ชาวเน็ตรณรงค์บรรจุ 'เพศวิถีศึกษา' เป็นวิชาบังคับในโรงเรียน

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 มี.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3516 ครั้ง

ชาวเน็ตรณรงค์บรรจุ 'เพศวิถีศึกษา' เป็นวิชาบังคับในโรงเรียน

สมาคมครูเพศวิถีศึกษา (ประเทศไทย) รณรงค์ผ่าน change.org สนับสนุนให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุ "เพศวิถีศึกษา" เป็นวิชาบังคับในโรงเรียนที่เด็กต้องได้เรียน ที่มาภาพ: จากการรณรงค์ใน change.org

สมาคมครูเพศวิถีศึกษา (ประเทศไทย) ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ผ่าน change.org เรื่อง สนับสนุนให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุ "เพศวิถีศึกษา" เป็นวิชาบังคับในโรงเรียนที่เด็กต้องได้เรียน โดยได้ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร โดยในเนื้อหาการณรงค์ระบุไว้ดังนี้

สนับสนุนให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุ “เพศวิถีศึกษา”
เป็นหนึ่งวิชาบังคับที่ต้องจัดการเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทย

กว่ายี่สิบปีที่สังคมไทยเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดกับเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรง หรือปัญหาเรื่องเพศซึ่งสะท้อนให้เห็นเป็นปรากฏการณ์เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และอัตราการท้องไม่พร้อมในเยาวชน จากสถิติสาธารณสุข ปี พ.ศ.2558 พบว่า อัตราการคลอดของหญิงอายุ15-19 ปี ต่อประชากรหญิง 15-19 ปี 1,000 คน คือ 44.8 จำนวนการคลอดวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี เฉลี่ย 286 คนต่อวัน ซึ่งถือเป็นสถานการณ์เร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไข โดยหลังจากนั้นได้มีการรณรงค์ผ่านแคมเปญต่างๆ เพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รวมถึงพยายามที่จะหาแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเพื่อการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

พ.ศ. 2559 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 (http://rh.anamai.moph.go.th/main.php?filename=act) โดยสาระสำคัญตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.คือ “วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว ได้รับการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ” และมี 5 ยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนให้การแก้ปัญหาดังกล่าวลุล่วง ซึ่ง 1 ใน 5 ยุทธศาสตร์นั้น การพัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพและมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม โดยยุทธศาสตร์ที่ปรากฏในกฎหมายฉบับดังกล่าว ต่างได้รับการพิสูจน์จากหลายประเทศที่ดำเนินงานเรื่องการจัดการปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแล้วว่าเป็นแนวทางการทำงานที่ทำให้บรรลุเป้าหมายในการจัดการปัญหา

ที่ผ่านมา การจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างเป็นระบบและครอบคลุมเยาวชนทุกคนยังไม่เกิดขึ้นจริง โดยหากพิจารณาจากหลักสูตรการเรียนการสอนของไทย พบว่า เพศวิถีศึกษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิชาสุขศึกษา และเนื้อหาที่อยู่ในการเรียนการสอนมีเพียงเรื่องอุปกรณ์คุมกำเนิดและเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ขาดมิติเรื่องเพศในด้านอื่นๆ เช่น เรื่องสัมพันธภาพ เรื่องพฤติกรรมทางเพศ เรื่องทักษะส่วนบุคคล และเรื่องสังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น ไม่นับกระบวนการเรียนการสอนที่เป็นไปแบบเน้น “ผู้สอน” เป็นศูนย์กลางมากกว่าการมีส่วนร่วมของ “ผู้เรียน” ซึ่งทำให้การนำความรู้หรือทักษะที่ได้จากการเรียนไปใช้เกิดขึ้นน้อยมาก ดังที่ครูหลายท่านสะท้อนว่า “สอนทั้งหมดแล้ว แต่ถึงเวลาเด็กไม่สามารถนำไปใช้ได้”

สำหรับการพัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพนั้น ก่อนหน้าที่กฎหมายฉบับนี้จะประกาศใช้ มีโครงการ เช่น “โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ” ที่พยายามนำร่องชวนสถานศึกษาที่มีความสนใจจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษานำ “เพศวิถีศึกษารอบด้าน” ลงสู่ห้องเรียน โดยหวังให้เกิดผลลัพธ์ที่ตัวเยาวชนในเชิงการจัดการชีวิตทางเพศของตัวเองได้อย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ ซึ่งจากการดำเนินโครงการมา 11 ปี พบผลลัพธ์ที่น่าสนใจว่า ในโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างเป็นระบบ เยาวชนสามารถคุยเรื่องเพศและการป้องกันกับคู่ได้ รวมถึงใช้ถุงยางเมื่อมีเพศสัมพันธ์มากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเยาวชนทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการสิ้นสุดลงการฝังตัวของเพศวิถีศึกษาในระบบการศึกษาไทยก็ยังไม่เกิดขึ้น (http://www.teenpath.net/home.asp) การจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษายังคงเป็นไปตามความสนใจและความสมัครใจของครู ไม่มีระบบ หรือการจัดตารางสอนที่ชัดเจน

เพื่อให้เยาวชนลูกหลานของเรา มีข้อมูล ความรู้ และทักษะในการจัดการชีวิตเรื่องเพศของตัวเองได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย บนพื้นฐานของความรับผิดชอบและการเคารพต่อเพื่อนมนุษย์ ขอเรียกร้องให้ กระทรวงศึกษาธิการบรรจุ “เพศวิถีศึกษา” เป็นหนึ่งวิชาที่ต้องจัดการเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทย

สมาคมครูเพศวิถีศึกษา (ประเทศไทย) www.facebook.com/ttase

วันที่ 3 มีนาคม 2560

UNFPA ได้ให้คำนิยาม “เพศวิถีศึกษารอบด้าน” ว่าคือ กลวิธีการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิและให้ความสำคัญกับเพศภาวะ ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกบริบทโรงเรียน เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และค่านิยม เพื่อพัฒนามุมมองเชิงบวกด้านเพศวิถีของตน พร้อมกับพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของตนเอง ทั้งนี้ โดยนำวิสัยทัศน์แบบองค์รวมของเพศวิถีและพฤติกรรมทางเพศมาใช้ ซึ่งครอบคลุมมากกว่าการมุ่งเน้นที่การป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (http://3c4teen.org/?p=3003)

 

ร่วมการรณรงค์ได้ที่นี่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: