บรรยากาศการประชุมโต๊ะข่าวของ The San Francisco Chronicles หลังการทวิตโจมตีสื่อกระแสหลักของทรัมป์
ทรัมป์-สั่นสะเทือนวงการสื่อทุกระนาบ
ย้อนกลับไปภายหลังเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ไม่กี่วัน เขาส่งสัญญาณเตือนไปยังนักข่าวทั่วประเทศแบบตรงไปตรงมาด้วยการกล่าวว่านักข่าวเป็น “มนุษย์ที่ไม่ซื่อสัตย์ที่สุดในโลก” (most dishonest human beings) เหตุการณ์นี้สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับนักข่าวเป็นอย่างมาก โดยสาเหตุมาจากการถกเถียงเรื่องจำนวนประชาชนที่เข้าร่วมพิธีรับตำแหน่ง ซึ่งทรัมป์เชื่อว่าสื่อพยายามนำเสนอข่าวบิดเบือนว่ามีผู้เข้าร่วมน้อยกว่าสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อปี 2009 ขณะที่ Sean Spicer โฆษกทำเนียบขาวและเป็นโฆษกประจำตัวของทรัมป์ เผยว่าพิธีของทรัมป์ มีผู้เข้าร่วมมากถึงหนึ่งล้านห้าแสนคน
The FAKE NEWS media (failing @nytimes, @NBCNews, @ABC, @CBS, @CNN) is not my enemy, it is the enemy of the American People!
— Donald J. Trump (@realDonaldTrump) February 17, 2017
บัญชีทวิตเตอร์ของโดนัลด์ ทรัมป์ ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน
ไม่เพียงเท่านั้น สื่ออเมริกายังคงเดินหน้าขุดประเด็นที่ทรัมป์ติดต่อรัสเซียในช่วงหาเสียง รวมถึงการปฏิบัติต่อสตรีของทรัมป์ที่ถูกสังคมตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา โดยสำนักข่าวหลายแห่งในอเมริการายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความบนบัญชีส่วนตัว @realDonaldTrump อ้างอิงถึงสื่อกระแสหลักของอเมริกาที่รวมถึง The New York Times, NBC, ABC, CBS และ CNN ว่าเป็น "ศัตรูของชาวอเมริกัน" (the enemy of the American people) ขณะเดียวกันก็มีรายงานด้วยว่า ทวีตดังกล่าวเป็นการแก้ไขทวีตก่อนหน้า ด้วยการเพิ่ม ABC และ CBS เป็นแบล็กลิสต์สื่อกระแสหลักที่กำลังจะเป็นศัตรูของทรัมป์
แม้จะเป็นเรื่องปกติที่ประธานาธิบดีสหรัฐและทำเนียบขาวจะวิจารณ์การทำงานของสื่อในประเทศ แต่สำหรับกรณีของทรัมป์ นักวิชาการสื่อหลายท่านเห็นว่า อยูในระดับร้ายแรงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา
รองศาสตราจารย์ ดร. Al Cross ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อวารสารศาสตร์ชนบทและประเด็นชุมชน (Institute for Rural Journalism and Community Issues ) มหาวิทยาลัยเคนตักกี้ กล่าวในกรณีที่สื่อมวลชนถูกท้าทายตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีว่า เป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะนอกจากจะต้องรับมือกับรัฐบาลที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการทำงานกับสื่อมวลชนแล้ว ยังต้องรับมือกับความ ‘หยาบคาย’ ของทรัมป์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้เราเสียสมาธิมากๆ ประเด็นใหญ่ๆ ถูกทำให้เป็นเรื่องเล็ก แต่เรื่องเล็กๆ อย่างกริยามารยาทของทรัมป์กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สื่อกระแสหลักให้ความสนใจ
“เรา (สื่อกระแสหลัก) เป๋กันหมด สื่อใหญ่ๆ ยังเจาะเรื่องของทรัมป์สู้ Al Jazeera ไม่ได้เลย น่าเป็นห่วงว่าในระยะยาวเราจะสามารถยืนระยะเพื่อตรวจสอบทรัมป์ได้นานแค่ไหน เพราะทุกๆ วัน เราเหมือนเป็นฝ่ายที่ถูกทรัมป์โจมตีเสียมากกว่า” Al Cross กล่าว
Al Cross กล่าวต่อว่า การที่ ทรัมป์พยายามโจมตีสื่อมวลชน มีสาเหตุมาจากสื่อเหล่านี้มีอิทธิพลชี้นำความคิด ชี้นำทางการเมือง และนำเสนอข้อมูลตรงข้ามหรือขัดแย้งกับทรัมป์ ทำให้ทรัมป์และทีมรัฐบาลต้องออกมาบอกว่าสื่อเหล่านี้เชื่อถือไม่ได้ ตั้งใจทำลายภาพลักษณ์ของตน โดยที่รัฐบาลอาจไม่ได้คาดคิดว่าเป็นการทำลายวัฒนธรรมการเมืองของอเมริกาในทางอ้อม เพราะเหตุผลหนึ่งที่ประชาธิปไตยอเมริกาเข้มแข็งก็เพราะมีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่รัฐบาลของทรัมป์กำลังทำลายวัฒนธรรมเหล่านี้
ด้านนาง Audrey Cooper บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The San Francisco Chronicles เผยว่า องค์กรของเธอเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีสัญญาณชัดเจนว่าไม่สนับสนุนทรัมป์ ตั้งแต่เริ่มหาเสียงเมื่อต้นปี 2016 แต่อย่างไรก็ตาม เราก็รู้ว่าภายในองค์กรมีคนที่สนับสนุนอยู่เช่นกัน ที่ผ่านมาจึงปล่อยให้การรายงานเป็นไปอย่างอิสระ มีทั้งเสียงค้านและเสียงสนับสนุนรวมอยู่ด้วยกัน แต่ในความพยายามนี้ก็พบว่ามีผู้อ่านลดลงอย่างเห็นได้ชัด เธอเผยว่ายอดผู้อ่านออนไลน์ของ The San Francisco Chronicles ในยุคของทรัมป์ลดลงน้อยกว่าในยุคของโอบามาถึง 20%
“ช่องทางการสื่อสารของทรัมป์น่ากลัวมาก สื่อใหญ่อย่าง The New York Times มีคนดูทีวีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 38 ล้านคนในยุคโอบามา แต่มีเพียง 30 ล้านคนในยุคทรัมป์ ทวิตเตอร์ของทรัมป์ที่มีผู้ติดตามกว่า 22 ล้านคน (เดือนกุมภาพันธ์) จะสื่อสารถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าสื่อกระแสหลักหรือไม่ เราต้องเร่งหาตำตอบ”
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของ Wall Street Journal เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีชาวอเมริกันเพียง 26% เห็นด้วยกับสิ่งที่ทรัมป์สื่อสารทางทวิตเตอร์ แต่อีก 69% ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นความเห็นของทรัมป์เพียงคนเดียว ไม่ใช่ของคณะรัฐบาล แต่แม้ว่าผลสำรวจจะชี้ว่าชาวอเมริกันอยากให้ทรัมป์เลิกใช้ทวิตเตอร์ แต่รัฐบาลทรัมป์ก็ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า สื่อไม่รายงานความจริง ทวิตเตอร์จึงเป็นวิธีเดียวที่สามารถตอบโต้ เมื่อสื่อกระแสหลักสร้างข่าวปลอม และจะเลิกใช้ทวิตเตอร์ก็ต่อเมื่อสื่อรายงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนใส่ร้ายทรัมป์
Audrey Cooper เผยว่าสถานการณ์ในขณะนี้คือ สื่อกระแสหลักรายงานข่าวโดยเอาข้อความทวิตเตอร์ของทรัมป์มารายงาน ซึ่งหากประชาชนได้รับข้อมูลเพียงแค่นี้ สื่อกระแสหลักอย่างเราก็คงไปทำข่าวอย่างอื่นดีกว่า นี่คือความแตกต่างสำคัญระหว่างการรับข่าวสารรัฐบาลจากสื่อทั่วไปกับการติดตามทวิตเตอร์ของทรัมป์ ซึ่งจะหาความเป็นทางการไม่ได้เลย
ในแง่นี้ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทรัมป์กำลังทำลายสื่อกระแสหลัก พยายามไม่ให้สังคมสนใจ ไม่ให้คุณค่ากับสื่อกระแสหลัก โดยเรียกร้องให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากจากทวิตเตอร์ของทรัมป์โดยตรง
ความน่าเชื่อถือและความคาดหวังของชาวอเมริกันต่อสื่อกระแสหลักลดลง
สัญญาณที่บ่งบอกชัดเจนว่าสื่อกระแสหลักอเมริกันกำลังถูกท้าทายจากสังคม ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อผลสำรวจความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลักต่อชาวอเมริกันพบว่า สื่อกระแสหลักมีความน่าเชื่อถือลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะแบ่งตามเกณฑ์อายุ หรือพรรคที่สนับสนุน (อ่านเพิ่มเติ่มที่ จับตา: ความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลักต่อชาวอเมริกัน ลดลงต่อเนื่อง) โดยค่าเฉลี่ยความน่าเชื่อถือลดลงมาถึง 32 % ในปี 2016 จากที่เคยมีความน่าเชื่อถือในระดับ 40 % ในปี 2012 และ 50 % ในปี 2005 (อ่านเพิ่มเติมที่ Poll: Mainstream media continues to lose the public's trust)
กราฟแสดงผลสำรวจความน่าเชื่อถือของสื่อกระสหลักที่ลดลงอย่างมากในภาพรวม ที่มาภาพ: Gallup
นาย Lowell MacBain หนึ่งในที่ปรึกษารายงานชิ้นดังกล่าว และเป็นอาจารย์ประจำ UC Berkeley’s Graduate School of Journalism เผยว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจ ที่ผลสำรวจออกมาในลักษณะนี้ เพราะตลอดระยะเวลาการเป็นนักข่าว เงื่อนไขในการประกอบอาชีพของคนที่ทำงานกับสื่อใหญ่ๆ ในอเมริกานั้นเยอะมาก เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาผันตัวมาเป็นอาจารย์ด้านวารสารศาสตร์ในมหาวิทยาลัย
Mr. Lowell MacBain อาจารย์ประจำ UC Berkeley’s Graduate School of Journalism
ผลสำรวจชิ้นดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรหลายองค์กร รวมถึงนักข่าวทั้งสื่อกระแสหลัก และสื่อท้องถิ่น Lowell MacBain เป็นผู้เก็บข้อมูลวิจัยในระหว่างปี 2001 – 2013 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาผันตัวจากการเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ให้กับ CBS ด้วยคำถามหลายอย่าง รายงานชิ้นดังกล่าวนอกจากจะตั้งคำถามกับสื่อกระแสหลักแล้ว ยังตอบคำถามของตัวเขาเองด้วย
“ไม่เพียงแต่สื่อกระแสหลักที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนน้อยลง ตัวนักข่าวเองก็เหมือนกัน ทุกวันนี้นักศึกษาของผมเรียนจบออกไปถามว่าอยากไปทำอะไร ทุกคนก็มักจะตอบคล้ายๆ กันว่าไปเป็นนักข่าวที่นิวยอร์คบ้าง (The New York Times) ฟอกซ์บ้าง แต่ในความเป็นจริงส่วนใหญ่พวกเขามักจะเรียนต่อเพื่อทำงานแบบวิชาการ หรือกลับบ้านไปทำงานกับสื่อทางเลือกเล็กๆ หรือไม่ก็ไปเป็น Youtuber หรือทำคอนเทนต์เอง อะไรแบบนี้เสียมากกว่า ทำให้ผมคิดว่าแม้แต่เด็กเองก็มีความคาดหวังต่อสื่อใหญ่ๆ น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด” Lowell MacBain กล่าว
Ms. Mindy Aronoff ผู้อำนวยการ Bay Area Video Coalition
ด้านนาง Mindy Aronoff ผู้อำนวยการอาวุโสขององค์กรผลิตสื่อสารคดีและวีดีโอ Bay Area Video Coalition เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการภาคประชาชนของเมืองซานฟรานซิสโกที่คอยตรวจสอบดูแลสื่อ และได้จัด Focus Group กับตัวแทนของประชาชนเรื่องความควาดหวังต่อสื่อใน Bay Area พบว่า ประชาชนใน Bay Area ลดค่าใช้จ่ายการบริโภคหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ๆ ลงไปถึงครึ่งหนึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา และความต้องการของการบริโภคเนื้อหาจากสื่อใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ ก็ลดลงตามไปด้วย
Mindy Aronoff กล่าวว่า ความคาดหวังของผู้คนใน Bay Area ต่อสื่อกระแสหลักมีอยู่น้อยมากๆ เรามีทวิตเตอร์ เรามี Hoodline ภาคประชาชนเข้มแข็งกว่าที่สื่อใหญ่ๆ คิดเอาไว้มาก ช่องทางการรับสื่อของคนมันกระจัดกระจาย (scattered) มากเกินกว่าที่สื่อกระแสหลักจะเช็คเรตติ้งได้วันต่อวันอีกต่อไปแล้ว หรือพูดง่ายๆ คือ เขาเทียบสื่อใหญ่ กับสื่อเล็กๆ อย่างเราในระดับเดียวกันไปแล้ว ในแง่ความน่าเชื่อถือ
“คนที่ฉันทำ Focus Group ด้วย เคยเถียงกันเรื่องความเป็นทางการ ที่สื่อกระแสหลักเคยมีมากกว่า ซึ่งเชื่อมโยงกับความน่าเชื่อถือ แต่ข่าวใน Bay Area ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มันมาทางทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียช่องทางอื่นๆ หมดแล้ว ไม่มีความคาดหวังใดๆ ต่อสื่อกระแสหลักหลงเหลือ คนที่ยังตามหัวใหญ่ๆ เราต้องถามเป็นรายคนเลยว่า เขาตามอ่านข่าว หรือตามอ่านความคิดเห็นของคอลัมนิสต์” เธอกล่าว
กรณีศึกษา New American Media สื่อทางเลือกโดยกลุ่มชาติพันธุ์
ขณะที่ผลสำรวจเกี่ยวกับสื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ในอเมริกา (The Ethnic Media in America: The Giant Hidden in Plain Sight) ของ New California Media ร่วมกับ Center for American Progress Leadership และ Conference on Civil Rights Education Fund ที่เปิดเผยในเดือนมิถุนายน ปี 2007 พบว่า 45 % ของ แอฟริกันอเมริกัน, เอเชียนอเมริกัน, ฮิสแพนิค, ชนพื้นเมืองอเมริกัน และอาหรับอเมริกัน สนใจสื่อทุกๆ ช่องทางไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ ที่เป็นสื่อของชาติพันธุ์ มากกว่าสื่อทั่วไป โดยสำรวจจากผู้คน 64 ล้านคน พบว่า 29 ล้านคนเลือกรับสื่อที่ถูกผลิตโดยชาติพันธุ์ นั่นหมายความว่า 13 % ของชาวอเมริกันเลือกที่จะบริโภคสื่อของชาติพันธุ์ และสื่อเหล่านี้เข้าถึงคนทำงานชาวอเมริกันมากกว่า 51 ล้านคน
ในห้วงเวลาดังกล่าว New American Media (NAM) ซึ่งเป็นสื่ออิสระในอ่าวซานฟรานซิสโก (Bay Area) รัฐแคลิฟอร์เนีย ทำเว็บไซต์ข่าวและสื่อออนไลน์ที่เนื้อหาทั้งหมดถูกผลิตขึ้นจากนักข่าว นักสารคดี คอลัมนิสต์ ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยในสหรัฐอเมริกา (Ethnic Minorities) ทั้งที่เกิดและเติบโตที่นี่ รวมถึงคนที่อพยพเข้ามาตั้งรกราก นอกจากนี้ยังพบว่าเกิน 40% ของพวกเขาเป็นมุสลิม โดยนอกจาก NAM จะไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐแล้วยังได้รับการตอบรับจากชุมชน Bay Area น้อยกว่าสื่ออื่นๆ ในช่วงแรกของการก่อตั้งในปี 1996 เมื่อเทียบกับสื่อในย่านเดียวกันอย่าง The San Francisco Chronicles, Hoodline หรือแม้แต่ Bay Area Video Coalition (BAVC) ที่ยึดพื้นที่สื่อด้านสารคดีเอาไว้อย่างเหนียวแน่น อาจกล่าวได้ว่า NAM ไม่มีกลุ่มสนับสนุนหลักที่ชัดเจน จนกระทั่งประเด็นเรื่องอิสลามเริ่มเป็นที่สนใจของชาวอเมริกันมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ยุคของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ไล่มาจนถึงยุคของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ทำให้เนื้อหาของ NAM เริ่มเป็นที่สนใจขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งล่าสุด วิกฤติการมาของทรัมป์ที่ทำให้สื่อหลายสำนักใน Bay Area เริ่มสั่นคลอน NAM ใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสเพื่อผลักประเด็นที่ต้องการจะสื่อสารไปยังผู้อ่าน
Ms. Honora Montano ผู้อำนวยการ New America Media เล่าประสบการณ์การทำงานภาคสนามกับกลุ่มชาติพันธุ์
นาง Honora Montano ผู้อำนวยการ NAM ที่มีประสบการณ์การทำงานกับนักข่าวที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์หรือผู้อพยพในอเมริกามากว่า 40 ปี เล่าว่า ผู้คนใน Bay Area เริ่มสนใจเนื้อหาของเรามากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะประเด็นที่ทำหาอ่านที่อื่นยาก โดยเฉพาะในสื่อกระแสหลัก นอกจากนี้เรายังทำงานร่วมกับแหล่งข้อมูลเฉพาะทาง (ethnic media collaboration specialized sources) ที่ยิ่งจะสร้างประเด็นที่เราทำ ให้แข็งแรงและน่าเชื่อถือมากขึ้น
“ความสำคัญของสื่อแบบเรา คือการที่แหล่งข่าวไม่อยากคุยกับนักข่าวทั่วไป เมื่อมีประเด็นทางสังคม จะนึกถึง Ethnic Reporter มาเป็นอันดับแรก อยากให้คนที่มีสถานะเดียวกันทำข่าวที่เกี่ยวโยงกับเรื่องของตัวเอง มากกว่าที่จะให้นักข่าวที่เป็นคนขาว มาเล่าเรื่องของเขา” Honora Montano กล่าว
เมื่อ TCIJ ถามถึงงบประมาณที่ NAM ได้รับและโมเดลทางธุรกิจของสื่อเล็กๆ ในเมืองใหญ่อย่างซานฟรานซิสโก เธอตอบว่า งบส่วนใหญ่มาจากองค์กรที่สนับสนุนงบประมาณสื่อในอเมริกา ซึ่งทั้งหมดไม่ได้มาจากรัฐบาล แต่แคมเปญที่เราทำเป็นประจำ และทำเงินให้เราจำนวนมากในบางครั้ง คือการออกไปทำกิจกรรมกับชุมชน และเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการคัดสรรประเด็นปัญหาที่ควรจะหยิบยกมานำเสนอ แน่นอนว่า NAM ให้ความสำคัญกับประเด็นของชนกลุ่มน้อยในแคลิฟอร์เนียเป็นหลัก
“สิ่งที่เราเห็นชัดเจนคือ เงินงบประมาณที่ถูกโอนมาจากผู้คนในซานฟรานซิสโกมีมากขึ้น แน่นอนว่าเราไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเพราะทรัมป์ หรือเปล่า แต่ที่เราค่อนข้างมั่นใจคือ ข้อมูลของเราที่ค่อนข้างจะมีความพิเศษหาจากที่อื่นไม่ได้ และถูกผลิตมาจากเจ้าของปัญหาที่แท้จริง ในซานฟรานซิสโก หรือแม้กระทั่งแคลิฟอร์เนีย คุณไม่สามารถอ่านบทความที่มาจาก Native American (อินเดียนแดง) ได้เลย ที่สำคัญ สัดส่วนของนักข่าวที่เป็นมุสลิมของเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ก็มีมากกว่าคนขาวอีก” เธอกล่าว
ที่ผ่านมา NAM ถูกตั้งคำถามต่อความเป็นมืออาชีพในการรายงานข่าวหลายครั้ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการให้พื้นที่ต่อชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์มากเกินไป นาง Annita Key นักข่าวชาวอเมริกันที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามหลังจากแต่งงานกับสามีของเธอ เป็นหนึ่งในนักข่าวที่ถูกชาวอเมริกันใน Bay Area ข่มขู่ และเตรียมจะยื่นฟ้อง หลังเธอทำสารคดีรายงานปัญหาเด็กชาวมุสลิมถูกกลั่นแกล้ง (bully) ในโรงเรียนประถม โดยคู่กรณีหาว่าเธอพยายามจะสร้างความเท็จ และใส่ร้ายครูและเด็กในโรงเรียนว่ากลั่นแกล้งเด็กชาวมุสลิม
Ms. Annita Key นักข่าวชาวมุสลิมของ NAM ที่ถูกคุกคามโดยชาวอเมริกัน
Annita ถูกข่มขู่ผ่านจดหมาย และสามีของเธอถูกจับตาจากชาวอเมริกันในละแวกที่อยู่อาศัยอยู่หลายเดือน แต่ NAM ก็ยืนยันที่จะรายงานเรื่องนี้
“แม้จะยาก แต่เราก็พยายามระวัง ในฐานะสื่อที่เป็นชาติพันธุ์เอง (ethnic reporter) ต้องมองให้ขาด ข้ามพ้นอคติทั้งหลาย เล่าเรื่องที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ตัดสิน บอกบริบทให้หมด ใครทำอะไร รายงานให้หมด ใครทำอะไร (behavior of people) ต้องรายงานอย่างนั้น” Annita Key กล่าว
ตำแหน่งแห่งที่ของ “ข่าวเจาะ” ในอเมริกา ความท้าทายในยุคทรัมป์
‘Spotlight’ คือภาพยนตร์ที่เป็นตัวเก็งออสการ์หลายรางวัลในปี 2015 เป็นที่กล่าวถึงในวงการสื่อสารมวลชนทั่วโลก ชื่อ Spotlight มาจาก Section ข่าวสืบสวนสอบสวนในหนังสือพิมพ์ Boston Globe ที่โด่งดังจากกรณีการเปิดเผยเรื่องราวของนักบวชแห่งคริสตจักรนับสิบคน ล่วงละเมิดทางเพศเด็กๆ นับร้อยคนทั้งหญิงและชายในบอสตัน ประมาณ 20 ปีก่อน จนกลายเป็นประเด็นทางสังคมที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อคริสตจักรแห่งบอสตัน ก่อนที่จะถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา
Walter Robinson ซึ่งเป็นอดีตบรรณาธิการ Spotlight และเป็นที่ปรึกษาของทีมเขียนบทในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตในการเป็นนักข่าว และอีกกว่าสิบปีที่ดูแลหน้าข่าวสืบสวนสอบสวนของหนังสือพิมพ์ Boston Globe เขาเปิดเผยว่า มุมมองต่อข่าวสืบสวนในอเมริกา ควรเป็นเรื่องที่ให้พื้นที่กับผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อ (victimized people) เช่น มีข่าวหนึ่งที่เขาเคยรายงานเกี่ยวกับผู้หญิงสองคนที่โดนยึดรถกลางคืน และได้รับการอธิบายว่าเป็นเจ้าหน้าที่มาจากบริษัทบัตรเครดิต แต่หลังการสอบสวนกลับพบว่ามีเหยื่ออีกจำนวนมากที่ถูกหลอกจากการอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากธนาคารผู้ให้บริการบัตรเครดิต เพราะฉะนั้นเรื่องข่าวสืบสวนควรกระทบคนจำนวนมาก เพราะนอกจากจะทำให้มีผลกระทบในวงกว้างแล้ว ในบางครั้งยังสามารถแสดงความบริสุทธิ์อย่างเป็นเหตุเป็นผล (justification) ให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้อีกด้วย
Mr. Walter Robinson อดีตบรรณาธิการหน้าข่าวสืบสวน ‘Spotlight’ หนังสือพิมพ์ Boston Globe เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ จากรายงานเชิงสืบสวนเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กของบาทหลวง
“เท่าที่ผมทราบ เคยมีการสำรวจ ปี 2009 ที่อเมริกามีนักข่าวประจำถึง 25,000 คน แต่ในปี 2014 กลับลดลงมากถึง 40 % เหลือ 15,000 คน แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ ของข่าวเจาะคือในปีนั้นมีนักข่าวที่อยู่ใน Section ของข่าวสืบสวนกว่า 2,000 ตกงานในช่วงปี 2014 – 2015 เพราะหลายสำนักข่าวต้องการลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากข่าวสืบสวนแพง ใช้เวลานาน และใช้เงินเยอะ รวมถึงไม่ได้งานประจำวันออกมาด้วย ทำให้หนังสือพิมพ์หลายหัวตัด Section ข่าวสืบสวนออก แต่ที่น่าตลกคือ เมื่อหนังสือพิมพ์หลายหัวไปสัมภาษณ์ผู้อ่านว่าชอบอะไรในหนังสือพิมพ์ กลับได้คำตอบว่า ข่าวสืบสวน และข่าวที่สถาบันต่างๆ ไม่ต้องการให้คนนอกรู้ นี่แสดงให้เห็นว่าผู้คนก็เห็นคุณค่าของข่าวสืบสวน นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมอยากให้เกิดหนังแบบ Spotlight”
Walter Robinson เห็นว่านักข่าวทุกคนเป็นนักข่าวสืบสวนได้ เนื่องจากการทำข่าวสักชิ้น ต้องสืบสวน ต้องสืบค้น จะลึกแค่ไหนอันนั้นเป็นอีกเรื่อง แต่เนื่องจากเรามีเครื่องมือที่ดีมากอย่างอินเทอร์เน็ต นักข่าวทุกคนสามารถหาข้อมูลที่มีผู้ไม่อยากให้เปิดเผยได้และสามารถทำได้ในเวลาสั้นๆ ตัวอย่างเช่น ข่าวของบอสตัน ในปี 2000 ระหว่างการดีเบตก่อนการเลือกตั้ง (Presidential Debate) มีนักข่าวรายงานการโต้กันระหว่างจอร์จ ดับเบิลยู. บุช กับ อัล กอร์ โดยบอสตันสามารถเสนอการตรวจสอบความจริงจากข้อมูลการดีเบตด้วยในวันเดียวกัน เพราะใช้อินเทอร์เน็ตเช็คข้อมูล (fact check) ทุกอย่างที่ทั้งสองคนพูดบนเวที นี่เป็นตัวอย่างข่าวประจำวัน (Routine) ที่มีกลิ่นอายของข่าวเชิงสืบสวนด้วย
“สิ่งหนึ่งที่น่าแปลกคือ ช่วงที่โอบามาเป็นประธานาธิบดี จะมีข่าวรั่วน้อยมาก คนทำงานข้างในซื่อสัตย์มาก แต่ในยุคของทรัมป์ กลับกลายเป็นคนละเรื่อง เหมือนกับว่าเราได้สนทนากับคนในทำเนียบขาวด้วยทุกวัน เช่นเรื่อง Michael Flynn ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงจะถูกปลดจากตำแหน่ง แต่เหตุการณ์นี้ก็แสดงให้เห็นว่าสำนักข่าวในอเมริกาบางแห่ง ไม่สามารถกินบุญเก่าได้อีกต่อไปแล้ว ที่ๆ เคยมีข่าวสืบสวนดีๆ อย่าง FOX กลับลงข่าวที่ไม่ผ่านการตรวจสอบได้หน้าตาเฉย ประเด็นของผมคือ บรรณาธิการ โดยเฉพาะคนที่ดูแล Section ที่เป็นข่าวสืบสวน ต้องทำให้ผู้อ่านรู้ว่าอันไหนคือข่าวดีมีการตรวจสอบ และข่าวใดไม่มีข้อมูลเพียงพอ หรือเข้านั้นข่าวปลอม (fake news) กรณีของ Michael Flynn นี่เป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังมีข่าวรั่ว สำนักข่าวใหญ่ๆ พร้อมกันลงข่าว โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลกันเลย”
อย่างไรก็ตาม เมื่อ TCIJ ถามถึงความแตกต่างระหว่างสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก ในมุมมองของคนที่เคยทำงานมาทั้งสองอย่าง Robinson ตอบว่า มันแยกยากแล้ว ทุกวันนี้คนทำข่าวในบอสตันแทบจะใช้เครื่องมือของตัวเองทั้งหมด รายงานข่าว โดยไม่รอองค์กรของตัวเองแล้วด้วยซ้ำ
“สื่อกระแสหลักก็ใช้เนื้อหาของสื่อเล็กๆ ขณะที่สื่อเล็กก็รับงานของสื่อกระแสหลักมาทำอีกที ในกรณีของบอสตัน ไม่ว่าคุณจะทำงานให้ใคร สุดท้ายแล้วคุณต้องมีแพลตฟอร์มของตัวเอง นี่เป็นอีกสาเหตุที่ผมออกมาจากบอสตัน มาสอนเด็ก มาทำงานข่าวอย่างอิสระด้วยตัวเอง ถามว่าอยู่ยากไหม ก็ยาก แต่ช่องทางหาเงินก็ไม่น้อยเหมือนกัน และมันก็น่าขำตรงที่ว่าลูกทีมของผม หลังจากยุติการทำงานที่บอสตัน ทุกคนไปบรรยาย ไปสอน ไปทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่ทุกคนมีรายที่เยอะกว่าเงินเดือนเดิมกันทุกคน” Robinson กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีแล้วกระแสหลัก-กระแสรอง ชี้ห้องข่าวไร้พรมแดนคือคำตอบ
หลังจากที่ The San Francisco Chronicle ปรับโมเดลธุรกิจมาเน้นการทำงานในสื่อออนไลน์ และช่วงชิงพื้นที่กับสื่อใหญ่ๆ ใน California มาเป็นเวลาหลายปี Audrey Cooper บรรณาธิการคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นบรรณาธิการหญิงคนแรก มีบทบาทสำคัญในการทำให้ ‘Chronicle’ ยืนหยัดท่ามกลางกระแสการล้มหายตายจากของสื่อสิ่งพิมพ์ ที่บางรายปิดตัวไปอย่างเงียบๆ หรือรายใหญ่ๆ ที่ลงมาสู้ใหม่ในสนามออนไลน์ The San Francisco Chronicle เป็นสื่อกระแสหลักเพียงเจ้าเดียวใน San Francisco ที่ยังมีหนังสือพิมพ์ ‘รายวัน’ ควบคู่ไปกับเนื้อหาบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย
Ms. Audrey Cooper บรรณาธิการ The San Francisco Chronicle ผู้หญิงคนแรกในรอบ 150 ปี
Audrey Cooper เล่าประสบการณ์การทำงานเป็นบรรณาธิการตั้งแต่ทรัมป์เริ่มหาเสียงก่อนเลือกตั้งว่า หากจะพูดว่าสถานการณ์สื่อ ในยุคของทรัมป์มันแย่ลงก็พูดได้ แต่จริงๆ มันแย่มาเรื่อยๆ ไม่ใช่ขาลงในยุคของทรัมป์เพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมาหลายปี เราจะเห็นว่าข่าว โดยเฉพาะข่าวในทีวีนั้นแย่มาก ไม่มีความรับผิดชอบ ทั้ง FOX , CNN ช่องหลักๆ แทบจะทุกช่อง เช่นประเด็นที่ถกเถียงกัน บ่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมาว่า การเลือกตั้งนั้นชอบธรรมหรือไม่ ซึ่ง Audrey Cooper เห็นว่า ระบบมันจะถูกตรวจสอบด้วยตัวของมันเอง จึงไม่ชอบที่เห็นพิธีกรมาใช้เวลานั่งเถียงกันในประเด็นนี้ แต่ควรนำเสนอข่าวมากกว่า ว่าจะป้องกันอย่างไร และในฐานะพลเมือง จะ ทำอะไรได้บ้างหากตรวจสอบได้ว่าการเลือกตั้งไม่ชอบธรรมจริงๆ เพราะในความเป็นจริงแล้วประเด็นหลักอยู่ที่ว่าประธานาธิบดีจะบังคับใช้กฎหมายอย่างชอบธรรมหรือไม่ และถ้าหากใช้อำนาจมากเกินไป อันนี้เป็นหน้าที่ของสื่อที่ต้องตรวจสอบ แม้ว่าจะเป็นสื่อที่ เชียร์ทรัมป์ก็ตาม ซึ่ง Audrey Cooper ยังเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของสื่ออเมริกาว่า จะสามารถตรวจสอบการทำงานของทรัมป์อย่างตรงไปตรงมาได้
“จริงๆ ในซานฟราน ไม่มีสื่อกระแสหลักชัดเจนเหมือนอย่างนิวยอร์ค หรือวอชิงตัน นะ พูดอีกอย่างคือ สื่อเล็กๆ เองก็ไม่ใช่กระแสรอง เพราะมันมีคนอ่านเฉพาะกลุ่มเป็นจำนวนไม่น้อย สื่อเหล่านี้แหละที่พร้อมจะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอเมริกัน แม้ห้วงเวลานี้เป็นเวลาที่น่ากลัวสำหรับนักข่าวมากๆ เพราะทรัมป์มักจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง (discredit) ไม่ชอบให้ตั้งคำถาม แต่เราต้องพยายามเปิดพื้นที่ให้คนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนาประเทศร่วมกันต่อไป ซึ่งถ้าทำให้เกิดไม่ได้ หน้าที่ของสื่อก็ทำได้ไม่สมบูรณ์” Audrey Cooper กล่าว
ในสถานการณ์ดังกล่าว ทางออกของแต่ละสำนักข่าวอาจไม่เหมือนกัน จากการสัมภาษณ์กองบรรณาธิการ ‘Chronicle’ TCIJ พบว่าพวกเขาค่อนข้างจะเน้นหนักที่การตรวจสอบการทำงานของตัวเองอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะประเด็นของข่าวที่ไม่มีอคติ (unbiased news) เพราะต้องการให้ข่าวสะท้อนความคิดของคนทุกฝ่าย แม้ใน ‘Chronicle’ เองก็มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนทรัมป์และฝ่ายที่พร้อมจะเขียนบทความโจมตีทรัมป์อยู่ตลอดเวลา แต่องค์กรจำเป็นต้องฟังเสียงของทุกฝ่าย และด้วยสถานการณ์ที่ข่าวปลอม (fake news) มีมากขึ้น ผู้คนจึงหันมาให้ความสำคัญกับคุณค่าของข่าวกันมากขึ้น
“สื่ออย่างเราทำไม่ได้ทุกอย่าง ไม่สามารถครอบคลุม (cover) ทุกข่าว จึงเลือกทำเรื่องที่ถนัด และทำในแบบที่สื่ออื่นทำไม่ได้ ด้วย เหตุนี้จึงทำให้ความกว้างของประเด็น (range) ข่าวมันแคบ ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าข่าวมันแคบ ประเทศใหญ่ก็ยังแคบ อาจเป็นเพราะนักข่าวในอเมริกาพยายามอย่างมากที่จะไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นนักข่าวจึงไม่ค่อยกล้าลองของใหม่ เพราะกลัว พลาด เช่น นักข่าวของเราทำเรื่องกัญชา เพราะช่องทางเยอะ และกัญชากำลังขยายหนักมาก และถูกกฎหมายแล้วในรัฐตะวันตกบางแห่ง แต่เราพูดถึงเฉพาะกัญชาในอเมริกา แม้จะเสนอข่าวว่ามาจากไหน แต่ไม่เคยมีเสียงของคนต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับ ธุรกิจนี้มากนัก หนำซ้ำยังไม่ต้องพูดถึงการไปเห็นด้วยตาตัวเองของนักข่าว แทบจะไม่มีเลย ด้วยสาเหตุนี้เราจึงต้องร่วมมือกับ นักข่าวภาคสนามที่ทำงานในพื้นที่ หรือแม้แต่นักข่าวท้องถิ่น ไม่เฉพาะระดับข้ามพรมแดนเท่านั้น แต่ต้องไปในระดับข้ามชาติ อย่างที่หลายๆ สำนักข่าวในอเมริกาได้เริ่มทำมาแล้วสักระยะ ปัญหาคือนักข่าวในอเมริกาส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง หรือพูดง่ายๆ ว่านักข่าวอเมริกัน โดยเฉพาะเมืองเล็กๆ ยังไม่กล้าออกไปข้างนอกนั่นเอง” Audrey Cooper กล่าว
อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปเมื่อกลางปี 2016 การร่วมมือของนักข่าวแบบไร้พรมแดน ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่ชุดเอกสารลับกว่า 11.5 ล้านฉบับรั่วออกจากสำนักกฎหมายและผู้ให้บริการวางแผนธุรกิจสัญชาติปานามา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘Panama Papers’เอกสารลับการฟอกเงินและเลี่ยงภาษีคนดังทั่วโลก เกิดขึ้นจาก International Consortium of Investigative Journalists (ICIJ) ร่วมมือกับนักข่าวจำนวนมาก โดยใช้เวลาร่วม 1 ปี คลี่คลายข้อมูลกว่า 2.6 เทราไบต์ จนนำไปสู่การสั่นคลอนของวงการธุรกิจและการเมืองในระดับโลก
Sasha Chavkin หนึ่งในทีมงานที่จัดการข้อมูล และทำงานร่วมมือกับนักข่าวในหลายๆ ประเทศจากทั่วโลก เห็นว่าความสำคัญของการทำข่าวในยุคปัจจบัน ห้องข่าวควรให้ความสำคัญกับการข่าวต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะอเมริกา ที่มีบทบาทสำคัญกับเศรษฐกิจโลก ไม่เพียงแต่จะทำให้ข่าวที่ถูกนำเสนอออกไป มีเสียงจากผู้คนอื่นๆ แต่ยังขยายการรับรู้ (expand) ที่อาจช่วยเปิดพรมแดนความรู้ของชาวอเมริกัน ซึ่งนั่นเป็นคุณค่าข่าวที่เราควรตระหนักอยู่ตลอดเวลา
Sasha Chavkin นักข่าว International Consurtium of Investigative Journalists (ICIJ) หนึ่งในผู้ผลิตซีรีย์ “Panama Papers”
“เรามองด้วยสายตาของอเมริกันชน มองเท่าไหร่ก็ยังมองได้ในกรอบเดิม กรณีของ Panama Paper แสดงให้เห็นชัดว่า เราทำงานคนเดียวไม่ได้ เราต้องอาศัยความร่วมมือจากนักข่าว นักเจาะ โปรแกรมเมอร์ นักจารกรรมข้อมูล และอีกหลายๆ นัก ที่จะทำภารกิจสักชิ้น กรณีของผมมันสำเร็จได้ด้วยเหตุนี้ นักข่าวอเมริกันต้องคิดใหม่ได้แล้ว ถ้าทำประเด็นใหญ่ๆ แล้วทำกันเอง ก็อ่านกันเอง กรณีของเรา (Panama Papers) น่าจะเป็นบรรทัดฐาน (standard) ที่ดีให้กับสื่ออเมริกันว่าต้องร่วมมือกับนักข่าวแบบไร้พรมแดน (Cross-border Journalism) จึงจะได้ข่าวที่มีเนื้อหาหลุดไปจากข่าวแบบอเมริกันรูทีน”
“ความท้าท้ายของสื่อทางเลือกอเมริกัน ท่ามกลางขาลงของสื่อกระแสหลัก แม้การมาของทรัมป์ จะไม่ได้สร้างปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกมากนัก แต่ความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลัก ก็ถูกตั้งคำถามไว้ไม้น้อย” Chavkin กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ: รายงานชิ้นนี้เขียนขึ้นจากคำสัมภาษณ์ในภาษาอังกฤษ จึงจำเป็นต้องวงเล็บคำสำคัญบางคำ เพื่อคงไว้ซึ่งความหมายตามที่ผู้ให้สัมภาษณ์ได้กล่าวไว้ รวมถึงกรณีที่คำในภาษาไทยอาจไม่ครอบคลุม
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลักต่อชาวอเมริกัน ลดลงต่อเนื่อง
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: MIH83 (CC0 Public Domain)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ