33 ปี “เจิงแลว” วงดนตรีเพื่อชีวิตของไทใหญ่ การเมืองอันเข้มข้นของบทเพลง

สมคิด แสงจันทร์ 11 เม.ย. 2560 | อ่านแล้ว 5617 ครั้ง


เมื่อพูดถึงการต่อสู้ทางการเมืองของรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ยาวนานมากว่า 70 ปีนั้นเสียงปืนจากการสู้รบคงดังขึ้นมาในหัวของใครหลาย ๆ คนก่อนเป็นอันดับแรก แต่ในความเป็นจริงนอกจากเสียงปืนแล้ว ก็ยังมีวงดนตรีหนึ่งที่ใช้ “เสียงเพลง” ร่วมต่อสู้เคียงข้างเสียงปืนมาอย่างยาวนาน วงดนตรีวงนั้นคือ “เจิงแลว” วงดนตรีเพื่อชีวิตของไทใหญ่  เส้นทางชีวิตของวงดนตรีวงนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นภาพประวัติศาสตร์หลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในพม่า บ่อยครั้งก็เป็นเครื่องชี้วัดหรือประเมินสถานการณ์บางอย่างในพม่าได้ด้วย 

พอดีสัปดาห์ที่แล้ว ภาพที่ผมกับเพื่อน ๆ กลุ่มคนหนุ่มไตเชียงใหม่ (Tai Youth Chiang Mai) ไปร่วมจัดงานครบรอบ 30 ปีวงเจิงแลว (Freedom Way) เมื่อ 3 ปีที่แล้วเด้งขึ้นมาใน Facebook  ก็เลยนึกอยากเขียนเรื่องของวงเจิงแลวขึ้นมา ตอนนั้นผมกำลังเก็บข้อมูลสนามทำวิจัยเกี่ยวกับคนหนุ่มไตในเชียงใหม่ และเพิ่งเข้าเป็นสมาชิคนหนุ่มไตได้ไม่นาน ผมเองในฐานะทายาทรุ่นที่สองของคนไตอพยพที่เติบโตมาในสังคมแบบไทย ๆ จึงไม่รู้จักวงดนตรีหรือนักร้องไตมาก่อน ตอนเด็ก ๆ รู้จักแต่จายสายมาวคนเดียว เพราะโด่งดังแถวแม่สาย เวลามีคอนเสิร์ตจายสายมาว คนในหมู่บ้านก็จะแห่กันไปดู แต่ผมไม่เคยไปฟังเลย ได้ยินตามงานเทศกาลต่าง ๆ ก็ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ภาษาไตตอนที่ผมพูดคุยกับพ่อแม่ กับ ภาษาที่ร้องออกมาเป็นเพลง เหมือนเป็นคนละภาษากัน พอมาทำวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวกับคนหนุ่มไต จึงเริ่มสนใจฟังเพลงไทใหญ่ขึ้นมาบ้าง

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2557 ผมไปเที่ยวงานวันชาติไต ที่ดอยไตแลง กับ คนหนุ่มไตเชียงใหม่ ระหว่างทางเพื่อน ๆ ในรถเปิดเพลงไต ร้องเพลงไตกัน สนุกสนาน เฮฮา ส่วนผมร้องไม่ได้สักเพลง ยิ่งในคืนที่มีเวทีคอนเสิร์ตบนดอย พวกเพื่อน ๆ ร้องเพลงไตได้หมดเลย นักร้องคนไหนขึ้นมาร้อง ก็ร้องตามได้หมด ผมได้แต่ไปโยก ๆ อย่างเดียว ร้องไม่ได้สักท่อน หลังลงมาจากดอยไตแลงครั้งนั้น ผมจึงตั้งเป้าว่า จะเริ่มเรียนภาษาไตอย่างจริงจัง  ต้องอ่านออกเขียนได้  ถามเพื่อนที่รู้จักว่านักร้องคนไหนร้องเพลงเพราะ ก็ตามไปฟัง ตามไปฝึกร้อง จากเพลงที่ฟังง่าย ๆ ใช้คำง่าย ๆ เช่นเพลง เพลง สายฝน, ดอกไม้ที่ให้เธอ ของจายหาญแลงก่อน จนเริ่มฟังภาษาไตรู้เรื่องมากขึ้น จนไปเจอเพลงหนึ่งที่ฟังแล้วชอบมาก ก็คือเพลง “ข้อถามถึงน้ำคง” กับ “ไตตึกตองอยู่” นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ฟังเพลงของวงเจิงแลวอย่างตั้งอกตั้งใจ เมื่อฟังไปหลาย ๆ เพลง ผมก็ตามไปฟังเพลงอื่น ๆ ของวงเจิงแล้วด้วย จนเริ่มศึกษาลึกลงไปถึงรายละเอียดประวัติของวง

“วงเจิงแลว” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1983 (พ.ศ. 2526) ณ ฐานบัญชาการกองกำลังกู้ชาติไต นำโดยเจ้ากอนเจิง (นายพลโมเฮง)ในขณะนั้น บริเวณชายแดนไทยพม่า ต้องขอเท้าความไปก่อนหน้านั้นสักประมาณ 6-7 ปี ในรัฐฉานมีเหตุการณ์ที่นักร้องนักแต่งเพลงของไต ถูกทหารพม่า (ยุคเผด็จการนายพลเนวิน) จับขังคุก เนื่องจากร้องเพลง “ลิ่กโฮ่มหมายปางโหลง” ซึ่งมีเนื้อหาทวงถามถึงสัญญาปางโหลงที่รัฐฉาน คะฉิ่น ชินและพม่าร่วมลงนามกันเมื่อปี 1947 เพลงนี้โด่งดังอย่างมากในรัฐฉานและชายแดนไทยพม่า รัฐบาลเผด็จการซึ่งมักจะอ่อนไหวไปกับทุกเรื่อง ทำให้นับแต่นั้นมาบทเพลงการเมืองและสื่อการเมืองทุกชนิดถูกห้ามนำมาเผลแพร่ในรัฐฉาน หากใครจับได้ก็จะถือว่าเป็นผู้สนับสนุนกองกำลังกลุ่มต่าง ๆ และถูกลงโทษอย่างหนัก (ไม่รู้ว่าสมัยก่อนหากไปยืนกินแซนด์วิซ, อ่านหนังสือ, จะโดนจับหรือเปล่า)

ต่อมาช่วงประมาณปี ค.ศ. 1982 – 1983 ในรัฐฉานมีนักร้องนักแต่งเพลงคนหนึ่ง เดิมทีเขาแต่งเพลงรักทั่วไป และออกอัลบั้มวางขายในรัฐฉาน พอมีชื่อเสียงบ้าง ช่วงนั้นในรัฐฉานมีการสู้รบและประชาชนเดือดร้อนหลายพื้นที่ พ่อหนุ่มนักร้องคนนี้เกิดแรงบันดาลใจ อยากแต่งเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองขึ้นมาบ้าง แต่ผลสุดท้ายเขาก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นสิ่งต้องห้าม ด้วยความอัดอั้นตันใจเขาจึงออกเดินทางมาเป็นครูอาสาสมัครที่ฐานบัญชาการกองกำลังกู้ชาติไต ชักชวนนายทหารหนุ่มผู้รักในเสียงดนตรี ร่วมกันตั้งวงดนตรีขึ้นมาให้ชื่อว่า “เจิงแลว” หรือ Freedom Way ชายคนนั้นชื่อว่า จายมู  

สมาชิกในวงในช่วงแรก นอกจากจายมูแล้ว ประกอบไปด้วย จายเสือ จายแสงชื้น (ซะฆะฮะ) จายสันหลอย จายเล็ก และ จายต่าอู พวกเขาเริ่มเส้นทางอิสรภาพ ด้วยการออกเทปชุดแรกที่ชื่อว่า “วันไตเต๋รอดแลว” แปลว่าวันที่ไตจะได้เอกราช ออกมาปี ค.ศ. 1984 โดยเนื้อหาของเพลงวงเจิงแลวนั้น เป็นเพลงปลุกใจ และวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหารอย่างหนัก เช่น เพลง “วันไตเต๋รอดแลว”  กล่าวถึงวันที่คนไตลุกขึ้นมาจับปืนรบร่วมกันเพื่อเรียกร้องเอกราช เพลง เสียงก้องต้อนต่าเสียงก๋อง แปลว่า เสียงปืนดังก็เพื่อให้เสียงกลองได้ดังขึ้น กล่าวถึงเหตุผลของการจับปืนรบว่าทำเพื่อให้เสียงกลองแห่งความสุขดังขึ้น นอกจากนี้ยังมีบทเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวความทุกข์ยากของชาวไทใหญ่ในประเทศพม่า เช่น เพลงเกี่ยวกับสภาพชีวิตชาวไทใหญ่ที่ต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบกระสุนหรือหาบเสบียงให้ทหารพม่า เป็นต้น (มีคนรวบรวมอัลบั้มชุดนี้ไว้ในยูทูปแล้วที่ https://www.youtube.com/watch?v=nGw... ) หลังจากเทปชุดนี้วางจำหน่าย ปรากฏว่ามีคนมาสมัครเป็นทหารมากมาย โดยบอกว่าได้รับแรงบันดาลใจจากฟังเพลงของวงเจิงแลว

หลังจากนั้นวงเจิงแลว ก็เดินบนเส้นทางแห่งการใช้เสียงเพลงต่อสู้เพื่ออิสรภาพมาอีกหลายชุด แต่ละชุดก็สะท้อนปัญหาสังคมที่เป็นอยู่ในสมัยนั้น เสียดสีสังคม วิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหารพม่า  เช่น  อัลบั้มชุด “เนวินโจรแค๊บจ๊อย” (แปลว่า เนวินโจรปล้นแบงค์ร้อย) พูดถึงนโยบายเลิกใช้แบงค์ร้อยของนายพลเนวินว่า สร้างผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร เช่นเดียวกับชุดที่ชื่อว่า “ข้าวสารก้าอีกแบงค์ 75” แปลว่า ข้าวสารแพงกับแบงค์ 75 ก็พูดถึงนโยบายยกเลิกแบงค์ 75 จั๊ต ที่รัฐบาลของนายพลเนวิน ประกาศตามมาหลังจากยกเลิกธนบัตร 50 และ 100 จั๊ด ทำให้ข้าวสารแพงและประชาชนอดอยากขึ้นไปอีก และพูดถึงถึงสภาพชีวิตของชาวบ้านในรัฐฉานว่าชาวบ้านจะไม่ได้กินข้าวดี ๆ ที่ตนเองปลูก เพราะถูกรัฐบาลทหารพม่าบังคับขายให้คนภายนอกจนหมด และบังคับให้ชาวบ้านซื้อข้าวคุณภาพไม่ดีแทน  

แน่นอนว่า “วงเจิงแลว” และเพลงของวง กลายเป็นสิ่งต้องห้ามในพม่าทันที โดยเฉพาะในรัฐฉาน ผู้ใดครอบครองหรือมีไว้ฟัง มีโทษสถานหนัก ฐานให้การสนับสนุนศัตรูของรัฐ แต่เสียงเพลงของวงเจิงแลวก็ยังทะลุกำแพง ผ่านภูเขา แม่น้ำ ไปกระทบโสตประสาทของประชาชนได้ อยู่ดี นั่นทำให้วงเจิงแลวกลายเป็นวงดนตรีที่โด่งดังและมีชื่อเสียงอย่างมากในรัฐฉาน แม้จะไม่เคยไปเล่นคอนเสิร์ตในรัฐฉานเลยสักครั้ง 

เพลงของเจิงแลวจำนวนหนึ่งเป็นผลงานการแต่งของนายแพทย์จายคำเหล็ก (คนเดียวกับที่แต่งเพลง “ลิ่กโฮ่มหมายปางโหลง” จนโดนจับ) เช่นเพลง “ไตตึกตองอยู่” ซึ่งกลายมาเป็นเพลงยอดฮิตตลอดกาลของวงเจิงแลวมาจนถึงทุกวันนี้ เพลงอื่น ๆ ก็มาจากสมาชิกในวงแต่งกันขึ้นมา

ต่อมาไม่นานเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในกองกำลังกู้ชาติไต เมื่อเจ้ากอนเจิงผู้นำเสียชีวิต ทำให้ขุนส่า ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพเมิงไต หรือ MTA (MTA มาจากกองทัพ SURA ของเจ้ากอนเจิง ที่รวมกลุ่มกับกองทัพ SUA ของขุนส่า เมื่อปี 1985 ) ขุนส่าไม่สนับสนุนงบประมาณให้ทำต่อ ด้วยเหตุผลว่าเนื้อหาของเพลงรุนแรงเกินไป ทางวงเจิงแลวจึงหยุดออกเทประยะหนึ่ง สมาชิกวงเจิงแลวต่างแยกย้ายกันไป บางคนไปเป็นครูฝึกทหาร บางคนไปเป็นครู บางคนทำงานผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ มีเพียงจายมูที่ยังคงแต่งเพลงและออกอัลบั้มเดี่ยวอีก 5 ชุด ด้วยเงินทุนส่วนตัวและจากเพื่อนฝูงช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจวบจนเขาเสียชีวิต โดยระหว่างนั้นเขาเป็นครูใหญ่ให้โรงเรียนของกองทัพไปด้วย เนื้อเพลงไม่ได้เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งเพลงรัก เพลงสำหรับเด็ก และเพลงการเมืองปะปนกัน

หลังจากขุนส่าวางอาวุธในปี 1996 กองทัพเมิงไตถึงคราวล่มสลาย ในช่วงนั้นสมาชิกวงเจิงแลวต่างคนต่างแยกย้ายกันไป และแม้จะมีอัลบั้มออกมาอีกหลายชุด แต่ก็ไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เพราะความยุ่งยากหลายอย่าง โอกาสที่วงจะได้เล่นคอนเสิร์ตก็แทบจะไม่มี ทำให้ชื่อของวงเจิงแลวเริ่มเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์นานนับสิบปี คงเหลือไว้แต่บทเพลงต่าง ๆ ที่คนรุ่นหลังนำมาร้องต่อ  

ต่อมาเมื่อปี 2545 มีข่าวว่าวงเจิงแลวจะมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเล่นคอนเสิร์ตในวันชาติไต ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ สถานที่และงานเตรียมพร้อมแล้ว แต่ยังไม่ทันได้เริ่มงานรัฐบาลไทยในขณะนั้นส่งตัวแทนมาเจรจาให้ยกเลิกการแสดงคอนเสิร์ต โดยอ้างว่า นายกรัฐมนตรีของไทยกำลังจะไปเยือนพม่า การเปิดแสดงคอมเสิร์ตของวงเจิงแลวในประเทศไทยอาจทำให้รัฐบาลพม่าไม่พอใจรัฐบาลไทยได้ เป็นอันว่าวงเจิงแลว ก็ยังไม่ได้รวมตัวกัน

จนเมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่มหาวิทยาลัยพายัพ วงเจิงแลวได้มารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อจัดงาน ครบรอบ 60 ปี นายแพทย์ จายคำเหล็ก นักแต่งเพลงชื่อดังของคนไต เจิงแลวจึงถือโอกาสจัดงานครบรอบ 25 ปี ของวงควบคู่กันไปด้วย สมาชิกรุ่นบุกเบิกหลายคน เช่น จายเสือ จายเล็ก จายแสงชื้น และจายต่าอู ต่างมาพร้อมกัน นอกจากนั้นสิ่งที่เห็นได้จากงานครั้งนี้คือ มีนักดนตรีรุ่นใหม่ขึ้นมาเล่นแทนนักดนตรีรุ่นเก่า  ส่วนมากเป็นเยาวชนไตที่อพยพเข้ามาทำงานในเชียงใหม่ จายต่าอู หนึ่งในสมาชิกรุ่นบุกเบิกของวงมีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นวงเจิงแลวขึ้นมาใหม่ จึงได้รวบรวมกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ มาฝึกเล่นดนตรีแทนคนรุ่นเก่า นอกจากนั้นจายต่าอู ยังเป็นผู้ก่อตั้ง กลุ่มเยาวชนไตในเชียงใหม่ขึ้นมา (ก็คือกลุ่มที่ผมเก็บข้อมูลอยู่) เพื่อรวบรวมคนหนุ่มสาวแรงงานไต ชักชวนให้มาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในวันประชุมกลุ่มครั้งหนึ่งผมมีโอกาสได้เจอกับจายต่าอู (ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าเขาคือสมาชิกวงเจิงแลว) ผมสัมภาษณ์พี่ต่าอูว่า ทำไมถึงตั้งกลุ่มคนหนุ่มไตขึ้นมา พี่ต่าอูอธิบายให้ฟังว่า “จุดประสงค์ก็เพื่อช่วยให้เยาวชนไตในเชียงใหม่ได้พัฒนาตัวเอง ไม่ก่อเรื่องวุ่นวาย ห่างไกลยาเสพติด เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือคนไตด้วยกันที่อพยพมาอยู่ในเชียงใหม่”

แม้จะเริ่มรื้อฟื้นวงขึ้นมาใหม่ แต่ในช่วงแรกพี่ต่าอู ก็ระวังตัวมากโดยไม่ใช้ชื่อ วงเจิงแลว ในการเล่นหรือร้องเพลงเลย กิจกรรมอย่างเช่น การจัดคอนเสิร์ต “พี่น้องไทยใหญ่รวมใจช่วยภัยน้ำท่วม” ในปี พ.ศ. 2553 และ 2554 ที่วัดป่าเป้า แม้นักดนตรีหลักจะเป็นวงเจิงแลว แต่พี่ต่าอู ก็เลี่ยงมาใช้เป็นวงดนตรีของคนหนุ่มไต เพราะชื่อของ “เจิงแลว” อาจจะซ้ำกับกรณีเมื่อปี 2545 ก็เป็นได้

หลังจากที่ผมเข้าไปเป็นสมาชิกกลุ่มคนหนุ่มไตได้ไม่นาน (ปี 2557) ทางวงเจิงแล้วก็ได้จัดงานครบรอบ 30 ปี ที่กลุ่มของพวกผมมีโอกาสเข้าร่วม และเป็นที่มาของภาพที่เด้งมาใน Facebook ของผม เป็นงานใหญ่ที่มีแขกผู้มีเกียรติทั้งจากไทยและรัฐฉานมาร่วมเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้ วงเจิงแลว สามารถจัดงานครบรอบ 30 ปีของตนเองได้ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในพม่าเริ่มผ่อนคลายลง มีการลงนามในสัญญาหยุดยิงระหว่างกองกำลังกู้ชาติไต กับ รัฐบาลพม่า องค์กรทางการทหารและการเมืองของเจ้ายอดศึกได้รับการรับรองให้เป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมาย การผ่อนคลายทางการเมืองในพม่ายังทำให้ภาคประชาสังคมของพม่าสามารถออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องและทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะหรือตามท้องถนนได้อย่างอิสระมากขึ้น ทำให้แม้แต่วงเจิงแลวที่ถูกห้ามเล่นคอนเสิร์ตในรัฐฉานเป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี ก็สามารถกลับเข้าไปร้องเพลงในรัฐฉานได้

ปัจจุบัน วงเจิงแลว ที่เป็นส่วนผสมของคนรุ่นใหม่ กับ คนรุ่นเก่า อย่างพี่ต่าอู ได้ออกทัวร์คอนเสิร์ตทั่วรัฐฉาน สำหรับผมมองว่า นี่เป็นการเกิดใหม่ของวงเจิงแลว ในทศวรรษนี้ อันที่จริงต้องขอบคุณสื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ตและ สื่อสังคมออนไลน์ ต่าง ๆ ด้วยที่ทำให้เพลงเก่า ๆ ของวงเจิงแลวกลับมาโลดแล่น และเป็นที่รู้จักของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อีกครั้ง ล่าสุดในปีนี้ วงเจิงแลว ก็ออกอัลบั้มใหม่ ชื่อว่า “ก๋านพ้อมโฮ่ม ดอยไตแลง” มีเพลงดังตามชื่ออัลบั้มคือ เพลง “ก๋านพ้อมโฮ่ม” (ความสามัคคี) และเพลง “ดอยไตแลง” ที่แต่งขึ้นมาเพื่อเป็นที่ระลึกครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้งดอยไตแลงขึ้นมา คนแต่งเพลงหลักของวง ยังเป็นพี่ต่าอู  ฉะนั้น แนวเพลงก็ยังเป็นสไตล์ปลุกใจที่คุ้นเคย แต่อัลบั้มใหม่นี้เน้นสื่อสารกับคนไตด้วยกันมากกว่า ไม่ได้เน้นการวิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีรัฐบาลพม่าโดยตรง เหมือนเมื่อก่อน น่าติดตามต่อว่าก้าวต่อไปของเส้นทางสู่อิสรภาพของวงเจิงแลวจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม การกลับมาอีกครั้งของวงดนตรีเจิงแลว เป็นเครื่องชี้วัดถึงบรรยากาศทางการเมืองในพม่าที่ดีขึ้น ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในพม่าเริ่มขยับแข้งขยับขาได้ หลังจากที่ถูกห้าม ถูกกีดกันมานานหลายทศวรรษ แน่นอนภายใต้สถานการณ์การเมืองของพม่าในปัจจุบันอย่างที่เราเห็น คงไม่มีใครกล้ายืนยันได้ว่าประชาชนในพม่ามีสิทธิเสรีภาพ 100% หรือไม่มีความขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้นในพม่าเลย อย่างที่รู้ ๆ กัน เหล่านายพล นายทหารนั้นยังมีบทบาทในทางการเมือง คุมเกมอยู่เบื้องหลัง ทำให้รัฐบาลของนางอองซาน ซูจี ทำงานได้ไม่เต็มที่โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และความขัดแย้งระหว่างศาสนา ซึ่งหากแก้ปัญหาไม่ถูกใจชาวพม่าสายหลักที่เป็นฐานเสียงของตนเอง ก็จะลำบาก ดังนั้นแม้บ่อยครั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะมีทหารเป็นคู่กรณี รัฐบาลของนางอองซาน ซูจีก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ทำให้บางครั้งนางอองซาน ซูจีเองก็เกิดอาการน้ำท่วมปาก หรือพูดอะไรดูไม่เข้ากับรางวัลโนเบลด้านสันติภาพเอาซะเลย  แต่การเปิดให้ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในพม่าได้เติบโต ก็ถือเป็นสิ่งดี ๆ ที่รัฐบาลของนางอองซาน ซูจีนำมาและควรได้รับคำชื่นชมเช่นเดียวกัน 

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของพม่า ต้องถือว่าทหารพม่าในยุคนี้รู้จักปรับตัวและกลมกลืนกับประชาชน พูดง่าย ๆ คือเล่นการเมืองเป็นมากกว่า ครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้วชาวบ้านในรัฐฉานออกมาประท้วงเรื่องที่มีคนเห็นว่าทหารพม่าฆ่าประชาชนในหมู่บ้านตาย แทนที่กองทัพจะออกมาปกป้องลูกน้องตัวเอง แต่กองทัพกลับออกมาขอโทษประชาชนและนำตัวทหารที่กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สื่อต่าง ๆ นำเสนอว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ทหารพม่าออกมายอมรับการกระทำผิดและขอโทษประชาชน นับตั้งแต่ทหารปกครองประเทศมา

ในขณะที่บางประเทศที่มักอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่าพม่า อย่าว่าแต่การออกมายอมรับผิดเลย ถึงทำผิดก็ปกป้องกันอย่างน่าเกลียด ใครด่าใครว่าไม่ได้ ห้ามโน่นห้ามนี่เต็มไปหมด ลองเปรียบเทียบการออกมาร้องเพลงการเมืองโต้ง ๆ วงเจิงแลวในรัฐฉานตอนนี้ กับ การห้ามจัดงาน “วิชาการ” ในมหาวิทยาลัยของบางประเทศดูสิ แค่คิดก็เศร้าแล้ว  ในบางประเทศการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน/ภาคประชาสังคมที่พยายามออกมาต่อสู้กับนายทุนที่จะเข้ามาถลุงทรัพยากรของพวกเขา กลับถูกสกัดกั้น กีดกัน แปะป้ายทำให้เป็นการเมือง ข่มขู่ให้กลัว จนถึงขั้นดักทำร้าย ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมเป็นง่อย แต่เมื่อลองกลับไปดูในพม่า ภาคประชาสังคมกลับกำลังเบ่งบาน แม้แต่ภาคประชาสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลมานานก็ยังสามารถออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ของตนเองได้ (แม้จะติดขัดบ้างในบางกรณี) นี่เองทำให้เหล่านายทุนที่หวังจะเข้าไปถลุงทรัพยากรในพม่าต้องร้องจ๊าก เพราะไม่มีทหารคอยเคลียร์ฝูงชนให้

พูดเรื่องวงดนตรี อยู่ดี ๆ ก็พาลมาเรื่องพวกนี้จนได้ ถือว่าบทความนี้จบไปแล้ว ก่อนสองย่อหน้าหลังก็แล้วกันนะครับ

หมายเหตุ: เนื้อหาที่เกี่ยวกับวงเจิงแลวบางส่วน เรียบเรียงมาจากวิทยานิพนธ์ของคุณ วันดี สันติวุฒิเมธี (2547) เรื่อง “กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทใหญ่ชายแดนไทย-พม่า กรณีศึกษาหมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่” หน้า 152-161 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: