเมื่อปี 2556 ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ข้อมูลจากกรมทางหลวงระบุว่า ทางทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน–นครราชสีมา จะมีระยะทางประมาณ 196 กิโลเมตร โครงการก่อสร้างฯ มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่บริเวณจุดเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 กับทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นแนวเส้นทางใหม่ขนานไปกับทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) และทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) และมีจุดสิ้นสุดบรรจบกับทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 2 ผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด 12 อำเภอ ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.บางปะอิน อ.วังน้อย อ.อุทัย) (จ.สระบุรี) อ.หนองแค อ.เมืองสระบุรี อ.แก่งคอย อ.มวกเหล็ก (จ.นครราชสีมา) อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ และ อ.เมืองนครราชสีมา รวมระยะทางประมาณ 196 กิโลเมตร

แผนที่เส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน–นครราชสีมา ที่มา: กรมทางหลวง

ในการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ช่วง ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ ช่วงที่ 1 ก่อสร้างเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร จากบางปะอิน (กม. 0+000) ถึง อ.ปากช่อง (กม. 103+000) ระยะทาง 103 กิโลเมตร และ ช่วงที่ 2 ก่อสร้างเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร จาก อ.ปากช่อง (กม. 103+000) ถึง นครราชสีมา (กม. 196+000) ระยะทาง 93 กิโลเมตร โดยมีรูปแบบการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นทางระดับพื้น แต่จะมีทางยกระดับ 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงทางเลี่ยงเมืองสระบุรี (ระหว่าง กม. 40+300 – 47+000) ระยะทาง 7 กิโลเมตร ,ช่วงพื้นที่สัมปทานปูนซีเมนต์ TPI (ระหว่าง กม. 69+000 –75+700) ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร ,ช่วงเขาตาแป้น (ระหว่าง กม. 81+600 –85+250) ระยะทาง 2.3 กิโลเมตร และช่วงเลียบอ่างเก็บน้ำลำตะคอง (ระหว่าง กม. 125+400 –143+040) ระยะทาง 17.3 กิโลเมตร รวมระยะทางที่ก่อสร้างเป็นทางยกระดับทั้งสิ้น 32.1 กิโลเมตร ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 มีเขตแนวเขตทาง 70 เมตร ความกว้างช่องจราจร ช่องละ 3.60 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร และ 6 ช่องจราจร มีการควบคุมการเข้า – ออกแบบสมบูรณ์ (รั้วกั้น) ตลอดทาง โดยใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางระบบปิด (บันทึกข้อมูล/รับบัตรที่ด่านขาเข้า และจ่ายค่าผ่านทางตามระยะที่ด่านขาออก) ซึ่งมีด่านจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งหมด จำนวน 9 ด่าน ได้แก่ ด่านบางปะอิน ด่านวังน้อย ด่านหินกอง ด่านสระบุรี ด่านแก่งคอย ด่านมวกเหล็ก ด่านปากช่อง ด่านสี่คิ้ว และด่านนครราชสีมา มีจุดทางแยกต่างระดับที่เชื่อมต่อกับทางหลวง จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ ทางต่างระดับบางปะอิน ทางต่างระดับวังน้อย ทางต่างระดับหินกอง ทางต่างระดับสระบุรี ทางต่างระดับแก่งคอย ทางต่างระดับมวกเหล็ก ทางต่างระดับปากช่อง ทางต่างระดับสีคิ้ว และทางต่างระดับนครราชสีมา รวมทั้งพื้นที่บริการทางหลวง จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย ที่พักริมทางหลวง (Rest Area) จำนวน 5 แห่ง สถานีบริการทางหลวง (Service Area) จำนวน 2 แห่ง และศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) จำนวน 1 แห่ง

นอกจากนี้ในเดือน ส.ค. 2560 กรมทางหลวงระบุว่ามีแนวทางที่จะเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุนการบริหาร จัดการและงานบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) ตามขั้นตอนของ พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ด้วยรูปแบบ PPP Gross Cost หรือ DBFMO (Design, Build, Finance, Maintainand Operated) เพื่ออำนวยความสะดวก ปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการประชาชนผู้ใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองให้เป็นมาตรฐานสากล โดยโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน-นครราชสีมา ใช้วงเงินลงทุนรวม 84,600 ล้านบาท ประกอบด้วยวงเงินค่าก่อสร้าง 77,970 ล้านบาท และวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,630 ล้านบาท และเมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จจะช่วยเสริมศักยภาพด้านคมนาคมขนส่งทางถนนและระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) และทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาวที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น ซึ่งจะเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้บริการในเส้นทางนี้ และยังเสริมศักยภาพการขนส่งทางถนน ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศได้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 นี้ยังเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจและ การลงทุนของประเทศ และเป็น 1 ใน 20 โครงการสำคัญเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคม ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยปี 2558–2565 และคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2563 [1]

กระแสคัดค้าน

 

ชาวบ้านและองค์กรสิ่งแวดล้อม คัดค้านการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา เมื่อเดือน ม.ค. 2559 ที่มาภาพ: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

หลังมีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เมื่อปี 2556 เป็นต้นมา ก็มีกระแสคัดค้านโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นเมื่อเดือน ส.ค. 2557 กลุ่มชมรมคนปากช่องต่อต้านมอเตอร์เวย์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี คัดค้านมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมาโดยระบุว่าชาวบ้านเองไม่เคยได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นต่อโครงการนี้เลย และสนับสนุนให้พัฒนาโครงการรถไฟทางคู่แทน [2] เดือน ก.ค. 2558 ชาวอำเภอปากช่องที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับรูปแบบของโครงการนี้ เนื่องจากแนวเส้นทางที่ผ่านอำเภอปากช่อง ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งยูเนสโกขึ้นทะเบียน เป็นมรดกโลก ขณะเดียวกันทางขึ้น-ลงบริเวณถนนธนะรัชต์ก็ใกล้ชุมชนเกินไป ทั้งยังติดแหล่งน้ำสาธารณะลำน้ำลำตะคอง และช่วงที่ผ่านกองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ก็มีข้อกฎหมายห้ามสร้างทาง ตลอดทั้งสิ่งปลูกสร้าง จึงมีข้อเรียกร้องมาตั้งแต่ต้น จากชาวอำเภอปากช่องว่า ขอให้ปรับแนวเส้นทางบนถนนมิตรภาพให้เป็น Toll way (ทางยกระดับ) ตลอดแนวเส้นทางที่ผ่านเขตอำเภอปากช่อง หรือเวนคืนที่ราชพัสดุ 29,000 กว่าไร่ บริเวณตำบลหนองสาหร่ายแทน ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กรมการสัตว์ทหารบก [3]

และในเดือน ม.ค. 2559 กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์สาย 6 บางปะอิน-โคราช อ.ปากช่อง จ. นครราชสีมา และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอำเภอปากช่อง ประกอบด้วย ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอำเภอปากช่อง, กลุ่มเครือข่ายคนรักษ์เขาใหญ่, และกลุ่มรักษ์ลำตะคอง รวมกว่า 100 คน เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงาน สอบสวน สภ.ปากช่อง เพื่อคัดค้านการสร้างถนนมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ช่วงผ่าน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยระบุว่าโครงการนี้จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน สูญเสียที่ดินทำกิน ระบบสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบรุนแรง โดยมีข้อเสนอให้ยกระดับถนนมอเตอร์เวย์ขึ้นจากแนวถนนมิตรภาพเดิม ยืนยันจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด [4]

 

เลือกเส้นทางไม่เหมาะสม-ไม่ศึกษาผลกระทบ

ข้อมูลจาก 'ข้อร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา' ที่จัดทำโดยกลุ่มจับตาโครงการฯ  ระบุว่าในการออกแบบและเลือกใช้พื้นที่สำหรับการก่อสร้างถนนสายนี้ กรมทางหลวงได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ทำการสำรวจและออกแบบทั้งโครงการ เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะพบว่า มีหลายจุดที่เลือกใช้พื้นที่ในการก่อสร้างถนนสายนี้พาดผ่านไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะช่วงจากมวกเหล็ก จากถนนมิตรภาพหลักกิโลเมตรที่ 31 (ช่วงท้ายตอนที่ 1 ของโครงการ) ถึงบริเวณกองพันสุนัขทหาร ถนนมิตรภาพหลักกิโลเมตรที่ 78 (กิโลเมตรที่ 125 ของโครงการ) กล่าวคือพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ถนนสายนี้พาดผ่าน นอกจากนั้น ยังตัดถนนผ่านภูเขาในบริเวณถัดจากหมู่บ้านบุญบันดาล เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง

(ซ้าย) หลักแสดงเขตป่าสงวนแห่งชาติกับหลัก L94 ของโครงการ (ขวา) อุโมงค์ระบายน้ำธรรมชาติ

พื้นที่สภาพป่าอันสมบูรณ์ ที่จะถูกทำลายโดยโครงการนี้พาดผ่าน

สายน้ำลำตะคองคดเคี้ยวที่จะมีการกลบถม แล้วขุดสร้างใหม่เป็นแนวตรง

ภาพน้ำท่วมชุมชนนันทเขตต์และท่ามะนาว เมื่อปี 2553

โดยจากช่วงมอกระหาดถึงวัดแก่งกลางดง นอกจากจะก่อปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรงจากการกลบถมลำตะคองแล้วขุดลำคลองใหม่เป็นแนวตรง และจากการสร้างสะพานบริเวณลำตะคอง ซึ่งจะสร้างปัญหามลพิษให้กับแหล่งน้ำดิบสำหรับบริโภคที่สำคัญของภาคอีสาน รวมถึงการทำลายระบบนิเวศน์ของลำน้ำธรรมชาติแล้วนั้น ยังมีปัญหาใหญ่ที่จะตามมาอีกประการคือ ปัญหาน้ำท่วมชุมชนในเทศบาลเมืองปากช่อง สืบเนื่องจากการก่อสร้างถนนดังกล่าวนี้แนวถนนจะกีดขวางทางไหลของน้ำเมื่อฝนตก ทำให้ปริมาณน้ำส่วนใหญ่ที่เคยกระจายไหลซึมลงผิวดิน เมื่อปะทะกับแนวถนนจากความลาดเอียงของพื้นที่ ทำให้เกิดการรวมตัวของน้ำแล้วไหลลงสู่ลำตะคองในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว ทำให้มีความเสี่ยงสูงมากที่ชุมชนตอนล่างในเทศบาลเมืองปากช่องมีโอกาสเกิดน้ำท่วมรุนแรงมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้นเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวก็ประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่เป็นครั้งคราวอยู่แล้ว เมื่อปริมาณน้ำในลำตะคองมีเพิ่มมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็วจากการสร้างถนนดังกล่าว ทำให้มีโอกาสเกิดน้ำท่วมบ่อยขึ้นและรุนแรงกว่าเดิมเป็นอันมาก พื้นที่ที่จะได้รับผล กระทบจากภัยน้ำท่วมได้แก่ ชุมชนราชประชา, ชุมชน บขส.เก่า, ชุมชนประชานุสรณ์, ชุมชนสะพานดำ, ชุมชนโรงสูบ, ชุมชนตรอกแดง, ชุมชนตรอกสุเหร่า, ชุมชนนันทเขตต์ ,ชุมชนประปา, ชุมชนหนองสาหร่าย, ชุมชนเจ้าแม่กวนอิม, ชุมชนท่ามะนาว เป็นต้น ซึ่งชุมชนทั้งหมดนี้เป็นพื้นที่ราบลุ่มอยู่ในเขตเทศบาลเมืองปากช่องเกือบทั้งสิ้น และที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบ ชี้แจงหรือแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้รับทราบข้อมูลนี้แต่ประการใด

ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่สร้างทางขึ้น-ลง ด่านเก็บเงิน และศูนย์บริการ

การใช้พื้นที่สำหรับจุดขึ้น-ลง และด่านเก็บเงิน และศูนย์บริการ (Service center) จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทางขึ้น-ลง และด่านเก็บเงิน ตั้งอยู่ที่ ต.หนองน้ำแดง ห่างจากลำตะคองประมาณเพียง 400 เมตร ลักษณะพื้นที่จะลาดเอียงสู่ลำตะคอง ดังนั้นเมื่อมีของเสียทั้งขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล โดยเฉพาะน้ำเสียจากระบบสาธารณูปโภค และห้องส้วม ที่เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณดังกล่าวจะไหลลงสู่ลำตะคองซึ่งเป็นพื้นที่ลาดต่ำอยู่ด้านล่าง ซึ่งลำตะคองเป็นแหล่งน้ำสะอาดสำหรับบริโภคของอำเภอปากช่อง สีคิ้ว จนถึง จ.นครราชสีมา และพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ส่วนศูนย์บริการ (Service center) ทั้งสองด้านของโครงการ ตั้งอยู่ที่ ต.หนองน้ำแดง  เป็นที่ลาดเอียงเชิงเขา อยู่สูงกว่าถนนธนะรัชต์และตัวเมืองปากช่องเป็นอย่างมาก พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในแนวเขานางชี ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำธรรมชาติที่สำคัญของ อ.ปากช่อง โดยเฉพาะเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่มีคุณภาพสูงมากเหมาะสำหรับการบริโภค และเป็นแหล่งน้ำดิบสำรองเพื่อการบริโภคที่สำคัญของปากช่องในปี 2554 เมื่อเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เกิดขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับการบริโภค ได้มีการนำน้ำใต้ดินจากบริเวณแนวเขานางชีมาผลิตเป็นน้ำดื่มคุณภาพสูงเพื่อส่งไปช่วยเหลือในพื้นที่น้ำท่วมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อมีการสร้างศูนย์บริการในบริเวณดังกล่าว จะเป็นการทำลายแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของปากช่อง และประเด็นที่น่าวิตกกว่านั้นคือ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลาดเอียงเชิงเขาอยู่ในระดับที่สูงกว่าถนนธนะรัชต์และตัวเมืองปากช่องค่อนข้างมาก ดังนั้น ของเสียและมลพิษที่เกิดจากโครงการนี้ทั้งขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลโดยเฉพาะน้ำเสียจากระบบสาธารณูปโภคและห้องส้วมจะไหลซึมลงพื้นดินที่เคยอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำของปากช่อง ส่วนที่เหลือจะไหลลงสู่เบื้องล่าง นั่นคือถนนธนะรัชต์และไหลต่อไปยังลำตะคองแหล่งน้ำดิบที่สำคัญของภาคอิสาน เกิดการปนเปื้อนและก่อมลพิษที่รุนแรง โดยมีการประมาณการสิ่งปฏิกูล (ปัสสาวะและอุจจาระ) ที่ศูนย์บริการจะมีรวม 30,500 ลิตร/วัน คิดเป็น 915,000 ลิตร/เดือน และ 11,132,500 ลิตร/ปี  

ประชาพิจารณ์ไม่จริง-ปิดกั้นข้อมูล-บิดเบือนเอกสาร

กลุ่มจับตาโครงการฯ ระบุว่า จากการดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 ที่ผ่านมา ประชาชนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้างถนนสายนี้ ไม่ได้รับข้อมูลหรือข่าวสารจากผู้ดำเนินโครงการ ซ้ำร้ายยังพยายามปกปิดข้อมูลต่าง ๆ เมื่อประชาชนร้องขอหรือไต่ถาม อีกทั้งในการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ผู้ดำเนินโครงการใช้วิธีว่าจ้างบริษัทเอกชนเพื่อทำการสำรวจข้อมูลการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเอกชนดังกล่าวเลือกใช้เฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ โดยตัดเอกสารหรือข้อมูลที่ประชาชนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ออกจากรายงานที่นำเสนอ แม้ประชาชนในหลายส่วนได้พยายามทำหนังสือแจ้งเตือนและเสนอข้อร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้โดยตรง หน่วยงานดังกล่าวยังคงดำเนินโครงการนี้ต่อโดยมิได้พิจารณาหรือใส่ใจข้อเสนอแนะและข้อร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด ดังนั้น รายงานการทำประชาพิจารณ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ของโครงการนี้จึงเป็นรายงานที่ไม่เป็นจริงและไม่ถูกต้อง

ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ไม่เป็นจริง

นอกจากนี้ กระบวนการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนดำเนินโครงการนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์หลายส่วน เช่น ในส่วนที่มีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติบริเวณหมู่บ้านบุญบันดาล บริเวณถัดจากหมู่บ้านบุญบันดาลที่มีการตัดถนนพาดผ่านภูเขาซึ่งต้องมีการขุดทำลายภูเขาดังกล่าว และบริเวณที่โครงการพาดผ่านลำตะคองซึ่งจะทำการกลบถมลำน้ำเดิมแล้วขุดคลองใหม่ทดแทน เป็นต้น ผู้ดำเนินโครงการมีการของบประมาณเพื่อทำรายงานซ่อมเพิ่มเติมให้เสร็จเฉพาะจุด ดังนั้นรายงานดังกล่าวจึงขาดความต่อเนื่องจากรายงานในส่วนอื่น ๆ ที่นำเสนอ และยังมีจุดสำคัญอีกหลายแห่งที่ผู้ดำเนินโครงการยังคงปกปิดข้อมูล สำหรับในส่วนที่ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ทำเสร็จแล้วนั้น ทางผู้ดำเนินโครงการใช้ข้อมูลเก่ากว่า 10 ปี มาเป็นข้อมูลในรายงาน ซึ่งสภาพพื้นที่ในปัจจุบันหลายแห่งได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากแล้ว ดังนั้นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงเป็นรายงานที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง

ก่อปัญหาเปลี่ยนความเป็นอยู่-วิถีชุมชน ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

ถนนสายนี้กระทบต่อพื้นที่ฟาร์มโคนม และพื้นที่เกษตรกรรมแหล่งผลิตอาหารโลกที่สำคัญ

จากการดำเนินโครงการก่อสร้างถนนดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศวิทยา และวิถีชุมชนท้องถิ่นที่ เนื่องจากมีการตัดถนนพาดผ่านผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งอาหารโลก ผ่านใกล้บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และบางส่วนกระทบทำลายสภาพธรรมชาติของลำตะคอง นอกจากนั้น แนวถนนยังกั้นขวางแบ่งชุมชนที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุขออกจากกัน ทำให้วิถีชีวิตชุมชนเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลงทั้งการสัญจรที่ไม่สะดวก พื้นที่จำนวนมากถูกปิดกั้นจากแนวถนนจนไม่มีทางเข้าออกซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญและต้องได้รับการแก้ไข ปัญหาการสูญเสียบ้านเรือน การสูญเสียที่ทำกิน และมีโอกาสประสบภัยธรรมชาติจากน้ำท่วม ที่บ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น       

นอกจากนั้น การดำเนินโครงการดังกล่าวในส่วนการเวนคืนที่ดินที่แนวถนนนี้พาดผ่าน ผู้ดำเนินโครงการกำหนดค่าชดใช้ที่ดินที่ถูกเวนคืนไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงหลายเท่า ในประเด็นนี้ ชาวบ้านเองไม่เต็มใจ ไม่ต้องการขายที่ดินใช้เพื่อสร้างถนนสายนี้แต่ประการใด แต่ถูกบังคับด้วยวิธีต่างๆทั้งกฎหมาย ทั้งมติ ครม. จนกระทั่งชาวบ้านบางส่วนจำยอมถูกเวนคืน แต่กลับได้รับค่าชดเชยที่ดินที่ไม่เป็นธรรม หลังจากเสียที่ดินตนเองให้ผู้ดำเนินโครงการนำไปสร้างถนนนี้แล้ว ชาวบ้านไม่สามารถนำเงินที่ได้ไปซื้อที่ดินที่มีสภาพใกล้เคียงของเดิมได้ เพราะจากการถูกกดราคาดังกล่าว ดังนั้นจึงเป็นการละเมิดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างถนนสายนี้

 

อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง:
จับตา: คาดการณ์รถยนต์ที่ใช้มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ผ่านช่วง อ.ปากช่อง ในปี 2574
ข้อร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา
ข้อกังวลต่อเมืองปากช่อง
ผลกระทบต่อโรงเรียนกลางดงปุณณวิทยา
ผลกระทบต่อวัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม (หลวงพ่อขาว)

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: กรมทางหลวง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: