ปี 2559 แรงงานไทยในต่างประเทศสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 112,997 ล้านบาท

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 7168 ครั้ง

ปี 2559 แรงงานไทยในต่างประเทศสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 112,997 ล้านบาท

กรมการจัดหางานระบุปี 2559 มีคนไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมายรวม 114,437 คน สร้างรายได้ส่งกลับมาผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทยจนถึงวันที่ 30 ธ.ค. เป็นเงินจำนวน 112,997 ล้านบาท ที่มาภาพประกอบ: max nathans (CC BY-NC-ND 2.0)

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ระบุว่าตลอดปี 2559 มีจำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงานให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศและยังคงทำงานอยู่ในต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น 114,437 คน แบ่งเป็นเดินทางด้วยตนเอง จำนวน 10,640 คน จัดส่งโดยกรมการจัดหางาน จำนวน 12,931 คน นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน จำนวน 7,276 คน นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงาน จำนวน 4,446 คน บริษัทจัดส่ง จำนวน 33,124 คน และ เดินทางแบบ RE-Entry จำนวน 46,020 คน

สำหรับประเทศที่คนไทยได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน จำนวน 35,027 คน เกาหลีใต้ จำนวน 12,590 คน อิสราเอล จำนวน 8,629 คน ญี่ปุ่น จำนวน 8,610 คน และสิงคโปร์ จำนวน 5,843 คน ซึ่งการสนับสนุนให้คนไทยไปทำงานต่างประเทศสามารถสร้างรายได้ส่งกลับมา ผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย จนถึงวันที่ 30 ธ.ค. เป็นเงินจำนวน 112,997 ล้านบาท โดยในเดือนมีนาคม กันยายน และตุลาคม มีรายได้ส่งกลับเกินเดือนละ 1 หมื่นล้าน

นายสิงหเดช กล่าวถึงปัญหาการหลอกลวงคนหางานว่า พฤติกรรมการหลอกลวงของสายเถื่อนหรือนายหน้า ได้เปลี่ยนจากการเข้าไปหลอกลวงตามหมู่บ้าน ไปเป็นการโพสต์คำโฆษณาเชิญชวนทำงานต่างประเทศ ผ่านสังคมออนไลน์ กกจ. ได้มีการตรวจสอบเฟซบุ๊กที่มีพฤติกรรมโพสต์ข้อความชักชวนคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่เข้าข่ายกระทำความผิด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ

ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ตรวจสอบและสืบหาข้อมูลทุกเว็บที่มีพฤติกรรมเข้าข่าย รวมทั้งเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้เชี่ยวชาญจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มาให้ความรู้ในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และแกะรอยข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มมิจฉาชีพ เพื่อนำมาขยายผลเอาผิดตามกฎหมาย รวมทั้งให้ความรู้เพื่อสกัดกั้นการหลอกลวงในสังคมออนไลน์

"สมัยนี้ไม่มีแล้วที่มิจฉาชีพจะเข้าไปในหมู่บ้านแล้วไปหลอกจูงมือขึ้นเครื่องบินคนหางานไปปล่อยทิ้งต่างประเทศ การหลอกลวงจะใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเข้าถึงคนหางานได้ง่าย มักจะเอาแต่สิ่งดีๆ มาดึงดูดความสนใจ ซึ่งก็มีคนหลงเชื่อ จึงขอเตือนอย่าไปเลย เพราะไปแล้วอาจไม่ได้ทำงานตามที่คิดไว้ การลักลอบทำงานผิดกฎหมายจะถูกจับ ดำเนินคดี บางทีบอกมีงานนวดแผนโบราณในยุโรป ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีวีซ่าประเทศเขาไม่เปิดรับคนงานเรา จึงต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน"

อย่างไรก็ตาม หากจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ควรเดินทางโดยถูกกฎหมาย เพราะมีคนหางานที่จ่ายเงินไปแล้วแต่ไม่ได้เดินทางไปทำงาน หรือให้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และบางรายเมื่อเดินทางไปถึงแล้วประสบปัญหาไม่มีงานทำ บางรายอาจถูกบังคับให้ค้าประเวณี จึงขอเตือนคนหางานว่าอย่าหลงเชื่อการชักชวนผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพราะผู้ที่สามารถจัดส่งคนหางานให้ไปทำงานต่างประเทศได้ นอกเหนือจากกรมการจัดหางานจะต้องเป็นบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

สำหรับสถิติการร้องทุกข์ของคนหางานและการได้รับการช่วยเหลือกรณีจัดหางานต่างประเทศทั่วประเทศ ปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2559) มีผู้ร้องทุกข์ จำนวน 121 ราย แบ่งเป็นเดือนตุลาคม 61 ราย และเดือนพฤศจิกายน 60 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการช่วยเหลือทั้งสิ้น 119 ราย ทั้งนี้หากสนใจเดินทางไปทำงาน ขอคำแนะนำได้ที่สำนักงานจัดหางานทั่วประเทศ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 02245-9429 หรือ โทรสายด่วน 1694

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: