"ถ้าเป็นอาตมา มันคงถูกตบคว่ำไปแล้ว"
คำพูดนี้ ออกจากปากของพระป่าผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พุทธศาสนาที่เกาหลีใต้ ในขณะที่เห็นเด็กนักเรียนชาวเกาหลีกำลังแสดงอารมณ์ที่เกรี้ยวกราดเถียงพระไทยอีกรูป เรื่องที่จะเล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงขันติธรรมและและการเคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นโดยโยงถึงวิธีการสอนเด็กในโรงเรียนของทั้งสองประเทศ
ยองจู เด็กชายวัย 8 ขวบลูกครึ่งไทย-เกาหลีใต้ ถามแม่ที่พามาวัดว่า
“แม่บอกให้ผมต้องฝึกช่วยเหลือตัวเอง ผมต้องล้างจาน แล้วทำไมพระไม่รู้จักช่วยเหลือตัวเองบ้าง แม้แต่จานก็ต้องให้คนอื่นล้างให้”
ประโยคนี้ทำให้ทุกคนช๊อค พระจีรศักดิ์พยายามอธิบายความแตกต่างเรื่องสถานภาพของนักบวชและฆราวาสเป็นต้น แต่ก็ไม่อาจทำให้ยองจูคล้อยตามและยอมรับเหตุผลได้ ยองจูยังคงโต้เถียงด้วยอารมณ์โกรธและเสียงที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อทุกคนกลับบ้าน พระรูปหนึ่งพูดว่า
“ถ้าเป็นผม มันคงถูกตบคว่ำไปแล้ว”
เพื่อสื่อว่าการพยายามอธิบายเหตุผลกับเด็กเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ แต่ควรใช้กำลังเข้าจัดการเพื่อสั่งสอนให้รู้จักเคารพผู้อื่นและรู้มารยาทที่ดีงามของชาวพุทธ
เกาหลีใต้ เน้นการตระหนักรู้ในสิทธิของตนอย่างมาก เช่น เด็กระดับอนุบาล ประถมและมหาวิทยาลัยจะมีอิสระในการแต่งกายไม่ต้องสวมชุดนักเรียน ในแต่ละเดือน โรงเรียนจะให้เด็กกรอกรายละเอียดว่า ถูกคนแปลกหน้าจับมือหรืออวัยวะส่วนอื่นๆ หรือไม่ โดยย้ำว่า ร่างกายเป็นสมบัติส่วนบุคคลที่ต้องไม่ถูกละเมิด พระจีรศักดิ์เอง เคยถ่ายคลิปวีดีโอซึ่งยองจูกำลังร้องไห้เพื่อจะส่งให้แม่ของยองจูดู แต่ก็ต้องชะงักไปเมื่อยองจูขู่ว่า
"หากท่านถ่ายรูปผมโดยที่ผมไม่อนุญาต ผมจะฟ้องตำรวจ"
ระดับประถมศึกษาจัดให้มีการเรียนวิชาจริยธรรมในคาบเรียนสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง โดยที่เด็กจะถูกเน้นเรื่อง ความปลอดภัย การเคารพในชีวิต การมีเสรีภาพ การคิดแบบพิจารณาไตร่ตรอง การรักในการฝึกฝนตนเอง การมีขันติธรรมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ความเมตตา การรักโรงเรียนและแผ่นดินเกิด การให้ความร่วมมือในการพัฒนาชาติ การดำรงชีพภายใต้กฎหมาย ความดีสากล และความยุติธรรม เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า การศึกษาของเกาหลีใต้สอนให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตัวเอง ฝึกตั้งคำถาม แสดงเหตุผลและกล้าแสดงออกในสิ่งที่ตนคิด การโต้เถียงกับผู้ใหญ่จึงเป็นเรื่องปกติ ขณะที่สังคมไทยยังอยู่ภายใต้การครอบงำด้วยวัฒนธรรมอาวุโส จึงสามารถใช้ไม้เรียวในการเลี้ยงดูและข่มให้กลัวด้วยสถานะที่สูงกว่าโดยไม่ต้องอธิบายเหตุผล
จริยธรรมหรือความถูกต้องดีงามของเกาหลีใต้ จึงวางอยู่บนการเคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ทุกคนมีสิทธิที่จะโต้เถียงกันด้วยเหตุผล หากแต่ไม่สามารถทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้ การกระทำที่ผิดหรือขัดกับจริยธรรม จึงมิใช่ลัทธิความเชื่อทางศาสนา แต่เป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งศาลจะเป็นผู้ตัดสินคดีความเอง
หากสังคมไทยตระหนักถึงการต้องปฏิรูปการศึกษา โมเดลการสอนจริยธรรมที่วางอยู่บนสิทธิเสรีภาพของเกาหลีใต้อาจเป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง การสอนให้เด็กตื่นรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพจะทำให้เขาไม่ถูกเอาเปรียบหรือกดขี่และช่วยลดความรุนแรงอันเกิดจากการต้องปะทะกับวัฒนธรรมความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายได้
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: maxlkt (CC0 Public Domain)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ