ชาวเน็ตล่าชื่อใน change.org ร้องเรียนคณะกรรมการบริหารระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ขอให้ปรับขึ้นค่าโดยสาร BRT แทนยกเลิกการให้บริการ ก่อนถูกยกเลิก 1 พ.ค. 2560 นี้ ระบุกลุ่มคนที่เคยใช้บริการทุกวันเพราะไม่มีรถยนต์ส่วนตัว มีปัญหาในการเดินทาง ที่มาภาพประกอบ: change.org
8 ก.พ. 2560 มีการรณรงค์ใน เว็บไซต์ change.org ร้องเรียนคณะกรรมการบริหารระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ขอให้ปรับขึ้นค่าโดยสาร BRT แทนยกเลิกการให้บริการ ก่อนถูกยกเลิก 1 พ.ค. 2560 โดยการรณรงค์นี้ระบุว่า มติ กทม. 'ยกเลิกบีอาร์ที หลังขาดทุนยับปีละ 200 ล้าน เปิดเลนให้รถยนต์เหมือนเดิมนั้น หากยกเลิกบีอาร์ที สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ 1. รถติดมากขึ้นแน่นอน เพราะผู้ใช้บริการบีอาร์ทีต่อวัน มีจำนวนเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 คน 2. เส้นทางดังกล่าวแทบจะไม่มีรถโดยสารประจำทางอื่นๆ วิ่งให้บริการ (มีเพียงรถเมล์ 2 สาย ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกัน) หมายความว่า 20,000 คน ในข้อ 1. ต้องหันไปใช้รถแท็กซี่หรือขับรถออกมาทำงานแทน ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ รถบนถนนจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาอีกราว 20,000 คันต่อวัน และ 3. กลุ่มคนที่เคยใช้บริการทุกวันเพราะไม่มีรถยนต์ส่วนตัว มีปัญหาในการเดินทาง
ทั้งนี้สาเหตุที่ขาดทุนเนื่องมาจากค่าบริการแสนถูกเป็นเหตุให้ขาดทุน โดยการรณรงค์นี้มีข้อเสนอคือ
1. ขาดทุนเพราะค่าโดยสารถูก วิธีแก้ปัญหาคือปรับขึ้นค่าโดยสาร ไม่ใช่ยกเลิกการให้บริการ
2. อัตราค่าโดยสารที่น่าจะเหมาะสม (ให้ผู้มีอำนาจลองนำไปพิจารณา) เมื่อเทียบกับรถโดยสารปกติ คือ
- 10 บาท (1-3 สถานี) 15 บาท (4-6 สถานี) 20 บาท (7-9 สถานี) 25 บาท (10-12 สถานี) สำหรับบุคคลทั่วไป
- 10 บาท สำหรับนิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรีอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ และผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ทุกสัญชาติ) รวมถึงข้าราชการ ลูกจ้าง และข้าราชการบำนาญของกรุงเทพมหานคร
- 5 บาท สำหรับเด็กเรียนในเครื่องแบบ
- ยกเว้นค่าบริการสำหรับผู้พิการและภิกษุุสามเณร
3. ค่าบริการตามที่เสนอในข้อ 2. อาจดูก้าวกระโดดและไม่ได้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันนัก แต่เมื่อเทียบกับการต้องโดยสารรถแท็กซี่หรือต้องขับรถส่วนตัวออกมาในเส้นทางดังกล่าวเนื่องจาก 'ไม่มีทางเลือกอื่น' ของผู้โดยสารที่ใช้บีอาร์ทีเป็นประจำ คิดว่าเป็นอัตราที่ยังรับได้และไม่กระทบเงินในกระเป๋ามากจนเกินไป (เพราะอัตราเฉลี่ยเทียบเท่ากับรถเมล์)
ซึ่งหากเปลี่ยนแปลงสำเร็จตามการรณรงค์นี้บีอาร์ทีจะให้บริการต่อไปในเส้นทางที่แทบจะไม่มีขนส่งมวลชนใด ๆ ให้บริการ โดยผู้ใช้บริการสามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีกว่าใช้รถส่วนตัวในช่วงเวลาเร่งด่วน และไม่ต้องมีรถยนต์บนถนนเพิ่มอีกอย่างน้อย 20,000 คันต่อวัน และการแก้ปัญหารถติดที่ยั่งยืน คือ การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการใช้บริการขนส่งมวลชนทุกชนิด ซึ่งในส่วนของผู้ให้บริการขนส่งมวลชนเองต้องปรับปรุงคุณภาพอยู่เสมอ ค่าบริการจะไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจเลย หากมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน เพราะทุกวันนี้การใช้รถส่วนตัวก็มีค่าเสื่อม ค่าบำรุงรักษาไม่น้อย หากมีทางเลือกที่ดี การใช้งานรถยนต์ส่วนตัวก็จะลดลง ปัญหารถติดที่กลายเป็นความเคยชินไปเสียแล้วก็อาจจะหายไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ