แพทย์เผยงานวิจัยพบ ม.2 เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า ผู้ใหญ่เสี่ยงตายหากรับเกิน 60 มก. เด็ก 6 มก. นิโคตินวิ่งเข้าเลือด 7 วินาที ทำร้ายสมองชั้นสูงทักษะการคิด-วิเคราะห์แย่ลง ชี้ผิดกฎหมาย ผู้ผลิต-ผู้สั่ง-ผู้นำเข้าเพื่อขาย จำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้าน ที่มาภาพประกอบ: George Hodan (CC0 1.0)
เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2560 ที่ห้องประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ถนนพระราม 6 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดเสวนาเผยแพร่ข้อเท็จจริง เรื่องอันตรายจากบุรี่ไฟฟ้า รูปแบบต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ในการควบคุมป้องกัน และปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องด้วยก่อนหน้านี้กระทรวงพานิชย์ ได้ประกาศเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีมติห้ามจำหน่ายและให้บริการทั้งบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าและบุหรี่ไฟฟ้า แต่กลับมีรายงานจากต่างประเทศ อ้างบุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำให้เลิกสูบบุรี่ได้ถึง 95%
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าเอกสารจากกระทรวงสาธารสุขสหรัฐอเมริกาพบบุหรี่ไฟฟ้า (E-Cigarettes) จะส่งผ่านสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายในรูปแบบละอองฝอย โดยไม่ต้องมีการเผาไหม้หรือลุกไหม้ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่สวยหรู ดึงดูดใจและทันสมัย พัฒนาให้สามารถฟังเพลงได้ผ่านบูทูธ ขณะสูบก็ฟังเพลงไปได้ด้วย แบตเตอรี่ทนทาน ด้ามจับปรับสั้น-ยาวได้ ปรุงแต่งรสชาติ ช็อกโกแลต วานิลลา กลายเป็นสิ่งที่เย้ายวนใจต่อกิเลสของมนุษย์ ซึ่งสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า หากผู้ใหญ่ได้รับเกิน 60 มก. และเด็ก 6 มก. คือปริมาณเสี่ยงต่อการเสียชีวิต คล้ายกับกินยาฆ่าตัวตาย เพราะสารนิโคตินจะเข้าสู่กระแสเลือดภายใน 7 วินาที กระทบสมองชั้นสูงไปทำลายทักษะการคิด วิเคราะห์ ลดน้อยลงในทันที
“นิโคตินไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่แล้ว บุหรี่ 1 ซอง นิโคตินจะเท่ากับ 24 มก. ทั้งการปรุงรสชาติ ไม่แน่ใจว่าผู้ผลิตทำเพื่อให้วัยรุ่นเริ่มบุหรี่ หรือเลิกบุหรี่กันแน่ คำถามคือใส่รสชาติทำไม ต้องการให้ทดลอง และสูบต่อไปเรื่อย ๆ เพราะวัยรุ่ยชอบของใหม่ อยากท้าทาย ซึ่งมีหลายประเทศพัฒนานำไปใส่สารเสพติดชนิดอื่น ๆ ยิ่งถ้าเริ่มสูบมากเท่าไหร่ สมองส่วนที่สร้างวงจรเสพติด ก็จะสุกงอม ติดทน ติดยาว และเลิกยาก” รศ.นพ.สุริยเดว ระบุ
พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์ ผอ.สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารสุข กล่าวว่า ผลสำรวจปี 2558 ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลก พบเยาวชน 13-15 ปี มีแนวโน้มสูบบุหรี่มากขึ้น ตั้งแต่ชั้น ม.2-ม.4 โดยภาพรวมใกล้เคียงกับปี 2548 และ 2552 ที่ผ่านมา เยาวชนชายสูบบุหรี่ร้อยละ 21.8 และหญิงร้อยละ 8.1 ขณะที่เยาวชนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 4.7 และหญิงร้อยละ 1.9 ซึ่งผลสำรวจในสองรอบที่ผ่านมาบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่เเพร่หลาย โดยประเทศไทยเพิ่งห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อ 27 ธ.ค. 2557 หากฝ่าฝืนนำเข้าโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5 เท่าของสินค้า ส่วนบทลงโทษผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนห้ามขายและบริการ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ผู้ผลิต ผู้สั่ง ผู้นำเข้าเพื่อจำหน่าย โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้สารหรือสิ่งอื่นใดที่นำมาใช้กับอุปกรณ์เหล่านี้ จะถือเป็นสิ่งต้องห้ามทั้งหมด เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ตรวจเฉพาะสารนิโคตินหรือสารชนิดใด ซึ่งนักสูบหน้าใหม่ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าหากจะเอาผิดกฎหมายก็สามารถเอาผิดได้
ขณะที่ ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผอ.ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวให้ความเห็นใครอยู่เบื้องหลังว่าเมื่อต้นเดือน พ.ย.ปี 2558 บริษัทบุหรี่พยายามดิสเครดิตรัฐบาลไทย ซึ่งตั้งแต่ปี 56 เป็นต้นมานั้น การควบคุมยาสูบได้ผลดีตามลำดับ บริษัทบุหรี่จึงผลิตบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อทดแทน ชูให้เห็นการซื้อบุหรี่ไฟฟ้า 1 มวน จะเทียบเท่ากับซื้อบุหรี่ธรรมดา 16 , 40 และ 200 มวนแล้วแต่ขนาด แนวโน้มการขายบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ ทั้งการปรุงรส ไม่มีสารทาร์ ไม่ก่อมะเร็ง สร้างมายาคติว่าอันตรายน้อย เป็นบุหรี่ทางเลือก และพบงานวิจัยรองรับเมื่อนักสูบหน้าใหม่ถูกจำกัดการสูบบุหรี่ไฟฟ้า จะกลายเป็นผู้ติดบุหรี่แบบธรรมดา ซึ่งขณะนี้มี 55 ประเทศมีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และ 17 ประเทศ กำหนดให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าก่อมะเร็งได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ