บันทึกผู้ต้องหาที่ 3 คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” (1)

นลธวัช มะชัย 10 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 5281 ครั้ง


ตอนที่ 1 : ที่มาของการดำเนินคดี

3 ปีที่ผ่านมาในยุค คสช. เรืองอำนาจ ตั้งแต่ลุกขึ้นมายึดครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  มีประกาศคำสั่งออกมามากมาย ในนามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่มี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะฯ จนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสามารถนำประกาศที่สำคัญๆมารวมเล่มหนาๆได้เลย มิหนำซ้ำยังยิ่งสร้างข้อเคลือบแคลงใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ(เหรอ) ประกาศใช้ แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ก็ยังคงเดินหน้าแจ้งความเอาผิดกับพลเรือนอยู่ ไม่ได้หายไปหลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่ จริงอยู่แม้ว่าจะมีบทเฉพาะกาลกำหนดให้คำสั่ง คสช.ยังคงสามารถบังคับใช้ได้ แต่ข้อยกเว้นย่อมไม่อาจที่จะไปขัดแย้งกับหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ได้ กลายเป็นคำถามที่ว่า “ตกลงแล้วเรามีรัฐธรรมนูญหรือคำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้กันแน่”

ผมยิ่งไม่เข้าใจเข้าไปอีกว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายสำหรับผมและเพื่อนร่วมยุคสมัย เพราะตลอดชีวิตการเป็นนักศึกษา 3 ปีกว่าๆที่ผ่านมา ตกอยู่ในบรรยากาศรัฐระบอบทหารเรื่อยมา ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่รอด “ไปวันๆ” ต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลาไม่ให้ก้าวพลาดไปทำกิจกรรมแล้วโดนข้อหาจาก คสช. เอาได้ กลายเป็นกลไกป้องกันตัวเองและต้องอยู่ใน comfort zone ของตัวเองตลอดเวลา การ “อยู่เป็น” จึงมีให้เห็นบ่อยครั้งในยุคที่ “เป็นอยู่” เฉกเช่นตอนนี้

หลังจากเรียนซัมเมอร์ที่ผ่านมาเสร็จ ผมเลือกที่จะไม่กลับบ้าน แต่เลือกอยู่ต่อเชียงใหม่ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมประชุมวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษา International Conference on Thai Studies ครั้งที่ 13 ซึ่งหัวข้อหลักในครั้งนี้คือ "โลกาภิวัฒน์ไทย การเชื่อมโยง ความขัดแย้ง และปริศนาของไทยศึกษา" มีการนำเสนอผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองไทย การเมืองวัฒนธรรม ตลอดจนประเด็นทางสังคมต่างๆ อาทิ สันติภาพชายแดนใต้ เป็นต้น

การประชุมวิชาการด้านไทยศึกษาจัดมาแล้วในหลายประเทศ เจ้าภาพในการจัดประชุมจะจัดสลับกันระหว่างมหาวิทยาลัยไทย และมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่มีสาขาการเรียนการสอนและการวิจัยด้านไทยศึกษา ทุก 3 ปี ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2524 ที่มหาวิทยาลัยเดลี กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และครั้งต่อๆมาในอีกหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย ฯ รูปแบบของการประชุมก็จะเป็นการนำเสนอบทความประกอบการเสวนา การเสวนาโต๊ะกลม ปาฐกถา และนิทรรศการ

การจัดประชุมในครั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพร่วมกับอีกหลายภาคส่วน ซึ่งจัดครั้งล่าสุดที่เชียงใหม่คือเมื่อปี 2539 หรือ 21 ปีที่แล้ว การจัดประชุมครั้งนี้จึงเป็นงานที่เป็นหน้าเป็นตาให้กับจังหวัดเชียงใหม่รวมถึงรัฐบาลไทยอีกด้วย ในการต้อนรับอาคันตุกะจากนานาประเทศจำนวนมาก ลักษณะการจัดงาน เป็นงานประชุมที่มีลักษณะเป็นงานปิด  กล่าวคือ  ผู้เข้าร่วมงานจะต้องสมัครลงทะเบียนล่วงหน้า และชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ตามอัตราค่าธรรมเนียมที่ผู้จัดกำหนด  ผู้เข้าร่วมงานทุกคนจะต้องลงทะเบียนแจ้งชื่อ นามสกุล สังกัด และหมายเลขโทรศัพท์  ณ  บริเวณจุดรับลงทะเบียนด้านหน้าก่อนทางเข้าห้องประชุมก่อนเสมอ  โดยเมื่อลงทะเบียนแล้วจะได้รับบัตรเข้างานซึ่งมีลักษณะเป็นป้ายคล้องคอ  ระบุชื่อและนามสกุลของผู้เข้าร่วมงาน  หากบุคคลใดไม่ลงทะเบียนบริเวณโต๊ะลงทะเบียนหน้างานหรือไม่ได้รับอนุญาตจากผู้จัดงานจะไม่สามารถเข้าภายในงานได้ ทั้งนี้ตลอดทั้งงานมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมจำนวน 1,224 คน เป็นชาวไทยจำนวน 814 คน เป็นชาวต่างชาติจำนวน 410 คน และมีการนำเสนอผลงานวิชาการจำนวนทั้งสิ้น  202 เวทีย่อย

ผมเข้าร่วมกิจกรรมนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ตลอดระยะเวลา 4 วัน ระหว่างการประชุมวันที่ 15 ถึงวันที่ 18  กรกฎาคม 2560 โดยผมมีหน้าที่หลักเป็นทีมสื่อในพิธีเปิด-ปิด บันทึกภาพนิ่งและเก็บข้อมูลทุกห้องประชุมย่อย รวมถึงดูแลแขกผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ระหว่างที่ผมทำหน้าที่ของตัวเองอยู่นั้น มีเจ้าหน้าที่ทหารแต่งกายทั้งนอกและในเครื่องแบบทหาร  และมีบุคคลลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่ จำนวนประมาณ 20 คน เป็นอย่างน้อย เข้ามาในพื้นที่ประชุม           

แน่นอนครับว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาภายในบริเวณที่จัดงานโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการยินยอมจากผู้จัดงานเลย โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้จัดงานทราบ  ไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน  และไม่มีบัตรผู้เข้าร่วมงานมิหนำซ้ำยังได้ทำการถ่ายภาพเฉพาะเจาะจงผู้นำเสนอบทความวิชาการและผู้เข้าร่วมประชุม  แถมยังสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมประชุมด้วย กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ทำการบันทึกเสียงการนำเสนอของวิทยากรและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม  ที่น่ารำคาญคือพวกเขาพูดคุยโทรศัพท์เสียงดังขณะที่มีการนำเสนอบทความวิชาการในห้องประชุมด้วย

จากการที่ผมจัดกิจกรรมบ่อยครั้ง สังเกตได้ชัดเจนเลยครับว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่พฤติกรรมของผู้ที่จะเข้ามาร่วมประชุมตามปกติ เจ้าหน้าที่บางคนผมคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี เพราะจะมาสอดส่องกิจกรรมที่ผมและเพื่อนจัดบ่อยครั้ง พฤติกรรมของกลุ่มบุคคลดังกล่าวถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเกิดความอึดอัดและวิตกกังวล  อีกทั้งยังทำลายบรรยากาศของเวทีประชุมวิชาการที่จำเป็นต้องนำเสนอหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเปิดกว้าง  การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นการแทรกแซงการจัดการประชุมทางวิชาการและกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการอย่างร้ายแรง  ซึ่งในเวทีวิชาการระดับโลกถือว่าเป็นการเสียมารยาทในการประชุม

ผมคิดว่าอาจจะเป็นเพราะสืบเนื่องจากวันที่ 17 ก.ค. ผู้จัดและนักวิชาการที่เข้าร่วมประชุมในนามกลุ่มเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ทั้งไทยและต่างชาติรวม 176 คน ออกแถลงการณ์เรียกร้องขอคืนพื้นที่ "เสรีภาพทางวิชาการ" และ "สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพลเมือง" คืนอิสรภาพให้นักโทษทางการเมืองในคดี ม.112 และคดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 (ซึ่งเป็นปกติของการประชุมวิชาการระหว่างประเทศอยู่แล้ว ที่มักจะมีการแถลงการณ์ประเด็นทางสังคมในงาน) อาจจะเป็นเพราะด้วยเหตุนี้ด้วยที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารส่งเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเข้ามาในงานเพิ่มขึ้น เพื่อเก็บข้อมูล “รายงานนาย” เหมือนที่ทำๆมากันจนเป็นปกติไปแล้ว

พอกลุ่มเจ้าหน้าที่เข้ามาแทรกแซงในงานมากขึ้น นักวิชาการและผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในและต่างประเทศ (ซึ่งจ่ายเงินลงทะเบียนเข้ามาร่วมกิจกรรมนี้) เริ่มไม่พอใจ เกิดคำถามตามมาอย่างหนาหูว่า “ผู้จัดปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไร” นอกจากเป็นการเสียมารยาทและไม่ให้เกียรติในการประชุมแล้ว ยังเป็นการทำลายเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่ได้รับการรับรองไว้ในข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  แห่งองค์การสหประชาชาติ  ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี นับแต่ปี พ.ศ. 2539 ทำให้ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศดังกล่าวด้วย

ผมยอมรับเลยครับว่าผมอายมากครับ อึดอัดและวิตกกังวลไปหมด กับการกระทำและพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ทางการไทยในครั้งนี้ ส่วนตัวผมคิดว่าอาจจะต้องแสดงออกอะไรบางอย่างออกมาอย่างสันติวิธี เพื่อปกป้องเสรีภาพทางวิชาการและเพื่อส่งเสียงถึงพี่ๆทหารที่เข้ามาเดินอยู่ในงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้น “ไม่ถูกต้องและเสียมารยาทมาก” อีกทั้งยังเป็นการทำลายชื่อเสียงของประเทศอีกด้วย

ระหว่างพักเบรกดื่มกาแฟ ผมและพี่อีกสองคนจึงได้นำกระดาษเอสี่ที่มีข้อความว่า “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” มาถือในบริเวณหน้าห้องประชุมย่อยเพื่อแสดงออกให้เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาแทรกแซงการประชุม ซึ่งเป็นการทำลายบรรยากาศของเวทีวิชาการที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ  ได้ตระหนักถึงความไม่พอใจของพวกเราผู้จัดและผู้เข้าร่วมประชุมทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ  อีกทั้งยังเป็นแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องเสรีภาพทางวิชาการในฐานะนักวิชาการและนักศึกษา โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที  หลังจากนั้นก็ได้แยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตัวเองต่อ ผมก็ไปเตรียมพิธีปิดการประชุมที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

ผมยืนยันครับว่า สิ่งที่พวกเราทำไปนั้นนอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงความอึดอัดและวิตกกังวล ต่อพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้แล้ว ยังเป็นการแสดงความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนและปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ที่ถือเป็นภารกิจของนักวิชาการหรือนักศึกษาในสังคมไทยที่ต้องยืนยันถึงความสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการ  ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492  เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน  ก็ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการไว้ตามมาตรา  34  และรับรองเสรีภาพในการชุมนุม  ไว้ในมาตรา 44 ครับ

แม้ว่าผมจะยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการแสดงออกครั้งนี้ แต่ก็มิวายโดยจนได้ครับ (อย่างที่กล่าวไปตอนต้น ยุคนี้ต้องระวัง อาจจะโดนข้อหาได้โดยไม่รู้ตัว) เราถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยมีผู้ร่วมชะตากรรมในคดีนี้คือ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ประธานการจัดงานไทยศึกษาครั้งนี้ เป็นผู้ต้องหาที่ 1 , น.ส.ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ เป็นผู้ต้องหาที่ 2 , นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรี คณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ เป็นผู้ต้องหาที่ 3 , นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เป็นผู้ต้องหาที่ 4 และ นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ และเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม เป็นผู้ต้องหาที่ 5 ซึ่งในการแจ้งข้อหาของ สภ.ช้างเผือก ระบุว่า การชูป้ายข้อความ "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" เป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง ประชาชนทั่วไปผ่านมาพบเห็นโดยง่าย และอาจนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรับรู้รับทราบ เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ

ผมเศร้าใจมากครับ เพราะหากกิจกรรมเช่นนี้ ยังถูกตีความว่าเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย ก็ย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางวิชาการจำนวนมากที่มีวัตถุประสงค์เพื่อความงอกงามทางปัญญาและเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและไม่อาจดำเนินการได้ด้วยเช่นกัน กรณีนี้ย่อมไม่มีกฎหมายที่ชอบธรรมใดประสงค์ให้เกิดผลเลวร้ายเช่นนี้ขึ้น และการดำเนินคดีในลักษณะเช่นนี้ย่อมเป็น “การอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือ” เข้ามาดำเนินการต่อผู้ที่เห็นต่างกับตนเอง ซึ่งเป็น Rule by Law มิใช่ Rule of Law แต่อย่างใดครับ

ได้แต่ถอนหายใจแล้วบอกตัวเองว่า สู้กันในชั้นศาลนะครับ ผมจะสู้เพื่อยืนยันเสรีภาพทางวิชาการครับ

 

อ้างอิง

1. ชำนาญ จันทร์เรือง. บทความแจ้งความดำเนินคดีนักวิชาการไทยศึกษากับพวก.ประชาไท (สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 60)

2. BBC Thai. ลำดับเหตุฉาวของรบ.ทหารไทยในเวทีวิชาการนานาชาติ ที่เชียงใหม่ (สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 60)

3. ประชาธรรม. 5 ผู้ต้องหาคดีติดป้าย เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหารในงานไทยศึกษา ยื่นคำให้การโต้ข้อกล่าวหา (สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 60)

4. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. คำให้การผู้ต้องหาทั้งห้าคนได้ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา (สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 60)

 


 

เกี่ยวกับผู้เขียน

นลธวัช มะชัย ผู้ต้องหาที่ 3 คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกรณีการติดแผ่นป้ายมีข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” / นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / สมาชิกกลุ่มลานยิ้ม (LANYIM creative group)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: