พิพิธภัณฑ์ - ศิลปะ - วิทยาศาสตร์

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 8 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3041 ครั้ง


 
 

ตึกกล้วย เป็นอาคารริมอ่าวมาริน่าที่ดึงดูดสายตาผมเสมอ

เพิ่งมารู้ไม่กี่วันว่ามันคือพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ดังนั้นผมจึงไม่ลังเลที่จะเข้าไปเดินสำรวจ ยิ่งเดินเข้าไปใกล้ยิ่งรู้สึกทึ่งในความบ้าของคนออกแบบ และความกล้าของคนอนุมัติงบจัดสร้างอาคารหลังนี้ แต่มันก็เหมาะดีที่จะสร้างอาคารแปลกๆ สำหรับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

แต่เมื่อเข้าไปใกล้ๆ ผมก็สำนึกได้ว่าผมเข้าใจผิด คิดว่านี่คือพิพิธภัณฑ์วิทยาศาตร์ประเภทที่แนะนำให้เด็กๆ รู้จักแรงโน้มถ่วง พลังงานศักย์ กาลิเลโอ เซอร์ไอแซค นิวตัน แต่นี่คือ ArtScience Museum หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะวิทยาศาสตร์

แปลเป็นไทยแล้วอาจจะยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ไม่เป็นไร ผมจะกลับมาอธิบายทีหลัง

ภายในอาคารรูปกล้วย มีแกลอรี่ใหญ่ๆ ที่จัดแสดงนิทรรศการ ผมเลือกเข้าชมนิทรรศการ Future World และ Human+ 

- - - - - - - - - -

 
 

Future World คือนิทรรศการแรกที่ผมเลือกเข้าชม ภายในเป็นห้องมืดและมีไฟออกนีออนๆ ผมรู้สึกผิดหวังเล็กน้อยที่การนำเสนอไม่ได้พูดถึงความเป็นไปได้ที่น่าตื่นตาตื่นในใจอนาคต หากแต่นี่คือนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อให้ครอบครัวมาสนุกกับโลกจินตนาการ โดยใช้เทคนิคด้าน IT และมีเดียอาร์ต มาเป็นพื้นฐานในการนำเสนอ

นี่คือนิทรรศการที่เป็นมิตรกับแม่และเด็ก เพราะในนี้มีสไลด์เดอร์ผลไม้ เวิร์คชอปวาดรูประบายสีรถยนต์และสัตว์ทะเล ซึ่งแสกนเอาภาพที่เราวาดให้กลายเป็นอวตารรถในเมืองจินตนาการ หรือกลายเป็นสัตว์ทะเลดิจิตอลที่แหวกว่ายในอควาเรียมมุ้งมิ้งได้ ภายในนี้ยังมีของเล่นอีกมากที่เด็กชื่นชอบ ส่วนหนุ่มล้ำอย่างผมก็คงต้องผิดหวัง ถ้าเข้าไปนั่งวาดรูประบายสีเดี๋ยวจะถูกหาว่าแย่งเด็กเล่น

หากจะกล่าวหาว่านิทรรศการนี้เป็นเพียงสวนสนุกสำหรับเด็กก็ไม่เชิงนัก เพราะเบื้องหลังกลวิธีนำเสนอในนิทรรศการที่มีส่วนร่วมได้นั้น แม้จะใช้เทคนิคที่ไม่ได้ซับซ้อน เช่น ซอฟต์แวร์ที่มีกล้องจับความเคลื่อนไหว ที่ช่วยให้เวลาไถลตัวลงมาจากสไลด์เดอร์ ภาพฉายผลไม้ก็กระดุกกระดิกและมีเสียงปิ๊งๆ การใช้เทคนิคการแสกนภาพวาดรูประบายสีสัตว์น้ำของเด็กๆ แล้วไปปรากฏในจออควาเรียมขนาดยักษ์ แต่เทคนิคเหล่านี้ เมื่อผสมกับการลงทุนโปรดักชันดีๆ การควบคุมแสงสีเสียงให้เหมาะสม ก็สามารถเสกพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นโลกอนาคตเปี่ยมจินตนาการ ที่ครอบครัวทั้งหลายพร้อมจะจ่ายค่าตั๋วเข้าไปชม

- - - - - - - - - -

 
 
 
 

นิทรรศการอีกชุดหนึ่งคือ Human+ พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี จำพวกหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ โลกเสมือนจริง ซึ่งมีบทบาทเปลี่ยนแปลงมนุษย์ธรรมดาให้มีความสามารถมากกว่ามนุษย์ทั่วไป เราอาจเรียกความเคลื่อนไหวทำนองนี้ว่า Trans-human

ในนี้มีงานศิลปะหลายชิ้นที่พูดถึง Trans-human ได้ดี งานชิ้นหนึ่งที่ให้ชายแก่ "สวม" แขนกล ที่สามารถเคลื่อนไหวโดยใครก็ได้ที่มีซอฟต์แวร์สั่งการแขนกลนั้น ผู้สั่งการอาจเป็นผู้อยู่ในนิทรรศการหรือใครก็ได้ที่เข้าถึงซอฟต์แวร์จากอินเตอร์เน็ต ไม่เพียงเท่านั้น เขายังต้องสวมแว่นซึ่งถ่ายทอดภาพจากแว่นแทนสายตาของชายนิรนามที่อยู่นิวยอร์ค และได้ยินเสียงจากหูฟังของอาสาสมัครนิรนามที่ยอมให้ติดไมค์ซึ่งถ่ายทอดเสียงสดผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต

งานศิลปะชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะเสียอำนาจในตนมากขึ้นเรื่อยๆ หากเรายินยอมเชื่อมต่อตนเองเข้ากับอุปกรณ์ไอทีมากพอ และใช้อวัยวะเทียมที่เชื่อมต่อกับประสาทสัมผัสของเรามากพอ

- - - - - - - - - - 

ยังมีงานอีกชิ้นที่น่าสนใจ ศิลปินคนหนึ่งเพาะเลี้ยงเซลร่างกายมาทำเป็นตุ๊กตาเด็กเล่นขนาดจิ๋วที่ทำจากเนื้อเยื่อ ตุ๊กตาแต่ละตัวอยู่ในหลอดทดลองขนาดเล็ก งานศิลปะชุดนี้ค่อนข้างน่าแหวะ เพราะตุ๊กตาที่ศิลปินตั้งใจตกแต่งให้ดูน่ารักนั้นมีลักษณะเป็นเมือกๆ บางตัวมีมงกุฎเนื้อเยื่อ บางตัวมีกระโปรงรุ่ยๆ ที่ทำมาจากเนื่อเยื่อเช่นกัน

งานศิลปะชุดนี้แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ถึงการนำเซลจากสิ่งมีชีวิตมา "เล่น" ในพื้นที่นอกเหนือด้านการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์

คำถามก็คือ ในสังคมที่ผู้คนเข้าถึงความรู้ด้านในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จริยธรรมของการใช้เซลจากสิ่งมีชีวิตควรมีหรือไม่ และสังคมจะมีกลไกกำกับดูแลอย่างไร

ยังมีนิทรรศการอีกหลายชุดที่นำเสนอปรากฏการณ์วิทยาศาสตร์ในรูปแบบของศิลปะ เช่น การสร้างรถไฟเหาะตีลังกาแบบรางขาด เพื่อสื่อถึงเทคโนโลยีการทำการุณยฆาต การใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือน (Versual Reality) เพื่อศึกษาผลกระทบจากการทดลองสลับร่างระหว่างคนสองคน การเสนอภาพเคลื่อนไหวของพื้นที่หวงห้ามจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า เพื่อเสนอสะท้อนสภาวะของโลกหลังมนุษย์สูญพันธ์ ฯลฯ

 - - - - - - - - - - 

 
 

พิพิธภัณฑ์ศิลปะวิทยาศาสตร์ จึงดูจะโน้มเอียงมาในทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะ มากกว่าพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ กล่าวคือนำเสนองานศิลปะ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ หรือโดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นฐานของการสร้างงานศิลปะ

ข้อดีคือ เราสามารถรับรู้ความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์มากนัก หากแต่ตรงเข้าไปสัมผัสรับรู้จากงานศิลปะโดยตรง อควาเรียมดิจิตอลทำให้เราเห็นพลังของการใช้ IT เพื่อสร้างสรรค์จินตนาการ ตุ๊กตาเนื้อเยื่อทำให้เรากังวลเกี่ยวกับจริยธรรมการทดลองทางชีววิทยา การเห็นมนุษย์เสียความสามารถในการควบคุมร่างกายของตนเองทำให้เราตระหนักถึงด้านมืดของการใช้อวัยวะเทียมและเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกทั้งหลาย

ข้อที่น่าเสียดายคือ แม้ประเด็นนำเสนอของพิพิธภัณฑ์ทั้งสองจะน่าสนใจ แต่เราคงมีโอกาสน้อยที่จะเห็นพิพิธภัณฑ์เช่นนี้ในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเพราะค่าตั๋วคงจะมีราคาสูงทีเดียว คนชมน่าจะยังมีจำนวนน้อย และสังคมไทยน่าจะยังต้องสั่งสมความตระหนักในผลกระทบจากวิทยาศาสตร์ และบ่มเพาะทักษะในการอ่านงานศิลปะอีกพอสมควร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: