นักกิจกรรมการเมืองที่เชียงใหม่ หายไปไหน ?

นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ * TCIJ School รุ่นที่ 4 : 7 ก.ค. 2560 | อ่านแล้ว 4910 ครั้ง

กลุ่มนักกิจกรรมที่ จ.เชียงใหม่ หายไปไหน? สำรวจพบท่ามกลางบรรยากาศกดดันหลังรัฐประหาร 2557 ถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกเรียกปรับทัศนคติ สั่งห้ามกิจกรรมเสวนา จึงขาดการประชาสัมพันธ์ แม้นักกิจกรรมน้อยลง แต่ยังมีความหวังในหมู่นักศึกษา

หากกล่าวถึงเชียงใหม่กับการเมือง หลายคนอาจจะนึกถึงจังหวัดที่เป็นบ้านเกิดของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร บุคคลที่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างสำคัญให้กับการเมืองไทยในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา และมีส่วนทำให้เกิดรัฐประหารขึ้นในประเทศไทยสองครั้งคือปี 2549 และปี 2557 เชียงใหม่จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางและฐานที่มั่นสำคัญทางการเมืองในภาคเหนือของคนที่มีความคิดความเชื่อและการให้คุณค่าแก่ประชาธิปไตยเป็นหลัก

ความตื่นตัวทางการเมืองของคนเชียงใหม่นั้น อาจเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 นอกเหนือจากกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยกลุ่มที่แสดงตนว่าสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ และพรรคไทยรักไทย (เปลี่ยนมาเป็น ‘พลังประชาชน’ และ ‘เพื่อไทย’ ในเวลาต่อมา) อย่างชัดเจน ที่เรามักเรียกกลุ่มนี้ว่า ‘คนเสื้อแดง’ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มสถานีวิทยุชุมชนของกลุ่มคนเสื้อแดง, กลุ่ม นปช. และเสื้อแดงกลุ่มย่อยต่าง ๆ ในพื้นที่  กิจกรรมของกลุ่มนี้มักจะกำหนดแนวทางโดย ‘แกนนำ’ และใช้ ‘สถานีวิทยุ’ ของตนเองเป็นกระบอกเสียงหลักในการระดมมวลชนทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่ก็จะเป็นการร่วมชมและฟังการปราศรัยจากเวที นปช.ส่วนกลาง, การเชิญแกนนำและนักการเมืองจากส่วนกลางมาปราศรัยที่เชียงใหม่, การระดมพลไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อกดดันพรรคการเมืองกลุ่ม การเมืองฝ่ายตรงข้าม และการระดมพลไปให้กำลังใจพรรคการเมืองกลุ่มการเมืองฝ่ายเดียวกัน เป็นต้น ตัวอย่างกลุ่มคนเสื้อแดงที่สำคัญ ๆ ของเชียงใหม่ก็ได้แก่กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 สถานีวิทยุ FM 92.50 MHz เป็นต้น

กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ชุมนุมที่หน้า บช.ภ.5 ถ.มหิดล อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และที่หน้าอาคารศูนย์ราชการ ถ.โชตนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือน ก.ค. 2552 ที่มาภาพ: สำนักข่าวประชาไท

ภาพลักษณ์ของคนเสื้อแดงนั้น ถูกวาทกรรมทางการเมืองเรียกว่าเป็นพวก ‘ควายแดง’ หรืออาจเรียกว่าเป็น ‘Red germ’ หรือเชื้อร้าย ซึ่งเป็นคำที่ธงชัย วินิจจะกูลเคยใช้ในบทความ เชื้อร้าย: เมื่อร่างกายทางการเมืองไทยติดเชื้อแดง วิเคราะห์ภาพลักษณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงในสายตาของชนชั้นกลางในเมือง คนเสื้อแดงถูกทำให้เป็นพวกไม่มีการศึกษา น่ารังเกียจ

ในขณะเดียวกัน การมีกลุ่มนักกิจกรรมและนักวิชาการออกมาแสดงตัวว่าสนับสนุน จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนเสื้อแดงมั่นใจในจุดยืนของตัวเอง ซึ่งที่ จ.เชียงใหม่นั้น  ก็มีกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่ได้มีภาพพจน์ผูกติดกับนักการเมืองและพรรคการเมือง ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนคนเสื้อแดง อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักศึกษา เอ็นจีโอ นักกิจกรรมอิสระ กลุ่มศิลปิน รวมทั้งประชาชนทั่วไป ร่วมกันจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ใน จ.เชียงใหม่ เริ่มเห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 มีการจัดกิจกรรมผูกผ้าแดง การรวมตัวรำลึกและทวงความยุติธรรมให้คนตายจากเหตุการณ์นองเลือดปี 2553 ในทุกวันอาทิตย์ พร้อมไปกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งทำคู่ขนานไปกับเวทีในกรุงเทพฯ

อาจกล่าวได้ว่ากลุ่ม ‘นักกิจกรรม’ และกลุ่ม ‘มวลชนคนเสื้อแดง’ ที่ จ.เชียงใหม่ นั้นดำเนินกิจกรรมควบคู่กันไป แม้จะไม่เป็นเนื้อเดียวกัน มีความเห็นไม่ได้ตรงกันในทุกเรื่อง แต่ก็มีการเคลื่อนไหวที่เป็นไปในทางสนับสนุนกัน

ในปี 2553 ได้เกิด ‘สถานีวิทยุสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่’ FM 99.15 MHz คลื่นวิทยุชุมชนที่ได้รับเงินบริจาคจากประชาชนที่สนับสนุนและเป็นคลื่นเดียวที่กล้าพูดเรื่องการเมืองในสมัยนั้น จึงถือเป็นคลื่นวิทยุที่เกิดขึ้นจากความตื่นตัวของชาวเชียงใหม่ในเรื่องประชาธิปไตย มีการเผยแพร่บทความของนักวิชาการหลายคน และได้รับเสียงตอบรับจากทั้งปัญญาชนและชาวบ้านจำนวนมาก สถานีวิทยุสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่ FM 99.15 MHz  จึงถือเป็นสะพานเชื่อมให้กลุ่มนักกิจกรรมที่ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองหรือกลุ่มคนเสื้อแดง กับชาวบ้านได้เริ่มทำกิจกรรมร่วมกัน

ต่อมาปีใน 2554 ร้าน Book Re:public ได้ก่อตั้งขึ้น ร้านหนังสือนี้มีกิจกรรมเสวนา ฉายหนังหมุนเวียนกันไป รวมทั้งโครงการ ‘ห้องเรียนประชาธิปไตย’ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและคนทั่วไปที่สนใจ ได้เข้ามาเรียนรู้ ถือเป็นอีกแหล่งที่สร้างบรรยากาศทางการเมืองเชิงวิพากษ์ เปิดโอกาสให้คนหลายกลุ่มได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

กิจกรรมผูกผ้าแดงรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เม.ย. 2553 เมื่อเดือน ต.ค. 2553 ที่ จ.เชียงใหม่ ที่มาภาพ: สำนักข่าวประชาไท

นักกิจกรรมและคนเสื้อแดงเชียงใหม่จัดกิจกรรม 'วันเด็ก 54 ไม่เล่นกับทหาร' เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2554 ที่มาภาพ: Ardisto เดอะภารโรง

'ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง' (112 Hunger Strike) ของ 'มิตร ใจอินทร์' และกลุ่มเพื่อนศิลปิน เมื่อเดือน ต.ค. 2554 ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์ และ Thai E-News

แม้ว่ากิจกรรมเชิงรณรงค์ของนักกิจกรรมกลุ่มที่ไม่ได้ฝักใฝ่พรรคการเมือง จะเกิดขึ้นมากมายที่ จ.เชียงใหม่ แต่ก็อาจเป็นกิจกรรมในวงที่ค่อนข้างแคบ ตัวอย่างเช่น กิจกรรมของ ครก. 112 (คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112) หรือมีการจัดกิจกรรมที่กลุ่มศิลปินประท้วงอดหาร 112 ชั่วโมง เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรา 112, กิจกรรมวันเด็กไม่เล่นกับทหาร, กิจกรรมกินข้าวรอเลือกตั้ง รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ เมื่อเทียบกับกิจกรรมที่มีการนำโดยกลุ่มการเมืองที่มีความใกล้ชิดพรรคการเมืองและกลุ่มดีเจของสถานีวิทยุเสื้อแดงต่าง ๆ

แต่แล้วต่อมา สิ่งเหล่านี้ก็ดูเหมือนถูกกลืนหายไปท่ามกลางบรรยากาศแห่งความกลัวภายหลังรัฐประหารปี 2557

“มันลดลงไปแน่นอนอยู่แล้ว เพราะด้วยบรรยากาศความกดดัน และด้วยการที่ไม่มีคนใหม่ ๆ เข้ามาแทน” นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่งกล่าว เขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ตื่นตัวทางการเมือง และสนใจศึกษาในเชิงงานวิชาการ เขาเห็นว่า แม้จะไม่มีกิจกรรมทางการเมือง แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้กลุ่มนักศึกษาหรือผู้สนใจเลิกสนใจในประเด็นเหล่านี้

เมื่อพูดถึงภาพรวมของความตื่นตัวทางการเมือง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ภาคเหนือ เล่าให้ฟังถึงการรวมกลุ่มของนักกิจกรรมในภาคเหนือว่า ไม่ได้รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ กระจัดกระจายเป็นกลุ่มย่อย แต่มีความพยายามเชื่อมกันเวลาทำกิจกรรมใหญ่ ๆ เช่น การผูกผ้าแดง การจุดเทียนต้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำล้อไปกับกิจกรรมในกรุงเทพฯ

“มันมีช่วงพีคของมัน ช่วงปี 2553-2554 กิจกรรมพบปะกันทุกวันอาทิตย์ เหมือนเป็นที่ระบายของคนที่อึดอัด เราเข้ามาในฐานะคนที่เห็นใจคนเสื้อแดง และอยากช่วย อยากลงแรง คนที่มาคือคนที่อยากพูด อยากระบาย ตอนที่สลายการชุมนุมตัวเองอยู่ตรงไหน มีไอเดียทางการเมืองยังไง เป็นบรรยากาศที่คึกคักในวงแคบ แต่เหมือนมีสีสันเพราะสื่อรับลูก มีวอยซ์ทีวี ประชาไท แต่สำนักข่าวใหญ่ก็จะเล่นแต่เหตุการณ์ใหญ่ ๆ  หรือแกนนำเด็ด ๆ ”

เขาเล่าต่อว่า “กิจกรรมต่าง ๆ เริ่มแผ่ว ปี 2556-2557 เมื่อมีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พอมีการจัดการเรื่องนักโทษการเมือง เรื่องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 7.5 ล้าน ไม่แน่ใจว่ามันเป็นผลต่อเนื่องกันรึเปล่า แต่ก็เป็นขาลง เพราะสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย การทวงความยุติธรรมมันไม่ได้ผลทันทีอยู่แล้ว การชุมนุมยืดเยื้อ คนน้อยลงเรื่อย ๆ คนเริ่มอิ่มเริ่มพอ เป็นช่วงซบเซา แต่พอเกิดรัฐประหารอีกครั้งก็มีการออกไปประท้วงพร้อมกับเวทีที่กรุงเทพฯ แต่หลังจากนั้นสถานการณ์มันก็ตึงเครียดมาก มีการข่มขู่คุกคาม สั่งปิดงานเสวนา”

นอกจากนี้เขายังตั้งข้อสังเกตว่า “บางครั้งข้อเสนอมักอยู่ในวงค่อนข้างแคบ ไม่ได้ขยับไปอีกฝั่ง ทั้งที่ถ้ามันเป็นประเด็นโครงสร้าง ปัญหาสังคม คนอีกฝั่งก็น่าจะสนใจ ทั้งที่ถ้ามันอยู่ในระบบเหตุผลเขาน่าจะมองเห็น แต่มันกลายเป็นว่าพออีกฝั่งพูด ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็ต้องไม่เห็นด้วยไปก่อน อันนี้มองจากวันนี้กลับไปวันนั้น เราว่ามันเลยขยับได้แต่หมู่เสื้อแดงและเป็นในหมู่เสื้อแดงที่แคบลงด้วย อย่างเช่นคนที่สนับสนุนทักษิณจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก 112”

คณาจารย์ นักกิจกรรม ประชาชนเชียงใหม่กว่า 15 คน ร่วมสวมเสื้อขาว ยืนเฉย ๆ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ 'ปล่อยประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไข' ที่ข่วงท่าแพ จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือน เม.ย. 2559 ที่มาภาพ: สำนักข่าวประชาธรรม

รจเรข วัฒนพาณิชย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านหนังสือบุ๊ครีพับลิก และ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักกิจกรรมอีกหนึ่งคน รวม 3 คน ถูกเรียกให้เข้าพบเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ที่มณฑลทหารบก 33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือน เม.ย. 2559 ที่มาภาพ: Pipob Udomittipong

ด้านรจเรข วัฒนพาณิชย์ เจ้าของร้านหนังสือ Book Re:public และเจ้าของรางวัลผู้หญิงกล้าหาญจากรัฐบาลสหรัฐฯ ผู้จัดตั้งโครงการห้องเรียนประชาธิปไตย เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์หลังช่วงรัฐประหารว่า

“ก่อนรัฐประหารช่วงปี 2554-2555 บรรยากาศ เสรีภาพทางความคิดเห็นมันมีความเสี่ยงน้อยมาก หลังรัฐประหารมันมีความเสี่ยงสูง ไม่คุ้มกับการออกมา หลายกลุ่มที่อยากช่วยกันแต่ถูกเรียกตลอดเวลา จนหมดมุข คิดอะไรใหม่ไม่ออก ทำไปก็โดนเรียก เราก็เบื่อ ทหารก็เบื่อ แต่เขาก็จับตาดูกันตลอดเวลา ยิ่งช่วงหลังมีการใช้ ม.44 การออกมามันถูกทำให้เป็นการต้านทหารและเป็นภัยด้านความมั่นคงด้วย การใช้ ม.112 อย่างโหดร้ายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทุกอย่างมันถูกตีความไปทางนั้น เป็นทั้งความเสี่ยงทางสังคมและการแซงชั่นทางกฎหมาย”

รจเรขเล่าว่า ความจริงก็เกิดกลุ่มนักกิจกรรมสมัชชาเสรีเพื่อประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลังรัฐประหารปี 2557 แต่ก็เป็นการรวมตัวอย่างหลวม ๆ แลกเปลี่ยนความคิดความรู้ทางการเมือง ซึ่งเธอก็ยอมรับว่ามีคนรุ่นใหม่น้อยลงที่เข้ามารวมกลุ่ม เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ หากประชาสัมพันธ์ก็จะโดนเรียกไป ‘คุย’ อีก ส่วนกลุ่มนักกิจกรรมที่รู้จักก่อนรัฐประหารส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา พอหลังรัฐประหารบางส่วนก็จบออกไป เรียนต่อบ้าง กระจายตัวไปหางานทำบ้าง

“นักกิจกรรมที่ออกมาแอคชั่นพับบลิก ไม่มี ความเสี่ยงสูงมาก ปัจจัยทางครอบครัว พ่อแม่พร้อมไหม พร้อมถูกไล่ออกไหม พร้อมถูกลงโทษทั้งทางสังคม มหาลัย และทหารไหม บางคนพร้อมเป็นคนเบื้องหลังในการช่วยเหลือด้านข้อมูล แต่คนที่พร้อมจะออกมาต้านแบบ’ดาวดิน’ มีน้อยมาก ไม่พอจะทำอะไรได้ มีคนที่ถูกทหารตามไปที่บ้าน พ่อแม่ก็ห้ามไม่อยากให้ลูกไปยุ่ง” รจเรขกล่าว

เธอเล่าว่า ร้านหนังสือของเธอเองก็ยังจัดเสวนาอย่างต่อเนื่อง เดือนละครั้งสองครั้งบ้าง แต่จัดโดยใช้คำที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง แม้จะพาดพิงเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองอยู่บ้าง ทุกครั้งก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมานั่งฟัง 2-3 คน

“เราถูกสั่งให้เซ็น MOU ห้ามไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง และถูกสั่งห้ามไม่ให้ทำงานกับนักศึกษา เพราะเขาหาว่าเราล้างสมองเด็ก ซึ่งไม่ใช่ไง ใครจะถูกล้างสมองได้ง่ายขนาดนั้น” รจเรขกล่าวติดตลก

“หลังรัฐประหารเราถูกเรียกทุกปี ปีละครั้งสองครั้ง เวลาเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง เช่น ล่าสุดเดือนเมษาใส่หน้ากากไผ่ ไปถ่ายรูปตามกาดหลวง ศาลเก่า เรือนจำเก่า ลงโซเชียลเขียนว่า ‘ปล่อยไผ่’ เรากับภัควดี (ภัควดี วีระภาสพงษ์) ก็ถูกเรียกเข้าค่ายไปปรับทัศนคติครึ่งวัน หรือปีที่แล้วไปยืนหน้าท่าแพให้ปล่อยเพื่อนที่ถูกจับ 7 คน เรา ปิ่นแก้ว (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี) และน้องอีกคนก็ถูกเรียก ทำให้เราเคลื่อนไหวยากเพราะเราถูกจับตาตลอด”

ทั้งนี้รจเรขเห็นว่า เธอไม่อยากเป็นข่าวมาก เพราะจะทำให้คนอื่นไม่กล้าทำอะไร แม้เธอจะคิดว่าหากสื่อหลักเล่นประเด็นเหล่านี้ ก็อาจจะสร้างผลกระเทือนในสังคมวงกว้างได้บ้าง แต่เธอให้ความเห็นว่าสื่อในปัจจุบันไม่ได้อยู่เคียงข้างประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นกระบอกเสียงของประชาชน พอมีพ.ร.บ.คุมสื่อออกมา จึงไม่มีใครออกมาเรียกร้องแทนสื่อ

“ถ้าสื่ออยู่เคียงข้างประชาชนจริง เวลามีกฎหมายแบบนี้ออกมา เราก็จะรู้สึกว่าเสรีภาพของเขากับเสรีภาพของเรามันอันเดียวกัน” รจเรขกล่าว

เธอตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า “คนที่สนใจการเมืองเพิ่มขึ้นในความเห็นเรา แต่อย่าดูตอนเขาออกมาแอคชั่นในพับบลิก ดูความคิดเห็นทางการเมืองของเขามันเปลี่ยนมาฝั่งไม่เอาทหารมากขึ้น เราจะเห็นว่าประชามติปีที่แล้ว ในเขตพื้นที่ที่ประชามติไม่ผ่านมากที่สุดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์คือที่มช. ซึ่งมีทั้งอาจารย์และนักศึกษา น่าตกใจเพราะตอนแรกเราอาจจะไปปรามาสว่าเด็กพวกนี้ไม่สนใจการเมือง”

“แต่ตราบใดที่ทหารยังอยู่ ต่อให้มีเลือกตั้ง เขาก็เขียนทุกอย่างในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ทำให้อำนาจเขายังอยู่อีกยาว เขาทำทุกอย่างไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง กฎหมายคุมเสรีภาพสื่อ พ.ร.บ.คอมฯ เขาปูทางไว้หมดแล้ว แต่ถ้ายกเลิก ม. 44 ก็อาจจะดีขึ้น”

ทั้งนี้เธอยังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ “ถ้าได้สัมพันธ์ก็จะรู้สึกว่า เออ จริง ๆ มันก็มีนี่หว่า มันยังมีคนแบบนี้อยู่ แต่ถ้าถามว่ากล้าออกมาตอนนี้ไหม ความเสี่ยงก็มีมากอยู่ดี มันพูดได้แหละว่า เฮ้ย! ทำไมนักกิจกรรมถึงหายไป ทำไมไม่ออกมาเลย ถามตัวคุณเองก่อนว่าคุณกล้าออกมาไหม” รจเรขตั้งคำถามทิ้งท้าย

 

*นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์  นักข่าวประจำสำนักข่าวประชาไท  www.prachatai.com

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: สถิติการคุกคามจากรัฐหลังรัฐประหาร 2557

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: