ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทำสกู๊ปข่าวประเด็นแรงงานเพื่อนบ้าน เห็นคอมเม้นท์ของคนดูในโลกออนไลน์แล้วค่อนข้างเศร้าใจ แต่ก็ยังไม่เท่าเวลาอ่านคอมเม้นท์ของคนไทยใต้โพสต์ข่าวโรฮิงญาที่มีถึงขั้นบอกว่า ทำข่าวนี้อีกแล้วทำทำไม เปลืองเงิน เปลืองงบประมาณ ทำเรื่องคนไทยดีกว่า ฯลฯ ทำให้นึกถึงการบรรยายของอ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ที่ไปนั่งฟังที่จุฬาฯ เมื่อเดือนก่อน เรื่อง “จากจินตกรรมแห่งอาณาจักรอยุธยา สู่ประวัติศาสตร์ชาตินิยมรัฐไทย” เป็นการบรรยายที่คนไม่คุ้นชินและไม่มีพื้นหลังความรู้ทางประวัติศาสตร์อย่างเราตื่นตาตื่นใจตื่นหูและตื่นรู้มาก เพราะทำให้รู้สึกว่าอยุธยาเท่จัง ยิ่งใหญ่ได้โดยไม่ปฏิเสธความหลากหลาย ช่างแตกต่างจากสมัยนี้โดยสิ้นเชิง จึงอยากบันทึกสิ่งที่ได้จากวันนั้นไว้เยียวยาความเศร้าของตัวเอง
จินตภาพของกรุงศรีอยุธยา รากของประวัติศาสตร์ชาติในปัจจุบัน
อ.สุเนตรบอกว่าจินตภาพของอยุธยาสะท้อนความเป็นสากล คืออยุธยาไม่ได้เป็นอาณาจักรของคนไทยหรือชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง แต่มีสถานะเกาะติดกับจักรวาลที่กว้างใหญ่ไพศาล วางตัวเองเป็นศูนย์กลางของทั้งจักรวาลพุทธและจักรวาลพราหมณ์ เห็นได้จากภาพลักษณ์ของอยุธยาที่ปรากฏในวรรณกรรมหรือราชพงศาวดารอื่นๆ เป็นภาพของเมืองที่เป็นศูนย์กลางของชมพูทวีป อันเป็นทวีปที่พระพุทธเจ้าถือกำเนิด พระมหากษัติรย์อยุธยาจึงใช้สมัญญานามด้วยคำที่ใช้เรียกขานพระพุทธเจ้า และเรียกพระราชโอรสอันเกิดจากพระอัครมเหสีว่า สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า แสดงถึงสถานะที่เทียบเท่ากับพระพุทธเจ้าในนัยยะหนึ่ง
ขณะเดียวกันผู้ปกครองอยุธยาก็ไม่ได้ปฏิเสธสถานะอื่นนอกเหนือจากนี้ ซึ่งเป็นสถานะที่มีตกทอดอยู่นวัฒนธรรมทางการเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือสถานะของการแสดงว่าเมืองนี้เป็นเมืองของวีรบุรุษในรามายณะ เห็นได้ชัดเจนจากชื่อ อโยธยาศรีรามเทพนคร ที่หมายถึงเมืองของพระราม จึงเข้าใจได้ว่าทำไมพระมหากษัตริย์อยุธยาจึงใช้สมัญญานามว่า รามาธิบดี หรือ รามผู้เป็นใหญ่ สอดคล้องกับชื่อของเมือง
นัยยะตรงนี้เป็นจินตภาพของอยุธยาที่เราไม่ได้เห็นความย้อนแย้งของการอธิบายสถานะของการเป็นศูนย์กลางอันยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะอธิบายผ่านสถานะของความเป็นพุทธหรือสถานะของความเป็นพราหมณ์ อยุธยาจึงมีที่ยืนอย่างมั่นคงเสมอ
ในโลกของความเป็นจริง กษัตริย์อยุธยาไม่สามารถเป็นใหญ่ที่จะครองชมพูทวีปได้ทั้งหมด แต่กษัติรย์อยุธยาก็สามารถจัดสรรและอธิบายได้ว่าปริมณฑลของพระองค์มีขอบเขตแค่ไหน ซึ่งแน่นอนคงไม่รวมจีนและอินเดียเข้ามาด้วย ในลักษณะนี้เรามักจะเรียกเครือข่ายอำนาจที่พระองค์มีอยู่ว่า ขอบเขตพระราชอำนาจ หรือ Mandala คือ เหล่าเครือข่ายของบ้านเมืองที่ยอมรับความเป็นใหญ่ของผู้ครองอยุธยา ถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นมาแล้วไม่มีอำนาจบารมีเท่าพระองค์เดิม mandala ก็อาจจะหดลง ดังนั้นมันเป็นเครือข่ายอำนาจที่ยืดหยุ่นได้ —นี่คืออยุธยาในโลกที่ค่อนข้างจะเป็นจริงขึ้นมา
ทั้งหมดนี้ถูกแสดงผ่านหลักฐานสมัยอยุธยาอันหลากหลาย ถ้าเป็นงานเชิงประวัติศาสตร์ มีการถ่ายทอดชุดความเข้าใจนี้ผ่านสามสายด้วยกัน
1.สายราชสำนัก — ราชสำนักเป็นผู้ดูแลจัดการพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา บันทึกเฉพาะเรื่องราวต่างๆ ของผู้ที่ครองอยุธยาเท่านั้น ถ้าบังเอิญกษัตริย์พระองค์นั้นเกิดเหตุจำเป็นให้ไม่ได้ครองอยุธยาต่อ พระราชประวัติต่างๆของพระองค์จะสูญหายไปทันที
2.สายสงฆ์ — เป็นผู้มีความรู้ประวัติศาสตร์ของอยุธยาค่อนข้างแน่นพอสมควร ในสมัยรัตนโกสินทร์พระภิกษุสำคัญๆ จะมาให้การเทศนาในวันสำคัญหน้าพระที่นั่ง เทศนาพระราชประวัติ เล่าชีวประวัติของพระมหากษตริย์พระองค์ที่อยู่ในพระบรมโกศให้กับเหล่าคนที่มาฟัง รวมทั้งการกล่าวเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ชุดความรู้ชุดนี้จึงถูกส่งผ่านมาทางพระสงฆ์
3. สายชาวบ้าน — สายนี้ไม่ได้ถูกบันทึก เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) จะปรากฏขึ้นในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาอย่างฉบับวัน วลิต ที่มีการสัมภาษณ์พระและคนอื่นๆ ที่เล่าเรื่องราวอันพิสดารของสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งในพระราชพงศาวดารไม่เคยพูดถึงเลย
สามสายนี้เป็นตัวส่งผ่านความรู้และจินตภาพของอยุธยาอย่างค่อนข้างเป็นระบบจากคนในเจนเนอเรชั่นหนึ่งสู่อีกเจนเนอเรชั่นหนึ่ง
รัตนโกสินทร์กับระเบียบโลกใหม่ที่บังคับให้ปรับตัว
ปัจจัยจากภายนอกที่สำคัญคือการขยายอำนาจของชาติตะวันตกในยุคการล่าอาณานิคมนับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 19
อ.สุเนตรบอกว่า การเข้ามาของชาติตะวันตกเข้ามาปรับเปลี่ยน ความเป็นเอกเทศ ของเรา คือ จากเดิมที่พระมหากษัตริย์อยุธยาหรือต้นรัตนโกสินทร์ทรงออกพระราชโองการอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องทรงสนพระทัยว่าญวนจะว่ายังไง พม่าจะว่ายังไง ฝรั่งจะว่ายังไง มันเป็นเรื่องของเราที่จะจัดการ วางระบบ ธรรมเนียมประเพณีได้เอง มันเสร็จในความเป็นเอกเทศของเรา แต่พอชาติตะวันตกเข้ามาอำนาจการตัดสินใจของกษัตริย์กลายเป็นต้องปรับตัวโอนอ่อนให้สอดคล้องกับระเบียบโลกใหม่
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราปราศจากอิทธิพลจากภายนอก แต่อิทธิพลจากภายนอกไม่ได้มากำหนดทิศทางการขับเคลื่อนของเราอย่างที่เราต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข แต่การขยายอำนาจเข้ามาของโลกตะวันตกได้เปลี่ยนเงื่อนไขนี้ไปอย่างสิ้นเชิง เราถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งอื่น เช่น อยู่รวมในอินโดจีน ดังนั้น ไม่ว่าเราจะตกเป็นอาณานิคมหรือไม่ — เราก็จำเป็นต้องปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินของเราให้สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้เงื่อนไขของระบบความสัมพันธ์หรือระบบอำนาจใหม่ของโลกในขณะนั้น
การปรับตัวครั้งนั้นทำให้เราต้องทำในสิ่งที่อยุธยาไม่เคยคำนึงถึงเลย คือ ความจำเป็นในการสร้างความเป็นเอกภาพ เพราะสมัยก่อน อยุธยาก็อยุธยา ลาวก็ลาว ตราบใดที่ยังสวามิภักดิ์ส่งดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ส่งส่วยส่งอะไร ก็ไปด้วยกันได้ในความหลากหลาย แต่ ณ จุดนี้เราต้อง สร้าง Sense of unity อันเป็นกระบวนการปรับตัวของรัฐให้สามารถดำรงอยู่ได้ในระบบโลกใหม่
ประวัติศาสตร์ชาติถูกเขียนขึ้นใหม่เพื่อสร้าง Sense of Unity
สยาม เป็นหนึ่งในคำศัพท์ชุดใหม่ที่ถูกใช้อธิบายตัวตนของเราเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระเบียบโลกใหม่ เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างทางอำนาจใหม่ เน้นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เพราะโครงสร้างอำนาจเดิมที่เป็นการกระจายอำนาจ ภาวะเช่นนั้นอนุญาตให้เป็นต่อไปไม่ได้แล้ว เราเคลื่อนเข้าสู่การรับรู้ชุดใหม่เกี่ยวกับตัวตนของเรา การรับรู้ชุดใหม่เกี่ยวกับผู้ปกครองของเรา ว่าเป็นใคร ปกครองอะไร การรับรู้ชุดใหม่เกี่ยวกับระบบการดูแล การปกครอง การจัดการ และความชอบธรรมทางอำนาจชุดใหม่ที่สอดประสานกับยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน เกิดเป็นประวัติศาสตร์ชาติในปัจจุบัน
อ.สุเนตรบอกว่า ประวัติศาสตร์ใหม่ ก็ไม่ได้โละของเก่าไปทั้งหมด แต่มันเป็นกระบวนการให้ความหมายใหม่กับของที่มีอยู่เดิม และเอามาปรับรูปร่างลักษณะ เปลี่ยนสถานะมันเสียใหม่ เต็มไปด้วยกลไกมากมายที่จะดึงข้อมูลมหาศาลมาชำระ จัดระบบ เพื่อที่จะให้ได้ประวัติศาสตร์ชาติที่ค่อนข้างลงตัว แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็มาจากสมัยอยุธยาเพราะยาวนานถึง 417 ปี
สมัยก่อนเรามีประวัติศาสตร์ออกมาเป็นสามสายอย่างที่บอกไปข้างต้น สายราชสำนักจะไม่ดึงเอาเรื่องของสายชาวบ้านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง ทางใครทางมัน — ไม่ใช่ผู้เขียนพงศาวดารไม่รู้ แต่เลือกที่จะไม่เขียน แต่พอมาสมัยรัชกาลที่ 4 มีพระมอญเอาข้อมูลที่เป็นคำให้การของเชลยศึกที่พม่ากวาดต้อนไปสมัยอยุธยาและพม่าก็รวบรวมไว้ส่วนหนึ่งเป็นภาษามอญ นำมาถวายพระองค์ มีเรื่องราวของพระนเรศวรชนไก่ พระนเรศวรถูกเอาเป็นองค์ประกันอยู่หงสา —เรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยมีแม้แต่ครึ่งบรรทัดในพงศาวดารฉบับราชสำนักในสมัยอยุธยา จึงมีการนำเรื่องราวนี้มารวมกับเรื่องราวในพงศาวดาร ชำระออกมาเป็นประวัติศาสตร์ชาติปัจจุบัน
จากจินตภาพอยุธยาสู่ประวัติศาสตร์ชาติที่รัฐมีเจตจำนงให้ประชาชนมีความทรงจำเดียวกัน
การอยู่รอดในระเบียบโลกใหม่ เราต้องสร้าง sense of unity ด้วยการสร้างประวัติศาสตร์ชาติที่ประชาชนเข้าใจตรงกัน เงื่อนไขของการทำให้คนในสังคมมี sense of unity คือจะต้องทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าเขามี tragedy เดียวกัน
กระบวนการคือ คุณต้องมีศัตรูร่วม เพราะถ้าคุณไม่มีศัตรูร่วม มันไม่เห็นเหตุผลที่เราจะต้องมี sense of unity ทำไมเราต้องรู้รักสามัคคีมีความเป็นเอกภาพ ก็เพราะมันมีความจำเป็นที่เราจะต้องป้องกันภัยคุกคามที่ถูกอธิบายในรูปลักษณ์ต่างๆ เยอะแยะมากมาย (ไง) และเนื่องจากเราไม่ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก ทำให้พม่าและกัมพูชามักจะถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างจินตภาพของความเป็นศัตรูอยู่เสมอ จะเห็นได้ว่าแก่นหลักของประวัติศาสตร์ไทยเป็นเรื่องของเอกราช — ไม่ปกป้องก็ช่วงชิงคืนมา — วีรบุรุษที่มีผู้สร้างอนุสาวรีย์ให้เป็นจำนวนมากหรือผลิตภาพยนตร์ซ้ำก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับเอกราชทั้งนั้น ในการบรรยายอ.สุเนตรถามเราที่เป็นผู้ฟังว่า มีใครรู้จักพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศบ้าง มีใครรู้จักพระไชยราชา พระบรมไตรโลกนาถ หรือพระเจ้าเจ้าปราสาททองบ้าง เพราะทุกพระองค์ล้วนแต่เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น แต่เกือบจะไม่มีที่ยืนในหน้าประวัติศาสตร์ชาติที่เป็นอยู่เท่าไหร่นัก
นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ชาติกลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ครองรัฐสามารถอ้างความชอบธรรมและการคงอยู่ซึ่งอำนาจ เพราะเหตุนี้สถานะของประวัติศาสตร์ในบ้านเราจึงมีความสำคัญเป็นพิเศษ คือ มัน untouchable เพราะถ้าคุณสร้างความกระทบกระเทือนกับสิ่งนี้ มันไม่ได้กระทบกระเทือนแค่สาระที่เป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่มันยังกระทบกระเทือนเสถียรภาพของสถาบันที่หยัดยืนอยู่บนประวัติศาสตร์ชาติด้วย
โลกไม่เคยหยุดนิ่ง ในวันที่โจทย์ใหม่ท้าทายวิธีการอยู่รอดแบบเดิม
อาจารย์บอกว่าประวัติศาสตร์บ้านเราเป็นของที่จะต้องเชื่อถือ จดจำ สร้างความสะเทือนใจและอะไรอีกหลายอย่างมากมาย ไม่อย่างนั้นมันสร้าง Sense of unity ไม่ได้ แต่ว่าสังคมมันไม่ได้หยุดนิ่ง มันถูกขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา
เราผ่านยุคอาณานิคมไปนานแล้ว ผ่านยุคของการสร้างชาติไปนานแล้ว ผ่านยุคของการสร้างตัวตนใหม่และความทรงจำร่วมไปนานแล้ว เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านก็เกิดปัญหาและตัวแปรใหม่ๆ ขึ้นมา เกิดข้อมูลใหม่ๆ ขึ้นมา เกิดโจทย์ใหม่ๆ ขึ้นมา บางครั้งประวัติศาสตร์ชาติตอบโจทย์ได้ บางครั้งก็ตอบโจทย์ไม่ได้ เพราะไม่ได้ประกอบสร้างขึ้นเพื่อให้ตอบทุกโจทย์ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง
หลังจาก 14 ตุลาเป็นต้นมา เกิดกระแสความท้าทายและประวัติศาสตร์อื่นๆ มากมาย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สิ่งที่ตามมาอีกอย่าง คือ เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างความทรงจำ สังคมที่เปลี่ยนผ่านเปิดโอกาสให้คน — ที่ครั้งหนึ่งเป็นแค่ผู้รับสาร ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสารที่ส่งมาให้ ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ จึงรู้สึกว่าเขาก็ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความทรงจำหรือตั้งคำถามกับความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้น รัฐไม่ได้ผูกขาดความรู้ทางประวัติศาสตร์แต่เพียงผู้เดียวแล้ว
อาจารย์บอกว่า เป็นสิ่งที่น่าลำบากใจเมื่อเราเข้าสู่ยุคของการปฏิรูปที่ผู้ปกครองรัฐมองว่าการสร้างความรู้รักสามัคคีเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมๆ กับที่ในทางหนึ่งมันเกิดประวัติศาสตร์กระแสอื่นๆ มากมายลุกขึ้นมาตั้งคำถาม เสนอทางออก และข้อเท็จจริง ที่บางครั้งสวนทางและท้าทายกับประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์ชาติที่เคยมีสถานะ มีสิทธิมีศักดิ์ในการดำรงอยู่จึงกำลังตกอยู่ในสภาวะที่จะต้องประคับประคองไปภายใต้กระแสการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในโลกใหม่ตอนนี้ที่เป็นโลกของการสร้างประชาคมอาเซียน โลกที่การร่วมมือกันของภาคประชาชนในระดับภูมิภาคเป็นสิ่งสำคัญ เรียกร้องให้เราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน จึงยังไม่รู้ว่าทางออกจะเป็นอย่างไร เมื่อประวัติศาสตร์ชาติที่เป็นแกนหลักของการประคับประคองความมั่นคงภายในรัฐ กลายเป็นตัวฉุดการขับเคลื่อนที่จะตอบโจทย์ปัจจุบันและอนาคตของเราในวันที่ความมั่นคงของรัฐกลับผูกติดอยู่กับความมั่นคงของภูมิภาค
.................
บันทึกไว้ในวันที่ชีวิตของแรงงานเพื่อนบ้าน ชาวโรฮิงญา และชาติอื่นๆ ทั่วโลก เกี่ยวข้องกับเรามากกว่าที่ถูกบันทึกไว้ในแบบเรียน
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ Medium (Blog ของผู้เขียน)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ