นักศึกษา – มหาวิทยาลัย...แนวคิดและพัฒนาการของอุดมศึกษาในเนเธอร์แลนด์

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล : 12 ธ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 6986 ครั้ง


ในวันหนึ่งที่อากาศดีมีแดดออก ท้องฟ้าสีสดใสในฤดูใบไม้ผลิของปี 2012 ฉันนั่งรถไฟจากอัมสเตอร์ดัมไปยังอูเทรค (Utrecht) เมืองที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ เพื่อเข้าเรียนวิชาสังคมวิทยาคุณค่าและการเงินที่ลงทะเบียนไว้กับวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยอูเทรค (University College Utrecht) ฉันในขณะนั้นเป็นนักเรียนปริญญาเอกปีแรกไปลงเรียนวิชาดังกล่าวกับนักศึกษาปริญญาตรีหลักสูตรพิเศษของวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนที่มหาวิทยาลัยอูเทรคริเริ่มในปี 1998 ที่ไม่ใช่รูปแบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิมของวัฒนธรรมดัตช์หรือยุโรป วิทยาลัยแห่งนี้เปิดรับนักศึกษานานาชาติและใช้ภาอังกฤษเป็นสื่อในการสอน และกำหนดหลักสูตรเพียง 3 ปี วิทยาลัยแห่งนี้มีรั้วรอบขอบชิดแบบลักษณะแคมปัสชัดเจน คือตึกเรียนและหอพักของนักศึกษาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

บรรยากาศของนักศึกษาและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยที่ University College Utrecht

ระหว่างที่กำลังเดินไปยังห้องเรียนและต้องผ่านหอพักนึกศึกษา เกิดการช็อกทางวัฒนธรรม (culture shock) ขึ้นกับฉัน เนื่องจากเห็นเด็กสาวจำนวนหนึ่งเอาเก้าอี้ผ้าใบออกมานอนตากแดดในชุดบีกีนี วันนั้นพวกเขาไม่มีเรียนและอยู่ในที่พักของเขา ดังนั้นเขาสามารถจะพักผ่อนหย่อนใจอย่างที่พวกเขาต้องการทำได้ นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันตระหนักได้ถึงความเป็นเสรีนิยมทางความคิดและในทางปฏิบัติของนักศึกษาดัตช์ ที่เขามีสิทธิจะทำอะไรก็ได้ตราบใดที่ไม่ได้กระทบต่อสิทธิของผู้อื่นหรือผิดกฎของวิทยาลัย ภาพเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ฉันใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาอยู่ที่เนเธอร์แลนด์กว่าครึ่งทศวรรษ และได้สัมผัสการเรียนในระดับอุดมศึกษาที่เน้นแนวคิดให้ผู้เรียน “เรียนรู้ด้วยตัวเอง” ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงนักศึกษาระดับปริญญาเอกด้วย นักศึกษาปริญญาเอกในเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างมีอิสระในการคิดและออกแบบการเรียนของตนเองระดับหนึ่ง โดยทั่วไป การเรียนการสอนในระดับปริญญาเอกขึ้นไปนั้นแตกต่างจากสหรัฐอเมริกา หรือประเทศในเครือจักรภพ เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ แต่คล้ายคลึงกับประเทศยุโรปหลายประเทศ อย่างเยอรมนี และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ที่ผู้เรียนในระดับปริญญาเอกเป็นต้นไปไม่ถูกนิยามว่าเป็น “นักศึกษา” หากมีสถานะเป็น “ผู้ทำงานให้มหาวิทยาลัย” (university employee) คือเป็น “นักวิจัยระดับปริญญาเอก” (PhD researcher) บางคนมีภาระสอน หรือทำหน้าที่จัดการหรือช่วยงานด้านอื่นๆ เช่น ผู้ช่วยอาจารย์ระดับศาสตราจารย์ หัวหน้าภาควิชา คณบดี หรือ ภาควิชาหรือกลุ่มงานวิจัย ดังนั้น นักวิจัยระดับปริญญาเอกของเนเธอร์แลนด์ทำงานและได้รับเงินเดือนจากมหาวิทยาลัย ไม่ต่างกับอาชีพอื่นที่ต้องมีการเสียภาษีบางประเภทตามประเภทและรายได้ที่รัฐกำหนด

บรรยากาศเชิญชวนเข้าร่วมเทศกาลนักศึกษาอัมสเตอร์ดัม

ลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการเรียนมหาวิทยาลัยในเนเธอร์แลนด์คือ ไม่มีระบบการสอบเข้าอย่างเป็นทางการ เนื่องจากระบบการศึกษาในระดับมัธยมตอนปลายได้แบ่งประเภทการเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพของผู้เรียนตั้งแต่แรก โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทกว้างๆ คือ อาชีวศึกษาหรือวิชาชีพเฉพาะด้าน การศึกษาวิชาชีพขั้นสูงหรือศาสตร์ประยุกต์ และศาสตร์วิชาการที่รวมถึงการทำวิจัย โดยแต่ละประเภทการศึกษาในระดับมัธยมมีเงื่อนไขและระยะเวลาการเรียนแตกต่างกันระหว่าง 4-6 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนจนถึงระดับวัยที่จะเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยศาสตร์ประยุกต์ (applied science) หรือความรู้เฉพาะด้านที่เรียกว่า hogeschool ในภาษาดัตช์ ดังนั้น การแข่งขันเข้าสู่มหาวิทยาลัยจึงเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ศึกษาที่ต้องแสดงความเจตจำนงค์และผลการเรียนในการเข้าเรียนมากกว่าเป็นการเข้าสู่สนามสอบระดับชาติ ยกเว้นบางสาขาวิชาที่ทางมหาวิทยาลัยอาจมีขั้นตอนการสอบพิเศษขึ้นมาเพื่อคัดเลือกคนที่เหมาะสมกับการเรียนในสาขานั้นจริงๆ

 


  

การเกิดขึ้นและพัมนาการของกลุ่มคนที่เรียกว่า “นักศึกษา” ของเนเธอร์แลนด์มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศยุโรปโดยรวมคือ กลุ่ม “นักศึกษา” เกิดขึ้นครั้งแรกในยุคกลางของยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีสถานะพิเศษ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามอำเภอใจ (dissoluteness) เพราะมีสถานะสูงส่งจากการเป็นคนชนชั้นสูงหรือลูกหลานขุนนางในสังคมยุคนั้น กระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 16 เกิดสงครามการต่อสู้ของรัฐทางใต้ของเนเธอร์แลนด์กับสเปนที่ปกครองพื้นที่ดังกล่าวในขณะนั้น สงครามกินระยะเวลาถึง 8 ปี กว่ารัฐต่างๆ จะได้ประกาศอิสรภาพ หลังจากนั้นกษัตริย์วิลเลมแห่งราชวงศ์ออเรนจ์ที่เป็นผู้นำในการประกาศอิสรภาพของรัฐทางตอนใต้ทั้ง 7 รัฐ มีแนวคิดสร้างมหาวิทยาลัยแห่งแรกขึ้นที่เมืองไลเดิ้น (Leiden) ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1578 มหาวิทยาลัยไลเดิ้นจึงถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเนเธอร์แลนด์หลังได้รับอิสรภาพ แต่ก่อตั้งหลังจากมหาวิทยาลูเวน (Louvain) ในปี 1425 ที่ยังอยู่ใต้การปกครองของสเปน (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเบลเยียม)

เสวนาวิชาการที่มหาวิทยาลัยไลเดิ้น 

ในเวลาต่อมา ผู้ปกครองรัฐตอนใต้อื่นๆ ที่รวมตัวกันเป็นสาธารัฐดัตช์ (Dutch Republic) ก็เริ่มแนวคิดก่อตั้งมหาวิทยาลัยในเมืองต่างๆ และสร้างแรงจูงใจให้คนมาเรียนด้วยการไม่เรียกเก็บภาษี เช่น ในเมืองฟราเนเคอร์ (Franeker) ปี 1585 เมืองโกรนิงเกิ้น (Groningen) ปี 1614 เมืองอูเทรค ปี 1636 และ ฮาร์เดอร์แหวก (Harderwijk) ในปี 1648 สถานะของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในช่วงนี้ถือว่าเป็นชนชั้นสูงอยู่ และส่วนใหญ่เป็นลูกท่านหลานเธอจากตระกูลตระกูลของชนชั้นนำในสาธารณรัฐดัตช์และรัฐใกล้เคียงในเยอรมนีและโปแลนด์ เนื่องจากในขณะนั้น สาธารณรัฐดัตช์ถือว่าเป็นรัฐที่ร่ำรวยที่สุด จากค้าทางทะเลที่นำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนความรู้และวิทยาการที่ทันสมัยกับโลกภายนอก สาธารณดัตช์จึงกลายที่เป็นที่ดึงดูดของคนให้มาเรียนในยุคนั้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงยุคทองของเนเธอร์แลนด์ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย

เนื่องจากสาธารณรัฐดัตช์มีแนวคิดสร้างสังคมจากคนหนุ่มรุ่นใหม่ หนังสือ Sex, Drugs and Rock ’n’ Roll in the Dutch Golden Age เขียนโดย Benjamin Roberts เล่าถึงบรรยากาศของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในขณะนั้น โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยไลเดิ้น ที่เด็กมหาวิทยาลัยผู้ชายมีแนวโน้มใช้ความรุนแรง เพราะได้รับอนุญาตให้ถือครองอาวุธอย่างปืนหรือดาบ หรือทั้ง 2 ประเภท อันเป็นแนวคิดมรดกตกทอดของการเป็นนักศึกษามาตั้งแต่สมัยยุคกลางของยุโรป และพวกเขามักเล่นเกมที่คล้ายกับกอล์ฟในยุคนี้ ทำให้ลูกบอลกระเด้งไปโดนกระจกบ้านผู้คนเสียหายบ่อยครั้ง

บางคนมีพฤติกรรมสร้างความปั่นป่วนอย่างชัดเจนด้วยการปาก้อนหินให้กระจกบ้านผู้คนแตก เป็นที่รู้กันว่ากระจกตามโบสถ์และบ้านเรือนในศตวรรษที่ 17 ทำด้วยวัสดุราคาแพง นักศึกษาบางคนมีนิสัยกร่างถึงขั้นลวนลามทางเพศหญิงสาวที่เดินผ่านไปบนถนน กรณีเหล่านี้ถูกบันทึกโดยศาลวิชาการ (academic court) ที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีเกี่ยวกับนักศึกษาและคนในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ นักศึกษาจึงถูกมองว่าเป็นพวกยกตนข่มท่าน ไม่ค่อยเป็นมิตรหรือห่างเหินกับประชากรของสังคมโดยรวม รวมถึงเกิดความขัดแย้งมากมายระหว่างตัวนักศึกษาและคนทำงานในมหาวิทยาลัยอยู่บ่อยครั้ง

พิธีกรรมสอบจบระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม

เมื่อเกิดมหาวิทยาลัย องค์กรอิสระหรือขบวนการต่างๆ ในมหาวิทยาลัยจึงเกิดขึ้นตามมา สถานะของนักศึกษาจึงเริ่มเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 18 และเริ่มชัดเจนขึ้นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 อภิสิทธิ์ของการเป็นนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเริ่มลดน้อยลง นักศึกษามีสถานะไม่ต่างจากประชาชนทั่วไปที่ไม่สูงส่งเหมือนในอดีต ขณะเดียวกัน กลุ่มองค์กรและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเริ่มก่อตัวโดยนักศึกษามากขึ้น เนื่องจากเสรีภาพที่มีขึ้น กลุ่มองค์กรเหล่านี้มีเป้าหมายปกป้องสิทธิของนักศึกษาและสวัสดิการต่างๆ อย่างไรก็ตาม ภาพของนักศึกษาในยุคนี้ยังไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวหรือเข้ากันได้ดีกับคนธรรมดาที่ทำงานในมหาวิทยาลัยเสียทีเดียว เนื่องจากนักศึกษายังคงให้ความสำคัญกับสถานภาพและสวัสดิการของตนเองมากเกินไป ขณะที่ฝ่ายหลังมองว่านักศึกษาเองรวมตัวกันแล้วสร้างความรำคาญและเน้นการปาร์ตี้สังสรรค์มากกว่า คนทำงานในมหาวิทยาลัยเองจึงต่อต้านการก่อตัวของสมาคมของนักศึกษา

 


 

เนเธอร์แลนด์เริ่มดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ช่วงปี 1860-1870  รูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นคือการริเริ่มการศึกษาด้านวิชาชีพที่เรียกว่า โรงเรียนระดับสูงสำหรับพลเมือง (Higher Civil School หรือ Hogere Burgerschool-HBS ในภาษาดัตช์) เพื่อตอบรับการเกิดขึ้นของชนชั้นกลาง เช่น วิชาชีพด้านการแพทย์ และเภสัชศาสตร์ (pharmacology) ตรงนี้ถือเป็นระบบใหม่ที่ต่างจากแต่การศึกษาแบบดั้งเดิมที่จำกัดอยู่ที่การเรียนรู้วิชาการขั้นสูงโดยเฉพาะไวยกรณ์ภาษาคลาสสิค เช่น กรีกและลาติน และระบบการศึกษาแบบใหม่นี้ก็ได้รับการรับอย่างดี จากการสำรวจพบว่าในปี 1930 มีนักศึกษาในเนเธอร์แลนด์จบจากโรงเรียนวิชาชีพและได้รับปรากาศนีบัตรมากถึงร้อยละ 50 จากจำนวนนักศึกษาทั้งหมด และพบว่าเป็นนักศึกษาที่มีพื้นฐานหลากหลายจากชนชั้นกลางในสังคมยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นทหาร นักเดินเรือ คนทำงานในบ้าน คนค้าขาย และช่างฝีมือ

เข้าสู่ปลายศตวรรษที่ 19 สังคมดัตช์ในภาพกว้างมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเริ่มมีความหลากหลายทั้งชนชั้น เบื้องหลังครอบครัว เพศ แนวคิด และศาสนา มีการยอมรับนักศึกษาที่หลากหลายเหล่านี้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เช่น ในปี 1879 มหาวิทยาลัยโกรนิงเกิ้นรับผู้หญิงจากครอบครัวชาวยิวคนแรกคืออเล็ตตา ยาคอบส์ (Aletta Jacobs) เป็นนักศึกษาแพทย์ สอดรับกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีนิยมที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้หญิง และอเล็ตตา ยาคอบส์ เองก็เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีในเนเธอร์แลนด์เรื่อยมา รวมถึงสิทธิในการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์ปี 1919

ขณะเดียวกัน สังคมดัตช์เริ่มเชื่อมโยงแนวคิดทางศาสนากับความรู้ในมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดการก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่มีฐานความเชื่อทางศาสนาชัดเจนขึ้น เช่น ปี 1880 มหาวิทยาลัยฟรีอัมสเตอร์ดัมเกิดขึ้นบนฐานแนวคิดคัลวินิสม์ (Calvinism)  ปี 1923 มหาวิทยาลัยราดบาวด์ (Radbound University) ในเมืองไนเมเกิ้น ที่มีแนวคิดคาทอลิก ด้วยความหลากหลายและเปิดกว้างที่เกิดขึ้น ทำให้สถานศึกษาดัตช์ในยุคนี้เริ่มเป็นที่ดึงดูดของนักศึกษาต่างชาติจากที่อื่นๆ ในยุโรปตามมา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวคิดในระดับอุดมศึกษาเริ่มสลายขั้วความคิดทางศาสนาระหว่างคาธอลิกและโปรแตสแตนท์ ประกอบกับในช่วงทศวรรษ 1960 กระแสความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาเริ่มมีบทบาทชัดเจนขึ้นในสังคมดัตช์ที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสโลก โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยหลายแห่งในเนเธอร์แลนด์ต้องการเป็นอิสระจากแนวคิดศาสนา อีกทั้งจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการการสาขาวิชาที่หลากหลายมากขึ้นในมหาวิทยาลัย และนักศึกษาเริ่มก่อตั้งสหภาพนักศึกษาขึ้นในปี 1963 ทำให้ปัจจุบันนี้แนวคิดของความเชื่อและศาสนาเหล่านี้แทบไม่มีอิทธิพลกับการจัดการการศึกษาของมหาวิทยาลัยในเนเธอร์แลนด์อย่างชัดเจนเช่นในอดีต

ในช่วงทศวรรษ 1960 ตั้งแต่ปี 1966 เป็นต้นมา นักศึกษามหาวิทยาลัยเนเธอร์แลนด์เริ่มมีอุดมการณ์ “ซ้าย” มากขึ้น คือต้องการสังคมอนาธิปไตย (Anarchist) หรือการปกครองโดยกลุ่มคนส่วนใหญ่และเป็นอิสระจากรัฐ พวกเขามีความเชื่อในระบบสังคมประชาธิปไตยที่ผ่านการใช้สิทธิทางการเมืองในรัฐสภา บางคนอาจมีความคิดโน้มเอียงไปทางคอมมิวนิสต์ด้วย มีงานวิจัยระบุว่าความคิดทางการเมืองของนักศึกษาดัตช์ในยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากครอบครัวที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองทางใดทางหนึ่ง เช่น นักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เรียนด้านสังคมศาสตร์อย่างศึกษาศาสตร์ จิตวิทยา และสังคมวิทยา มีแนวโน้มเป็น “ซ้าย” ขณะที่นักศึกษาสาขากฎหมาย แพทยศาสตร์ และทัตกรรมศาสตร์ มีความโน้มเอียงไปทาง “ขวา” หรืออนุรักษ์นิยม

บรรยากาศในห้องเรียน

ห้องอาหารของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม

กรณีที่น่าสนใจในยุคนี้คือเกิดขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในการเข้าไปกำหนดทิศทางบริหารมหาวิทยาลัย เช่นในช่วงวันที่ 16–20 พฤษภาคม 1969 นักศึกษามหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมจำนวนหนึ่งเข้าไปยึดตึกบริหารส่วนกลางของมหาวิทยาลัยที่ชื่อว่า Maagdenhuis เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นสังคมประชาธิปไตย เกิดการบริหารจากทุกส่วนรวมถึงนักศึกษาด้วย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นในทศวรรษถัดมา เมื่อรัฐบาลได้สร้างนโยบายควบคุมสถาบันระดับอุดมศึกษาตามระบบราชการ (Bureaucratization) ให้อำนาจกับผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยในการกำหนดทิศทาง ขณะที่อาจารย์ พนักงานของมหาวิทยาลัย และนักศึกษามีบทบาทเป็นเพียงคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับคณะเท่านั้น แต่ไม่สามารถมีส่วนในการกำหนดนโยบายที่เหนือกว่านี้ เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ในฐานะที่เป็นรัฐสวัสดิการ (welfare state) ทำให้การกำหนดนโยบายต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีที่มีความหลากหลายทางความเชื่อและศาสนา หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ทั้งสังคมนิยมและเสรีนิยม

อีกด้านหนึ่งรัฐบาลดัตช์ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 เริ่มมีแนวคิดก่อตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อผลิตความรู้ความเชี่ยวชาญตามทิศทางการพัฒนาประเทศ เช่น ความรู้ด้านเทคนิค (polytechnics) ด้านเกษตรกรรม และด้านธุรกิจ ทำให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในเมืองเพื่อสอดรับการพัฒนาดังกล่าวในเมืองต่างๆ เช่น เดลฟท์ (Delft) อายโดเฟิน (Eindhoven) เอนสเคเด (Enschede) วาเกนนิงเกิ้น (Wageningen) ร็อตเตอร์ดัม (Rotterdam) และทิลเบิร์ก (Tilburg) และการตั้งมหาวิทยาลัยเอกชนในเมืองเล็กๆ เช่นมหาวิทยาธุรกิจเยนโรเด (Nyenrode Business University) ที่เมืองบรอยเคเลิน (Breukelen) หรือมหาวิทยาลัยเปิด (Open University) ในเมืองแฮร์เลน (Heerlen) ที่ก่อตั้งในปี 1984 ซึ่งเป็นสถานศึกษาสำหรับคนที่สนใจวิทยาศาสตร์โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อน

สถาบันการศึกษาศาสตร์ประยุกต์อัมสเตอร์ดัม

สถาบันอัมสเตอร์ดัมด้านการออกแบบเสื้อผ้า

แม้จะถูกกำหนดทิศทางจากนโยบายส่วนบน แต่ด้วยสภาพสังคมดัตช์ที่ยังคงความเสรี นักศึกษาก็พยายามที่จะต่อรองเข้าไปมีสวนร่วมในการกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการบริหารแบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม โดยเฉพาะที่เป็นข่าวความเคลื่อนไหวชัดเจนคือขบวนการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมที่มักประท้วงด้วยการเข้าไปยึดตึกบริหารของมหาวิทยาลัย เช่นในปี 1978 ที่มีการประท้วงการแก้กฎหมายโครงสร้างของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ในปี 1980 ประท้วงต่อการการไม่รับอาจารย์ผู้หญิง 2 คนเข้าทำงาน ในปี 1986 ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในส่วนของนักศึกษา และการประท้วงคล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นอีกในปี 1990 ปี 1993 และ 1996

ล่าสุด ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ปี 2015 โดยที่ฉันเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย [1] นักศึกษาพร้อมด้วยพนักงาน และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมยึดครองอาคารบริหาร โดยกดดันผู้บริหารอย่างหนักในการสร้างแนวทางประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย คือผู้บริหารมหาวิทยาลัยในระดับสูงควรมาจาการเลือกตั้ง บริหารการเงินที่โปร่งใส และการยกเลิกแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยที่จะนำไปสู่แนวทางเสรีนิยมใหม่ในอุดมศึกษา (Neoliberal higher education) โดยเฉพาะการมุ่งเน้นให้นักศึกษา นักวิจัย และอาจารย์ทำงานเพื่อมุ่งประสบความสำเร็จในระดับปัจเจก มากกว่าที่จะสร้างสถาบันการศึกษาให้ผู้เรียนมีความคิดต่อโลกและสังคม นั่นคือการที่ผู้เรียนต้องได้เกรดดี ขณะที่นักวิจัยและอาจารย์ต้องมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์จำนวนมาก ซึ่งไม่ต่างกับการเป็นพนักงานบริษัท (corporate company) ที่ต้องทำให้อาจารย์หรือผู้บริหารของมหาวิทยาลัยพอใจกับผลงาน และสร้างสถาบันการศึกษาให้เป็น “บริษัทผลิตความรู้” (knowledge company)

บรรยากาศการเดินประท้วงของอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมในเดือนเมษายน 2015

นี่คือปัญหาปัจจุบันที่ไม่ได้เกิดกับมหาวิทยาลัยในเนเธอร์แลนด์เพียงประเทศเดียว แต่เป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือสหรัฐอเมริกาที่การศึกษากลายเป็นสินค้าไปเสียแล้ว สำหรับเนเธอร์แลนด์ที่เคยเข้าใจว่าเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ คนที่เคยไปเรียนที่นี่มักจะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม ปัจจุบัน สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง จำนวนนักเรียนดัตช์ที่มีความต้องการเรียนในระดับสูงมีมากขึ้น ทั้งในส่วนวิทยาลัยด้านวิชาชีพและมหาวิทยาลัย ทำให้ในแต่ละปีมีการแข่งขันในการเข้าถึงการศึกษาเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็น 10 ปีแล้ว เช่นในปี 2007 มีจำนวนนักเรียนที่ต้องการเรียนในระดับอุดมศึกษา 25,000 ที่ แต่จำนวนที่สถาบันการศึกษาทุกแห่งสามารถรับได้มีเพียง 17,000  ปัญหาที่ตามมาคือการที่บางสาขาวิชาที่เป็นที่นิยม เช่น แพทยศาสตร์ ทันตกรรม จิตวิทยา กฎหมาย และบริหารธุรกิจ ซึ่งมีตัวเลขรับนักศึกษาที่ค่อนข้างตายตัว ใช้วิธีการจับฉลากแทนพิจารณาความสามารถของผู้เรียนที่แท้จริง 

 


 

การจัดการอุดมศึกษาในเนเธอร์แลนด์พัฒนาเรื่อยมาบนฐานหลักคิดว่าทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียมกันในเข้าถึงการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดความเสมอภาค (egalitarianism) และถือว่าเป็นประเด็น “ผลประโยชน์สาธารณะ” (public interest) ที่สังคมโดยรวมต้องตระหนักถึง ซึ่งลักษณะนี้คล้ายคลึงกับหลายๆ ประเทศในยุโรป สำหรับเนเธอร์แลนด์ รัฐบาลมีระบบให้กู้ยืมทางการศึกษา เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมเป็นไปตามผลการเล่าเรียนหรือการสำเร็จการศึกษาของผู้กู้ยืมด้วย

โปสเตอร์แนะนำสาขาวิชา 

เวทีพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในมหาวิทยาลัย

ช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ปัญหาที่เกิดขึ้นคือรัฐเริ่มตัดงบประมาณด้านการศึกษารวมถึงทุนในการทำวิจัย โดยกำหนดให้การสนับสนุนการศึกษาระดับปริญญาตรีเพียง 4 ปี ส่วนระดับปริญญาโทขึ้นไป ในปี 2011 รัฐเสนอให้นักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือเข้าโปรแกรมการกู้ยืม โดยกำหนดให้นักศึกษาที่ต้องเรียนในพื้นที่ที่ไม่ใช่ภูมิลำเนาของตนเองได้รับความช่วยเหลือ 266 ยูโรต่อเดือน และสามารถกู้ยืมได้ที่ 670 ยูโรต่อปี

รัฐบาลยังสร้างแรงจูงใจเป็นรางวัลหากนักศึกษาจบการศึกษาเร็วกว่ากำหนด หรือมีบทลงโทษสำหรับคนที่จบช้าด้วยการให้จ่ายค่าลงทะเบียน ทำให้มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยด้านอาชีพหลายแห่งต้องตัดทุนด้านการศึกษาลง ผลที่ตามมาคือขึ้นค่าเล่าเรียนในระดับปริญญาโทหรือคนที่ต้องการเรียนปริญญาใบที่สอง มีรายงานว่าในปี 2014 มหาวิทยาลัย 8 ใน 13 แห่งขึ้นค่าเล่าเรียน และในปีการศึกษา 2015 นักศึกษาเข้าใหม่ถูกตัดจำนวนทุนที่ควรได้รับความช่วยเหลือ ยกเว้นนักศึกษาที่ผู้ปกครองมีรายได้ต่ำกว่า 46,000 ยูโรต่อปีที่ยังได้สิทธิในการรับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย แต่ก็มีเงื่อนไขว่าต้องเรียนให้จบและไม่สามารถหยุดเรียนกลางคัน ไม่เช่นนั้นนักศึกษาผู้นั้นต้องชดใช้เงินที่ได้รับความช่วยเหลือคืน

นอกจากนี้ นักศึกษาที่ต้องการเรียนระดับปริญญาโทและเข้าโครงการการกู้ยืมต้องชดใช้เงินที่เป็นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ละปียอดการกู้ยืมต่อหัวก็เพิ่มขึ้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถิติระบุว่ามีนักศึกษาที่เข้าโครงการกู้ยืมถึง 700,000 คน มียอดกู้ยืมถึง 17.6 พันล้านยูโร มีค่าเฉลี่ยต่อคนในการกู้ยืมอยู่ที่ 14,000 ยูโร ซึ่งเพิ่มจาก 5 ปีก่อนที่มียอดอยู่ที่ 12 พันล้านยูโร ทำให้ในเดือนเมษายน ปี 2016 กลุ่มตัวแทนนักศึกษาได้ยื่นจดหมายเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการดัตช์กลับมาใช้นโยบายการการให้เงินสนับสนุนของมหาวิทยาลัย เนื่องจากพบว่ายอดของนักศึกษาที่ผู้ปกครองมีรายได้น้อยในการเข้ามหาวิทยาลัยลดลง 7% เพื่อให้มาตรการนี้นำความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษากลับคืนมา  

การศึกษาระดับอุดมศึกษาของเนเธอร์แลนด์ทุกวันนึ้จึงไม่ต่างจากปรากฎการณ์อื่นๆ ทั่วโลกตรงที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้อย่างกว้างขวางขึ้น ต่างจากประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจำกัดเฉพาะคนบางกลุ่ม แต่เมื่อการศึกษาซึ่งเป็นเครื่องมือให้คนเข้าถึงความสำเร็จได้ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า การเข้าถึงการศึกษาก็ถูกท้าทาย เพราะมีแต่คนที่มีทุนและฐานะเศรษฐกิจที่สามารถเข้าถึงได้มากกว่า จึงเป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาลและสังคมเนเธอร์แลนด์ที่จะทำอย่างไรให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอุดมศึกษาให้มากที่สุดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามแนวคิดความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษา

 

[1] บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล. 2015. ประสบการณ์และการประท้วงสวนกระแส “เสรีนิยมใหม่” ในมหาวิทยาลัยเนเธอร์แลนด์. ประชาไท 15 มีนาคม 2015 (https://prachatai.com/journal/2015/03/58398).

 


 

อ้างอิง

DutchNews.nl. “8,000 fail to win university place” (12 July 2007). Retrieved from http://www.dutchnews.nl/news/archives/2007/07/almost_8000_fail_to_win_univer/.

--------------. Bring back grants to boost equal access to university, student groups say (22 April 2016). Retrieved from http://www.dutchnews.nl/news/archives/2016/04/bring-back-the-grant-student-groups-say/.

--------------. “Dutch student debt is expanding by 55 cents a second” (8 March 2017). Retrieved from http://www.dutchnews.nl/news/archives/2017/03/dutch-student-debt-is-expanding-by-55-cents-a-second/.

--------------. “Dutch university fees for second degrees set to soar” (10 February 2014). http://www.dutchnews.nl/news/archives/2014/02/dutch_university_fees_for_seco/.

--------------. “End student grants, freeze student numbers, say university chiefs”. (25 February 2011). Retrieved from http://www.dutchnews.nl/news/archives/2011/02/end_student_grants_freeze_stud/

--------------. “More students face a lottery for a university place” (16 July 2015). Retrieved from http://www.dutchnews.nl/news/archives/2015/07/more-students-face-a-lottery-for-a-university-place/.

--------------. “Students leave university with €15,000 debt” (29 January 2010). Retrieved from http://www.dutchnews.nl/news/archives/2010/01/students_leave_university_with/

--------------. “Students leave university on average €14,675 in debt” (30 August 2011). Retrieved from http://www.dutchnews.nl/news/archives/2010/01/students_leave_university_with/

Janssen, Jacques & Voestermans, Paul. 1981. “Students and Politics in the Netherlands” The  Netherlands Journal of Sociology, 17: 49-72.

Koopmans, Joop W. & Huussen Jr., Arend H. (2007). Historical Dictionary of the Netherlands (2nd Edition). Lanham, Maryland, Toronto and Plymouth: The Scarecrow Press, Inc.

“Maagdenhuis (Amsterdam)”. Retrieved on 9 December 2017 from https://nl.wikipedia.org/wiki/Maagdenhuis_%28Amsterdam%29

Torenbeek, Jeroen & Veldhuis, Jan. (2010). “Excellence and Egalitarianism in Higher Education” in Emmeline Besamusca & Jaap Verheul (eds.) Discovering the Dutch: On Culture and Society of the Netherlands, pp. 203-214. Amsterdam: Amsterdam University Press.

Robert, Benjamin B. 2017. Sex, Drug and Rock ’n’ Roll in the Dutch Golden Age. Amsterdam: Amsterdam University Press.

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จักรยานในฐานะเครื่องมือสลายชนชั้น...ประสบการณ์จากเนเธอร์แลนด์
พิพิธภัณฑ์ในเนเธอร์แลนด์...ทำไมถึงอยู่ได้ทั้งที่ค่าตั๋วแพง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: