นักวิจัยชี้ไทยต้องศึกษาธรณีวิทยาเมืองใหญ่ รับมือแผ่นดินไหว

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 1658 ครั้ง

นักวิจัยชี้ไทยต้องศึกษาธรณีวิทยาเมืองใหญ่ รับมือแผ่นดินไหว

นักวิจัยทีมแผ่นดินไหว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) ระบุ ข้อสังเกตแผ่นดินไหวที่ประเทศเม็กซิโกจนเกิดสึนามิมีขนาดเล็ก เพราะเกิดแผ่นดินไหวเกิดค่อนข้างลึก ขณะที่ประเทศไทยต้องศึกษาธรณีวิทยาเมืองใหญ่เพื่อประเมินผลกระทบให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ที่มาภาพประกอบ: P K (CC BY 2.0)

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่า ผศ.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลฝั่งตะวันตกของประเทศเม็กซิโก ส่งผลให้ประชาชนรับรู้ได้เป็นบริเวณกว้าง และสร้างความเสียหายในหลายเมืองรอบ ๆ ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ว่า สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 500,000 คน ตามเมืองรอบศูนย์กลางแผ่นดินไหว และมีรายงานการเกิดคลื่นสึนามิจากการเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากรอยเลื่อนทำให้เกิดการเลื่อนตัวในแนวดิ่งของพื้นทะเลสร้างคลื่นสึนามิขึ้น แต่เป็นแผ่นดินไหวเกิดค่อนข้างลึกประมาณ 70 กิโลเมตร คลื่นสึนามิจึงมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก โดยตรวจพบคลื่นสึนามิที่มีความสูงคลื่นเพียงประมาณ 70 เซนติเมตร ทำให้เกิดความเสียหายต่อชุมชนตามชายฝั่งค่อนข้างน้อย

ทั้งนี้แม้แผ่นดินไหวครั้งนี้จะอยู่ห่างจากกรุงเม็กซิโกซิตี้ 1,000 กิโลเมตร แต่ประชาชนในเมืองยังรับรู้การสั่นสะเทือนได้ดี เนื่องจากส่วนหนึ่งของเมืองตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนมากที่เกิดจากทะเลสาบเก่า ทำให้สามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้หลายเท่า ซึ่งในประเทศไทยเคยมีกรณีคล้ายกัน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย เนื่องจากบริเวณนี้พื้นที่ส่วนมากมีดินเหนียวที่เกิดจากการสะสมตัวในสภาพชายฝั่งทะเลในอดีตซึ่งนิ่มมาก เรียกว่าชั้นดินเหนียวกรุงเทพมหานครและมีลักษณะเป็นแอ่งขนาดใหญ่ลึกกว่า 1 กิโลเมตร มีตะกอน (ดิน) สะสมตัวหนามาก ทำให้สามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้ 3-4 เท่า และอาคารสูงสั่นอย่างรุนแรงได้ สังเกตจากเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ที่อยู่อาศัยในตึกสูงจะรู้สึกว่าอาคารสั่นแทบทุกครั้ง รวมทั้ง ยังพบว่าหลายเมืองใหญ่ของไทยมีลักษณะทางธรณีวิทยาคล้ายกับกรุงเทพมหานคร คือ มีลักษณะเป็นแอ่งตะกอนขนาดใหญ่ที่สามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้เช่นกัน แต่ยังขาดการศึกษาอย่างละเอียด จึงจำเป็นต้องศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาของเมืองใหญ่เหล่านี้ เพื่อให้สามารถประเมินผลกระทบจากแผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้องและเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: