'สมาร์ทโฟน' ในมือของคุณ อาจผลิตด้วย 'นศ. ฝึกงาน'

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 10 มิ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 2756 ครั้ง

'สมาร์ทโฟน' ในมือของคุณ อาจผลิตด้วย 'นศ. ฝึกงาน'

โรงงานในจีนหลายแห่งจ้างนักศึกษาฝึกงานเป็นลูกจ้างในไลน์การผลิตด้วยค่าจ้างราคาถูก เช่น ฟ้อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้ผลิตชิ้นส่วนให้สมาร์ทโฟนแบรนด์ดัง งานวิจัยพบนักศึกษาฝึกงานเหล่านี้มักตกอยู่ในสภาพการทำงานที่เลวร้ายและได้ค่าจ้างต่ำกว่าลูกจ้างที่ทำงานด้วยกัน ที่มาภาพประกอบ: pixabay.com

กำลังแรงงานวัยหนุ่มสาวของจีนถูกปลูกฝังให้มีความใฝ่ฝันแบบจีน คือ มีอาชีพการงานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่รุ่นพ่อแม่ของพวกเขาไม่เคยได้รับ ซึ่งระบบทุนโลกาภิวัฒน์ในเอเชียกำลังรุดหน้า แต่ปิดบังตลาดแรงงานที่ใช้ระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือในการขูดรีดแรงงานวัยหนุ่มสาวที่มีลักษณะแข่งขันสูงมาก เพื่อไต่เต้าสถานะไปเป็นคนชั้นกลาง

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสารพัดช่างฮ่องกง พบว่าแรงงานฝึกหัด จำนวน 13 ล้านคนถูกผลักดันโดยวิทยาลัยอาชีวศึกษา ด้วยหลักสูตร 'labor bots' นำนักศึกษาฝึกหัดไปทำงานในสายการผลิต ซึ่งนักศึกษาฝึกงานเหล่านี้มักตกอยู่ในสภาพการทำงานที่เลวร้ายและได้ค่าจ้างต่ำกว่าลูกจ้างที่ทำงานด้วยกัน

เจนนี่ ชาน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว ระบุว่า รัฐและทุนในภาคการศึกษาและเทคโนโลยีร่วมมือกันขูดรีดแรงงาน ภาคส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนสร้างความหวังด้านอาชีพให้แก่คนหนุ่มสาวเพื่อเติมกำลังแรงงานรุ่นนี้เข้าไปในระบบห่วงโซ่การผลิตให้ครบ เมื่อนักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ก็เข้าสู่ระบบการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ทำการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงแต่ใช้ทักษะต่ำ

ระบบนี้ขับเคลื่อนโดยรัฐและบรรษัทข้ามชาติ แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจและค่าจ้างโดยทั่วไปจะดีขึ้นจากการลงทุนอุตสาหกรรมทั่วโลก โครงสร้างกำลังแรงงานฝึกหัดเกิดขึ้นในบรรษัทขนาดใหญ่ เช่น ฮอนด้า แอปเปิลที่จ้างฟอกซ์คอนน์ผลิต โดยรับพวกเขาเข้ามาเป็นฤดูกาล และเป็นช่วงที่คำสั่งผลิตมีเข้ามาเป็นจำนวนมาก

แม้นักศึกษาฝึกงานบางรายจะเข้าใจว่า พวกเขาอยู่ในสถานะที่แย่ เช่นผู้ให้สัมภาษณ์อายุ 16 ปี ระบุว่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ในแต่ละวัน วันละ 10 ชั่วโมงคือ การทำงานด้วยท่าซ้ำ ๆ ในไลน์ผลิตเหมือนหุ่นยนต์ แทบไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เราเรียนในโรงเรียนเลย

เนื่องจากการจัดหากำลังแรงงานตามฤดูกาล ผู้จัดทำหลักสูตรอาจไม่ได้เสนอโอกาสในการพัฒนาวิชาชีพ นักศึกษาฝึกงานถูกยกเว้นจากข้อบังคับเรื่องสวัสดิการตามมาตรฐานการจ้างงาน แถมทำงานมากถึง 60 ช.ม./สัปดาห์ รวมโอทีด้วย บริษัทหั่นรายได้ของพวกเขา โดยหักค่าอาหารและที่พัก ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบครอบครัว ไม่ยอมให้อิสระและสิทธิพื้นฐานด้านแรงงานแก่นักศึกษา

ผู้ป้อนกำลังแรงงานนี้คือ สถาบันอาชีวศึกษาที่แสวงหากำไร การค้าเช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา สะท้อนถึงการสร้างบทบาทเป็นตัวกลาง 'middle tier' ให้แก่บริษัท เนื่องจากการฝึกหัดฝีมือแรงงานคือการฝึกอบรม ที่ครูส่งเสริมอย่างมากว่าเป็นเส้นทางสู่อาชีพ นักศึกษาฝึกงานจึงทำงานโดยหวังว่าจะได้รับการฝึกทักษะ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาพยาบาล ช่างเทคนิค ซ่อมรถ ด้านบริหารธุรกิจ ทว่าสิ่งที่พบคือ ทำงานน่าเบื่อหน่ายเฉกเช่นลูกจ้างของบริษัท

เช่นโรงงานฟอกซ์คอนน์ นักศึกษาฝึกงานถูกยกเว้นจากกองทุนประกันการรักษาพยาบาล ค่าชดเชยการบาดเจ็บจากการทำงาน ค่าชดเชยการว่างงาน สิทธิประโยชน์จากการตั้งครรภ์ เงินบำนาญเมื่อเกษียณ เนื่องจากอยู่ในสถานะฝึกงาน จึงถูกตัดออกจากการได้รับเงินช่วยเหลือในระยะยาว

ในงานวิจัยของชาน พบว่าโอกาสการทำงานที่เหมาะสมนั้นหายากสำหรับนักศึกษาที่ถูกจำกัดสิทธิผลประโยชน์จากมหาวิทยาลัยและนายจ้าง รวมถึงสิทธิที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน อีกทั้ง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทดแทนพนักงานประจำเมื่อเกิดการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน ในลักษณะแบ่งแยกและปกครอง

สำหรับรัฐนั้น มีบทบาทในการส่งเสริมระบบแบ่งแยกและปกครองด้วย นักวิจัยเพิ่มเติมว่า รัฐปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับกำลังแรงงานฝึกหัด ให้แรงงานฝึกหัดได้ค่าจ้าง 80% ของค่าจ้างลูกจ้างประจำในตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งคือการกำหนดรูปแบบการจ้างงานชั่วคราวนี้ให้ยั่งยืน

แม้นักศึกษาฝึกหัดมาด้วยความสมัครใจ เข้าหลักสูตรฝึกอบรมอาชีพ แต่นักวิจัยเน้นว่า พวกเขาถูกกล่อมเกลาให้ยอมรับการขูดรีดมูลค่าจากแรงงานฝึกหัดที่บริษัทพยายามปกปิด

“เราสามารถเปลี่ยนแปลงระบบการจ้างงานนักศึกษาฝึกงานได้ คือ แบรนด์แอปเปิลควรกำกับตรวจสอบมาตรฐานการจ้างงานในบริษัทรับจ้างผลิตของตัวเอง” นักวิจัยกล่าว เช่น หน่วยงานรัฐด้านแรงงานส่วนกลางพยายามที่จะลดปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานด้วยการใช้ระบบค่าจ้างต่อชั่วโมงและลดการใช้แรงงานนักศึกษาในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และรับรองว่าหลักสูตรอาชีวศึกษาไม่กดขี่แรงงาน สำหรับกลุ่มเฝ้าระวังสิทธิ เช่น EICC หรือ ประชาคมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้เรียกร้องให้ปรับปรุงระบบการศึกษาอาชีวะให้มีคุณภาพ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนระบบการจ้างงานดังกล่าว

แนวโน้มของการใช้นักศึกษากึ่งฝีมือแรงงานนี้ จำเป็นต้องนำไปอภิปรายในเรื่องอนาคตการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ควรได้รับการยกระดับทักษะฝีมืออย่างแท้จริงและคุณภาพชีวิตด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Your Phone May Have Been Built by an Intern, Michelle Chen, thenation.com, 31/5/2017

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: