ส่องงานวิจัย ‘วินัยทหาร’ เสนอ ‘ศาลปกครองเข้าตรวจสอบ-สร้างความเป็นธรรม’

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 เม.ย. 2560 | อ่านแล้ว 20783 ครั้ง

ความเข้มงวดเรื่อง ‘วินัยทหาร’ บางครั้งกลับเอื้อให้เกิดความรุนแรงต่อทหารชั้นผู้น้อย มีงานศึกษาโดยทหารเองชี้การลงทัณฑ์จำขังทหารไทย ไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสากล พบรูปแบบโครงสร้างการทำผิดวินัย ‘เสพเครื่องดองของเมาจนเสียกิริยา’ มากที่สุด มีข้อเสนอแก้ปัญหานานาประการ เช่น แก้กฎหมายให้ศาลปกครองเข้าตรวจสอบ จัดทำโครงการเลิกเหล้า-เขตปลอดอบายมุขแก่ทหาร พิจารณาความก้าวหน้าผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ฯลฯ | ที่มาภาพประกอบ: LIKESAMONG Ch

ความรุนแรงต่อ ‘ทหารชั้นผู้น้อย’ ยังคงมีอยู่เสมอมา ทุก ๆ ปีจะมีข่าวเรื่องการฝึกทหารใหม่หรือการลงโทษทางวินัยจนทำให้เกิดการสูญเสีย บาดเจ็บ เลยเถิดไปถึงการเสียชีวิตในค่ายทหาร ตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2554 ‘พลทหารวิเชียร เผือกสม’ สังกัดค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถูกลงโทษและทำร้ายจนเสียชีวิต ต่อมาปี 2559 เกิดกรณีพลทหาร 2 นาย สังกัดค่ายพยัคฆ์ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ถูกผู้บังคับบัญชาลงโทษจนได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 รายและเสียชีวิต 1 ราย ผู้เสียชีวิตคือ ‘พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด’ และเมื่อต้นปี 2560 ‘พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม’ สังกัดมณฑลทหารบกที่ 45 ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี เสียชีวิตระหว่างถูกขังคุกทหารเพื่อลงโทษเนื่องจากทำผิดวินัย

หลายต่อหลายกรณีพบว่า มีความเชื่อมโยงกับการควบคุมในกรอบ ‘วินัยทหาร’ อย่างเคร่งครัด เข้มงวด และเข้มข้น ซึ่งกองทัพเองก็คงตระหนักถึงปัญหานี้ จากที่ในอดีตลายสิบปีก่อนหากเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ กองทัพมักจะปิดปากเงียบ แต่ในยุคข่าวสารไร้พรมแดนและความตื่นรู้ของประชาชนผ่านโซเชียลมีเดียเช่นในปัจจุบัน ทำให้กองทัพต้องออกมาชี้แจงต่อสารธารณะมากขึ้น รวมทั้งงานวิชาการต่าง ๆ ที่ศึกษาโดยคนในกองทัพเอง ก็มีความพยายามที่จะเสนอให้กองทัพแก้ไขปัญหาเรื่องการบังคับใช้วินัยทหาร และการลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกองทัพ 

วินัยทหารคืออะไร ?

ก่อนอื่น คงต้องทำความเข้าใจว่า ‘วินัยทหาร’ นั้นคืออะไร? มาจากกฎหมายฉบับใด? และมีขอบเขตแค่ไหน?  จากการสืบค้นของสำนักข่าว   อิศราในรายงาน ‘พลิก ก.ม.วินัยทหาร รู้จักลงทัณฑ์ 5 สถาน ห้ามแตะตัวผู้ถูกลงโทษ!’ ที่เผยแพร่เมื่อปี 2559 ได้ระบุว่า พระราชบัญญัติวินัยทหาร พ.ศ.2476 ที่บังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบันนั้นได้กำหนดตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหารเอาไว้ 9 ประการ ได้แก่ 1. ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน  2. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย 3. ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร  4. ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร  5. เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ  6. กล่าวคำเท็จ  7. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร  8. ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ และ 9. เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา และเมื่อทหารกระทำผิดวินัย ก็จะต้องถูกลงทัณฑ์ ซึ่งทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้น กำหนดไว้ 5 สถาน คือ 1.ภาคทัณฑ์ 2.ทัณฑกรรม 3.กัก 4.ขัง และ 5.จำขัง กฎหมายยังได้นิยามความหมายของทัณฑ์แต่ละประเภทเอาไว้ด้วยอย่างชัดเจน ได้แก่ ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใดใน 5 สถาน แต่มีเหตุอันควรปราณี จึงเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏ หรือให้ทำทัณฑ์บนไว้ ทัณฑกรรม คือ ให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ  กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้  ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่คำสั่ง  จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร  กฎหมายยังบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า นอกจากทัณฑ์ 5 สถานนี้แล้ว ห้ามมิให้คิดขึ้นใหม่ หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นเป็นอันขาด

ส่วนการลงโทษรูปแบบอื่นที่สังคมได้รู้ได้เห็นกันจนชินตา เช่น ยึดพื้น, วิ่ง, สก๊อตจัมพ์ และอีกต่าง ๆ นานานั้นสามารถทำได้ไหม? โดยรายงานของสำนักข่าวอิศราอ้างแหล่งข่าวที่เป็นนายทหารจากกองทัพบก ว่าการสั่งยึดพื้นหรือวิ่งเพื่อลงโทษนั้น ไม่ใช่การลงทัณฑ์ แต่ถือเป็นการ ‘ปรับปรุงวินัย’ จะใช้กับการทำกระผิดวินัยเล็กน้อย หรือใช้ควบคู่กับโทษทางวินัย 5 สถาน เช่น หากทหารหนีเที่ยว ก็จะเข้าพฤติกรรมผิดวินัยในหัวข้อ ‘ละทิ้งหน้าที่ราชการ’ ก็อาจถูกสั่งลงทัณฑ์สถานใดสถานหนึ่งใน 5 สถาน พร้อมปรับปรุงวินัยไปพร้อมกัน แต่การปรับปรุงวินัย มีท่าพื้นฐานให้ทำได้เพียง 3 ท่าเท่านั้น คือ "ยึดพื้น, สก๊อตจัมพ์ และวิ่ง"  ซึ่งที่ผ่านมา บางหน่วยที่เป็นหน่วยรบ หรือหน่วยที่ต้องใช้การฝึกอย่างหนัก อาจเพิ่มท่าการปรับปรุงวินัยนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ เช่น ม้วนหน้า, ปั่นจิ้งหรีด, แทงปลาไหล แต่หลักการก็คือต้องไม่ถูกเนื้อต้องตัวผู้ที่ถูกลงทัณฑ์หรือปรับปรุงวินัย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการลุกลามบานปลายจนกลายเป็นการทำร้ายร่างกาย ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาและละเมิดสิทธิมนุษยชน

“การลงโทษทหารทุกกรณีมีเหตุและผลรองรับ เช่น หากทหารกระทำผิดในลักษณะทำให้เพื่อนทหารเดือดร้อน เวลาลงทัณฑ์ก็จะเลือกให้ทำในเรื่องส่วนรวม เช่น ขัดห้องน้ำรวม ขุดหลุมเพลาะ แต่ถ้าเป็นการกระทำผิดส่วนตัว เช่น ไม่เคารพผู้บังคับบัญชา รูปแบบการลงโทษก็จะแตกต่างออกไป เช่น ดองเวร คือให้อยู่เวรต่อเนื่องไป แต่การลงทัณฑ์ทุกอย่างก็จะมีเพดานว่าลงได้สูงสุดเท่าไหร่” แหล่งข่าวซึ่งเป็นนายทหารจากกองทัพบกระบุในรายงานของสำนักข่าวอิศรา

‘พรบ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476’ สวนทางการ ‘คุ้มครองสิทธิมนุษยชน’

ปัจจุบัน ‘พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476’ ถือเป็นกฎหมายเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 84 ปีแล้ว

ในงานศึกษาเรื่อง 'ความสอดคล้องของการลงทัณฑ์จำขังตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 กับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย' โดย พันเอกธวัชชัย ทับทิมสงวน ปริญญานิติศาสตร์มหาบัณฑิต วิชาเอกกฎหมายมหาชน สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2554 ระบุว่า วิธีการลงทัณฑ์จำขังทางวินัยของกฎหมายฝ่ายทหาร เนื่องจากทหารผู้ถูกลงทัณฑ์ต้องถูกควบคุมตัวไว้ในเรือนจำ โดยไม่ผ่านกระบวนการทางตุลาการ ทั้งที่ลักษณะและวิธีการจำขัง ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยพันเอกธวัชชัย ได้ศึกษากฎหมาย คำสั่งและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้าราชการอื่นของไทยและทหารของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบกฎหมาย Common Law และประเทศฝรั่งเศสซึ่งใช้ระบบ Civil Law ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสแล้ว พบว่าทั้งทหารของสหรัฐอเมริกาและทหารของฝรั่งเศส เมื่อถูกลงทัณฑ์ทางวินัยก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงทัณฑ์ทางวินัยได้ มีสิทธิเลือกให้ศาลทหารพิจารณา มีสิทธิที่จะปรึกษาทนายความ โดยเฉพาะของฝรั่งเศสหากเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการลงทัณฑ์ทางวินัยของผู้บังคับบัญชา ก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ และยังพบว่าการลงทัณฑ์ของทหารทั้งสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีการ 'จำขัง' ทหารผู้กระทำผิดวินัยไว้ใน 'เรือนจำ' แต่อย่างใด แต่กรณีของทหารไทยผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจสั่งลงทัณฑ์จำขังผู้ใต้บังคับบัญชาไว้ในเรือนจำได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยไม่ผ่านกระบวนการทางตุลาการ ทั้งที่เป็นการจำกัดสิทธิและอิสรภาพอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนว่ามีความสอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและหลักการสากล

ข้อสรุปจากผลการศึกษาของพันเอกธวัชชัยที่น่าสนใจคือ 1.วิธีการลงทัณฑ์จำขังทหารตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 มีลักษณะที่รุนแรงกว่าการลงโทษทางวินัยข้าราชการอื่น เช่น ข้าราชการพลเรือนสามัญหรือข้าราชการตำรวจ จะไม่มีการจำขังผู้กระทำผิดวินัยไว้ในเรือนจำ 2.ทหารที่ถูกลงทัณฑ์จำขังของไทยถูกลดทอนสิทธิมากกว่าทหารของต่างประเทศ เช่น ทหารสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบ Common Law และฝรั่งเศสที่ใช้ระบบ Civil law เนื่องจากทหารของทั้งสองประเทศมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงทัณฑ์ทางวินัย มีสิทธิตรวจดูเอกสารหลักฐาน มีสิทธิเลือกให้ศาลทหารพิจารณา มีสิทธิปรึกษาทนายความ โดยเฉพาะทหารของฝรั่งเศสหากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการลงทัณฑ์สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ และ 3.การลงทัณฑ์จำขังทหารไทยไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หลักความเสมอภาค หลักการไม่เลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและยังไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มีความเป็นสากล

เชียร์แก้ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดี ให้ศาลปกครองเข้าตรวจสอบได้

ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติในมาตรา 9 (1) ไม่ได้ให้อำนาจศาลปกครองเข้าไปตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร แต่กลับให้เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของผู้บังคับบัญชาทหาร ด้วยการตีความคำว่า ‘การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร’ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารโดยตรง หรือการกระทำทางปกครองอื่นเป็นการดำเนินการทางวินัยทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาคำวินิจฉัยของศาลปกครองพบว่าศาลปกครองมีแนวโน้มที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำทางปกครองในราชการทหารเป็นการดำเนินการทางวินัย จึงมีความแตกต่างจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ โดยเห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบการลงโทษทางวินัยของพลเรือน ซึ่งเป็นการกระทำทางปกครองของข้าราชการฝ่ายพลเรือนได้ แต่ในส่วนของวินัยทหารกลับไม่มีอำนาจตรวจสอบ

กรณีตัวอย่างคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับวินัยทหาร

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๐๗/๒๕๕๓

พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖ มาตรา ๔ บัญญัติว่า วินัยทหารนั้น คือ การที่ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมของทหาร มาตรา ๕ บัญญัติว่า วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษาโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิด ตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหารมีดังต่อไปนี้ ... (๗) ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร... มาตรา ๗ บัญญัติว่า ทหารผู้ใดกระทำผิดต่อวินัยทหารจักต้องรับทัณฑ์ตามวิธีที่ปรากฏในหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ และอาจต้องถูกปลดจากประจำการหรือถูกถอดจากยศทหาร มาตรา ๘ บัญญัติว่า ทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดต่อวินัยทหารดังกล่าวไว้ในหมวด ๒ นั้น ให้กำหนดเป็น ๕ สถาน คือ ... (๔) ขัง ... มาตรา ๑๐ บัญญัติว่า ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาซึ่งลงทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิดได้นั้น คือ (๑) ผู้บังคับบัญชา หรือ ... เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีผู้ฟ้องคดีทำร้ายร่างกายพันจ่าอากาศเอก ณัฐพิพัฒน์ เทสวัสดิ์ จากนั้นได้พิจารณาและอนุมัติตามความเห็นคณะกรรมการว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำความผิดต่อวินัยทหาร ให้ลงทัณฑ์ขังผู้ฟ้องคดีมีกำหนด ๕ วัน ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว เห็นได้ว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นผลมาจากการดำเนินการเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อวินัยทหาร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖ การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งได้ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๘๘/๒๕๔๗

มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖ บัญญัติว่า วินัยทหารนั้น คือ การที่ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมของทหาร และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติว่าทหารผู้ใดกระทำผิดต่อวินัยทหาร จักต้องรับทัณฑ์ตามวิธีที่ปรากฏในหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ และอาจต้องถูกปลดจากประจำการหรือถูกถอดจากยศทหาร ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งที่ ๑๖๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยได้รับเงินเดือนที่งดจ่ายไว้ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนที่ได้รับก่อนวันถูกสั่งพักราชการ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีมลทินมัวหมองในกรณีถูกกล่าวหาว่ามียาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง จึงพิจารณาได้ว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เป็นผลมาจากการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีตามคำฟ้องดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งได้ตามนัยมาตรา ๙ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

ในบทความ 'ปัญหาการไม่ให้อำนาจศาลปกครองตรวจสอบการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร' โดย พันตรีนิติน ออรุ่งโรจน์ จากวารสารกฎหมายสุโขทัยธรรมาธิราช ปีที่ 15, ฉบับที่ 2 (ธ.ค. 2546) ได้ยกตัวอย่างแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองฝรั่งเศสเกี่ยวกับการลงโทษวินัยทหาร โดยระบุว่าแต่เดิมนั้นศาลปกครองของฝรั่งเศสได้วางมาตรการภายในของฝ่ายปกครองเรืองการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารไว้ว่าเป็นเพียงการจัดการหรือบริหารงานภายในของผู้บังคับบัญชา เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ยังไม่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของทหารผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แต่ต่อมาสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป แนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองเริ่มที่จะพัฒนาไปในทางที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของทหารมากขึ้น โดยถือว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของทหารที่ศาลปกครองจะเข้าไปควบคุมตรวจสอบได้

ส่วนปัญหาการไม่ให้อำนาจศาลปกครองตรวจสอบการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารของไทยนั้น พันตรีนิติน ระบุว่าการไม่ให้ศาลปกครองทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร ก็อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาการไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ หรือเป็นการปฏิเสธสิทธิเรียกร้องจากทหารผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากกระทำทางปกครองของผู้บังคับบัญชา ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชากระทำการปกครองที่มิชอบด้วยกฎหมายได้ โดยเฉพาะกรณีการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารบางประเภท เช่น กัก ขัง จำขัง หรือปลดออกจากราชการ รวมทั้งถอดจากยศทหาร ตามพระราชบัญญัติวินัยทหาร พ.ศ.2476 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของทหารผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างชัดเจน ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่เป็นเพียงการจัดการบริหารภายในของฝ่ายปกครอง เนื่องจากการลงโทษทางวินัยดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในร่างกาย ที่โดยหลักแล้วอาจเคลื่อนไหวได้โดยอิสระแต่ต้องถูกจำกัดอยู่ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพอีกด้วย

พันตรีนิติน ยังเสนอว่าเห็นควรให้ยกเลิกบทบัญญัติ มาตรา 9 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่กำหนดมิให้คดีการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารอยู่ในอำนาจศาลปกครอง โดยเสนอให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารได้ ยกเว้นกรณี 1.การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารที่เป็นเรื่องเล็กน้อย และ 2.การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารในยามสงคราม สถานการณ์ฉุกเฉินหรือในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก เท่านั้น

สอดคล้องกับข้อเสนอของพลโททวี แจ่มจำรัส ข้าราชการบำนาญ อดีตกรรมการข้าราชการทหาร และอดีตผู้ทรงคุณวุฒิ กระทรวงกลาโหม ที่เสนอในบทความ ‘คดีปกครองบางประเภท ที่เกี่ยวข้องกับวินัยทหาร สมควรจะอยู่ในอำนาจของศาลใด’ เมื่อต้นเดือน มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา ระบุว่าศาลปกครองเป็นสถาบันตุลาการที่มีความเหมาะสมที่สุดในการพิจารณาคดีปกครองบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับวินัยทหาร เนื่องจาก   1. เป็นคดีปกครองที่ศาลปกครองมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะอยู่เดิมแล้วที่ได้พิจารณาพิพากษาให้กับข้าราชการส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ฯลฯ  2. มีแผนกคดีบริหารบุคคลโดยเฉพาะเป็นมาตรฐานเดียวกันของข้าราชการเกือบทุกประเภท (ยกเว้นการดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการและศาลชำนาญพิเศษต่าง ๆ  3. ใช้ระบบไต่สวนหาพยานหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรได้อย่างกว้างขวาง และ 4. มีความคุ้นชินกับพฤติกรรมองค์กรของทหารที่ได้เคยพิจารณาพิพากษาในเนื้อหาของคดีปกครองประเภทอื่นๆ และของลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการของ กห.อยู่เดิมแล้ว ฯลฯ โดยแก้กฎหมาย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ในมาตรา 9 วรรค 2 (1) เรื่องดังต่อไปนี้ ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองคือการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร ยกเว้นเรื่องการบริหารบุคคลเฉพาะที่เกี่ยวกับการลงโทษ และสิทธิที่ทางราชการกำหนด

กรณีศึกษาทหาร 74 คนที่ถูกขังคุก พบมึนเมาจนเสียกริยามากที่สุด

ส่วนงานศึกษา 'ทัศนะข้าราชการทหารสังกัดกองทัพบกต่อการถูกลงโทษทางวินัย: ศึกษาเฉพาะกรณีเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11' โดยพันเอกเปรมชัย สโรบล สารนิพนธ์ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สขาการบริหารงานยุติธรรม ภาควิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2553 ที่ได้ทำการศึกษาข้าราชการสังกัดกองทัพบกที่กระทำผิดวินัยอยู่ในเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 ทั้งหมด 74 คน  พบว่าด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่นั้นทหารมีหนี้สิน 2 ประเภท คือ จากการกู้เงินสวัสดิการและจากหนี้นอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่ทหารต้องเป็นตัวหลักในดูแลครอบครัว ด้านพฤติกรรมของทหารที่ทำผิดวินัย ตอบว่าชอบดื่มสุราถึงร้อยละ 27 ด้านสภาพการปฏิบัติงาน ส่วนใหญ่เห็นว่างานที่ทำอยู่ไม่ตื่นเต้นเร้าใจแต่ยินดีที่จะทำต่อไป ด้านความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา ทหารตอบว่าสิทธิประโยชน์ของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ควรได้ ผู้บังคับบัญชาควรเรียกร้องอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เสียสิทธินั้น ๆ ส่วนด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ตอบว่าเพื่อนร่วมงานของตนยังมีความจริงใจต่อกัน

เมื่อพิจารณารูปแบบและสถิติการกระทำผิดวินัยของทหารทั้ง 74 คน พบว่าส่วนใหญ่แล้วระดับชั้นยศสิบตรี-จ่าสิบเอก กระทำผิดวินัยของทหารจำนวน 50 คน ส่วนพลทหารกระทำผิดวินัยของทหาร 24 คน ส่วนรูปแบบการกระทำผิดสูงสุดคือ การเสพเครื่องดองของเมาจนเสียกิริยา รวม 24 คน (พลทหาร 11 คน, สิบตรี-จ่าสิบเอก 13 คน) รองลงมาคือ เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ รวม 20 คน, ใช้กริยาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร 18 คน, ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามธรรมเนียมของทหาร 10 คน และดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน 2 คน

งานศึกษาของพันเอกเปรมชัยได้เสนอว่าผู้บังคับบัญชาควรส่งเสริมสนับสนุนผู้ใต้บังคับบัญชาได้มีการประกอบอาชีพเสริมเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้, ผู้บังคับบัญชาควรมีการจัดทำโครงการและอบรมผู้ใต้บังคับบัญชาให้ยึดมั่นในเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง, ผู้บังคับบัญชาควรอบรมและพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดทำโครงการเลิกเหล้า หรือเขตปลอดอบายมุข, ผู้บังคับบัญชาควรพิจารณาความก้าวหน้าให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม, ผู้บังคับบัญชาควรจัดสิทธิสวัสดิการและค่าตอบแทนให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเหมาะสม ผู้บังคับบัญชาควรเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมวางแผนในการทำงาน, ผู้บังคับบัญชาควรให้ความเป็นกันเองกับผู้ใต้บังคับบัญชา โดยสอบถามถึงสภาพการทำงานความเป็นอยู่ รวมถึงสภาพครอบครัว และผู้บังคับบัญชาควรจัดทำโครงการหรือกิจกรรมในการเสริมสร้างความสามัคคีภายในหมู่คณะ

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
จับตา: การลงทัณฑ์ทางวินัยทหารในต่างประเทศ

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: youtube.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: