เปิดผัง ‘นิคมอุตสาหกรรม’ ใน ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว’

ทีมข่าว TCIJ : 8 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 34194 ครั้ง

เผยรายละเอียด ‘นิคมอุตสาหกรรม จ.สระแก้ว’ ที่คาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จเป็นแห่งแรกในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ล่าสุดประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการแล้วเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2560 ด้านอนุกรรมาธิการศึกษาเศรษฐกิจพิเศษ สนช. ระบุมีจุดอ่อน ยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างโครงข่ายคมนาคม กำลังซื้อของกัมพูชาอยู่ที่พนมเปญซึ่งการขนส่งจากอรัญประเทศยังมีต้นทุนสูงกว่าเมื่อเทียบกับโฮจิมินห์ของเวียดนาม

ข้อมูลจากคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าสู่อินโดจีน ในคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ศึกษาติดตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ จ.สระแก้ว ได้เปิดเผยรายละเอียดของ ‘โครงการนิคมอุตสาหกรรม จ.สระแก้ว’ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อเดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา มีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายประเด็น

ความเป็นมาและที่ตั้งโครงการ

ตามที่กรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558 ได้มีมติเห็นชอบการจัดสรรที่ดินที่มีการถอนสภาพเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก โดยให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เช่าเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และได้มอบหมายให้ กนอ. รับผิดชอบดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก 3 พื้นที่ ได้แก่ 1. พื้นที่ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก (พื้นที่ประมาณ 800 ไร่ในท้องที่ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก) 2. พื้นที่ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว (พื้นที่ประมาณ 660 ไร่ ในท้องที่ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว) และ 3. พื้นที่ ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา (พื้นที่ประมาณ 1,100 ไร่ ในท้องที่ ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา)

ที่ตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว ที่มาภาพ: คณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าสู่อินโดจีน ในคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2559 กนอ. ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินจากรมธนารักษ์ ในระยะเวลาการเช่า 50 ปี เนื้อที่ 660 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา พื้นที่หมุดหลักตามโฉนด เลขที่ 30649 เลขที่ดิน 2 หน้าสำรวจ 3187 ต.บ้านไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ตั้งติดอยู่กับทางหลวงชนบท สก. 3085 ประมาณช่วง กม. ที่ 4+900-6+200 โดยการดำเนินการจัดหาที่ดินเป็นไปตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว โดยสภาพพื้นที่เป็นที่ราบมีระดับความสูงประมาณ 60 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ห่างจากชายแดนกัมพูชาประมาณ 3 กิโลเมตร และด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากตัวเมือง อ.อรัญประเทศ ประมาณ 4 กิโลเมตร

ทั้งนี้โครงการนิคมอุตสาหกรรม จ.สระแก้ว คาดว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่พัฒนาแล้วเสร็จเป็นแห่งแรก โดยได้รับอนุมัติงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2560 วงเงิน 700 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 18 เดือน

ข้อมูลพื้นที่ของโครงการนิคมอุตสาหกรรม จ.สระแก้ว

พื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของโครงการนิคมอุตสาหกรรม จ.สระแก้ว ที่มาภาพ: การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้การออกแบบและจัดทำรายละเอียดงานก่อสร้าง (Detail Design) มีแนวคิดในการออกแบบพัฒนาตามแนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) โดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและปัญหาสิ่งแวดล้อมแก่ท้องถิ่นและชุมชนในลักษณะอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) สำหรับการจัดแบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

  • ขนาดพื้นที่โครงการทั้งหมด 660-2-23 ไร่
  • พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 163 ไร่
  • พื้นที่สีเขียว 64 ไร่
  • พื้นที่ประกอบธุรกิจ/อุตสาหกรรม 433 ไร่
  • เขตประกอบการทั่วไป (Zone B,C,D,E) 242 ไร่
  • เขตประกอบการโลจิสติกส์ (Zone G) 89 ไร่
  • เขตประกอบการเสรี (Zone F) 60 ไร่
  • เขตพาณิชย์ (Zone A) 37 ไร่

สำหรับระบบสาธารณูปโภคที่จัดเตรียมไว้รองรับภายในนิคมอุตสาหกรรม จ.สระแก้ว ได้แก่

  • ระบบไฟฟ้า ใช้จากสถานีไฟฟ้าย่อยขนาด 50 MW โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จ.สระแก้ว
  • ระบบน้ำ ใช้น้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาอรัญประเทศ กำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 5,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน โดยมีท่อน้ำประปาเข้าสู่ที่ดินทุกแปลง
  • ระบบน้ำเสียส่วนกลาง: ระบบบำบัดน้ำเสียแบบชีวภาพ (Biological Treatment) ขนาด 4,000 ลูกบาศก์เมตร/วั
  • ระบบรวมน้ำเสีย เป็นท่อแยกน้ำเสียเฉพาะเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรม
  • ระบบระบายน้ำ และระบบป้องกันน้ำท่วม
  • ระบบถนนภายในโครงการ ถนนสายประธานเขตทางกว้าง 40 เมตร ถนนสายรองเขตทางกว้าง 22 เมตร
  • ระบบโครงข่ายคมนาคมที่มีประสิทธิภาพสูง
  • ระบบรักษาความปลอดภัย CCTV
  • มีเตาเผาขยะของโครงการ
  • สิ่งอำนวยความสะดวก อาคารสำนักงานศุลกากรในเขตประกอบการเสรี, ธนาคาร, คอมมูนิตี้มอลล์ เป็นต้น
  • ในด้านการบริหารจัดการ มีการบริการอนุมัติ-อนุญาต และสิทธิประโยชน์แบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service: OSS)

ความคาดหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจของโครงการ

การคาดการณ์จาก 'โครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว' เมื่อเดือน ม.ค. 2559 ระบุไว้ว่าผลประโยชน์โดยตรงทางเศรษฐกิจที่สามารถประมาณการเป็นมูลค่าในรูปตัวเงิน และผลประโยชน์ทางอ้อมที่ไม่สามารถประเมินมูลค่า

สรุปได้คือด้านผลประโยชน์ทางตรงนั้น ในระยะก่อสร้างโครงการก่อให้เกิดการจ้างงานและการผลิตในหมวดการก่อสร้างภาครัฐ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มประมาณร้อยละ 3.5 โดยมีมูลค่าการจ้างงานในการก่อสร้างโครงการรวม 21.54 ล้านบาท และเมื่อพัฒนาโครงการเสร็จแล้วจะมีผู้ประกอบการมาลงทุนก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 1,500 ตำแหน่งงาน ภายในระยะเวลา 10 ปีหลังเปิดดำเนินงาน โดยมีค่าจ้างเฉลี่ย 150,000 บาท/คน/ปี และเมื่อมีการประกอบกิจการเพิ่มขึ้นจะมีความต้องการวัตถุดิบในท้องถิ่นทั้งจากภาคเกษตรและภาคอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้มีมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.033

ส่วนผลประโยชน์ทางอ้อมที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินได้โดยอาจเป็นสิ่งตอบแทนที่มาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ผลจากการเพิ่มของราคาที่ดิน ผลประโยชน์ที่ต่อเนื่องจากการจ้างงาน เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ที่พัก ศูนย์การค้า และระบบสาธารณูปโภคที่มีการพัฒนาเพิ่มเติมขึ้นมาทั้งทางด้านคมนาคม ไฟฟ้า ประปา และคมนาคม เป็นต้น

หวั่นจุดอ่อน ‘การคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน-กำลังซื้อกัมพูชาอยู่ที่พนมเปญ’

ทั้งนี้คณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ของ สนช. ได้ประเมินปัญหาและอุปสรรคของเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว ในด้านต่าง ๆ ไว้อาทิเช่น

ปัญหาด้านผังเมือง เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว ยังไม่มีผังเมืองรวมเฉพาะ โดยปัจจุบันมีการใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่ตำบลบ้านใหม่หนองไทร ตำบลป่าไร่ ตำบลอรัญประเทศ ตำบลฟากห้วย และตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว พ.ศ.2557 ซึ่งประกาศดังกล่าวมีข้อจำกัดในการตั้งโรงงานหรือการมาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างผังเมืองรวมของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ซึ่งคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

ปัญหาด้านการคมนาคมขนส่ง ยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างโครงข่ายคมนาคมทางบกของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) บริเวณที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม (บ้านป่าไร่) ไปยังด่านพรมแดนบ้านคลองลึก และด่านพรมแดนบ้านหนองเอี่ยนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังมีประเด็นความร่วมมือด้านการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันเรื่องจำนวนใบอนุญาตฯ จากเดิมกำหนดไว้ 40 ฉบับซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคเอกชน (ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้เพิ่มใบอนุญาตฯ เป็น 150 ฉบับ แต่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อแก้ไขบันทึกความเข้าใจ) นอกจากนี้การสร้างรางรถไฟในราชอาณาจักรกัมพูชายังไม่แล้วเสร็จ และยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างบ้านด่านคลองลึก-ปอยเปต เป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร รวมทั้งพิธีการผ่านแดนยังไม่มีความชัดเจน ทั้งทางด้านระเบียบขั้นตอน การขนส่งสินค้าและการเปลี่ยนขบวน ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการยกร่างข้อตกลงเกี่ยวกับการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างสองประเทศ ซึ่งราชอาณาจักรกัมพูชาได้ให้สัมปทานภาคเอกชนเดินรถไฟของประเทศกัมพูชา จึงยังไม่มีความชัดเจนด้านการเดินรถไฟร่วมกัน

ปัญหาในด้านการลงทุน พบว่านักลงทุนยังไม่สนใจมาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจสระแก้วมากนัก เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในสายตานักลงทุน ที่สำคัญคือราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงอย่างมาก รวมทั้งความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงเส้นทางคมนาคม ถนน สะพาน ด่านชายแดน ระบบสาธารณูปโภค และการกำจัดของเสีย ก็ยังพัฒนาไม่แล้วเสร็จ นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มกิจการที่ได้รับการส่งเสริมนั้นยังพบปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เช่น ในกลุ่มกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร ยังขาดเทคโนโลยีการแปรรูปสินค้าและความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งวัตถุดิบ อาหาร เครื่องดื่ม พลังงานทดแทน ส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ แม้จะมีแรงงานค่าจ้างราคาถูกจากกัมพูชา แต่จำนวนแรงงานก็มีไม่มากนัก เนื่องจากแรงงานในภาคนี้ส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงพนมเปญ และกัมพูชายังคงได้สิทธิพิเศษ GSP จากยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบสำคัญของนักลงทุนที่ลงทุนในกัมพูชา ในกลุ่มกิจการสินค้าอุปโภคบริโภค มีข้อจำกัดเรื่องตลาดรองรับโดยเฉพาะกำลังซื้อส่วนใหญ่ของกัมพูชาอยู่ที่กรุงพนมเปญซึ่งอยู่ใกล้กับโฮจิมินห์ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของเวียดนามมากกว่า ประกอบกับการคมนาคมระหว่างด่านอรัญประเทศกับพนมเปญยังไม่สะดวกและมีต้นทุนสูง ทำให้การผลิตและจำหน่ายน่าจะเกิดภายในประเทศไทยมากกว่า

คืบหน้าแค่ไหนแล้ว (ณ ต้นเดือน ม.ค. 2560)

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของโครงการนี้ เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ประกาศ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (4 ม.ค. 2560) และประกาศ เชิญยื่นเอกสารเบื้องต้น งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว โดยวิธีคัดเลือก (5 ม.ค. 2560) แล้ว

รวมทั้งคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีมติเห็นชอบ สำหรับการออกมาตรการพิเศษสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว ที่จะได้รับข้อเสนอพิเศษจากมาตรการส่งเสริมการเช่าแบบเร่งรัดพิเศษหรือ Super Early Bird ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีความประสงค์เช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือการเช่าเหมาแปลง (Whole Rental) พื้นที่ตั้งแต่ 20 ไร่ ขึ้นไป เป็นระยะเวลาการเช่า 30 ปี จะได้รับการ ยกเว้นค่าเช่า 3 ปีแรก และยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษา ปีแรกทั้งนี้ผู้ประกอบการจะต้องลงนามสัญญาเช่าภายใน 31 มี.ค. 2560 เริ่มก่อสร้างโรงงานภายใน 6 เดือนเปิดดำเนินการภายใน 2 ปี นับจาก วันทำสัญญาเช่า (อ่านเพิ่มเติม: กนอ.เว้นค่าเช่าลงทุนนิคมฯ เขตเศรษฐกิจสระแก้ว 2-3 ปี)

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
จับตา: สิทธิประโยชน์ผู้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: