‘องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก’ กวาดโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์ฯ ระยะที่ 2 ถึง 11 จาก 38 โครงการ ฝ่าด่านผู้จับฉลาก 720 ราย เป็นหน่วยงานรัฐเพียงแห่งเดียวที่ได้ สื่อคุ้ยบริษัทเอกชนร่วมลงทุนปรากฏชื่อ 'พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ' น้องชาย ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ' และ 2 สนช. นั่งแท่นกรรมการ ด้านกลุ่มสหกรณ์การเกษตรพ้อหน่วยงานข้าราชการมาแย่งโควตาเกษตรกรทำไม? ที่มาภาพประกอบ: vermontsolarcooperative.org
เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เปิดเผยความคืบหน้า ‘โครงการการจัดหาไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560’ หรือที่เรียกสั้นๆ ‘โครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรระยะที่ 2' ว่าทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้จับสลากคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติผลิตไฟฟ้าไปแล้ว ล่าสุดพบว่ายังเหลือโควตาอีกประมาณ 47.48 เมกะวัตต์ ซึ่งจะนำมารวมกับโซลาร์ราชการส่วนที่เหลือก่อนหน้านี้ 300 เมกะวัตต์ รวมเป็น 347.48 เมกะวัตต์ เพื่อรอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาว่าจะนำโควตาที่เหลือไปดำเนินการอย่างไรต่อไปให้เกิดความเหมาะสม
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติรับรองผลผู้ที่ผ่านการจับสลากโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรนี้ โดยมีผู้ที่ได้รับคัดเลือกในการยื่นคำข้อเสนอขอขายไฟฟ้ารวมจำนวน 38 ราย หรือคิดเป็นปริมาณการเสนอขายไฟฟ้ารวมทุกพื้นที่ 171.52 เมกะวัตต์ จากโควตารวมไม่เกิน 219 เมกะวัตต์ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกที่ได้รับรอง ได้แก่ องค์การที่รัฐจัดตั้งขึ้นโดยไม่รวมองค์การมหาชนและรัฐวิสาหกิจ จำนวน 11 ราย และโครงการจากสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 27 ราย
‘องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก’ กวาด 11 จาก 38 โครงการ และเป็นหน่วยงานราชการแห่งเดียวที่ผ่านการคัดเลือก
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
จาก ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง รายชื่อผู้ที่ประสงค์จะเป็นเจ้าของโครงการที่ผ่านการคัดเลือกโดยวิธีการจับสลากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ที่ กกพ. ได้ประกาศเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2560 พบว่ามีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 38 ราย แบ่งเป็นส่วนราชการ 11 ราย สหกรณ์ 27 ราย ซึ่งส่วนราชการที่ผ่านการคัดเลือก 11 ราย เป็นหน่วยงาน ‘สังกัดองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก’ (อผศ.) ทั้ง 11 ราย รวม 52.52 เมกะวัตต์ และสหกรณ์ภาคการเกษตร/สหกรณ์นิคม/สหกรณ์ประมง 27 ราย รวม 119 เมกะวัตต์ รวมปริมาณกำลังผลิตทั้งหมด 171.52 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ข้อมูลของ กกพ. ระบุว่าก่อนที่จะได้ผู้ผ่านการคัดเลือก มีผู้ประสงค์ยื่นคำขอเป็นเจ้าของโครงการ รวมจำนวนทั้งสิ้น 720 ราย คิดเป็นปริมาณการเสนอขายไฟฟ้ารวมทุกเขตพื้นที่ 3,510.46 เมกะวัตต์ เป็นหน่วยงานราชการ 40 ราย (มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 3 ราย องค์การที่รัฐจัดตั้งขึ้น 37 ราย) จึงเป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจึงเป็นหน่วยงานราชการเพียงหน่วยงานเดียวที่สามารถจับฉลากและผ่านการคัดเลือก?
ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ถึงปัจจัยหนึ่งที่สำคัญว่าองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกมีศักยภาพด้าน ‘พื้นที่ในการเสนอโครงการ’ มากที่สุด เพราะจาก เอกสารคำขอเป็นเจ้าของโครงการ (สำหรับหน่วยงานราชการ) ได้ระบุเงื่อนไขและข้อกำหนดด้านพื้นที่ของหน่วยงานราชการที่จะเข้าร่วมโครงการไว้ว่า 1.ที่ตั้งโครงการต้องไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและไม่ต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 2.ที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตท้องที่ดำเนินงานของหน่วยงาน 3.โครงการที่มีที่ตั้งตามพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS) และมีจุดโยงระบบไฟฟ้าตามที่ระบุไว้ในแบบยื่นขอตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย และ 4. การดำเนินโครงการไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน
โดยองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกนั้นมีเขตงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกจากใน กทม. แล้ว ก็ยังมีสำนักงานสาขา 24 หน่วยใน 24 จังหวัด ได้แก่ 1.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตลพบุรี 2.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตสุพรรณบุรี 3.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตราชบุรี 4.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตปราจีนบุรี 5.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตชลบุรี 6.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตจันทบุรี 7.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตนครราชสีมา 8.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตสุรินทร์ 9.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตอุบลราชธานี 10.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตขอนแก่น 11.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตอุดรธานี 12.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตสกลนคร 13.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตนครสวรรค์ 14.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตพิษณุโลก 15.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตตาก 16.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตน่าน 17.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตลำปาง 18.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตเชียงราย 19.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตเชียงใหม่ 20.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตชุมพร 21.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตนครศรีธรรมราช 22.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตสงขลา 23.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตปัตตานี และ 24.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตกระบี่
ในประเด็นการใช้ที่ดินราชพัสดุนั้น แม้แต่ กกพ. ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการคัดเลือกโครงการฯ ก็ยังได้ออกมา ตอบประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ “โซลาร์ฟาร์ม” ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) กรณีการมี “ที่ดิน” เพื่อจัดทำโครงการนี้จริงหรือไม่? ไว้เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 (ก่อนการจับฉลากในวันที่ 26 มิ.ย. 2560 และก่อนการประกาศผู้ผ่านการคัดเลือกในวันที่ 28 มิ.ย. 2560) โดยระบุว่า
“ตามที่สื่อออนไลน์ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการโซลาร์ฟาร์ม เฟส 2 ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) และมีประเด็นข้อสงสัย 2 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1 การยื่นคำขอเป็นเจ้าของโครงการของ อผศ. ที่ผ่านมา อผศ. มีที่ดินพร้อมที่จะดำเนินโครงการจริงหรือไม่ เป็นการใช้ที่ดินจากส่วนใด และหาก อผศ. ไม่มีที่ดิน จะสามารถยื่นคำขอเป็นเจ้าของโครงการได้หรือไม่? ประเด็นที่ 2 หาก อผศ. ใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนที่มีที่ดินมาร่วมลงทุน แล้วค่อยทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหลังจากที่ กกพ. อนุมัติให้ดำเนินโครงการไปแล้วจะสามารถทำได้หรือไม่ และจะขัดกับระเบียบ กกพ. ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ส่วนราชการต้องใช้ที่ดินของตัวเองในการดำเนินโครงการหรือไม่? สำนักงาน กกพ. ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตามประกาศ กกพ. เรื่อง การจัดหาไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 ข้อ 16 เกี่ยวกับที่ตั้งโครงการ โดยได้ระบุชัดเจนไว้ในข้อ 16.1 ว่า กรณีหน่วยงานราชการต้องมีที่ตั้งโครงการอยู่ในท้องที่ดำเนินงานของหน่วยงานที่ผ่านการคัดเลือกตามวิธีการจับสลาก ซึ่งที่ตั้งโครงการของหน่วยงานราชการ แบ่งออกเป็น 2 กรณี ตามประกาศฯ ข้อ 16.1.1 และ 16.1.2 ดังนี้ 1. กรณีที่หน่วยงานราชการเป็นเจ้าของที่ดินที่ตั้งโครงการต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้าส่วนราชการตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ 2. กรณีที่ดินที่ตั้งโครงการเป็นที่ราชพัสดุจะต้องได้รับความยินยอมจากหน่วยงานราชการผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุ และได้รับอนุมัติจากกรมธนารักษ์ให้เข้าร่วมโครงการได้ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยการคัดเลือกในครั้งนี้ กกพ. แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก กกพ. จะพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ประสงค์จะเป็นเจ้าของโครงการรวมถึงความถูกต้อง ครบถ้วนของเอกสาร ศักยภาพระบบไฟฟ้าในเขตพื้นที่ที่ตั้งโครงการ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2560 กกพ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วทาง www.erc.or.th และในวันที่ 26 มิ.ย. 2560 นี้ กกพ. จะใช้วิธีการจับสลาก เพื่อให้ผู้ผ่านการคัดเลือกดำเนินการหาผู้ร่วมลงทุนโครงการของหน่วยงานราชการ หรือผู้สนับสนุนโครงการของสหกรณ์ภาคการเกษตรเพื่อมายื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในขั้นตอนที่สอง ซึ่งในขั้นตอนนี้ กกพ. จะพิจารณาในรายละเอียดของคุณสมบัติผู้ที่ยื่นคำร้องและข้อเสนอขายไฟฟ้า (ผู้ร่วมลงทุนโครงการและผู้สนับสนุนโครงการ) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศฯ ข้อ 14 ได้แก่ ที่ตั้งโครงการ ทุนในการดำเนินโครงการ เทคโนโลยีที่ใช้ในการดำเนินโครงการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ในกรณีนี้หาก อผศ. เป็นผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติในรอบแรกแล้ว กกพ. จะต้องพิจารณารายละเอียดในส่วนของที่ตั้งโครงการของ อผศ. ในขั้นตอนที่สองนี้ต่อไปว่าไปเป็นตามหลักเกณฑ์ในประกาศฯ ของ กกพ. หรือไม่”
ต่อมาในวันที่ 28 มิ.ย. 2560 กกพ. ได้รับรองผลจับสลากโซลาร์ฟาร์มของหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรของทั้ง 38 โครงการอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็หมายความว่า กกพ. ได้รับรองว่าการใช้ที่ดินราชพัสดุในการดำเนินการโครงการนี้ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกนั้นสามารถทำได้โดยปริยาย
เหมือนรู้ล่วงหน้า เอกชนตบเท้าขอร่วมลงทุน พบน้องชาย ‘พล.อ.ประวิตร' และ 2 สนช. นั่งกรรมการบริษัทร่วมลงทุน
สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ได้เปิดช่องให้บริษัทเอกชนสามารถร่วมลงทุนกับสหกรณ์การเกษตรและหน่วยราชการได้ จากใน ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจพลังงาน เรื่อง การจัดหาไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 ได้ระบุถึง 'ผู้สนับสนุนโครงการ' และ 'ผู้ร่วมลงทุนโครงการ' ไว้ว่า 'ผู้สนับสนุนโครงการ' หมายความว่า นิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ให้การสนับสนุนสหกรณ์ภาคการเกษตรที่เป็นเจ้าของโครงการในการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ส่วน 'ผู้ร่วมลงทุนโครงการ' หมายความว่า นิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความเห็นชอบให้ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน
และโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้รับการคัดเลือกจาก กกพ. เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2560 นั้น องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้ทำการเลือกผู้ร่วมลงทุนไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว โดยจากประกาศ ผลการคัดเลือกผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2560 พบว่ามีบริษัทผ่านการคัดเลือก 21 แห่ง และต่อมาได้คัดเลือกให้เหลือเพียง 10 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงทุน 6 แห่ง 2.บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ได้ทั้งหมด 5 แห่ง 3. บริษัท บางจาก โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ (ปราจีนบุรี) จำกัด ได้ 3 แห่ง 4.บริษัท กันกุล โซลาร์ พาวเวอร์ 5 จำกัด ได้ 2 แห่ง 5.บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด ได้ 2 แห่ง 6.บริษัท บี.กริม โซลาร์ เพาเวอร์ 1 จำกัด ได้ 2 แห่ง 7.บริษัท เสริมสร้าง โซลาร์ จำกัด ได้ 2 แห่ง 8.บริษัท ไพร์ม โรด กรุ๊ป จำกัด ได้ 1 แห่ง 9.บริษัท เอส ที เอฟ อี โซล่า จำกัด ได้ 1 แห่ง และ 10.บริษัท อีเลคตริก้า เอเชีย เพาเวอร์ จำกัด ได้ 1 แห่ง (อ่านประเด็นเอกชนร่วมลงทุนเพิ่มเติมจากการสืบสวนของสำนักข่าวอิศรา [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11])
ในรายของ ‘บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)’ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเมื่อเดือน พ.ค. 2560 ถึง 5 แห่งนั้น จากการขุดคุ้ยของ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ได้ระบุว่าบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ปรากฏชื่อ 'พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ' น้องชายแท้ ๆ 'พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ' รวมทั้ง 'พล.อ.อุทิศ สุนทร' และ 'พล.อ.คณิต สาพิทักษ์' 2 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั่งแท่นเป็นรองประธานกรรมการและกรรมการอิสระ (อ่านเพิ่มเติม: น้องบิ๊กป้อม - ญาติบิ๊กโด่ง? ใน “ธุรกิจพลังงานทางเลือก”)
อนึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่าบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่ อาคาร เอ็ม ทาวเวอร์ ชั้น 12 เลขที่ 2098 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กทม.10260 เว็บไซต์ http://www.bcpggroup.comประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2559 มีรายได้รวม 3,380.37 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,541.33 ล้านบาท คณะกรรมการประกอบไปด้วย 1.นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการ 2.พลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ รองประธานกรรมการ/กรรมการอิสระ 3.นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช รองประธานกรรมการ 4. นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ / กรรมการ 5.นาย ธรรมยศ ศรีช่วย กรรมการ 6. พลเอกคณิต สาพิทักษ์ กรรมการอิสระ 7. พลเอก อุทิศ สุนทร กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ 8. นางวิไล ฉัททันต์รัศมี กรรมการอิสระ / ประธานกรรมการตรวจสอบ 9. นาย สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กรรมการอิสระ และ 10. นาง พรรณขนิตตา บุญครอง กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ ส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 9 อันดับแรก (ณ 15 มิ.ย. 2560) ได้แก่ 1. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 1,399,999,994 หุ้น (70.30%) 2. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 23,197,669 หุ้น (1.16%) 3. นายสมภพ ติงธนาธิกุล 17,500,000 หุ้น (0.88%) 4. สำนักงานประกันสังคม 12,354,234 หุ้น (0.62%) 5. กองทุนเปิด บรรษัทภิบาล หุ้นระยะยาว 11,994,200 หุ้น (0.60%) 6. นายภมร พลเทพ 11,500,000 หุ้น (0.58%) 7. กองทุนเปิด เอ็มเอฟซี ไฮ-ดิวิเดนด์ ฟันด์ 10,573,485 หุ้น (0.53%) 8.นายคเณศ ตั้งคารวคุณ 10,500,000 หุ้น (0.53%) และ 9. นายฐิติพล วงศ์ไพฑูรย์ปิยะ 10,000,000 หุ้น (0.50%)
กลิ่นโชยมาก่อน เคยมีการร้องตรวจสอบกลุ่มอ้างชื่อ ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ เมื่อปลายเดือน พ.ค. 2560 กลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่นพร้อมเครือข่าย ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบขบวนการเรียกรับสินบนโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ที่มีกลุ่มบุคคลอ้างชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเรียกรับผลประโยชน์ และขอให้ตรวจสอบการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนโครงการฯ ว่าโปร่งใสหรือไม่ และมีการเชื่อมโยงกับการเรียกรับสินบนหรือไม่ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการว่า พบข้อมูลที่ส่อพิรุธการดำเนินการไม่ถูกต้องของเครือข่ายทหารผ่านศึกในเรื่องการจัดหาเอกชนเข้าเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการฯ ที่เข้าไปแทรกแซงและชี้นำการคัดเลือกเอกชนเพื่อให้เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก โดยอ้างชื่อ พล.อ.ประวิตร ซึ่งผู้ประกอบการจึงเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมและเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องของขบวนการ ที่มีหัวหน้ากลุ่มที่อ้างตนเป็นทหารชั้นนายพลและเป็นที่ปรึกษาประจำองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ชื่อ ‘นายพล จ.’ ที่เคยแอบอ้างชื่อ พล.อ.ประวิตรไปจัดหาบริษัทที่เป็นพรรคพวกของตนเองและบริษัทอื่น ที่ต้องการเป็นผู้ร่วมลงทุนขึ้นทะเบียนร่วมด้านกิจการพลังงานขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกโดยคัดเลือกจาก 230 ราย เหลือ 21 ราย และใช้เวลาพิจารณาเพียง 2 วันโดยไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครอื่นก่อน จึงขอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหานี้โดยเร่งด่วน เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายต่อโครงการและภาพลักษณ์ของรัฐบาลและ คสช. จากนั้น พล.อ.อำนาจ รอดสวัสดิ์ ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ก็ได้ออกมาชี้แจงว่าจากกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่ามีนายทหาร แอบอ้างชื่อ คสช. และอ้างชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปเรียกรับผลประโยชน์จากเอกชนที่ต้องการได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนในโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรระยะที่ 2 นั้น หากมีผู้พบเบาะแสว่ามีผู้กระทำการดังกล่าวให้แจ้งเจ้าหน้าที่และ อผศ.จะดำเนินการทางกฏหมายให้ถึงที่สุด (อ่านเพิ่มเติม: อผศ. แจงกรณีการคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าฯ ระบุอย่าได้หลงเชื่อการแอบอ้างเรียกรับผลประโยชน์) |
เสียงครวญจากสหกรณ์ฯ หน่วยราชการมาแย่งทำไม?
ตัวแทนกลุ่มสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศได้เดินทางไปยื่นรายชื่อสมาชิกสหกรณ์การเกษตรจากทุกภาคของประเทศกว่า 1 ล้านรายชื่อต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอความเป็นธรรมกรณีโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรเมื่อเดือน มี.ค. 2560 ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มี.ค. 2560 ตัวแทนกลุ่มสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศได้เดินทางไปยื่นรายชื่อสมาชิกสหกรณ์การเกษตรจากทุกภาคของประเทศกว่า 1 ล้านรายชื่อต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร และขอให้นายกรัฐมนตรี ใช้ ม.44 จัดการกับข้าราชการที่ประพฤตมิชอบ ที่พยายามบิดเบือนข้อมูลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนบางกลุ่ม จงใจบิดเบือนข้อมูลและจ้องรังแกเกษตรกร โดยตัวแทนกลุ่มสหกรณ์การเกษตรได้ทำการแถลงข่าวเรื่อง ‘โปรดอย่าค้ากำไรกับเกษตรกรสู้ตาย’ ระบุว่ากระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ยืนยันว่าจะลดราคาค่าไฟโซลาร์ฟาร์มที่จะขายเข้าระบบจาก 5.66 บาท/หน่วย เหลือ 4.12 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 25 ปี และจะโอนโควตาราชการที่เหลือไปทำอย่างอื่น ซึ่งทางตัวแทนสหกรณ์การเกษตรเห็นว่าไม่เป็นธรรมเนื่องจากการลดราคาลงทำให้สหกรณ์ภาคการเกษตรได้รับความเสียหาย ขาดรายได้ ทำให้สวัสดิการลดลงซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้มีการดำเนินการที่โปร่งใสและช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศให้มีสวัสดิการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นการลดราคารับซื้อไฟฟ้าเหลือ 4.12 บาท/หน่วย นั้นถูกกว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากหน่วยงานของรัฐด้วยกันเองเสียอีก โดย กฟภ. และ กฟน. ซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต 4.22 บาทต่อหน่วยและขายให้กับประชาชน 4.26 ถึง 5 บาทต่อหน่วย รวมทั้งตัวแทนสหกรณ์การเกษตรยังเรียกร้องขอคืนโควต้าโซลาร์ฟาร์มราชการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ที่เหลือ 250 เมกะวัตต์ คืนมาให้สหกรณ์ภาคการเกษตร เพราะแท้จริงแล้วตั้งแต่เริ่มโครงการโซลาร์ฟาร์มนี้ ก็ควรแบ่งสัดส่วนให้สหกรณ์การเกษตรมากกว่าเพราะมีเกษตรกรทั่วประเทศมากกว่า 30 ล้านคน ที่ไม่มีสวัสดิการใด ๆ ขณะที่ข้าราชการมีแค่ 2-3 ล้านคนแต่มีสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐช่วยเหลืออยู่แล้ว (อ่านเพิ่มเติม: สหกรณ์ภาคการเกษตรยื่น 1 ล้านรายชื่อ ถึงนายกฯแก้ปัญหา 'โซลาร์ฟาร์ม')
ผู้ประกอบการที่ลงทุนร่วมกับสหกรณ์การเกษตรแห่งหนึ่ง ที่ไม่ได้รับคัดเลือกในโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรระยะที่ 2 ได้ให้ข้อมูลกับ TCIJ ว่าโครงการฯ นี้ผู้เข้าร่วมแข่งขัน (จับฉลาก) ต้องเตรียมความพร้อมหลายอย่าง เช่น การจดทะเบียนและดำเนินการที่ถูกต้อง การขอมติที่ประชุมสหกรณ์ฯ การรวบรวมพื้นที่ เงินทุน บริษัทเอกชนร่วมลงทุน รวมถึงการตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าจากการไฟฟ้า ซึ่งจะแบ่งเป็นโซนจังหวัดในแต่ละภาคและแต่ละโซนก็จะได้แค่โครงการเดียวกำลังผลิตมากที่สุดก็ประมาณ 5 เมกะวัตต์เท่านั้น
“โครงการฯ นี้ไม่ใช่ว่าสหกรณ์ฯ จะมีที่ดินเท่านั้น แค่การรวบรวมที่ผืนเดียวยังยากเลย อย่าง 5 เมกะวัตต์นี่ก็ต้องใช้ที่ 50 ไร่ขึ้นไป (กำลังผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่วางโซลาร์เซลล์ประมาณ 10 ไร่) ยังต้องขึ้นกับจุดเชื่อมต่อไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าอีก เพราะหากจุดเชื่อมต่อระบบไฟใกล้พื้นที่โครงการฯ เต็มหรือไม่มีเลย สหกรณ์ฯ นั้นก็ไม่ถูกรับเลือก ส่วนใหญ่จึงจะเห็นว่าได้เพียงจังหวัดละโครงการเดียว รวมทั้งบริษัทร่วมลงทุนก็ต้องมีความน่าเชื่อถือมีผลงาน ซึ่งสหกรณ์เล็ก ๆ และบริษัทร่วมทุนเล็ก ๆ จะเสียเปรียบมาก เพราะเงินลงทุน 1 เมกะวัตต์ ก็หลักสิบล้านบาทขึ้นไปแล้ว”
ต่อกรณีที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจับฉลากและได้รับการคัดเลือกถึง 11 โครงการทั่วประเทศนั้น ผู้ประกอบการรายนี้ระบุว่าสหกรณ์ฯ ต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการจับฉลากก็เตรียมใจไว้แล้ว เพราะความพร้อมองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกนั้นมีสูงกว่าสหกรณ์การเกษตรทั้งในเรื่องที่ดินและบริษัทร่วมลงทุน และจากข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกก็เป็นตัวเต็งที่จะได้โครงการฯ อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีความ ‘แคลงใจ’ ถึงกระบวนการคัดสรร รวมทั้งอยากให้หน่วยงานราชการเปิดโอกาสให้สหกรณ์การเกษตรมากกว่า
“รอบนี้จังหวัดไหนที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเสนอเข้าร่วมโครงการฯ กลุ่มสหกรณ์ฯ ในจังหวัดนั้นต้องทำใจได้เลยว่าแข่งเขายาก เข้าใจว่าเขามีความพร้อมที่สุดเพราะเขามีที่ดินเยอะและผู้ร่วมลงทุนก็เป็นบริษัทใหญ่ คนในวงการก็ตามข่าวเขามาตลอด แต่ก็อยากให้กระบวนการโปร่งใสกว่านี้เพราะมีการถามกันว่าจับฉลากได้เบอร์อะไรในพวกเรากันเอง แต่ท้ายสุดองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกก็ได้รับเลือก ทั้ง ๆ ที่มีพวกเราจับฉลากได้อันดับต้น ๆ แต่ก็ยังไม่ได้รับเลือก และไม่อยากให้หน่วยงานข้าราชการมาแข่งกับกลุ่มสหกรณ์การเกษตร รัฐน่าส่งเสริมกลุ่มสหกรณ์ฯ มากกว่า เพราะหลายสหกรณ์ฯ หวังกับการจับฉลากรอบนี้มาก ลงทุนไปไม่ใช่น้อยทั้งการรวบรวมที่ดิน และการจัดประชุมตามข้อบังคับสหกรณ์ฯ ก็ใช้ต้นทุนเป็นแสนแล้ว แต่ท้ายสุดก็แพ้ส่วนราชการ”
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: เปิด 38 รายชื่อโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์ฯ ระยะที่ 2
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ