เพศวิถี (ที่รอการ) ศึกษาในพุทธศาสนา: ประกายความคิดเรื่องเพศวิถีในพุทธศาสนา กับตัวอย่างพระอรหันต์เพศวิถี

สมคิด แสงจันทร์: 28 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 24215 ครั้ง


ข้อเขียนขนาดยาวมากชิ้นนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาจะเขียนมานานหลายเดือน แต่ยังไม่ได้ลงมือเขียนเสียที จนช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีข่าวเล็ก ๆ ข่าวหนึ่งในห้วงสาครข่าวของไทย คือการที่มหาเถระสมาคมออกหนังสือเวียนข้อบังคับไปยังวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เรื่องข้อห้ามปฏิบัติต่าง ๆ มีข้อหนึ่งที่ตรงกับสิ่งที่กำลังจะเขียนก็คือ การไม่ให้พระภิกษุแสดงพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดของตน (1) และตลอดทั้งเดือนได้มีจดหนังสือเวียนนี้ไปทั่วประเทศ (2) ประกอบกับช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศของเวทีสนทนาเรื่องความหลากหลายทางเพศ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าอย่ากระนั้นเลยข้อเขียนนี้ควรเร่งรีบ รีดไถ ออกมาได้แล้ว

เพศ (sex) และเพศสภาพ (gender) ก่อนกำเนิดพุทธศาสนา

คติเรื่อง ‘เพศ’ (sex) ขั้นพื้นฐานในพุทธศาสนานั้น ได้รับอิทธิพลจากจักรวาลวิทยาของพราหมณ์ อย่างน้อยก็เรื่องคำอธิบายที่มาที่ไปและของเพศที่ยังมีลักษณะของการจัดลำดับต่ำสูง และพระพุทธเจ้าจะปรับคำอธิบายการจัดอันดับต่ำสูงนี้ให้ยึดโยงกับ concept เรื่อง “กรรม” ในพุทธศาสนา เพื่ออธิบายผลการเกิดเป็นเพศของมนุษย์โลก ซึ่งเป็นผลจากอดีตกรรม กระนั้นก็ตามการตีความศักยภาพในการเข้าถึงสัจธรรมในพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้ากลับแตกต่างออกไปจากลัทธิความเชื่ออื่น ๆ ที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น

ตามไวยากรณ์ภาษาสันสกฤตและภาษาบาลี (รวมถึงภาษาในตระกูลอินโด-ยูโรเปียน) สรรพสิ่งล้วนถูกจำแนกเพศไว้อย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่มนุษย์มนุษย์เท่านั้นที่มีเพศ กิริยา อาการ ความคิด ความรู้สึก วัตถุสิ่งของ ล้วนมีเพศ (sex) เป็นของตนเอง ‘ชื่อ’ หรือ ‘นาม’ จึงบ่งบอกเพศ (sex) ของสิ่งนั้น ๆ

เพศในทางภาษามี 3 เพศ คือ เพศชาย (ปุงลิงค์) เพศหญิง (อิตถีลิงค์) และมิใช่เพศชายมิใช่เพศหญิง (นปุงสกลิงค์) ลักษณะการจัดเพศมีอยู่สองลักษณะคือจำแนกตามกำเนิด และจำแนกโดยสมมติ เพศตามกำเนิดนั้นมีเพียง 2 เพศ คือเพศชาย กับ เพศหญิง มีลักษณะไวยากรณ์ภาษาเข้ามาช่วยในการระบุถึงเพศด้วย เช่น ‘ทารก’ หมายถึงเด็กชาย ‘ทาริกา’ หมายถึงเด็กหญิง ‘ภิกษุ’ หมายถึงนักบวชชาย ‘ภิกษุณี’ หมายถึงนักบวชหญิง ขณะที่เพศโดยสมมตินั้นมีสามเพศ คือ เพศหญิง เพศชาย และสิ่งที่ไม่ใช่ทั้งเพศชายและเพศหญิงจัดอยู่ในกลุ่มนปุงสก (อ่านว่า นะ-ปุง-สะ-กะ) เช่น บรรพต (ภูเขา) ถูกสมมติให้เป็นเพศชาย นที (แม่น้ำ) ถูกสมมติให้เป็นเพศหญิง ปัณณะ (หนังสือ) เป็นนปุงสก (และส่วนมากนปุงสกลิงค์จะหมายถึงวัตถุสิ่งของมากกว่า)

ดังนั้นหากพูดถึงการรับรู้เรื่องเพศของสังคมในสมัยพุทธกาล (แน่นอนว่ารวมถึงพระพุทธเจ้าด้วย) เพศจึงมีเพียง 2 เพศ คือ ชายกับหญิง เท่านั้น การจัดเพศเช่นนี้ถือเอาลักษณะทางกายภาพ ความแตกต่างของร่างกายเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่าคำว่า ลิงคะ หรือ ลิงค์ (Sex) มีความหมายที่บ่งชี้ถึงอวัยวะทางเพศ หรือ เครื่องเพศที่แตกต่างกันของมนุษย์ เป็นลักษณะทางชีววิทยาของบุคคล

การจัดแบ่งเพศยังเป็นจัดโดยการเลียนแบบของคู่ที่มีอยู่ในธรรมชาติที่มนุษย์สังเกตเห็น เช่น มีมืดก็ต้องสว่าง มีร้อนก็ต้องมีหนาว มีขาวก็ต้องมีดำ มีผู้หญิงก็ต้องมีผู้ชาย การจัดของคู่เช่นนี้ก็นำมาสู่การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจของสองสิ่ง เช่น เชื่อว่าความสว่างดีกว่าความมืด ความเย็นดีกว่าความร้อน พระอาทิตย์ดีกว่าพระจันทร์ ขาวดีกว่าดำ และชายดีกว่าหญิง ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการสัมพันธ์กับธรรมชาติ การรับรู้ความอ่อน-ความแข็ง ความใหญ่-ความเล็ก ความมาก-ความน้อย เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสอนให้เราเห็นและรับรู้อยู่ตลอดเวลาอย่างเป็นรูปธรรม

จากสัณฐานและคุณลักษณะที่แตกต่างกันทางทางกายภาพของมนุษย์ จึงมาสู่การจัดวางเพศ (sex) ให้สัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรม กล่าวคือการสร้าง ‘ความเป็นเพศทางสังคม’ ขึ้นมา ซึ่งเป็นเพศสภาพ (gender) ในที่สุดเพศตามกำเนิด (sex) กับความเป็นเพศตามสังคม (gender) จึงถูกหลอมรวมกัน ต่างให้ความหมายและคุณค่าซึ่งกันและกัน หน้าที่ทางสังคม คุณค่าทางสังคม หลาย ๆ อย่างถูกผูกไว้กับเพศตามกำเนิด (sex) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลก็คือหากผู้ใดเกิดมามีเครื่องเพศไม่สมบูรณ์หรือผิดปกติ ก็ทำให้ความเป็นเพศของผู้นั้นไม่สมบูรณ์ การที่เพศไม่สมบูรณ์ย่อมมีผลต่อความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์เช่นกัน เช่น คนที่เกิดมามีอวัยวะเพศพร้อมกัน 2 อย่าง (อุภโตพยัญชนก) จะไม่ถูกนับว่าเป็นเพศใดเพศหนึ่ง นั่นทำให้ความเป็นเพศทางสังคม (gender) ของพวกเขาไม่ปรากฏชัด และกลายเป็นส่วนเกินของสังคมที่กำหนดบทบาทหน้าที่ตามเพศและเพศสภาพ   

‘สมณะเพศ’ gender ใหม่ในสังคม 

นักบวชหรือสมณะ (ที่นอกเหนือจากพราหมณ์-ซึ่งเป็นวรรณะหนึ่งในระบบวรรณะ) เป็นกลุ่มคนแรก ๆ ในสังคมสมัยพุทธกาลที่ท้าทายต่ออำนาจของเพศภาพ (gender) ด้วยการก้าวข้ามบทบาทหน้าที่ทางสังคมที่กำกับเพศ (sex) ของตน เพศสภาพจึงเป็นข้อจำกัดสำคัญอย่างหนึ่งในสังคมที่คอยกำกับชีวิตของมนุษย์ไม่ต่างจากระบบวรรณะที่ดำรงอยู่ และอำนาจของเพศสภาพก็เป็นสิ่งที่ครอบงำและสร้างความทุกข์ให้กับมนุษย์ได้เช่นกัน

กลุ่มนักบวช จึงมีการบัญญัติเพศสภาพของตนเองขึ้นมาใหม่ว่าเป็น ‘สมณะเพศ’ สมณะเพศเกิดจากการรื้อสร้างรหัสทางสังคมของเพศสภาพเดิมที่มักผูกยึดตรึงผู้คนไว้กับ ‘บ้าน’ และการงานอันเกี่ยวเนื่องด้วยบ้าน พวกสมณะจึงเรียกเพศภาพเช่นนี้ว่า “เพศคฤหัสถ์” (คิหิภาโว) เพศที่ยังยึดติดอยู่กับการครองเรือน และนิยามเพศของตนว่า “สมณะ” (สมณภาโว)ที่เดิมทีแปลว่า ‘คนหัวโล้น’ และไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม สมณะทั้งหลายนิยามการออกจากสังคมเดิม ๆ ของตนว่าเป็นการ “บรรพชา” ที่แปลว่าการหลีกเว้น หมายถึงหลีกเว้นจากเพศสภาพของการเป็นคฤหัสถ์ และสร้างบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ของตนเองขึ้นมากำกับเพศสภาพใหม่ของตน พวกนักบวชจึงสามารถสร้าง gender ใหม่ของตนเองขึ้นมาได้ โดยอาศัยศักยภาพและความเป็นไปได้ต่าง ๆ ของตนเอง ด้วยการรื้อรหัสเดิมและสร้างรหัสทางสังคมใหม่ให้กับตนเอง ดังนั้นการถือสมณะเพศอันได้ชื่อว่าบรรพชาจึงหมายถึงกรออกจากเพศคฤหัสถ์ 

น่าสังเกตว่าการบัญญัติเพศสมณะขึ้นมานั้นใช้คำว่า “ภาโว” (คนไทยแปลว่า สภาวะ, ภาวะ, ความเป็น-) ในการอธิบายคุณลักษณะทางสังคมของตนเอง แทนที่การใช้คำว่า “ลิงคะ” ซึ่งสื่อถึงเรื่องเพศโดยตรง นั่นหมายความว่าการสร้างเพศขึ้นมาใหม่ของพวกเขานั้นไม่ได้มีมิติของการโต้แย้งกับเพศตามกำเนิด (sex) แต่โต้แย้งกับบทบาทของเพศทางสังคม (gender) มากกว่า นั่นทำให้แม้จะเป็นการสร้าง gender ใหม่ขึ้นมา แต่ก็ยังไปไม่พ้นอำนาจของการจัดลำดับสูงต่ำทางเพศกำเนิด เพราะนักบวชส่วนมากเป็นเพศชาย และมักสร้างข้อจำกัดขึ้นมามากมาย เพื่อกีดกันการเข้าถึงเพศสภาพใหม่นี้ สมณะเพศจึงเป็นเพศสภาพใหม่ที่ยังผลิตซ้ำความด้อยกว่าทางสังคมของเพศหญิง คือการไม่อนุญาตให้พวกผู้หญิงเข้าถึงเพศภาพใหม่ในสังคมนี้ได้ ในสมัยพุทธกาลก่อนการเกิดขึ้นของพุทธศาสนาจึงไม่เคยมีศาสนาใดอนุญาตให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นนักบวชมาก่อน

พุทธศาสนาที่ก้าวข้ามเรื่องเพศและเพศสภาพ

ระบบสงฆ์ที่ ‘สมณะโคดม’ หรือที่สาวกเรียกท่านว่า ‘พุทธะ’ สร้างขึ้นมานั้น ในช่วงแรกยังไม่แตกต่างจากนักบวชหรือสมณะที่มีอยู่ก่อนแล้วในสังคมสมัยนั้น คือ เป็นพื้นที่ของเพศชายเท่านั้น จนกระทั่งการอนุญาตให้ผู้หญิงบวชได้ ชาวพุทธจำนวนมากเชื่อว่าเป็นสิ่งที่พระพุทธคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว จนบทบาทของพระอานนท์ในการโต้แย้งเหตุผลกับพุทธะดูอ่อนลงไป ซึ่งในมุมมองของข้าพเจ้ามองว่า เรื่องนี้พระอานนท์มีส่วนอย่างมากในการขยายขอบเขตการตีความเรื่องเพศของพุทธะ ที่พุทธะยอมจำนนต่อเหตุผลของพระอานนท์ที่ว่า “เพศหญิงสามารถบรรลุธรรมได้หรือไม่” เมื่อพุทธะตอบว่าได้ นั่นทำให้วิธีคิดเรื่องเพศในพุทธศาสนาเปลี่ยนแปลงไป เพศหญิงสามารถเข้าถึงความศักดิ์สิทธิ์ทางสังคมที่ผู้ชายครอบครองมานาน  และนับเป็นการก้ามข้ามอำนาจเรื่องเพศชาย-เพศหญิงตามกำเนิดได้อย่างมาก แต่ไม่ทั้งหมด

ที่กล่าวว่าได้อย่างมาก แต่ไม่ทั้งหมดเพราะพุทธศาสนายังไม่สามารถก้าวข้ามอำนาจของเพศภาพ (gender) (ที่ยังแอบอิงกับเพศตามกำเนิด) ได้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะสิทธิการเข้าถึงการบวชและวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ที่แตกต่างกันระหว่างภิกษุ (เพศสภาพชาย) กับภิกษุณี (เพศสภาพหญิง) ซึ่งหากทำความเข้าใจสภาพสังคมในสมัยนั้นก็อาจพอทำความเข้าใจได้ว่าเหตุใดจึงยังมีความแตกต่างกันอยู่ ซึ่งข้อกำหนดต่าง ๆ นั้นมาจากจำกัดของเพศสภาพในทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ใช่ข้อจำกัดเรื่องเพศ เช่น การไม่อนุญาตให้ภิกษุณีไปไหนมาไหนคนเดียว ไม่ใช่เพราะการเป็นเพศหญิง แต่เกิดจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตมากกว่า

แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่พุทธะเองก็ยังไปไม่พ้นวิธีคิดเรื่องบทบาทหญิงชายในสังคม เช่น การกำหนดโทษทางวินัยแก่ภิกษุณีมากกว่าและหนักกว่าภิกษุ เช่น ปาราชิก (เหตุที่ทำให้ขาดจากการเป็นสมณะ) ของภิกษุมีเพียง 4 ขณะที่ภิกษุณีมี 8 ข้อ สังฆาทิเสส (อาบัติที่ต้องแจ้งแก่คณะสงฆ์และให้คณะสงฆ์รับทราบในการพ้นผิด) ของภิกษุมีเพียง 13 ข้อ แต่ของภิกษุณีมี 17 ข้อ และการไม่อนุญาตให้ภิกษุณีปกครองภิกษุ (ภิกษุณีที่บวชแม้ร้อยปี ก็ต้องไหว้ภิกษุที่บวชในวันนั้น) ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่พุทธศาสนาต่อสู้ด้วยยากที่สุด เพราะต้องต่อสู้กับวิธีคิดของผู้คนในสมัยนั้น ข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับภิกษุณีนั้น ไม่ได้มาจากการกำหนดไว้ล่วงหน้า แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ทางสังคม เช่น  การห้ามเปลือยกายอาบน้ำ ซึ่งไม่มีการบัญญัติไว้สำหรับภิกษุ เนื่องจากการเปลือยกายอาบน้ำของเพศสภาพหญิงนั้นยังไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการยอมรับในสังคมสมัยนั้น

ดังนั้นหากมองในแง่ของเพศตามกำเนิดหญิงชาย และเพศสภาพหญิงชายแล้ว การอนุญาตให้ผู้หญิงบวชและการอธิบายว่าผู้หญิงสามารถบรรลุธรรมได้ไม่ต่างจากเพศชาย (แม้จะยังถูกจำกัดเรื่องวัตรปฏิบัติ) พุทธศาสนาได้ก้าวข้ามอำนาจของกรอบคิดทางสังคมในสมัยนั้นได้แล้วเปราะหนึ่ง

พุทธศาสนาที่ก้าวไม่พ้นเรื่องเพศและเพศสภาพ

กรณีการห้ามบัณเฑาะก์บวช เป็นภาพสะท้อนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนาภายใต้สังคมและวัฒนธรรมในสมัยนั้นยังไม่สามารถก้าวข้ามเรื่องเพศและสภาพได้ และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การจะเปลี่ยนจากเพศคฤหัสถ์มาสู่เพศบรรพชิตนั้น เป็นเรื่องของการตีความเรื่องเพศภายใต้กรอบคิดทางสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ซึ่งบางเรื่องก็สามารถก้าวข้ามได้ บางเรื่องก็ต้องคล้อยตามสิ่งที่ดำรงอยู่ การเปลี่ยนเป็นสมณะเพศนั้นยังคงยึดตามความสมบูรณ์ของเครื่องเพศและคติการยอมรับเรื่องเพศสภาพในสมัยนั้นเป็นหลัก ที่ว่ายึดตามความสมบูรณ์ของเครื่องเพศนั้น ได้แก่ การห้ามคนที่มีเครื่องเพศสองอย่างกับคนที่ตอนเครื่องเพศทิ้งบวช สองกรณีนี้ถูกห้ามบวชโดยตรง

ส่วนสาเหตุของการห้ามบัณเฑาะก์บวชนั้น มาจากการไม่ได้รับการยอมรับทางสังคม (วินัยหลายข้อพระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นเพราะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม) คือกรณีที่มีบัณเฑาะก์คนหนึ่งเข้ามาบวช แล้วชักชวนให้พระภิกษุสามเณรมามีเพศสัมพันธ์กับตนเอง เมื่อถูกพระภิกษุสามเณรปฏิเสธและด่า เขาจึงไปชักชวนคนเลี้ยงช้างให้มามีเพศสัมพันธ์กับตนเอง คนเลี้ยงช้างนอกจากจะด่าแล้วยังเที่ยวโพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้เป็นบัณเฑาะก์ บรรดาสมณะเหล่านี้แม้ที่มิใช่บัณเฑาะก์ก็ชำเราบัณเฑาะก์เหล่านี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณะเหล่านี้จึงล้วนแต่มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์” เมื่อเรื่องถึงพระพุทธเจ้า ท่านจึงบังคับเป็นข้อวินัยขึ้นมาว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้เป็นบัณเฑาะก์ ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วพึงให้สึกเสีย” (อ่านได้ในเรื่อง ปัณฑกวัตถุ) (3)

เนื้อความในพระไตรปิฎกปรากฏเพียงเท่านี้ แต่ความเข้าใจเรื่อง “บัณเฑาะก์” นั้นถูกขยายความโดยพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายในยุคหลัง โดยเฉพาะในสายพระวินัยกับพระอภิธรรม ในสายพระวินัยนั้นได้มีการพยายามจำแนกความเป็นบัณเฑาะก์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแบ่งบัณเฑาะก์ออกเป็น 5 ประเภทคือ

  1. คนที่ดับความใคร่เร่าร้อน (เพราะกาม) ของตนโดยการใช้ปากอมองคชาตของผู้อื่นแล้วให้น้ำอสุจิราดตัวเอง ชื่อว่า อาสิตตบัณเฑาะก์
  2. คนที่เมื่อเห็นผู้อื่นประพฤติล่วงเกินทางเพศกัน เกิดความริษยาขึ้น ความเร่าร้อนจึงระงับไปชื่อว่า อุสูยบัณเฑาะก์
  3. คนที่ถูกตัดองคชาต ชื่อว่า โอปักกมิกบัณเฑาะก์
  4. คนที่เป็นบัณเฑาะก์ในเวลาข้างแรมด้วยอานุภาพอกุศลวิบาก แต่ในเวลาข้างขึ้น ความเร่าร้อนย่อมระงับไป ชื่อว่า ปักขบัณเฑาะก์
  5. คนที่เป็นบัณเฑาะก์โดยกำเนิด ชื่อว่า นปุงสกบัณเฑาะก์ (หมายถึงคนทีมีสองเพศ)

และกำหนดชัดไปเลยว่าใครควรได้บวชหรือไม่ได้บวช โดยอาสิตตบัณเฑาะก์และอุสูยบัณเฑาะก์นั้นไม่ห้ามบรรพชา ส่วนบัณเฑาะก์อีก 3 ประเภทที่เหลือห้ามบรรพชา แต่ในคัมภีร์รุ่นหลังอย่างกุรุนทีก็แย้งว่า ปักขบัณเฑาะก์นั้น ห้ามบรรพชาเฉพาะในปักษ์ที่เป็นบัณเฑาะก์ (ข้างแรม) (วิ.อ. ๓/๑๐๙/๘๑-๘๒)

สำหรับฝ่ายอภิธรรมนั้นพยายามยกเหตุผลของการห้ามคนเหล่านี้บวชโดยเชื่อมโยงกับเรื่องของ “กรรมแต่อดีต” ที่ส่งผลต่อ “ปุริสภาวรูป” (รูปที่เป็นเหตุแห่งความเป็นชาย เช่น กิริยา ท่าทาง ทรวดทรง สัณฐานของร่างกาย) และ “อิตถีภาวรูป” (รูปที่เป็นเหตุแห่งความเป็นหญิง เช่น กิริยา ท่าทาง ทรวดทรง สัณฐานของร่างกาย) (4) ซึ่งก็คือการกลับไปให้น้ำหนักกับเรื่องของเพศตามกำเนิดตามเดิม คือมองว่า เพศ (sex) นั้นมีผลต่อสภาพจิตใจ การฝึกตน และการบรรลุธรรม กรณีนี้ข้าพเจ้ามองว่าเป็นการตีความที่เกินกว่าสิ่งที่พุทธเจ้าบัญญัติวินัยข้อนี้ ที่บัญญัติเพราะต้องการป้องกันข้อครหาของสังคมมากกว่าเรื่องของการบรรลุธรรม เนื่องจากข้าพเจ้ามองว่าพุทธไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดคุณค่าของการเข้าถึงธรรมะ ด้วยเครื่องเพศ (ลิงคะ-sex) แต่พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับสมณะเพศในฐานะสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างสมดุล และความสมดุลในสังคมเป็นเรื่องของการจัดการระหว่างชุมชนและเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ เพราะวินัยหลายข้อเป็นข้อกำหนดเฉพาะสังคมหรือสถานที่ (เช่น การอนุญาตให้อาบน้ำได้บ่อยขึ้นในพื้นที่แล้ง, การอนุญาตให้ห่มผ้าครองหนาขึ้นในพื้นที่ที่หนาว, การอนุญาตให้ทำพิธีบวชได้โดยไม่ต้องครบองค์สงฆ์ในพื้นที่ที่มีภิกษุน้อย) เป็นความพยายามที่จะทำให้ระบบสังฆะนั้นยืดหยุ่นเข้ากับความแตกต่างหลากหลายของสังคม ‘วินัย’ หรือข้อบังคับต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่สิ่งสากล แต่เป็นสิ่งที่ ‘ชุมชนพุทธ’ แต่ละชุมชนจะต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับระบบสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น

เพศวิถี (Sexuality) กับการทำความเข้าใจเรื่องเพศและเพศสภาวะในพุทธศาสนาไทย

สำหรับข้าพเจ้ามองว่า ปัญหาของการก้ามข้ามไม่พ้นเรื่องเพศและเพศสภาพในสังคมสมัยพุทธกาลนั้น เนื่องจากวิธีคิดเรื่องเพศวิถี (Sexuality) ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากในสังคมสมัยนั้น เพศกับเพศสภาพเป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันได้ยาก และแนวคิดเรื่อง Sexuality ถือเป็นแนวคิดหลังสมัยใหม่ ที่ท้าทายเทคนิควิทยาการในการจัดแบ่งเพศของศาสนาที่วางอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อ และสังคมสมัยใหม่ที่อยู่บนฐานของความรู้เชิงวัตถุวิสัยที่ต้องการความถูกต้องแม่นยำ และยึดโยงอยู่บนความรู้ความจริงที่เป็นสากลและใช้ได้ในทุกสถานการณ์ แนวคิดเรื่องเพศของสมัยใหม่ได้เข้ามากำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้คนไม่ต่างจากแนวคิดเรื่องเพศในศาสนา นั่นคือการมองว่าบทบาทและหน้าที่ของผู้คนในสังคมยังคงถูกกำกับด้วยเพศและเพศสภาวะ  

และแนวคิดเหล่านี้ ซึ่งส่งผลให้ผู้คนที่อยู่นอกเหนือนิยามของความเป็นชายและความเป็นหญิงจะต้องถูกลงโทษ ถูกกีดกัน ถูกตีตรา เลือกปฏิบัติและถูกบขับออกจากสังคม

แนวคิดเรื่องเพศของโลกสมัยใหม่กับแนวคิดเรื่องเพศของศาสนาจึงเข้ากันได้อย่างไม่น่าเชื่อ และยิ่งทำให้ข้อจำกัดบางอย่างในศาสนาเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น  ในกรณีของไทยพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณทรงอธิบายไว้ในหนังสือเรียนนักธรรมตรี - วินัยมุข เล่ม ๑ ว่า บัณเฑาะก์คือกะเทย ซึ่งท่านให้ความหมายไว้ค่อนข้างตรงกับนิยามเดิมในวินัยคือ “คนหรือสัตว์ที่ไม่ปรากฏว่าชายหรือหญิง” (วินัยมุข เล่มหนึ่ง หน้า 244, 256)

ต่อมามีการขยายการตีความคำว่ากะเทยมากขึ้นเป็น “คนที่มีจิตใจและกิริยาอาการตรงข้ามกับเพศของตน” (บัณเฑาะก์, ราชบัณฑิตยสถาน 2554) นอกจากนั้นยังพบว่าในวงการคณะสงฆ์มีการอ้างคำจำกัดความ "บัณเฑาะก์-กะเทย" ที่ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ไว้ในวินัยมุข เล่ม ๑ และอคฺคโรจโน ภิกฺขุ นวกะ (นพ.วิโรจน์ เหวียนระวี) ได้ขยายความดังนี้ 

บัณเฑาะก์ ได้แก่บุคคล 3 จำพวก คือ

  1. ชายผู้ประพฤตินอกรีตในทางเสพกาม (ผู้มีราคะกล้า) คือเป็นผู้ชายมีอวัยวะเพศเป็นชายโดยสมบูรณ์ แต่เสพกามกับผู้ชายด้วยกัน ทางเวจมรรค และทางปาก บุคคลจำพวกนี้ มีจิตใจและการแต่งตัวเป็นผู้ชาย แต่กิริยาอ่อนช้อยคล้ายผู้หญิง ปัจจุบันมีศัพท์เรียกเป็นภาษาสแลงว่า "เกย์" เมื่อเสพกาม คนหนึ่งทำหน้าที่เป็นชาย คนหนึ่งทำหน้าที่เป็นหญิง
  2. ชายผู้ถูกตอน (จีนเรียกขันที) คือ ผู้ชายที่ถูกตัดอวัยวะเพศออกหมด ทั้งส่วนที่เป็นองคชาตและอัณฑะ บุคคลจำพวกนี้ขาดฮอร์โมนเพศชาย จึงไม่มีความรู้สึกทางเพศ แต่ความสำนึกและจิตใจรวมทั้งความแข็งแรงยังเหมือนผู้ชายโดยสมบูรณ์
  3. กะเทย คือ คนหรือสัตว์ที่ไม่ปรากฏว่า เป็นชายหรือหญิง มีหลายอย่าง เช่น บางคนมีตัวบังคับ (ยีน) เป็นผู้ชาย บุคคลนั้นก็เป็นผู้ชาย แต่ผิดปกติที่อวัยวะเพศ ทำให้มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศของสตรี บางคนมีตัวบังคับ (ยีน) เป็นผู้หญิง บุคคลนั้นก็เป็นผู้หญิง แต่อวัยวะเพศบางส่วนมีขนาดใหญ่ จึงทำให้ดูคล้ายองคชาต ของผู้ชาย

ซึ่งจากการค้นคว้าเบื้องต้นข้าพเจ้ายังไม่สามารถหาต้นตอของการอ้างดังกล่าวได้ พบเพียงการนำมาอ้างกันต่อ ๆ ในหลายที่ (5,6,7)

ทั้งหมดนั้นคือการตีความคำว่า “บัณเฑาะก์” ในสมัยพุทธกาลทั้งสิ้น นั้นทำให้เกิดความเข้าใจในวงกว้างว่ากลุ่มความหลากหลายทางเพศคือกลุ่มเดียวกับบัณเฑาะก์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกห้ามให้บวช นี่จึงเป็นที่มาของการกีดกันไม่ให้กลุ่มคนที่หลากหลายทางเพศเข้ามาบวช กระทั่งเป็นที่มาของคำประกาศของมหาเถระสมาคมล่าสุดที่ว่าไม่ให้พระภิกษุแสดงพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดของตน นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำความเข้าใจและชี้ชัดไปว่ากลุ่มที่หลากหลายทางเพศเป็นพวกที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากเพศกำเนิด

กล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือ มหาเถระสมาคมยังคงไม่เข้าใจเรื่องเพศ (sex) เพศสภาวะ (gender) และเพศวิถี (Sexuality) กับทั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีการศึกษาหรือให้คำอธิบายกับสังคม และยังเหมารวมว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่สามคำนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง    

เพศวิถีในพระพุทธศาสนา (ต่อไปนี้เป็นการศึกษาและตีความจากทัศนะของข้าพเจ้า)

ปัญหาเหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าลองกลับมาค้นอีกครั้งว่าในสมัยพุทธกาลมีสิ่งที่เรียกว่าเพศวิถีอยู่หรือไม่ แน่นอนดังที่ข้าพเจ้าได้บอกไปแล้วว่าการจำแนกเพศในพุทธศาสนาในเวลานั้นยังจำกัดอยู่แค่สองเพศคือชายและหญิงทั้งเพศตามกำเนิดและเพศสภาพ ฉะนั้นคำอธิบายต่อไปนี้คือการตีความเรื่องราวในสมัยพุทธกาลผ่านวิธีคิดเรื่องเพศวิถี  

ประการแรกข้าพเจ้าพบว่าคำที่มีความหมายใกล้เคียงเพศวิถีมากที่สุดคือคำว่า “เมถุนธรรม” อันหมายถึงความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคนสองคน หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคนกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ซึ่งใกล้เคียงกับคำนิยาม

กรณีศึกษาเรื่องเมถุนธรรมนี้พูดไว้อย่างละเอียดในการบัญญัติวินัยข้อแรกของพระพุทธเจ้าที่ห้ามภิกษุเสพเมถุนธรรม อันแสดงให้เห็นถึงเพศวิถีที่หลากหมายในสมัยก่อน ซึ่งความเข้าใจต่อ “เมถุนธรรม” ของพระภิกษุในสมัยก่อนแสดงให้เห็นถึงเพศวิถีที่หลากหมาย และการรับมือกับปัญหาเรื่องเพศวิถีของพระพุทธเจ้า ซึ่งเดิมทีนั้นการห้ามพระเสพเมถุนมาจากพฤติกรรมการเสพเมถุนของพระกับอดีตภรรยา (คือระหว่างเพศชายกับเพศหญิง) พระบางรูปจึงเข้าใจว่าการเสพเมถุนคือ ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคนกับคนเท่านั้น, เขาจึงมีเพศสัมพันธ์กับลิง, บางรูปเข้าใจว่าเมถุนธรรมคือความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงเท่านั้น เขาจึงมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย, กระทั่งเข้าใจว่าเมถุนธรรมนั้นจะต้องกระทำผ่านอวัยวะเพศเท่านั้น พวกเขาจึงใช้ปากบ้าง ทวารหนักบ้าง ซอกขา ซอกแขนบ้าง และตามอวัยวะต่าง ๆ บ้าง, บางคนเข้าใจว่าเมถุนธรรมนั้นหมายถึงคนเป็นเท่านั้น เขาจึงมีอะไรกับศพ, (ดูรายละเอียดในวินัยปิฎก ปาราชิกข้อที่หนึ่ง)

นี่คือสิ่งที่ตอกย้ำว่า เพศวิถีในสังคมพุทธกาลนั้นไม่ได้มีแค่ชายหญิงเท่านั้น  แต่มีเพศวิถีที่หลากหลาย นั่นเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเองก็คาดไม่ถึง แต่ด้วยสภาพสังคมที่กำหนดให้มีเพียงเพศชายและเพศหญิงได้กดทับความหลากหลายทางเพศวิถีเหล่านั้นไว้ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตีความก็คือ ไม่ว่าเพศวิถีเหล่านั้นจะหลากหลายเพียงใดทุกอย่างล้วนเป็น “เมถุนธรรม” ทั้งสิ้น ในความหมายหนึ่งคือพระพุทธเจ้าตีความหมายของ “เมถุนธรรม” ให้กว้างกว่าเพียงความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายกับหญิง, ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างอวัยวะเพศ, และความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคนเป็นกับคนตาย แม้จะไม่มีการบัญญัติคำขึ้นเรียกความสัมพันธ์แต่ละแบบขึ้นมา ดังเช่นปัจจุบันก็ตาม

ดังนั้น เพศวิถี จึงเป็นสิ่งที่มีอยู่ในพุทธศาสนาตั้งแต่เริ่มแรก เพียงแต่ไม่เคยมีการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเท่านั้นเอง

ประการที่สองข้าพเจ้าพบว่ามีความเป็นไปได้ที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับเพศวิถี จากกรณีของพระวักกลิเถระ (8) และพระโสเรยยะเถระ (9)  ซึ่งเรื่องเล่าของท่านทั้งสองปรากฏละเอียดในคัมภีร์อรรถกถา

พระวักกลินั้นหลงรักพระพุทธเจ้า (ในอรรถกถาใช้คำว่า ไม่อิ่มด้วยการเห็นพระสรีระสมบัติของพระพุทธเจ้า) ท่านจึงตัดสินใจมาบวชเพื่อจะได้เห็นพระพุทธเจ้าทุกวัน เมื่อพระพุทธเจ้าทราบจึงติเตียนและให้โอวาท จนท่านสามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ และถูกยกย่องให้เป็นเอตทัคคะด้านผู้มีศรัทธาเป็นเลิศอีกด้วย

ส่วนกรณีของพระโสเรยยะ นั้นเดิมทีท่านแต่งงานมีลูกเมียแล้ว แต่เมื่อท่านได้พบกับพระมหากัจจายนะ ซึ่งว่ากันว่ามีรูปงามมากใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า เพียงได้พบโสเรยยะได้ตกหลุมรักพระมหากัจจายนะถึงขนาดรำพันว่า “สวยจริงหนอ พระเถระรูปนี้ควรเป็นภริยาของเรา” ทันใดนั้นร่างกายของท่านก็กลายเพศเป็นผู้หญิง ท่านเกิดความอับอาย จึงหนีไปอยู่ต่างเมือง ได้แต่งงานกับลูกชายเศรษฐีจนตั้งครรภ์มีลูก ต่อมารู้สึกผิดจึงได้มาขอโทษพระมหากัจจายนะ เมื่อขอโทษแล้วเพศชายของท่านก็กลับมา จากนั้นจึงขอบวชเป็นพระภิกษุและได้บรรลุพระอรหันต์ในที่สุด

กรณีของพระโสเรยยะนั้น แม้จะเรื่องราวจะออกเหลือเชื่อหน่อยเพราะพูดถึงการกลายเพศ แต่ในมิติของสังคมนั้นเราก็สามารถตีความได้ว่า การข้ามเพศไปมานั้นไม่ได้เป็นปัญหาต่อการบวชแต่ประการใด     

คำถามต่อมาคือพระอรหันต์สามารถแสดงกิริยา ท่าทาง การพูดจา ที่บ่งถึงเพศวิถีของตนได้หรือไม่ ซึ่งนี่คือสิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ และทำให้การตีความเรื่องเพศของพุทธศาสนาในปัจจุบัน ที่มองว่า กิริยาอาการที่แสดงออกทางกายสะท้อนความเป็นเพศของตนเอง แม้ในพระไตรปิฎกจะไม่มีตัวอย่างที่ชัดเจนแต่เมื่อเทียบกับเรื่องที่ใกล้เคียงกันอย่างเรื่องของพระปิลินทวัจฉะ (10) ที่เป็นพระอรหันต์แล้วแต่ยังมีนิสัยชอบด่าคนอื่นว่า “ไอ้ถ่อย” เมื่อมีพระไปฟ้องพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า กริยาอาการนั้นเป็นเพียงอุปนิสัยที่ติดตัวท่านมาตั้งแต่อดีตชาติ ไม่ใช่เพราะท่านมีความโกรธแค้นใคร นั่นก็หมายความว่า นิสัยปกติ หรือท่าทางบางอย่างที่แสดงออกทางร่างกายไม่ใช่ข้อจำกัดในการจะชี้ว่าผู้ใดบรรลุธรรมหรือไม่

ส่งเสริมความเข้าใจเรื่องเพศ เพศสภาพและเพศวิถี คือทางออกของปัญหา

ในธรรมของพุทธเจ้านั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าปรารถนามากที่สุดในการให้สาวกของท่านเข้าถึงก็คือ การก้าวข้ามสิ่งปรุงแต่งทั้งปวง กล่าวคือสังขาร ไม่ว่าจะเป็นกายสังขาร วจีสังขาร จนกระทั้งจิตสังขาร ในทางพุทธศาสนาร่างกายก็คือร่างกาย  ไม่ควรมีร่างกายที่เป็นของหญิงหรือร่างกายที่เป็นของชาย เพราะคำว่า “ชาย” กับ “หญิง” เป็นสิ่งที่สังคมกำหนดขึ้นมาภายหลังจากการมีร่างกายแล้ว ร่างกายเป็นรูปธรรม ส่วนความเป็นชายและหญิงเป็นนามธรรม ซึ่งทั้งสองสิ่งคือสิ่งที่ต้องก้าวข้าม พระพุทธเจ้าเลือกที่จะใช้คำว่าอัตตาบ้าง สังขารบ้าง เพื่อต่อสู้กับวาทกรรมความเป็นหญิง-ชายในสังคม และพยายามทุกวิธีในการหาช่องทางให้กลุ่มคนต่าง ๆ ที่ยังตกอยู่ในอำนาจของการควบคุมทางสังคมนั้นได้เข้าถึงธรรมเฉกเช่นเดียวกัน และต้องนับว่าภารกิจนั้นยังไม่สิ้นสุด ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ในสังคมสมัยก่อน

ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างเรื่องการไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติที่ภิกษุนำมาอ้างกัน เพราะขัดกับหลักของปหาปเทศ 4 (11) ที่พุทธเจ้าตรัสไว้เป็นแนวทางเปิดกว้างในการแก้ไขยืดหยุ่นวินัยได้ และเอาเข้าจริงคำว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยพูดว่าห้ามบัญญัติหรือแก้ไขสิ่งที่พระองค์บัญญัติ เป็นเพียงคำที่ประชุมสงฆ์จำนวนหนึ่งตัดสินใจร่วมกันในถ้ำแห่งหนึ่งเท่านั้น  อีกหลายพันหลายหมื่นรูปที่ไม่เห็นด้วยต่างก็ยึดถือตามที่ตนเองได้ยินได้ฟังพระพุทธเจ้ามา เพียงแต่ท่านเหล่านั้นล้มหายตายจากไป ไม่ได้มีบทบาททางประวัติศาสตร์เช่นภิกษุ 500 รูปแรกในความสังคายนาครั้งแรก จริง ๆ แล้วหากจะกล่าวอย่างยอกย้อนกวนบาทาหน่อย ก็ต้องบอกว่า กลุ่มคนที่ห้ามแก้ไขบัญญัติที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้นั้น คือกลุ่มคนกลุ่มแรกที่กระทำการนั้นเสียเอง 

เป้าหมายสุดท้ายของพุทธเจ้าคือการไปให้พ้นทั้งจากอำนาจของเพศ เพศสภาวะ และเพศวิถี เพื่อไปสู่การพ้นทุกข์ พระสงฆ์ที่ทำความเข้าใจพระธรรม/วินัย อย่างถ้องแท้แล้ว ย่อมต้องคอยเป็นปากเป็นเสียงให้พระพุทธเจ้าในการเรียกร้องความชอบธรรมต่าง ๆ ในสังคม หากปราศจากคุณค่านี้แล้วพุทธะศาสนาก็ไม่เหลือคุณค่าอะไรไว้ให้มนุษยชาติเลย

 

หมายเหตุ การตีความเรื่องเพศวิถีเป็นเพียงการตีความและข้อสังเกตุจากการศึกษาเบื้องต้นของข้าพเจ้าเอง ซึ่งยังต้องการการค้นคว้าวิจัยที่ละเอียดมากกว่านี้


 

 

อ้างอิง

(1) กฎเหล็กพระ-เณร งดวิจารณ์ ทางโลก-การเมือง https://www.thairath.co.th/content/1085945

(2) คําสั่ง ‘คุมเข้ม’ พระใช้โซเชียล เล่นไลน์-เฟซ https://www.thairath.co.th/content/1131098

(3) http://www.geocities.ws/tmchote/tpd-mcu/tpd04.htm  

(4) http://www.dhammahome.com/webboard/topic6777.html

(5) http://oknation.nationtv.tv/blog/neeso/2009/02/28/entry-1/comment

(6) https://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538681744

(7) https://www.thairath.co.th/content/353886

(8) เรื่องของพระวักกลิ http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=35&p=11

(9) เรื่องพระโสเรยยะ http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25.0&i=13&p=9

(10) เรื่องพระปิลินทวัจฉะ http://www.84000.org/one/1/41.html

(11) มหาปเทส 4 http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3959.0;wap2

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: blogspot

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: