อย.พบมีการใช้ส่วนผสมสารเคมีอันตรายใน 'สบู่เหลว-ลูกเหม็น-น้ำยาปรับผ้านุ่ม'

ทีมข่าว TCIJ 8 มิ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 39506 ครั้ง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันสารเคมีอันตรายได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสารอันตรายที่ชัดเจนอย่าง สารเคมีในยาฆ่าแมลง ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นและเครื่องสุขภัณฑ์ต่างๆ ไปจนถึง ผลิตภัณฑ์ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ เช่น น้ำยาลบคำผิด  สบู่เหลว แชมพู น้ำยาล้างจาน  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนมีส่วนผสมของสารเคมีตัวเดียวกันทั้งสิ้น  สามารถสะสมในร่างกายระยะยาว และอาจจะกลายเป็นสารก่อมะเร็งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างรุนแรงในที่สุด  

อย่างไรก็ตามแม้จะมีความพยายามในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจถึงอันตรายที่เกิดขึ้นได้หากใช้สารเคมีในชีวิตประจำวันแบบไม่ถูกวิธี แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถสร้างความตระหนักให้กับประชาชนมากนัก เพราะประโยชน์ของพวกมันที่สร้างความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันจนทำให้หลายคนลืมนึกถึงผลเสียที่จะตามมาจากการใช้ประโยชน์อย่างผิดวิธีนั่นเอง

แค่ท่าเรือเดียวมีตู้คอนเทนเนอร์นำเข้าสารเคมีปีละ 1.7 ล้านตัน

และด้วยความนิยมจนทำให้สินค้าอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเหล่านี้ขายดิบขายดีในตลาด ทำให้มีการนำเข้าสารตั้งต้นสำหรับการผลิตสินค้าเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเหล่านี้จำนวนมาก โดยจากข้อมูลของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักสำคัญของไทย ระบุว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 – 2557 มีปริมาณสินค้าอันตรายผ่านเข้าประเทศเพื่อส่งต่อไปยังโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ รวมสูงถึง 1,719,602 ตัน ทั้งนี้ยังไม่รวมปริมาณที่ผ่านเข้าออกในท่าเรืออื่นๆ นั่นหมายความว่าสารเคมีที่ถูกนำเข้ามาผลิตสินค้ามีปริมาณสูงซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้จากรายงานสรุปการนำเข้าเคมีภัณฑ์อันตราย ปี พ.ศ.2548-2552 จัดทำโดย หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการศูนย์วิจัยการจัดการสารเคมีและของเสียอันตราย โดยความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งถือเป็นงานวิจัยเดียวในขณะนี้ที่มีการรวบรวมสถิติการนำเข้าเคมีภัณฑ์อันตราย โดยรวบรวมการนำเข้าเคมีภัณฑ์อันตรายในระบบการจัดสินค้าในระบบฮาร์โมไนซ์ (“The International Convention on the Harmonized Commodity Description and Coding System”) หรือ (HS Convention) ควบคุมโดยกลุ่มประเทศสมาชิกในภาคีอนุสัญญา เป็นระบบมาตรฐานสากลที่ใช้ในการกำหนด ชื่อ และ หมายเลข สำหรับการจำแนกชนิดของสินค้า (ผลิตภัณฑ์) ที่มีการซื้อขาย ซึ่งพัฒนาและดูแลโดยองค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO)  พบว่าในระหว่างปี พ.ศ.2548-2552 ประเทศไทยมีปริมาณการนำเข้าเคมีภัณฑ์อันตราย ในหน่วยกิโลกรัมรวม 5 ปี เท่ากับ 194.7 ล้านตัน เฉลี่ยปีละ 38.9 ล้านตัน เคมีภัณฑ์ที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่  เชื้อเพลิงที่ได้จากแร่ น้ำมันแร่ ฯ รวม 124.2 ล้านตัน เฉลี่ยปีละ 24.8 ล้านตัน รองลงมา คือ ปุ๋ย รวม 19.75 ล้านตัน เฉลี่ยปีละ 3.95 ล้านตัน และลำดับที่ 3 คือเคมีภัณฑ์อินทรีย์ รวม 18.56 ล้านตัน เฉลี่ยปีละ 3.71 ล้านตัน โดยเทียบเป็นมูลค่าการนำเข้าเคมีภัณฑ์ทั้งหมด รวมทั้ง 5 ปี เท่ากับ 7,055,597 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ1,411,119 ล้านบาท ที่น่าสนใจ คือ ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้ารวม 181,528 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 6 มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 27,357 ล้านบาท ในปีพ.ศ. 2548 เป็น 46,326 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2552

อย.เผยเคมีภัณฑ์อันตรายยังถูกลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายอันตรายต่อผู้บริโภค

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แบ่งวัตถุอันตรายเป็น 4 ชนิด ได้แก่ วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เป็นวัตถุอันตรายที่ก่อให้เกิดผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ เช่น น้ำมันตะไคร้หอมไล่ยุงกาวยึดติดแห้งเร็ว ผลิตภัณฑ์ล้างจานที่มีสาระสำคัญเป็นสารลดแรงตึงผิวชนิดประจุลบ หรือชนิดไม่มีประจุ (ยกเว้น โนนิลฟีนอล เอทอกซิเลท หรือสารทั้งสองกลุ่มผสมกัน)

วัตถุอันตรายชนิดที่ 2เป็นวัตถุอันตรายที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องมาขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายและแจ้งการดำเนินการก่อนจึงจะประกอบกิจการนั้นได้ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ เช่น ปากกาลบคำผิด

สำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ เช่น ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำที่มีสารสำคัญเป็นกรดหรือด่างต่างๆ หรือมีสารลดแรงตึงผิวที่มีประจุบวก ทรายกำจัดลูกน้ำยุง ผลิตภัณฑ์ฉีดพ่นกำจัดแมลง เป็นต้น และชนิดสุดท้ายคือ วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามใช้ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ เช่น ดีดีที พาราไทออนเป็นวัตถุอันตรายที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องมาขอขึ้นทะเบียน วัตถุอันตรายและขอใบอนุญาตก่อนจึงจะประกอบกิจการนั้นได้

“หากผู้ผลิตและผู้นำเข้า ไม่ขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายก็จะมีโทษทางกฎหมาย โดยที่ผ่านมามีการควบคุมการนำเข้าและผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างเคร่งครัด แต่ยังคงมีบางส่วนถูกนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน ซึ่งหากหลุดรอดมาถึงผู้บริโภคย่อมเป็นอันตรายได้ ดังนั้นประชาชนควรมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วยเพื่อความปลอดภัย” ภก.ประพนธ์ กล่าว

เตือนสบู่เหลวที่มีส่วนผสมจากสารซักฟอกหรือดีเทอเจนผสมกับสารเคมีสังเคราะห์อื่นๆ อาจเป็นอันตราย

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีอันตรายที่มักจะถูกมองผ่านนั้นมีอยู่หลายผลิตภัณฑ์ด้วยกัน โดยจากข้อมูลของสำนักงาน อย. ระบุอันตรายในผลิตภัณฑ์เพื่อชีวิตประจำวันต่างๆ ยอดนิยมที่มีส่วนผสมของสารเคมีอันตรายที่จะต้องใช้ไว้อย่างระมัดระวังไว้ดังนี้

1.สบู่เหลว นับเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมที่ใกล้ตัวผู้ใช้มาก โดยตามหลักการผลิตที่ถูกต้องแล้ว จะต้องมีเนื้อสบู่อย่างน้อย 25 % ผสมกับน้ำ แต่ในประเทศไทยพบว่าไม่มีการขายสบู่เหลวชนิดนี้ โดยจากการสำรวจพบว่า สบู่เหลวที่วางขายอยู่ในท้องตลาดนั้น กลับมีส่วนผสมจากสารซักฟอกหรือดีเทอเจนผสมกับสารเคมีสังเคราะห์อื่นๆ  ที่ถูกทำละลายให้อยู่ในรูปของเหลว โดยสารซักฟอกหรือดีเทอเจนเหล่านี้ ยังเป็นสารเคมีหลักที่ใช้ในการผลิตแชมพู น้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดพื้น หรือแม้แต่น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำอีกด้วย  แตกต่างกันตรงความเข้มข้นของสารซักฟอกนั่นเอง

สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สบู่เหลวสามารถสะสมเป็นปัญหาในระยะยาว โดยสะสมซึมลงไปในผิวหนัง อวัยวะภายใน เป็นสารเคมีที่ดูดซึมผ่านผิวหนังได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถสะสมอยู่ในดวงตา สมอง หัวใจ ตับ และก่อปัญหาในระยะยาว หากยิ่งมีการใช้ร่วมกับสารประกอบตระกูลอามีน ก็จะกลายเป็นสารก่อมะเร็งในที่สุด เนื่องจากมีส่วนผสมของสาร SLS (Sodium Lauryl Sulfate) และ PEG (polyethylene Glycol) ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยตรง  ทำให้ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปและอเมริกามีกฏหมายห้ามใช้แล้ว และบางประเทศก็จำกัดให้มีการใช้น้อยลง แต่ในประเทศไทยกลับยังนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย

2 "ลูกเหม็น” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งชนิดก้อน ชนิดเม็ด และชนิดผลึก มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถระเหิดเป็นไอ ส่งกลิ่นสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบอยู่ภายในมาดับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์และส่งกลิ่นขับไล่แมลงได้ โดยลูกเหม็นส่วนใหญ่ทำมาจากสารเคมีที่เรียกว่า แนพทาลีน (Naphthalene) มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว แข็ง และสามารถระเหิดเป็นไอได้ง่าย ซึ่งสารชนิดนี้เป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ เพราะหากหายใจเข้าไปหรือสัมผัสทางผิวหนังโดยตรงหรือแม้แต่ผ่านเสื้อผ้าที่มีการสัมผัสกับลูกเหม็น จะทำให้ระคายเคืองตา จมูก คอ และผิวหนัง แต่หากเข้าสู่ร่างกายด้วยการรับประทาน จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ และหากได้รับเข้าไปมาก ๆ จะส่งผลให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายเป็นสาเหตุของการเกิดโรคโลหิตจางโดยเฉพาะในทารก เด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีภาวะระดับเม็ดเลือดแดงผิดปกติ

อย.สำรวจพบน้ำยาปรับผ้านุ่มตามตลาดนัดปนเปื้อนสารเคมีอันตราย

3.น้ำยาปรับผ้านุ่ม ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมในชีวิตประจำวันอีกชนิดหนึ่ง โดยในน้ำยาปรับผ้านุ่มมีส่วนประกอบสําคัญคือ น้ำมัน ที่ช่วยให้ผ้ามีความเรียบ นุ่ม ป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิตช่วยให้รีดได้ง่ายลดการยับของผ้าทําให้สิ่งสกปรกติดเนื้อผ้ายากขึ้น และทําให้ผ้าเปียกน้ำยากขึ้น น้ำมันนี้จะยังคงติดค้างอยู่ในเนื้อผ้าแม้ว่าจะผ่านการซักน้ำและรีดแล้วก็ตาม ซึ่งน้ำมันเหล่านี้จะสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง หรือการสูดดม ได้ตลอดเวลา นอกจากนี้น้ำยาปรับผ้านุ่มยังประกอบด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายอีกหลายชนิดได้แก่ เอทิลเอซิเทต, เบนซิน เอซีเทต, เบนซิน แอลกอฮอล์เอทานอลและคลอโรฟอร์ม โดยสารเคมีเหล่านี้ต้องควบคุมให้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเพราะเป็น พิษต่อร่างกายก่อให้เกิดการระคายเคืองและทําลายสุขภาพ มีพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ทําให้มึน และเวียนศีรษะ ทําลายตับและไต โรคโลหิตจาง มีผลต่อระบบประสาทและอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้

โดยจาการสำรวจของ ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย สํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่าจากการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำยาปรับผ้านุ่มตามแหล่งจําหน่ายในลักษณะร้านค้ามินิมาร์ท ร้านค้าแผงลอยร้านค้าสหกรณ์ ตลาดนัดและห้างสรรพสินค้า ยังพบการปนเปื้อนของสารเคมีอันตราย ได้แก่ เอทิล อะซีเตท เบนซิลแอลกอฮอล์และเบนซิล อะซีเตท ในตัวอย่างในน้ำยาปรับผ้านุ่มในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ซึ่งหากได้รับสารเคมีอันตรายเหล่านี้ จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ตั้งแต่มีอาการง่วงซึมและเวียนศีรษะ ทําให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ตา และทางเดินหายใจ มีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางทําให้มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ถ้าหายใจเอาสารที่ความเข้มข้นสูงเข้าไปจะทําให้หมดสติและเสียชีวิตได้ และส่วนผสมเคมีบางชนิดในน้ำยาปรับผ้านุ่มยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย

น้ำยาลบคำผิดฤทธิ์ร้ายติดไฟได้ สูดดมถึงขั้นปอดอักเสบ

4. น้ำยาลบคำผิด (ลิควิดเปเปอร์) ทั่วไปจะประกอบด้วยสารทึบแสงซึ่งช่วย ปิดทับคำผิด เช่น titanium dioxide ตัวทำละลาย เช่น น้ำ ตัวทำละลายอินทรีย์ที่ระเหยได้ง่าย สารที่ช่วยให้สารทึบแสงกระจายตัวได้ในตัวทำละลาย และอาจแต่งสีบ้าง ส่วนประกอบที่เป็นตัวทำละลายอินทรีย์นี้เองที่อาจมีผลต่อสุขภาพของผู้ใช้หาก มีการใช้ไม่ถูกต้อง หรือมีการสัมผัสอย่างต่อเนื่องนานๆ ตัวทำละลายอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในน้ำยาลบคำผิดได้แก่ เมธิลคลอโรเฮกเซน (methylchlorohexane) เป็นของเหลวไม่มีสี มีกลิ่นคล้ายเบนซีน  ไม่ละลายในน้ำ ติดไฟได้ ทำปฏิกิริยากับกับ oxidizing agent จึงควรหลีกเลี่ยงการนำสารนี้เข้าไปใกล้เปลวไฟ ประกายไฟ หรือบุหรี่ เมื่อเกิดการลุกไหม้แล้วให้ดับด้วยเคมีชนิดแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ หรือน้ำยาดับเพลิงชนิดโฟม เนื่องจากน้ำไม่มีประสิทธิภาพดีพอ นอกจากนี้ยังควรระวังการสูดดมก๊าซที่เกิดจากการเผาไม้ของ methylchlorohexane เนื่องจากเป็นก๊าซที่เป็นอันตราย มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยทำให้เกิดอาการระคายเคืองจมูก และลำคอ เวียนศีรษะ มึนงง ง่วงนอน และการสูดดมเข้าไปก็เป็นวิธีการที่จะได้รับสารนี้ได้ง่ายที่สุด ดังนั้นเมื่อต้องการทำงานโดยใช้น้ำยาลบคำผิดอย่างต่อเนื่องนานๆ     ควรทำในบริเวณที่มีการระบายอากาศดี หรือพยายามหลีกเลี่ยงไม่สูดดมน้ำยาโดยตรง  ในขณะที่ เมื่อสัมผัสกับ methylchlorohexane บ่อยๆ จะทำให้ผิวหนังแห้ง เมื่อเข้าตาทำให้เกิดอาการตาแดง หากเข้าสู่ร่างกายด้วยการรับประทานจะทำให้คลื่นไส้ และหากสำลักอาจทำให้เกิดปอดอักเสบจากสารเคมี

5. น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาทำความสะอาดเครื่องครัวบางชนิดมีโซดาไฟ เป็นส่วนประกอบซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ เป็นพิษต่อร่างกาย ต่อมาคือสารเคมีที่ใช้ในการขจัดสิ่งอุดตันในท่อน้ำทิ้งมักเป็นสารอันตรายที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง รวมทั้งยังต้องหลีกเลี่ยงการสูดกลิ่นเหล่านี้ เพราะมีอันตรายรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีน้ำยาทำความสะอาดพื้นบ้าน ที่ปัจจุบันนี้ บ้านไหนก็ต้องมี ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นคือสารกลุ่มอัลคิล ฟีนอล อีธอกไซเลต ที่มีรายงานความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของสาร NPE หากทาน สูดดม หรือสัมผัสในปริมาณความเข้มข้นสูงจะทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ตา และผิวหนังอย่างรุนแรง

น้ำยาล้างเล็บ ภัยร้ายใกล้ตัวส่งผลฮอร์โมนเพศหญิง

6. น้ำยาล้างเล็บ น้ำยาล้างเล็บไม่ได้มีแค่กลิ่นฉุน ๆ เท่านั้น แต่ยังมีสารอะซีโตน (Acetone) ที่หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก ๆ แม้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ก็สามารถทำให้เกิดอาการแสบจมูก แสบตา มึนหัว อาเจียน ปอด และคอเกิดอาการระคายเคือง หรือหนัก ๆ ก็อาจจะก่อกวนฮอร์โมนเพศหญิง ส่งผลกระทบให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับรอบเดือนได้

7. ยาจุดกันยุง  ส่วนใหญ่จะนิยมใช้สารไล่หรือป้องกันยุงในกลุ่มไพรีทรอยด์ (pyrethroids) ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่เลียนแบบสารไพรีทรินส์ (pyrethrins) ที่สกัดได้จากพืชตระกูลเบญจมาศ (สารสกัดไพรีทรัม หรือ pyrethrum extract) ตัวอย่างสารออกฤทธิ์กลุ่มไพรีทรอยด์ที่นิยมใช้ในยาจุดกันยุงและขึ้นทะเบียนไว้กับ อย. เช่น ดี-อัลเลทริน (d-allethrin), เอสไบโอทริน (esbiothrin), เมโทฟลูทริน (metofluthrin) เป็นต้น  สารไพรีทรอยด์ในยาจุดกันยุงจะไปรบกวนการทำงานของระบบประสาท ทำให้ยุงเป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว และตกลงมาหงายท้อง นอกจากนี้สารไพรีทรอยด์ยังมีฤทธิ์ในการไล่ยุงด้วย ควันที่ปล่อยออกมาจากยาจุดกันยุงที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์จึงช่วยลดอัตราการกัดของยุงและป้องกันการรบกวนจากยุงในบริเวณที่จุดได้

ในปัจจุบันยาจุดกันยุงมีการพยายามปรับแต่งกลิ่นให้มีกลิ่นหอมเลียนแบบธรรมชาติเพื่อกลบกลิ่นเผาไหม้และกลิ่นของสารเคมี โดยทั่วไปสารไพรีทรอยด์มีความเป็นพิษต่ำกว่าสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มอื่น การใช้ยาจุดกันยุงในขนาดและวิธีการใช้ปกติมักไม่พบการเกิดพิษ  หากสูดดมควันที่ปล่อยออกมาจากยาจุดกันยุงในปริมาณมาก เช่น อยู่ในบริเวณที่คับแคบไม่มีอากาศถ่ายเทติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจเป็นอันตรายได้ โดยความรุนแรงของอาการพิษขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย หากได้รับในปริมาณสูงจะมีอาการพิษเฉียบพลัน ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย ชัก หรือหมดสติได้ ส่วนอาการพิษอื่น ๆ ที่พบ ได้แก่ อาการแพ้ทางผิวหนัง คัน มีผื่นแดง หากเข้าตาอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้

 

ช่วงเดือน เม.ย. 2563 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่าตามที่มีข้อความชวนเชื่อ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง 5 สารที่อยู่ใน “น้ำยาปรับผ้านุ่ม” เป็นภัยร้ายที่มาพร้อมกับความหอม ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีข้อความชวนเชื่อเรื่อง 5 สารที่อยู่ใน “น้ำยาปรับผ้านุ่ม” เป็นภัยร้ายที่มาพร้อมกับความหอม ทางสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และน้ำยาปรับผ้านุ่มไม่ได้เป็นอันตรายอย่างที่กล่าวอ้าง โดยน้ำยาปรับผ้านุ่มนั้นประกอบด้วยสารเคมี 2 ส่วนที่สำคัญคือ

1. สารที่ทำให้ผ้านุ่ม เป็นกรดไขมันที่มาจากสัตว์ซึ่งไม่เป็นอันตราย เมื่อกรดไขมันจับกับผ้าทำให้ไฟฟ้าสถิตระหว่างเส้นใยลดลง ส่งผลให้ผ้าไม่แข็งแล้วเกิดความนุ่ม

2.สารที่ทำให้มีกลิ่นหอมติดทนนาน ในบทความกล่าวถึง สารเคมี 5 ชนิด ได้แก่ สารเอทิลอะซีเตท สารคลอโรฟอร์ม สารเบนซิลแอลกอฮอล์ สารเบนซิลอะชีเตท และมัสไซลีนซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่เลียนแบบกลิ่นจากกวางในปี ค.ศ. 1990 พบว่าเป็นสารก่อมะเร็ง จึงลดการผลิตลงอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันแทบไม่มีผลิตแล้ว ทั้งนี้ ในปัจจุบันไม่มีสารตั้งต้นจากคลอโรฟอร์ม (Chloroform) และเบนซิลแอลกอฮอส์ (Benzyl alcohol) ในน้ำยาปรับผ้านุ่มแล้ว และใช้เฉพาะหัวน้ำหอมที่บริสุทธิ์เท่านั้น

ทั้งนี้ สารที่ยังใช้เป็นส่วนประกอบในน้ำยาปรับผ้านุ่ม คือ สารเบนซิลอะซีเตท (Benzyl acetate) และเอพิลอะซีเตท (Ethyl acetate) เป็นสารที่ให้กลิ่นหอมในกลุ่มเอสเทอร์ ซึ่งสารนี้ไม่มีพิษ

น้ำยาปรับผ้านุ่มมีส่วนทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในผ้าได้ แต่มีปริมาณน้อยมากๆ การสวมใส่เสื้อผ้า จึงไม่สามารถทำให้สารเคมีซึมเข้าสู่เลือด จนส่งผลต่อฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายได้ แต่อาจจะทำให้เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนัง ในบางรายที่แพ้น้ำยาปรับผ้านุ่มได้

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่ nutrition.anamai.moph.go.th

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: