โรงงานรถไฟ Gia Lam ในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม สร้างขึ้นโดยฝรั่งเศสเพื่อใช้เป็นสถานที่ซ่อมบำรุงรถไฟสมัยอาณานิคม และถูกใช้ผลิตอาวุธของกลุ่มปฏิวัติ โดยโรงงานดังกล่าวรอดพ้นจากการโจมตีของเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกาในสมัยสงครามโลก แม้จะเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในอินโดจีน แต่โรงงานดังกล่าวใกล้จะถูกเลิกใช้งาน หลังจากชนชั้นกลางของประเทศในฐานะผู้โดยสารที่มีอำนาจในการจับจ่ายมากขึ้น เริ่มใช้การเดินทางด้วยเครื่องบิน โดยเฉพาะเที่ยวบินโลว์คอสต์
หลังจากโรงงานถูกชาวเวียดนามเข้ายึดครองในช่วงปี 1940 และใช้เป็นสถานที่ผลิตปืนและระเบิด เพื่อใช้ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม หลังจากนั้นโรงงานแห่งนี้ยังคงใช้ผลิตอาวุธในช่วงสงครามเวียดนาม แม้จะถูกระเบิดจากเครื่องบินสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งเป้าโจมตีนักปฏิวัติในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ
ปัจจุบันโรงงาน Gia Lam ถูกใช้เป็นพื้นที่ซ่อมแซมรถไฟเก่า แม้ความต้องการการใช้รถไฟของชาวเวียดนามจะลดน้อยลง แต่อุตสาหกรรมรถไฟก็พยายามรักษาสถานภาพท่ามกลางการแข่งขันของตลาดคมนาคม เพราะผู้คนในเวียดนามส่วนใหญ่เริ่มหันหลังให้กับรถไฟที่เคลื่อนเชื่องช้า และหันไปใช้บริการเครื่องบินที่รวดเร็ว และราคาถูก
ประชาชนเวียดนามเข้าคิวซื้อตั๋วราคาโปรโมชั่นจากสายการบินโลว์คอสต์
จากสถิติในปี 2558 พบว่าชาวเวียดนามเดินทางด้วยเครื่องบินกว่า 31 ล้านคน มากกว่าตัวเลขในปี 2553 ถึง 2 เท่า ขณะที่รถไฟมีผู้ใช้งานคงที่ที่ 11 ล้านคนเป็นเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตามบริษัทรถไฟในเวียดนามต่างกำลังหาทางที่จะฟื้นการเดินทางด้วยรถไฟในยุคอาณานิคม ด้วยการให้บริการในระดับเฟิร์สคลาส ตกแต่งตู้โดยสารด้วยไม้จริง และตู้เสบียงในแบบร้านอาหาร
Nguyen Anh Tuan ตัวแทนสหภาพแรงงานในเวียดนามเผยว่า หากการเดินทางด้วยรถไฟไม่มีการพัฒนาและการสนับสนุนจากภาครัฐ อุตสาหกรรมรถไฟไม่มีทางฟื้นตัวได้ ขณะที่สมาชิกสภานิติบัญญัติส่วนหนึ่งได้เรียกร้องให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนในภาคส่วนที่รัฐควบคุมอยู่ และสภาเพิ่งจะพิจารณาแก้ไขกฎหมาย แต่พนักงานของโรงงานรถไฟ Gia Lam ต่างกังวลว่ารถไฟจะสูญหายไปหากอุตสาหกรรมนี้ไม่มีการปรับตัวและการสนับสนุนจากหลายฝ่าย
ที่มาข่าวและภาพประกอบ: AFP, 8/6/2017
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ