นักวิชาการกลุ่มเอาถ่านหิน ยื่นหนังสือถึงนายกหนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 ธ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2539 ครั้ง

นักวิชาการกลุ่มเอาถ่านหิน ยื่นหนังสือถึงนายกหนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

นักวิชาการกลุ่มเอาถ่านหิน รวมตัวยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ระบุหากรัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดและนำไปสู่วิกฤตพลังงานภาคใต้และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ในขณะที่นักวิชาการกลุ่มไม่เอาถ่านหิน จัดสัมมนา เสนอถอด โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ 4 โรงออกจากแผนพีดีพีฉบับใหม่ หลังพบความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดลดลงเกือบ 4,000 เมกะวัตต์ ที่มาภาพ: Energy News Center

เว็บไซต์ Energy News Center รายงานว่าเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมาตัวแทน “ชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” 7คน นำโดยรศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเมืองแร่และปิโตรเลียมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,นายสุรพันธ์ วงษ์โอภาสี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน และรศ. สมศักดิ์ สายสินธุ์ชัย อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ายื่นหนังสือ “สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา” ต่อ นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

โดย รศ.ดร.ภิญโญ กล่าวว่า นักวิชาการมีความห่วงใยกรณีการต่อต้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา เนื่องจากการต่อต้านบรรลุผลจะส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤติไฟฟ้าที่ภาคใต้ในอนาคต เพราะปัจจุบันภาคใต้พึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเกือบ 90% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ดังนั้นหากเกิดผลกระทบต่อแหล่งก๊าซฯ เช่น การปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) รวมถึงกรณีปริมาณสำรองก๊าซฯในอ่าวไทยเหลือน้อยลง ทุก ๆ ปี จะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเชื้อเพลิง และต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)จากต่างประเทศมาทดแทนมากขึ้น ซึ่งเมื่อราคา LNG ในอนาคตปรับขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศทันที ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ จะช่วยกระจายความเสี่ยงเรื่องเชื้อเพลิงและลดปัญหาวิกฤตไฟฟ้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ รวมทั้งยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าด้วย

นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงกรณีการบิดเบือนข้อมูลการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่มีการหยิบยกโรงไฟฟ้าถ่านหินในอดีตเมื่อ 30- 40 ปีก่อนว่าก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมมาสร้างความหวั่นวิตกให้กับชาวบ้าน ซึ่งในความเป็นจริงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เลือกใช้เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทันสมัย คือระบบ หม้อต้มไอน้ำแบบ Ultra-supercritical ที่จะไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนในอดีต โดยมีการนำเข้าถ่านหินคุณภาพดีจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลียและ อเมริกาใต้ ที่ไม่เคยพบว่ามีการปล่อยโลหะหนักแต่อย่างใด

รวมถึงการบิดเบือนข้อมูลว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส ต่างทยอยเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงพบว่าการ เลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินของประเทศดังกล่าวไม่ได้มาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยสหรัฐฯเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากค้นพบก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน(เซลล์แก๊ส)ที่มีต้นทุนถูกทำให้หันมาใช้โรงไฟฟ้าก๊าซฯแทน ขณะที่ประเทศอังกฤษ ก็เจอแหล่งก๊าซฯในทะเลเหนือ จึงหันมาสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯแทน แต่ท้ายที่สุดเมื่อก๊าซฯไม่พอใช้จึงหันมาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มด้วย ส่วนประเทศฝรั่งเศส มีการเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินจริงแต่ ก็หันไปเพิ่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แทน เพราะมีต้นทุนถูกกว่า

รศ.ดร.ภิญโญ กล่าวด้วยว่าจากการติดตามข้อมูลพบว่าปัจจุบันมี 62 ประเทศมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มในอีก 4-5 ปีข้างหน้า รวมการผลิตไฟฟ้ากว่า 1 ล้านเมกะวัตต์ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศในอาเซียนอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม เป็นต้น และเมื่อดูตามสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงของโลก พบว่ามีการใช้ถ่านหินถึง 40% ใช้ก๊าซธรรมชาติ 20% ใช้พลังน้ำจากเขื่อน 15% ใช้นิวเคลียร์ 15% ส่วนพลังงานทดแทนใช้ไม่ถึง 5%

รศ.ดร.ภิญโญ กล่าวด้วยว่า การต่อต้านโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน(เมกะโปรเจค)ของประเทศในหลายโครงการ ส่งผลให้ประเทศชาติไม่เกิดการพัฒนา รวมถึงกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ผ่านการทำรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EHIA) แล้ว หากไม่สามารถก่อสร้างได้ตามแผน ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้หันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน ซึ่งส่งผลเสียโดยรวมต่อเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้นกลุ่มนักวิชาการจึงต้องรวมตัวกันเพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงแก่ภาครัฐ เพราะไม่ต้องการเห็นความผิดพลาดในการตัดสินใจและอยากให้รัฐเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาต่อไป

ด้าน นายสุรพันธ์ วงษ์โอภาสี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งอยู่ติดทะเล เช่นโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด และบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด(มหาชน) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีทั้งพื้นที่อยู่ริมทะเลเช่นเดียวกับโครงการโรงไฟฟ้าเทพา มีกำลังการผลิตรวม 2,400 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปีและไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆว่าได้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อประชาชน ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างต้องเคารพกฎหมาย โดยที่ผ่านมาโครงการโรงไฟฟ้าเทพาได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายในการขออนุญาตก่อสร้างและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมก็ดีกว่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้นการพิจารณาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจึงควรอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงเป็นหลัก

Energy news center ยังรายงานว่าในระหว่างการยื่นหนังสือสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาของกลุ่มนักวิชาการดังกล่าว เป็นเวลาเดียวกับที่ “เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยังยืน” ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่หน้าประตูสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เช่นกัน โดยเรียกร้อง ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พร้อมให้ตั้งคณะทำงานยกร่างกฏหมายดังกล่าวก่อน ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐและประชาชนในสัดส่วนที่เท่ากัน ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีการเอื้อประโยชน์ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กระบวนการการสร้างโรงไฟฟ้านั้น ไม่ต้องรอให้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ผ่านความเห็นชอบก่อน แต่สามารถหาผู้ประมูลโครงการไว้ก่อนได้ เป็นต้น โดยยืนยันจะปักหลักนอนที่หน้า ก.พ.ร. เพื่อรอความฟังชัดเจนจากภาครัฐต่อไป

ทั้งนี้นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังจากที่รับหนังสือจากทั้งสองกลุ่ม ว่าจะรีบนำไป เสนอนายกรัฐมนตรีรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้านฝั่งนักวิชาการที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้มีการจัดสัมมนา "เจาะลึกประเด็นร้อนโรงไฟฟ้าถ่านหิน-บุหรี่ไฟฟ้า นวัตกรรมสามารถช่วยลดผลกระทบเชิงลบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้จริงหรือไม่" ในวันเดียวกัน โดย

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินรูปแบบใหม่ที่เป็นเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเป็นเพียงวาทะกรรมไม่มีจริงในโลก เพราะเป็นการนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาขจัดความไม่สะอาดของเชื้อเพลิงถ่านหินลง แต่ยังสร้างมลภาวะอีกมาก โดยแม้ว่าต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะถูกกว่าเชื้อเพลิงอื่น แต่หากรวมผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน เชื่อว่าจะมีที่ต้นทุนที่สูงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) อยู่ที่ประมาณ 2-3 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากรัฐเปิดเสรีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทำให้เกิดการแข่งขันจะยิ่งทำให้ต้นทุนถูกลงและไม่เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน

ดังนั้น ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี)ฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างทบทวนพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศโดยพบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ใน 20 ปี มีแนวโน้มลดลงจากแผนพีดีพี ฉบับปัจจุบันเกือบ 4,000 เมกะวัตต์นั้น แสดงให้เห็นว่า ไทยยังไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 โรงในพื้นที่ภาคใต้ คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 870 เมกะวัตต์,โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,200 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินปานาเระ จ.ปัตตานี ราว 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อรวมกับกำลังผลิตไฟฟ้าภาคใต้ในปัจจุบันอีก 3,531.5 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าในอนาคตอยู่ที่ 7,601.5 เมกะวัตต์ ขณะที่พีคไฟฟ้าภาคใต้ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2,800 เมกะวัตต์

นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน เริ่มมีความเสถียรมากขึ้น หลังจากมีการพัฒนาระบบพยากรณ์สภาพอากาศที่มีผลต่อการผลิตไฟฟ้า เช่น แสงแดด และ ลม ทำให้สามารถวางแผนผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และในอนาคตแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานมีราคาถูกลง ก็จะยิ่งส่งผลให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าถูกลงอีก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: