บทความนี้เกิดขึ้นเพราะผมได้รับเกียรติจากพี่ดา ให้มาพูดคุยพัฒนาหลักสูตร TCIJ School รุ่น 4 ในวันที่ 12 มกราคม ที่เชียงใหม่ แต่ผมติดบวชพระ จึงส่งบทความมาแทนครับ
หัวข้อที่ผมจะอภิปรายประกอบด้วย คุณค่าของหลักสูตร การบริหารจัดการ ทักษะการสื่อสารมวลชน หลักสูตร Deconstruct การฝึกปฏิบัติ การประยุกต์ใช้ผลลัพธ์จากหลักสูตรในชีวิตการงาน
คุณค่าของหลักสูตร ผมคิดว่า หลักสูตร TCIJ มีคุณค่าตรงที่ ความเป็น ‘คนจริง’ ของนักข่าว เป็นแหล่งที่เป็นต้นธารของอุดมการณ์การรายงานข้อมูลข่าวสารที่ ‘สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน และเป็นกระแสรอง’
ผมคิดว่า TCIJ ทำสิ่งที่ไม่ใช่แฟชั่น แต่ทำข่าวบนฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ไม่น่าอ่าน แต่มั่นใจที่จะอ้างอิง ไม่ใช่ทุกครั้งที่ feed ข่าวของ TCIJ ขึ้นมา แล้วผมจะกดไปอ่าน เพราะเรื่องต่างๆ ช่างเป็นประเด็นเฉพาะและเหมาะกับคนที่สนใจจริงๆ เท่านั้น ข่าวหลายชิ้นมีลักษณะเป็นรายงานดิบ เป็นตัวเลขยิบย่อย เป็นข้อมูลสำหรับเด็กเนิร์ด และเกินกว่าความสนใจของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป แต่แน่ล่ะ ทุกข่าวผมรู้สึกถึงความดิบ ความจริง และการกลั่นกรองมาดีแล้ว ณ จุดนี้ ความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวยังทำให้ผมพอจะนอนใจได้ว่า สังคมไทยยังมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และไม่ถูกพลังอิทธิพลจากกลุ่มธุรกิจการเมืองแทรกแซงมากนัก
ความเป็นต้นธารของการรายงานข่าว การเลือกประเด็นที่สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วนนี้เอง แต่มีความแหลมคม และรายงานในจุดล่อแหลม จุดวิกฤติที่ข้อมูลมีความสำคัญในการผลักดันนโยบายสาธารณะ เป็นจุดที่จะสร้างความตระหนัก หรือเปลี่ยนแปลงทัศนคติสำคัญของคนในสังคม จุดนี้เองที่ทำให้ผมมีมุมมองในการเลือกประเด็นนำเสนอ
นอกเหนือจากหลักสูตรเกี่ยวกับปฏิบัติการทำข่าวแล้ว มุมมองจากหลักสูตร Deconstruct ยังเป็นเนื้อเป็นหนังของ School หากปราศจาก Deconstruct หรือการอบรมที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน School แห่งนี้ ย่อมไม่ต่างจากการอบรมการเขียนบทความ หรือการทำวีดีโอระยะสั้น ซึ่งหลักสูตรอื่นน่าจะทำได้ดีกว่า ต่อเนื่องกว่า และเห็นผลกว่า
วาดสีน้ำ : ถึงตรงนี้ ผมอยากจะออกนอกเรื่องสักเล็กน้อย ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบวาดภาพสีน้ำ ซึ่งนับเป็นเทคนิคที่มีรายละเอียดเยอะ ต้องฝึกฝนมาก รู้จักการใช้พู่กัน เลือกกระดาษ ใช้สีที่เหมาะ ต้องรู้จักการผสมสีกับน้ำ รู้วิธีการตวัดแปรงและการรอคอย เป็นการผลิตงานศิลปะที่ต้องใช้ความพยายามในการเรียนรู้มาก
ผมเพนท์สีน้ำทุกวัน และทำมาก ภาพก็ยิ่งมีคุณภาพดีขึ้นมาก แต่แล้วเมื่อวาดถึงจุดหนึ่ง ผมก็เกิดปัญหาว่า ‘จะวาดอะไรดี’ ภาพอะไรหนอ ที่จะมีความหมายและสำคัญพอที่จะใช้ทรัพยากรไปกับมัน
ผมคิดว่าการทำข่าวก็เช่นกัน การเขียนบทความ การถ่ายภาพ การเรียบเรียงข้อมูล ล้วนแล้วแต่เป็นทักษะในระดับเดียวกับการใช้ฝีแปรง แต่หลักสูตร Deconstruct ได้เติมความหมายลงในการรายงานข่าว ทำให้เกิดเรี่ยวแรงที่จะทุ่มเทพลังงานและทักษะที่นักข่าวมีอยู่ ไปกับสิ่งใด ทำให้นักข่าวตอบตัวเองได้ว่า ทำข่าวชิ้นนี้ไปทำไม ทำข่าวอย่างเล็งเห็นผลใด และด้วยวิธีการทำข่าวอย่างรู้ตัวถึงอคติในใจ ทำให้ข่าวที่รายงานออกมาถูกกลั่นกรองตามหลักวิชา กรองอคติที่เห็นอย่างโจ่งแจ้ง ตรวจสอบข้อมูลกับตนเอง เพื่อให้สิ่งที่ตนนำเสนอสะท้อนความเป็นจริงให้ใกล้เคียงมากที่สุด
คุณค่า ความหมาย ในชิ้นข่าว โดยตั้งใจ (หรือไม่ตั้งใจ) หลักสูตร Deconstruct ได้ทำให้การทำข่าวมีความ หมายขึ้นในวิชาชีพ เพราะเนื้อหาบาง Session ได้นำเสนอเสียงของคนที่ต้องการให้สังคมรับรู้ (เสียงของตำรวจชั้นผู้น้อยที่ถูกเบียดบังงบประมาณค่าซ่อมมอเตอร์ไซค์, เสียงของผู้ประสบปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้, เสียงของผู้ได้รับความไม่เป็นธรรมจากระบบยุติธรรมของศาลไทย, เสียงของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข, ฯลฯ) ประเด็นเหล่านี้ ทำให้ข่าวสารมีน้ำหนัก มีจุดโฟกัส ทำให้คนทำข่าวตอบตัวเองได้ว่า ฉันจะทำข่าวไปทำไม การทำข่าวของฉันจะช่วยใคร
แน่นอน การรายงานข่าวต้องมีความเป็นกลาง แต่ Deconstruct มีส่วนทำให้พื้นที่ของข่าวมีความเป็นธรรม ทำให้ผู้ทำข่าวรู้จักเหลี่ยมมุมและเท่าทันประเด็นที่ซับซ้อนของชิ้นข่าว ถือเป็นแผนที่ขั้นสูงที่จะทำให้ข่าวมีความลุ่มลึก และไม่ตกหลุมพรางของประเด็นข่าวกระแสหลักได้ง่ายนัก
การฝึกปฏิบัติจริงในงานข่าว จุดที่ผมคิดว่าหลักสูตรนี้ให้คุณค่ามาก คือการลงมือทำข่าวจริง ผมได้เรียนรู้จากตรงนี้มาก เพราะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จากการลงมือทำ ได้รู้สึก และเห็นความโง่ของตัวเอง เห็นความผิดพลาด และสิ่งที่น่าจะปรับปรุง
ผมคิดว่าหากจะแบ่งสัดส่วนคลาสเรียน ผมเสนอให้แบ่งเป็น 5 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นทฤษฎีการทำข่าว สองส่วนต่อมาคือหลักสูตร Deconstruct และ สองส่วนสุดท้ายคือการปฏิบัติงานข่าวจริง
การฝึกปฏิบัติจริง อาจแบ่งเป็นข่าวเล็ก - ข่าวใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ผ่านประสบการณ์เพิ่มขึ้น อาจมอบโจทย์ให้ทำข่าวก่อนเรียน (เพื่อเรียนรู้ผ่านประสบการณ์โดยที่ไม่ต้องมีทฤษฎี) แล้วค่อยใช้ประสบ การณ์ดังกล่าวถกเถียงกับความรู้ในห้องเรียน จากนั้นทำข่าวชิ้นใหญ่ที่ผ่านการดูแลของพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด
หลักสูตร Deconstruct หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่ดีงาม ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากผู้ชงประเด็นในห้องเรียน แรงจูงใจหลักของการลงทะเบียนใน School นี้คือความรู้จาก Deconstruct นี้แหละครับ หลักสูตรนี้ ผมได้ overview ประเด็นสังคมร่วมสมัยผ่านมุมมองสังคมศาสตร์ ซึ่งมีผลดีอย่างมากในการทำงานข่าว ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ช่วยเผยให้เห็นแง่มุมที่เป็นจุด critical ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยข้อมูลความรู้
ดังนั้น Deconstruct จึงไม่ควรละทิ้ง 2 สิ่ง คือ 1) การนำเสนอปากคำของเจ้าทุกข์เพื่อทำให้งานข่าวมีความหมาย และ 2) วิธีการมองปัญหาที่ลึกซึ้ง-เข้าใจความซับซ้อน เพื่อให้งานข่าวแหลมคม ลึกซึ้ง และส่งผลกระทบต่อภาพรวม
การประยุกต์ใช้ความรู้ในอาชีพการงาน หลังจากเรียนหลักสูตร ผมเห็นจุดอ่อนของงาน content ที่ผมทำอยู่ว่ายังไม่แข็งแรงพอ ไม่ critical พอที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งประเด็นเผชิญความตายอย่างสงบก็ดี และประเด็นการประยุกต์พุทธธรรมรับใช้สังคมร่วมสมัยก็ดี
ผมเห็นว่าองค์กรขาดความแหลมคมในการขับเคลื่อนประเด็นอย่างมาก ขาดการสืบค้นเจาะลึกจนกระทั่งเข้าใจประเด็นปัญหาอย่างแจ่มแจ้ง ผมยังเห็นว่าการสร้างความเข้มแข็งของเนื้อหาการขับเคลื่อน จำเป็น ต้องเปลี่ยนแปลงองค์กรให้เกื้อกูลการขับเคลื่อนที่แหลมคมเหล่านั้นด้วย
นั่นนำมาสู่ปฏิบัติการบางอย่างของผมที่ค่อนข้างท้าทายตัวเองและองค์กร นั่นคือ ในช่วงเดือนกันยายนถึงปัจจุบัน ผมเสนอตัวว่าจะขอทบทวนการทำงานขององค์กร สืบค้นปัญหาด้วยแนวทางการทำข่าวเจาะ โดยหวังว่าในเบื้องปลาย รายงานและการนำเสนอของผมจะทำให้เพื่อนร่วมงานมองเห็นช่องว่างระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่กับสิ่งที่ปรารถนาจะทำ แน่นอนว่า ผมเผชิญทั้งแรงเสียดทานจากเพื่อนร่วมงานและความเฉื่อยขององค์กร
ผลสรุปจากรายงานพิเศษของผมยังไม่เสร็จดี และคงยังไม่นำเสนอต่อเพื่อนร่วมงานจวบจนกว่าผมจะลาสิกขาและปั้นข้อมูลให้เสร็จหลังจากนั้น
หากองค์กรของผมเกิดการเปลี่ยนแปลงและผลิตเนื้อหาที่เป็นประโยชน์มากขึ้นต่อสังคม พี่ๆ แน่ใจได้ว่า หลักสูตร TCIJ เป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ครับ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ