ธนาคารออมสินเตรียมเปิด 24 ชม.

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 มิ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 4246 ครั้ง

ธนาคารออมสินเตรียมเปิด 24 ชม.

ฐานเศรษฐกิจระบุ 'ธนาคารออมสิน' ปฏิวัติครั้งใหญ่ เตรียมเปิดสาขาไฮเทคให้บริการ 24 ชั่วโมงแห่งแรก เล็งพื้นที่แนวรถไฟฟ้า พร้อมพัฒนาให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่ที่ปรึกษาการเงิน รับต้องเปลี่ยนเพื่ออยู่รอดสู้ฟินเทคบูมกระทบรายได้สินเชื่อและค่าธรรมเนียมหด

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2560 ว่านายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีธนาคารวางแผนการบริหารสาขาเป็น Digital Branch เพิ่มมากขึ้นและจะเป็นสาขาที่ให้บริการทางการเงิน 24 ชั่วโมง

“ปีนี้เราจะทดลองเปิด 1 สาขา จากเป้าหมาย 5-6 สาขาสาขา Digital Branch ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง จะให้บริการตามพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าซึ่งอาจจะมีพนักงานหรือไม่มีก็ได้อาจจะใช้เครื่อง VTM ที่สามารถทำธุรกรรมการเงินแทนได้”นายชาติชาย กล่าว

VTM (Visual Teller Machine) สามารถทำทุกอย่างเหมือนเคาน์เตอร์สาขา ทั้งการเปิดบัญชี สมัครบัตรเดบิต และขอสินเชื่อผ่านวิดีโอคอลล์ โดยยืนยันตัวตนผ่านเลขบัตรประจำตัวประชาชน

นอกจากนี้ธนาคารวางแผนนำหุ่นยนต์แนะนำการวางแผนทางการเงิน (Robo Advisor) สำหรับกลุ่มผู้มีเงินเดือน ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนการเปิดสาขาแบบเต็มรูปแบบที่มีต้นทุน 30-40 ล้านบาทต่อสาขา หากเปิดสาขารูปแบบใหม่ต้นทุนจะน้อยลง

“ธนาคารยืนยันว่าจะไม่มีการปิดสาขา มีแต่จะเปิดเพิ่ม ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 20 แห่ง จากปัจจุบัน 1,056 แห่ง แต่สาขาอาจจะปรับรูปแบบตามพื้นที่และกลุ่มลูกค้าไม่มีการลดคน แต่จะมีการโยกย้ายไปทำหน้าที่อื่นที่เหมาะสมที่ซับซ้อนขึ้น เช่น จากเดิมมีพนักงานสาขาละ 10 คน อาจจะเหลือน้อยลง” นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย กล่าวอีกว่ารกิจการเงินผ่านธนาคารจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายหลังจากกระแสฟินเทคเข้ามามีผลตอ่ อุตสาหกรรมธนาคารในระบบ ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) โดยจะเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์การเงินที่ออกโดยสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non Bank) เช่น Alibaba, Alipay, บุญเติม หรือ เซเว่นอีเลฟเว่นเป็นต้น

แนวโน้มบริษัทเหล่านี้หันมาให้บริการด้านแบงก์มากขึ้นซึ่งจะกระทบต่อการทำธุรกิจ รวมถึงนโยบาย National e-Payment ผ่านโครงการพร้อมเพย์ ที่จะมีผลต่อรายได้ในส่วนของบริการการโอนเงินที่มีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี รวมถึงบัตรเดบิตและ เอทีเอ็มที่มีรายได้ 3 หมื่นล้านบาท ที่เป็นรายได้หลักเช่นกัน จะเห็นรายได้เหล่านี้ปรับลดลงเรื่อยๆ จากนวัตกรรมที่จะเข้ามามีบทบาท หรือการลดค่าธรรมเนียมลงจากบริการหลักเพื่อแข่งขัน

ดังนั้นนวัตกรรมจะเข้ามากระทบอุตสาหกรรมการเงินทำให้ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารต่างประเทศและธนาคารของรัฐจะต้องปรับตัวโดยการหาธุรกิจใหม่และผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อหารายได้ใหม่มาชดเชยรายได้ที่หายไป

ปัจจุบันธนาคารออมสินมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากค่าธรรมเนียมหลักๆ ประมาณ 4% และรายได้ดอกเบี้ย 96% ซึ่งธนาคารตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมเป็น 10% โดยจะมาจากธุรกิจใหม่และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะทยอยออกมาต่อเนื่อง เพื่อเป็นการปรับตัวรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ส่วนผลประกอบการสิ้นเดือนเมษายน 2560 มีกำไรสุทธิ 8,656 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะกำไรประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีกำไร 2.59 หมื่นล้านบาท สินเชื่อจำนวน 1.975 ล้านล้านบาท มากเป็นอันดับ 1 ของระบบ เงินฝากมากเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวน 2.09 ล้านล้านบาท

นายชาติชาย กล่าวว่าธนาคารจะพัฒนา My Mo My Card ที่สามารถถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มได้โดยไม่ต้องพกบัตร และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายสังคมไร้เงินสดภายใต้โครงการกระจายจุดรับบัตร (EDC) ซึ่งจะต้องขยายเพิ่มกว่า 1 ล้านจุด แต่หากต้องการขยายไปสู่ร้านค้ารายย่อยๆ ที่มีปริมาณการใช้จ่ายไม่มากเครื่องอีดีซีอาจจะไม่ครอบคลุม เพราะเครื่องอีดีซีจะต้องมีปริมาณธุรกรรม 1 แสนบาทขึ้นไปถึงจะคุ้มต้นทุน

ธนาคารจึงได้พัฒนา MyMo Pay บริการชำระเงินร้านค้าผ่านQR Code โดยลูกค้าสามารถ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน และสามารถใช้จ่ายผ่าน QR Code ได้โดยปัจจุบันทดลองใช้อยู่ที่ สำนักงานใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกใช้ได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ได้

ขณะที่การออกโปรดักต์ใหม่จะมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เช่น ธนาคารกำลังจะออกโปรแกรมเปิดบัญชีเงินเดือนผ่านธนาคาร(Payroll Program) โดยให้บริการที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป โดยธนาคารจะมีโปรแกรมให้กับฝ่ายบุคคลขององค์กรนั้นๆซึ่งโปรแกรมดังกล่าวจะมีประวัติการเงิน การทำงานพฤติกรรมของพนักงานที่สามารถลิงก์กัน โดยพนักงานรายใดที่มีคะแนนดีสามารถกู้เงินโดยได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับองค์กร ซึ่งจะทำให้องค์กรนั้นสามารถบริหารจัดการบุคลากรได้ดีขึ้นด้วยนอกจากนี้จะออกบริการ Market Place ที่เป็นบริการออนไลน์ช็อปปิ้งที่ให้ลูกค้าสามารถซื้อขายได้ระหว่างกัน เป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: