วิวัฒนาการของกรุงเทพมหานคร

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 3478 ครั้ง


กำเนิดสุขาภิบาล : ปฐมบทการปกครองท้องถิ่นของประเทศไทย

กรุงเทพมหานครแต่เดิมเป็นสังคมเมืองกึ่งเกษตรกรรม มีขนาดไม่ใหญ่นักและผู้คนที่อาศัยอยู่รอบข้างกรุงเทพมหานครเป็นสังคมเกษตรกรรมที่มีวิถีชีวิตแบบชนบท เรียบง่าย ต่อมากรุงเทพมหานครได้เปลี่ยนสภาพจากสังคมเมืองกึ่งเกษตรกรรมเป็นสังคมเมืองและนครขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นปัจจัยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารและการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพมหานครให้สอดคล้อง กับสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองการปกครองในช่วงนั้นๆ โดยเริ่มจากการจัดตั้งสุขาภิบาลซึ่งเป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งคล้ายเทศบาลขึ่นในมณฑลกรุงเทพ เป็นครั้งแรกของประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2440 มีหน้าที่สำคัญ 4 ประการ คือ การทำลายขยะมูลฝอย การทำส้วม การควบคุมอาคารและสิ่งปลูกสร้างและการขนย้ายสิ่งโสโครกและสิ่งก่อความรำคาญให้แก่มหาชน แต่ประชาชนยังไม่มีสิทธิในการปกครองตนเอง ตามหลักการปกครองท้องถิ่นนับเป็นปฐมบทของการปกครองท้องถิ่นของประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อลดภาระของรัฐบาลและเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง เพื่อจะได้สนองตอบต่อความต้องการของชุมชนได้อย่างรวดเร็วและตรงตามความต้องการของชุมชนมากที่สุด

กำเนิดจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี : รูปแบบใหม่ของการจัดระเบียบบริหารราชการ

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้มีการยกเลิกการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแบบมณฑลมาเป็นจังหวัด ตาม พ.ร.บ.จักระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ซึ่งจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดแลอำเภอโดยยังคงมีสุขาภิบาลอยู่ จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีจึงถือกำเนินขึ้นโดยบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ดังกล่าว และมีฐานะเป็นจังหวัดสืบมาจนกระทั่งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

กำเนิดเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรี : ถนนสู่การปกครองตนเองของประชาชน

หลังจากยกเลิกมณฑลและเปลี่ยนเป็นจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีแล้ว ต่อมาได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่ประชาชนมีสิทธิในการปกครองตนเองตามหลักการปกครองท้องถิ่น และมีผลกระทบต่อจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี กล่าวคือ มาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว บัญญัติไว้ว่า ท้องถิ่นซึ่งอาจยกฐานะเป็นเทศบาลนครได้ตองมีราษฎรตั้งแต่ 30,000คนขึ้นไปและอยู่กันอย่างหนาแน่น คิดเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 1,000 คนต่อตารางกิโลเมตร อาศัยบทบัญญัติข้างต้น จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพ ฯ พ.ศ. 2479 พระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครธนบุรี พ.ศ.2479 และมีการจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพฯและเทศบาลนครธนบุรีขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2480 เทศบาลนครกรุงเทพฯและเทศบาลนครธนบุรี มีพื้นที่รับผิดชอบเฉพาะพื้นที่ที่มีความเจริญสูงสุด พื้นที่ส่วนที่เหลืออยู่ในความรับผิดชอบของอำเภอ จังหวัด ซึ่งเป็นการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและสุขาภิบาลหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

กำเนิดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี : รูปแบบการปกครองท้องถิ่นนครหลวง

การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในเขตนครหลวงได้รับการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 24 และ 25 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2514 ให้รวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี รวมองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครกับองค์การบริหารจังหวัดธนบุรีเป็นเทศบาลนครหลวง ให้ผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรี มาจากการแต่งตั้ง และดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหลวงอีกตำแหน่งหนึ่ง กำเนิดนครหลวงกรุงเทพธนบุรีซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นนครหลวงถือเป็นเค้าโครงหรือที่มา ของกรุงเทพมหานคร ในระยะต่อมา

กำเนิดกรุงเทพมหานคร : องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษ

การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรีและเทศบาลนครหลวงดำเนินมาได้ 1 ปีก็สิ้นสุดลง เมื่อได้มีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 จัดรูปแบบการปกครองใหม่โดยรวมกิจการของนครหลวงกรุงเทพธนบุรีองค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เทศบาลนครหลวงและสุขาภิบาลในเขตนครหลวงซึ่งประกอบด้วย สุขาภิบาลมีนบุรี สุขาภิบาลหนองจอก สุขาภิบาลบางแค สุขาภิบาลลาดกระบัง สุขาภิบาลราษฎร์บูรณะ สุขาภิบาลบางกะปิ สุขาภิบาลหนองแขม และสุขาภิบาลอนุสาวรีย์ เข้าเป็นองค์กรเดียวกันเรียกว่า “กรุงเทพมหานคร” และจัดระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครใหม่ เป็นลักษณะผสมระหว่างราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นเข้าด้วยกัน มีฐานะเป็นจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นข้าราชการการเมือง ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นการสิ้นสุดของยุคการปกครองท้องถิ่นนครหลวงในระบบที่เรียกว่า” เทศบาล” ตั้งแต่นั้นมา

กรุงเทพมหานครตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวเป็นการจัดรูปการบริหาร และการปกครองที่มีส่วนราชการพิเศษ แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆของประเทศ กล่าวคือ กำหนดรูปแบบการบริหารเป็น 1 ลักษณะ คือ ในส่วนของกรุงเทพมหานครมีลักษณะเป็นการบริหารส่วนกลาง ส่วนอำเภอต่างๆที่มีอยู่ในกรุงเทพมหานคร เป็นการบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เพราะมีสภาเป็นของตนเอง โดยมีเจตนารมดังนี้

"ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 และ 25 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2514 จัดตั้งนครหลวงกรุงเทพธนบุรีและเทศบาลนครหลวงขึ้น บริหารราชได้ดำเนินไปอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ บังเกิดความเจริญแก่นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และให้สอดคล้องกับนโยบายของการบริหารราชการส่วนกลางยิ่งขึ้น ซึ่งปรากฏว่าบังเกิดผลดีขึ้นมาเป็นลำดับ แต่โดยที่นครหลวงกรุงเทพธนบุรีเป็นมหานคร มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่นและเป็นศูนย์รวมของกิจการต่างๆ มีความจำเป็นที่จะต้องจัดรูปการปกครองและการบริหารให้มีลักษณะพิเศษ เพื่อให้การพัฒนานครหลวงกรุงเทพธนบุรีมีประสิทธิภาพ โดยการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น และแบ่งขอบเขตท้องที่การปกครองให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆซึ่งเกิดขึ้น สามารถบริหารอำนวยความสะดวกและเข้าถึงประชาชนในเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรีได้โดยแท้จริงและรวดเร็ว

ต่อมาได้มีการยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 และประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น และให้แบ่งพื้นที่การปกครองกรุงเทพมหานครออกเป็นเขตและแขวง มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และสภากรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

กรุงเทพมหานครปัจจุบัน : ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ได้กำหนดโครงสร้างการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น เป็นองค์การบริหารราชการที่ประกอบด้วย

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หัวหน้าฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง มีสถานะเป็นข้าราชการการเมือง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปีโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และบุคคลที่มาทำหน้าที่ทางการเมืองของกรุงเทพมหานคร ได้ เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งยุบสภากรุงเทพมหานครได้ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการและลูกจ้างของกรุงเทพมหานคร โดยมีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นข้าราชการประจำสูงสุดของกรุงเทพมหานครรับผิดชอบควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน ของเขตต่างๆ โดยมีผู้อำนวยการเขตเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานของเขตภายในขอบเขตพื้นที่ของเขต ซึ่งปัจจุบันแบ่งออกเป็น 50 เขต ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วนอำนาจหน้าที่การบริหารราชการของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นไปตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร และอำนาจหน้าที่ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องปฏิบัติอีกเป็นจำนวนมาก

สภากรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ไม่สามารถปลดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เนื่องจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบในการออกข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร และเรื่องต่างๆที่เป็นกิจการของกรุงเทพมหานคร เช่น การก่อตั้งบริษัท หรือถือหุ้นในบริษัท การให้เอกชนเข้าทำกิจการใดๆ การไปทำกิจการใดๆ ของกรุงเทพมหานคร นอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นชอบข้อกำหนด ตั้งคณะกรรมการสามัญชุดต่างๆ ตราข้อบังคับของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และข้อบังคับเกี่ยวกับการประชุมและมีมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ้นจากตำแหน่ง

ในระดับเขต มีสภาเขตมาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาตามที่ผู้อำนวยการเขตร้องขอ ตั้งคณะกรรมการศึกษาเกี่ยวกับงานของสภาเขต ให้ข้อคิดข้อสังเกตแผนพัฒนาเขตติดตามดูแลการดำเนินงานของสำนักงานเขต ให้คำแนะนำแก่ผู้อำนวยการเขตในการให้บริการแก่ประชาชน และหน้าที่อื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดหรือที่สภากรุงเทพมหานครมอบหมาย

รูปแบบการบริหารราชการกรุงเทพมหานครปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสภากรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่สามารถสั่งยุบสภากรุงเทพมหานครได้ และสภากรุงเทพมหานครไม่สามารถสั่งปลดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ ซึ่งเป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกันและกัน มีลักษณะคล้ายรูปแบบการปกครองประเทศตามระบบประธานาธิบดี ระดับเขต มีสภาเขตเขตซึ่งมีลักษณะบางส่วนคล้ายคลึงกับสภาจังหวัด พ.ศ. 2481 ซึ่งกำหนดให้สภาจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของกรมการจังหวัด ต่อมาพัฒนาไปเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด

ที่มาข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: