รัฐเผยคดีจับสถานบันเทิง 'นาตาลี-บิ๊กบอส' ส่งรายงาน TIP หวังขยับสถานะดีกว่าเดิม

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 มี.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3499 ครั้ง

รัฐเผยคดีจับสถานบันเทิง 'นาตาลี-บิ๊กบอส' ส่งรายงาน TIP หวังขยับสถานะดีกว่าเดิม

กระทรวงการต่างประเทศส่งรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้สหรัฐ มั่นใจปีนี้สถานะไทยขยับดีกว่าเดิม แจงความคืบหน้า 6 คดีใหญ่ ซึ่งรวม 'คดีการจับสถานบันเทิงคาราโอเกะนาตาลีและบิ๊กบอส' ด้วย ที่มาภาพประกอบ: matichon.co.th

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ระบุว่ากรมอเมริกาฯ ได้จัดทำ รายงานเพื่อประกอบพิจารณาจัดทำรายงานการค้ามนุษย์ TIP Report ประจำปี 2560 และจัดส่งรายงานไปยังสหรัฐ สหภาพยุโรป องค์การระหว่างประเทศ ไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องและนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลในการแก้ปัญหาและกำจัดการค้ามนุษย์ในประเทศไทยซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้รับผิดชอบ กำกับดูแล สั่งการ มีกลไกการประสานงาน และการทำ MOU กับรัฐบาลและภาคเอกชนต่างประเทศ

โดยรายงานของกรมอเมริกาฯได้แสดงถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาทั้ง 5 ด้าน โดยมีเป้าหมายที่จะลดปัญหาการค้ามนุษย์ให้เป็น 0 หรือ "Zero Tolerance" ให้หมดไปจากประเทศไทยและจากภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลไทยตระหนักดีว่า "ปัญหาการค้ามนุษย์ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง" ส่วนการดำเนินการต่อจากนี้ไป กรมอเมริกาฯจะรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ (Progressive Report) อีกครั้งภายในเดือนมีนาคม 2560 โดยสรุปผลการทำงาน 3 ปีที่ผ่านมาจากปี 2014-2016 ซึ่งไม่เพียงเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการกำจัดการค้ามนุษย์ของสหรัฐแล้ว แต่ในหลายเรื่องรัฐบาลไทยทำได้ดีกว่ามาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐเสียอีก

สำหรับประเด็นสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในปีที่ผ่านมาของรัฐบาลไทยก็คือการจัดทำแผนแม่บทเพื่อแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ (Master Plan) 3 ปีนับจาก 2560-2562 รวม 24 เรื่อง, ผลสำเร็จจากการดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์รายใหญ่ (Big Fish) มีจำนวนถึง 6 คดี ได้แก่ คดีการจับสถานบันเทิงคาราโอเกะนาตาลีและบิ๊กบอส หรือ The Silver Sea case, The case of Pol.Col., Supat Laohawatana, The Gig peeling shed in Samut Sakhon case, The Rohingya cases และ The case concerning human trafficking in the Indonesian Islands

การดำเนินคดีทำให้สามารถเอาผิดกับ "ผู้ต้องหา" ซึ่งเป็นผู้ค้ามนุษย์รายใหญ่และผู้ต้องหาที่เป็นข้าราชการเพิ่มขึ้น 10 คน ใน 2 คดี (นาตาลี-บิ๊กบอส) รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับระดับภูมิภาคอาเซียนในการให้สัตยาบัน อนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 มีนาคมนี้ และรัฐบาลไทยได้มีการคัดแยกผู้เสียหาย เยียวยา และให้โอกาสเหยื่อที่เสียหายให้สามารถกลับสู่สังคมและใช้ชีวิตโดยปกติมากขึ้น

"ทั้งหมดนี้รัฐบาลไทยได้ตั้งใจทำไม่เพียงเพราะ ทำตามข้อเรียกร้อง 17 ข้อของสหรัฐเท่านั้น แต่เรามีประเด็นจากที่ไทยทำงานเองด้วยเพิ่มขึ้นมา 24 ข้อ จาก 1) สิ่งที่เราทำต่อเนื่อง 2) จากการรับฟังข้อมูลและความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งสหรัฐ องค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาชน แต่แน่นอนว่ายังมีเรื่องที่รัฐบาลไทยจะต้องทำต่อเนื่อง ซึ่งในประเด็นนี้ได้เขียนไว้ใน Future Plan ว่า รัฐบาลไทยจะทำอะไรต่อไปในปี 2560 นี้อีก 24 ประเด็น ดังนั้นถ้ารัฐบาลสหรัฐพิจารณาอย่างสมเหตุสมผลกับสิ่งที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการมา ซึ่งมั่นใจว่าไทยทำได้ดีในทุกด้านต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว สถานะของประเทศไทยจึงไม่น่าจะเท่าเดิม (Tier 2 Watch List) โดยหลักการแล้วไม่ใช่ต้องปรับขึ้นตามลำดับจาก Tier 2 Watch list แล้วขึ้นเป็น Tier 2 แต่อาจจะข้ามขึ้น Tier 1 เลยก็ได้" นายทรงศักกล่าว

สำหรับความคืบหน้าทั้ง 5 ด้าน ประกอบไปด้วย 1) ด้านนโยบาย (Policy) ไทยมีการแก้ไขกฎหมายสำคัญ ๆ 5 ฉบับ อาทิ การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ในเรื่องของคำนิยามแรงงานขัดหนี้และเพิ่มข้อบทดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่ถูกใช้แรงงาน, กฎหมายดูแลบริษัทนายหน้าแรงงาน (โบรกเกอร์) ที่นำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้เพิ่มงบประมาณในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2560 เพิ่มขึ้น 23.88% จากปีงบประมาณ 2559 สะท้อนว่า รัฐบาลไทยได้เพิ่มทรัพยากรเข้าไปเพื่อแปรนโยบายให้มีการปฏิบัติ

2) ด้านการดำเนินคดี (Prosecution) ในช่วง 3 ปีเพิ่มขึ้น โดยพบว่าจำนวนคดี ปี 2559 เปิดคดีใหม่ 333 คดี หรือเพิ่ม 5% จำนวนคดีที่อัยการส่งฟ้องศาล ปี 2559 มีจำนวน 301 คดี รวมคดีที่ตกค้างมาจะเพิ่มขึ้น 19.92% และผลการตัดสินลงโทษผู้กระทำความผิดคดีค้ามนุษย์ ปี 2559 เพิ่มเป็น 268 คนหรือเพิ่มขึ้น 30.7% ในจำนวนนี้ (268 คน) ที่ตัดสินลงโทษ แบ่งเป็น โทษจำคุก 2 ปี ซึ่งถือว่าเป็นโทษหนักพอสมควร 243 คน หรือคิดเป็น 90.7% ของจำนวนผู้กระทำผิด จำคุก 5 ปี จำนวน 153 คน (คิดเป็น 57.1%) และจำคุก 10 ปี จำนวน 55 คน (คิดเป็น 20.5%) นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังมีการจัดตั้งโครงการพิเศษเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาสื่อลามกเด็ก (TICAC) ทำให้จำนวนคดีเรื่องสื่อลามกเพิ่มขึ้นและจับกุมได้มากขึ้น การตั้งศูนย์ดูแลเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ (Child Advocacy Center) ที่ร่วมกับสหรัฐ

3) ด้านการปกป้อง (Protection) มีการขยายเวลาให้เหยื่อที่เป็นพยานในการดำเนินคดีอยู่ในไทยได้ 2 ปี และเพิ่มการปรับปรุงกระบวนการคัดแยกผู้เสียหาย (เหยื่อ) การจัดทำคู่มือการคัดแยกเหยื่อ เพื่อแยกกลุ่มที่เป็นพยานที่จะไม่นำไปสู่การดำเนินคดี และกลุ่มที่ต้องไปสู่การดำเนินคดี ตามองค์ประกอบทางกฎหมายค้ามนุษย์ ส่งผลให้จำนวนผู้เสียหายที่คัดแยกออกมาไปอยู่ในความดูแลของ พม. ปี 2559 จำนวน 561 คน ได้ทำงาน 196 คน เพิ่มขึ้น 350.1% จากปี 2558 ที่มีจำนวนผู้เสียหาย 471 คน ได้ทำงาน 47 คน ถือเป็นความก้าวหน้ามากขึ้น

4) ด้านการป้องกัน (Prevention) มีการจัดทำ แผนแม่บทบริหารจัดการแรงงาน 4 ปี (Master Plan for Labour Management for 2017-2020) ระหว่างปี 2560-2563 การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อีกหลายฉบับ พร้อมกันนี้ยังมีมาตรการดูแลปัญหาการค้าประเวณี โดยการประสานกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบและขึ้นบัญชีปฏิเสธห้ามเข้าประเทศ (Back List) เพื่อลดปริมาณความต้องการซื้อ (Demand) โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย เพื่อหาซื้อสื่อลามกเด็กและใช้บริการทางเพศผิดกฎหมาย

5) การสร้างความร่วมมือ (Partnership) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ทั้งภายในประเทศและหน่วยงานระหว่างประเทศรวม 50 องค์กร โดยเป็นภาคประชาสังคม 21 องค์กร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: