3 สหกรณ์การเกษตร ไม่ผ่านพิจารณาโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์การเกษตรเฟส 2

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 2834 ครั้ง

3 สหกรณ์การเกษตร ไม่ผ่านพิจารณาโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์การเกษตรเฟส 2

เปิดชื่อ 3 สหกรณ์ ไม่ผ่านการพิจารณาคำร้องและข้อเสนอ โครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เฟสสอง ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านตากแดด จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านไผ่สีทอง จำกัด และสหกรณ์การเกษตรไชยวานพัฒนาพิบูลย์รักษ์ จำกัด เพราะติดปัญหาเรื่องของที่ดิน โดย กกพ.เปิดให้สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันนับถัดจากวันที่มีประกาศ ที่มาภาพประกอบ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่าหลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติรับรองและประกาศผลรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า และมีสิทธิเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย โครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เฟสสอง แล้ว เมื่อวันที่ 3พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ที่ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้นจำนวน 35 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 154.52 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นหน่วยงานราชการ 11 ราย กำลังการผลิตรวม 52.52 เมกะวัตต์ และสหกรณ์ภาคการเกษตร 24 ราย กำลังการผลิตรวม 102 เมกะวัตต์ นั้น ในรายที่ไม่ผ่านการพิจารณา 3 ราย ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านตากแดด จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านไผ่สีทอง จำกัด และสหกรณ์การเกษตรไชยวานพัฒนาพิบูลย์รักษ์ จำกัด เนื่องจากจัดส่งเอกสารหลักฐานขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและไม่ตรงตามคุณสมบัติของหลักเกณฑ์ โดยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน ทาง กกพ. ได้เปิดช่องให้สามารถที่จะใช้สิทธิในการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันนับถัดจากวันที่มีประกาศ

ด้านนางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ในฐานะรองโฆษก กกพ. กล่าวว่า โครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เฟสสอง ถึงแม้จะไม่ได้จำนวนเมกะวัตต์ครบตามเป้าหมาย แต่ก็ถือว่าการรับซื้อได้ยุติแล้ว ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2560 (ครั้งที่ 12) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2560

สำหรับขั้นตอนต่อไปของผู้ที่ผ่านการพิจารณา ทั้ง 35 รายนั้น ทางเจ้าของโครงการหรือผู้สนับสนุนโครงการ จะเข้าสู่กระบวนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟภ. หรือ กฟน.) ภายใน 120 วันนับจากวันที่ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา (ภายในวันที่ 2 มี.ค. 2561) กับภายใต้อายุสัญญา 25 ปี และได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 4.12 บาทต่อหน่วย โดยต้องพร้อมจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ให้ทันภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2561 ทั้งนี้ หากไม่เข้าทำสัญญาภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ถือว่าคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าเป็นอันยกเลิก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: