เสนอยกเลิกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 ธ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 7069 ครั้ง

เสนอยกเลิกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

'ที่ประชุมกลุ่มสมาคมการค้าของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสุรา' หรือ 'ทปสส' เสนอยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายลูกหลายฉบับ ชี้สร้างความสับสนให้กับภาคธุรกิจด้วยข้อความที่สามารถตีความได้สุดโต่ง ทั้งการห้ามโฆษณา การควบคุมฉลาก การห้ามวันเวลาและสถานที่ในการจำหน่าย และห้ามส่งเสริมการขายด้วยวิธีต่าง ๆ ที่มาภาพประกอบ: Food Group (CC BY-SA 2.0)

เว็บไซต์สุราไทย รายงานเมื่อเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าสืบเนื่องจากการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดแถลงข่าวห้ามประชาชนโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงในสื่อโซเชียล และได้มีการดำเนินคดีกับดาราหลายคนที่แสดงภาพเบียร์ใน Instagram จากนั้นก็ดำเนินคดีกับพนักงานเชียร์เบียร์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ทำให้บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มารวมตัวปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ตลอดจนปัญหาที่พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายลูกหลายฉบับ ได้สร้างความสับสนให้กับภาคธุรกิจด้วยข้อความที่สามารถตีความได้สุดโต่ง ทั้งการห้ามโฆษณา การควบคุมฉลาก การห้ามวันเวลาและสถานที่ในการจำหน่าย และห้ามส่งเสริมการขายด้วยวิธีต่างๆ

ในที่สุดทางแอดมินเว็บสุราไทยจึงได้ร่างหนังสือร่วมกับกลุ่มสมาคมต่างๆ ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “ที่ประชุมกลุ่มสมาคมการค้าของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสุรา” หรือย่อว่า “ทปสส” และส่งหนังสือแจ้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ ไปยังคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งมี ศ.ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน

ต่อมาท่าน ศ.ดร. บวรศักดิ์ ได้มอบให้คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน (มีนายสุรชัย ภู่ประเสริฐ เป็นประธาน) เป็นผู้พิจารณาข้อเสนอแนะที่เราได้ส่งไป

ต่อมาเราได้รับหนังสือเชิญให้ส่งผู้แทนของ ทปสส.  จำนวน 4 คน เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการ ในวันที่ 15 พ.ย. 2560 ณ ห้องประชุม ตึกอำนวยการ ทำเนียบรัฐบาล

ในการชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการฯ ในวันนั้น เราได้รับโอกาสให้อธิบายประเด็นต่างๆ ที่เสนอไปในหนังสือข้อเสนอแนะอย่างละเอียด และท่านประธานฯ ยังได้อนุญาตให้เราเสนอประเด็นต่างๆ ได้อย่างไม่จำกัดเวลา รวมทั้งได้ขอให้เราส่งข้อมูลเพิ่มเติมเป็นเอกสารอีกครั้งภายในวันจันทร์ที่ 20 พ.ย. 60 เพราะคณะอนุกรรมการฯ จะประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 22 พ.ย. ทำให้เรามีกำลังใจขึ้นมาก เพราะเห็นว่าท่านให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ต่อมาได้ทราบว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ถ้าเป็นศาลก็เรียกว่าฝ่ายถูกฟ้องหรือจำเลย) เข้าชี้แจงให้ข้อมูล ซึ่งเราเชื่อว่าคำชี้แจงของจำเลยน่าจะรับฟังไม่ขึ้น เพราะเหตุผลของ ทปสส. มีข้อมูลยืนยันชัดเจนและมีเหตุมีผล มีผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์

ต่อไปนี้เป็นเนื้อหาหนังสือข้อเสนอแนะ 2 ฉบับ ที่เสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย และคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน

ฉบับที่ 1 (18 ต.ค. 60)

เรื่อง ขอเสนอประเด็นปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เรียน ประธานกรรมการ คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย

ด้วยข้าพเจ้าซึ่งเป็นสมาคมการค้าของผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การนำเข้า จัดจำหน่าย และการให้บริการเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายต่างๆ ที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ อันไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรฐานการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเสริมสร้างสุขภาพของประชาชนโดยส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่ายนั้น

ในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ตีความและบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ กระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการ ตลอดจนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วไป และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายหลายประการ

ในการนี้ ข้าพเจ้าผู้ได้รับผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ จึงขอเรียนเสนอปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ต่อท่านดังต่อไปนี้

1. การโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 บัญญัติว่า

“มาตรา 32 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือทางอ้อม
การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร”

จากความในมาตรา 32 วรรคแรก เป็นการห้ามบุคคลทั่วไป มิให้ “โฆษณา” โดยแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม โดยนิยามของการโฆษณา ในมาตรา 3 ของ พระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ระบุว่า “โฆษณา” หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด ดังนั้นหากบุคคลทั่วไปจะมีความผิดตามมาตรานี้ จะต้องกระทำการแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า แต่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ประชุมร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วแถลงข่าวห้ามประชาชนทั่วไปแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อสังคมออนไลน์ แม้ว่าประชาชนจะมิได้กระทำเพื่อการโฆษณาอันมีผลประโยชน์ทางการค้าก็ตาม เป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากผู้บังคับใช้กฎหมายมักอาศัยหลักดุลพินิจในการพิจารณาว่า การแสดงภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่ากรณีใดๆ ถือเป็นการชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม และอาจถูกจับดำเนินคดีได้ทั้งสิ้น อีกทั้งระบบกฎหมายไทยเป็นระบบกล่าวหา ซึ่งผู้ที่ถูกกล่าวหาจากผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องเสียเวลาต่อสู้คดี ต้องเสียเงินค่าประกันตัว และค่าจ้างทนายความ และต้องเสียเวลาในการขึ้นศาลเพื่อรอผลการพิจารณาคดีเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ถูกกล่าวหามักยอมรับสารภาพ และยอมถูกเปรียบเทียบปรับ นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็มีแรงจูงใจในการกล่าวหา เนื่องจากมาตรา 45 แห่ง พระราชบัญญัตินี้ กำหนดให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอำนาจเปรียบเทียบความผิดได้ โดยระเบียบกรมควบคุมโรค พ.ศ. 2555 ได้กำหนดให้จ่ายเงินสินบนให้กับผู้แจ้งความนำจับร้อยละ 20 และจัดสรรเงินรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่ผู้จับถึงร้อยละ 40 อันอาจทำให้เจ้าหน้าที่มุ่งกล่าวหากับประชาชนที่ไม่มีเจตนาในการโฆษณาสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด

การตีความมาตรา 32 วรรคแรกซึ่งไม่มีความชัดเจน ใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงาน และมีแรงจูงใจจากเงินรางวัลนำจับ จึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพที่สร้างภาระแก่ประชาชน สร้างความเดือดร้อนสับสนให้กับบุคคลทั่วไปที่พึงประสงค์จะแสดงภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยบริสุทธิ์ใจ

2. การจำกัดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 28 บัญญัติว่า

“มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัน หรือเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวจะกำหนดเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นใดๆ เท่าที่จำเป็นไว้ด้วยก็ได้
บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับการขายของผู้ผลิตผู้นำเข้าหรือตัวแทนของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไปยังผู้ขายซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสุรา”

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2558 ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา 11.00 น. ถึงเวลา 14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00 ถึงเวลา 24.00 น. ยกเว้นการขายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติและการขายในสถานบริการซึ่งเป็นไปตามกำหนดเวลาเปิดปิดของสถานบริการ โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ไม่มีเหตุผลอ้างอิงว่าเหตุใดจึงห้ามจำหน่ายนอกเหนือจากเวลาดังกล่าว การห้ามจำหน่ายตามเวลาที่ห้ามไม่มีผลต่อการลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน เพราะผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าก่อนหรือหลังเวลาห้ามขายได้ แต่กลับมีผลเสียต่อธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ เนื่องจากได้ห้ามการขายในโรงแรมในช่วงเวลา 14.00 น. ถึงเวลา 17.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าพักในโรงแรม หากแต่โรงแรมไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับนักท่องเที่ยวได้ จึงส่งผลต่อการประกอบธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว อีกทั้งกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนั้นการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาดังกล่าว ยังมีผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ ที่ต่อเนื่อง ทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร และร้านจำหน่ายสินค้ารายย่อยอีกด้วย

3. การส่งเสริมการขาย
มาตรา 30 กำหนดว่า

ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะดังต่อไปนี้ (1) ใช้เครื่องขายอัตโนมัติ (2) การเร่ขาย (3) การลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย (4) ให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง หรือให้บริการชิงโชค ชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด (5) โดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกับสินค้าอื่น หรือแจกจ่ายในลักษณะเป็นตัวอย่าง และ (6) โดยวิธีหรือลักษณะอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ

กรณีเป็นการกระทำหรือกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น การลดแลกแจกแถม หรือ “Happy Hour” เป็นต้น ในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการก็ถือเป็นการทำกิจกรรมภายในสถานที่ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจและอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว กับทั้งผู้เข้าไปใช้บริการภายในสถานบริการประสงค์ที่จะเข้าไปใช้บริการและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้วเช่นกัน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจโดยสุจริตตามสิทธิที่กฎหมายเกี่ยวกับสถานบริการได้ให้ไว้

ดังที่ได้เรียนชี้แจงมาดังกล่าวแล้วข้างต้น ข้าพเจ้าทั้งหลายขอความกรุณาจากท่านได้โปรดพิจารณาปัญหาดังกล่าว โดยข้าพเจ้าทั้งหลายยินดีที่จะชี้แจงแสดงเหตุผลและข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาของท่าน โดยผู้แทนสมาคมต่างๆ ที่มีชื่อข้างท้าย ยินดีให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของท่านดังกล่าวต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ฉบับที่ 2 (20 พ.ย. 60)

เรื่อง ขอเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาของมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เรียน ประธาน คณะอนุกรรมการยกเลิกกฎหมายที่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น

ตามที่พวกข้าพเจ้าซึ่งเป็นสมาคมการค้าของผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การนำเข้า จัดจำหน่าย และการให้บริการเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ส่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาของมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ดังหนังสือลงวันที่ 18 ตุลาคม 2560 สรุปเป็น 4 ประเด็นได้แก่

  1. การโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. การจำกัดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  3. การส่งเสริมการขาย
  4. การใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงาน และการเปรียบเทียบปรับโดยมีเงินรางวัลนำจับ

และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ผู้แทนของพวกข้าพเจ้าได้แก่ …. (ขอสงวนนาม) ได้เข้าเรียนชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการฯ ถึงประเด็นต่างๆ ดังกล่าวด้วยวาจา ความทราบแล้วนั้น บัดนี้จึงขอส่งข้อมูลเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็นตามที่คณะอนุกรรมการฯ ได้แจ้งในที่ประชุมดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 5 การควบคุมฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า

มาตรา 26 ให้ผู้ผลิตหรือนําเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปฏิบัติดังต่อไปนี้
“(1) จัดให้มีบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการและประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2558 กำหนดว่า

ข้อ 2 ฉลากและบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องไม่ใช้ข้อความที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ
(2) ข้อความที่เชิญชวนให้บริโภคหรืออวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยทางตรงหรือทางอ้อม

ข้อ 3 การกระทำที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นลักษณะตามข้อ 2 (2)
(1) ข้อความที่ทำให้เกิดทัศนคติว่า จะทำให้ประสบความสำเร็จในทางสังคมหรือทางเพศ หรือทำให้สมรรถภาพทางร่างกายดีขึ้น
(2) ข้อความหรือภาพที่มีนักกีฬา
(3) ข้อความหรือภาพที่มีดารา ศิลปิน นักร้อง หรือนักแสดง
(4) ข้อความที่ใช้ภาพการ์ตูน เว้นแต่เป็นภาพเครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้โดยถูกต้องแล้วก่อนประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ
(5) ข้อความที่ชักจูงหรือโน้มน้าวให้ซื้อหรือบริโภคเพื่อนำรายได้ไปบริจาคเป็นสาธารณกุศล
(6) ข้อความที่ชักจูงหรือโน้มน้าวให้เข้าร่วมกิจกรรมทางด้านดนตรี กีฬา การประกวดหรือนันทนาการอื่นๆ

ในการควบคุมฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้พยายามเสนอร่างประกาศ ต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ โดยให้มีการแสดงภาพคำเตือนเป็นภาพอุบัติเหตุบนฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายฯ ดังรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2557 วันที่ 24 ธันวาคม 2557 วาระที่ 4.6

การแสดงภาพคำเตือนดังกล่าวและข้อห้ามอื่นๆ ตามประกาศฉบับนี้ ได้รับการคัดค้านจากประเทศสมาชิกความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barrier to Trade, TBT) ขององค์การค้าโลก (WTO) ตั้งแต่ปี 2558 และล่าสุดในการประชุมเมื่อวันที่ 10 – 11 พ.ย. 2559 สมาชิก TBT หกประเทศได้แก่สหรัฐอเมริกา คานาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น กัวเตมาลา รวมทั้งกลุ่มสหภาพยุโรปแสดงความกังวลต่อประกาศฉบับนี้อีกครั้ง ดังรายงานการประชุมหน้า 31

กลุ่มสหภาพยุโรปได้มีข้อสอบถามว่า ยังไม่ได้รับคำตอบของข้อสงสัยที่เสนอไว้ตั้งแต่ธันวาคม 2558 และในการประชุมครั้งก่อนๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนของข้อกำหนดของข้อความที่อนุญาตให้ใช้บนฉลากได้ ซึ่งอาจทำให้คำบางคำที่มักใช้เป็นปกติบนฉลากในสหภาพยุโรป เช่นระยะเวลาในการบ่มและคุณภาพและลักษณะเฉพาะของสุรา จะไม่สามารถใช้ได้บนฉลากอีกต่อไป

และสหภาพยุโรปได้สอบถามว่า ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อประเมินผลและแก้ไขประกาศฉบับนี้โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเข้าร่วมให้ความคิดเห็นหรือไม่ และขอความชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวได้มีการบังคับใช้จริงจังเพียงใด

ผู้แทนประเทศกัวเตมาลาไม่เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถลดการบริโภคสุราลงได้จริง และขอให้ประเทศไทยแสดงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนมาตรการบังคับฉลากนี้ว่าสามารถลดการบริโภคลงได้โดยไม่เป็นการกีดกันทางการค้ามากเกินไป ข้อมูลบนฉลากที่ถูกห้ามเหล่านี้ แท้จริงแล้ว มิได้มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มการบริโภค หากแต่เป็นการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคถึงชนิดและลักษณะคุณภาพของผลิตภัณฑ์

นอกจากผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศแล้ว ผู้ประกอบกิจการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมฉลากนี้เป็นอย่างมาก โดยก่อนที่ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ได้ทำหนังสือเลขที่ 0102/2015 เรื่อง ขอหารือแนวทางการปฏิบัติตาม ประกาศคณะกรรมการควบคุมเรื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนกระทั่งวันที่ 22 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศฯ เรื่องดังกล่าวมีผลบังคับใช้ สำนักงานฯ จึงได้มีหนังสือตอบชี้แจง ที่ สธ 0407.4/756 โดยคำชี้แจงมิได้ตอบข้อหารือของสมาคมฯ หากแต่ระบุเพียงว่า “การพิจารณาข้อความหรือคำใดโดยเฉพาะเจาะจงนั้น จำต้องพิจารณาภาพรวมของฉลากแต่ละชิ้น หรือองค์ประกอบต่างๆ โดยรวม” อันอาจหมายความว่าการขออนุญาตฉลากจะต้องเพิ่มขั้นตอนในการส่งให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณาอีกขั้นตอนหนึ่ง อันเป็นการขัดแย้งกับหลักการที่ระบุไว้ใน เอกสารวิชาการ การปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 2) ว่าประกาศฉบับนี้ไม่ได้เพิ่มขั้นตอนใดๆ ในการขออนุญาต

ต่อมาในการประชุมเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับมาตรการควบคุมฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ผู้ประกอบการก็ไม่ได้รับความชัดเจนในการตีความประกาศฉบับดังกล่าวว่าข้อความใดใช้ได้ ข้อความใดใช้ไม่ได้

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ ต่อเอกสารวิชาการ เรื่อง “การปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 2)” ณ โรงแรมริชมอนด์ จ. นนทบุรี โดยมีคณะวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ดำเนินการ

ที่ประชุมสรุปเสนอว่า ควรมีการกำหนดข้อความ รูปภาพ ที่ห้ามใช้บนฉลากให้ชัดเจน โดยให้หน่วยงานที่เป็นคนกลาง เช่นคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมกับผู้ผลิต นำเข้า ผู้จำหน่าย ร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจน สามารถปฏิบัติได้ และตัดโอกาสการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ รายละเอียดข้อเสนอของผู้ประกอบการ ดังสรุปในรายงานผลการประชุมรับฟังความคิดเห็น

ประเด็นที่ 6 สถิติการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสถิติอุบัติเหตุ

มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดจนเกิดเป็นการกีดกันทางการค้า มีหลักการพื้นฐานหรือเหตุผลเนื่องจากผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อสังคม โดยผู้สนับสนุนและดำเนินการร่างกฎหมายเหล่านี้อาศัยสถิติการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสถิติอุบัติเหตุที่เกิดจากการดื่มอย่างไม่รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม สถิติขององค์การอนามัยโลกรายงานว่าในปี 2553 (คศ. 2010) ประเทศไทยมีการบริโภคแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 76 ของโลก โดยมีปริมาณ 7.1 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคนต่อปี

จะเห็นว่าประเทศไทยมิได้เป็นประเทศที่บริโภคแอลกอฮอล์มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกดังที่กลุ่มต่อต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กล่าวอ้าง อีกทั้งปริมาณการบริโภคยังน้อยกว่าประเทศที่ไม่มีปัญหาจากการดื่มแล้วขับรถยนต์หรือปัญหาสังคม เช่น ออสเตรเลีย (12.2 ลิตรต่อคนต่อปี) นิวซีแลนด์ (10.9 ลิตรต่อคนต่อปี) ญี่ปุ่น (7.5 ลิตร) เป็นต้น อีกทั้งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้มาแล้ว 9 ปี ยังไม่สามารถทำให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยลดลง โดยในปี 2559 องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าประเทศไทยจะมีปริมาณบริโภค 7.2 ลิตรต่อคนต่อปี (เพิ่มขึ้น 0.1 ลิตร จากปี 2553) จึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการควบคุมจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องในการลดปัญหาทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขาดความรับผิดชอบ และการบริโภคแอลกอฮอล์ที่มีความรับผิดชอบ ควรได้รับการส่งเสริม

สำหรับกรณีที่อ้างว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางรถยนต์ จากสถิติคดีอุบัติเหตุการจราจรทางบก จำแนกตามสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกประกาศต่างๆ จำกัดสิทธิประชาชนถึง 8 ฉบับ ได้แก่
1. ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ที่อยู่ในกํากับดูแลและใช้ประโยชน์ของราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
4. ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีเรื่อง กําหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5. ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในท่าเรือโดยสารสาธารณะ
6. ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง
7. ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีขนส่ง
8. ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3)

แต่จากสถิติดังกล่าว พบว่า สาเหตุของคดีอุบัติเหตุที่เกิดจากบุคคลเป็นอันดับหนึ่งคือ “ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด” จำนวน 8,140 คดี ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 7,164 คดี ส่วนสาเหตุเมาสุราเป็นอันดับที่ 8 จำนวน 1,364 คดี ซึ่งการดื่มสุรามิใช่สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุจราจร ตั้งแต่ก่อนที่กฎหมายเหล่านี้จะประกาศบังคับใช้

หากบังคับใช้กฎหมายจราจรที่มีอยู่แล้วอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหมวกกันน๊อค ดื่มไม่ขับ รักษาวินัยในการขับขี่ยานพาหนะ อุบัติเหตุจราจรเหล่านี้จะลดน้อยลงโดยไม่ต้องจำกัดสิทธิประชาชนในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีความรับผิดชอบ

ประเด็นที่ 7 ผลกระทบต่อวิชาชีพต่างๆ

มาตรการควบคุมการบริโภคและการจำหน่ายอย่างเคร่งครัดของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดผลกระทบต่อวิชาชีพที่เกี่ยวกับการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตัวอย่างเช่น

ร้านอาหารไม่สามารถแสดงภาชนะบรรจุของเครื่องดื่มในเมนูอาหารได้ แม้แต่ภาพแก้วเบียร์บนเมนูที่ไม่มีสัญลักษณ์ว่าเป็นเบียร์ชนิดใด ก็มีร้านอาหารถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล อาชีพพนักงานส่งเสริมการขาย ที่คอยแนะนำเบียร์ให้กับลูกค้าในร้านอาหาร จะต้องหมดไปเพราะห้ามการส่งเสริมการขาย

อาชีพนักผสมเครื่องดื่ม หรือ บาร์เทนเดอร์ จะต้องแสดงท่าทางคล่องแคล่วผาดโผนในการผสมเครื่องดื่ม และจะต้องตั้งขวด แก้ว ภาชนะบรรจุของสินค้าให้ลูกค้าได้เห็นชัดเจน แต่มีผู้ที่ถูกเจ้าพนักงานแจ้งว่าไม่สามารถกระทำได้ เพราะการวางสินค้าจำนวนมากเรียงไว้บนชั้นถือเป็นการโฆษณา จูงใจให้ดื่ม อาชีพนี้จึงเป็นอาชีพเสี่ยงที่จะไม่สามารถประกอบอาชีพได้หากมีการบังคับใช้กฎหมายด้วยดุลพินิจที่เกินขอบเขต แต่ข้อความในกฎหมายหลายฉบับ มีถ้อยคำที่สามารถทำให้ใช้ดุลพินิจได้ เพราะมักใช้คำว่า “ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”

อาชีพซอมเมอลิเย่ (Sommelier) คือผู้ให้ความรู้แก่ลูกค้าที่มารับประทานอาหาร และธรรมเนียมการรับประทานอาหารของชาวต่างชาติมักจะต้องมีไวน์เสมอ เพราะไวน์เป็นเครื่องดื่มเรียกน้ำย่อย และเป็นเหมือนซอสที่ทำให้อาหารอร่อยครบทุกคำ ดังนั้นกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงทำให้บทบาทของอาชีพซอมเมอลิเย่ลดน้อยลง สมาคมไทยซอมเมอลิเย่ พบว่าการจ้างงานอาชีพนี้ลดลงเป็นอย่างมาก

สรุปในภาพรวม มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดนี้ ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดก่อให้เกิดอันตรายแม้จะบริโภคในปริมาณน้อย ทำให้เกิดผลกระทบวงกว้างกับเครื่องดื่มที่โดยทั่วไปมิได้สร้างปัญหา หากแต่ยังเป็นเครื่องดื่มที่ยอมรับในสังคมและใช้ในศาสนกิจของบางศาสนา โดยเฉพาะการบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายโดยมีผลงานวิจัยสนับสนุนมากมาย เช่นการบริโภคไวน์แดงอย่างสม่ำเสมอช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นต้น ดังนั้นการให้ความรู้ และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ เช่น จำนวนดื่มมาตรฐาน (Standard drink) การดื่มอย่างรับผิดชอบ (Drink Responsibly) ดื่มไม่ขับ (Don’t Drink and Drive) และการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่ามาตรการควบคุมอย่างเข้มข้นจนเกิดการจำกัดสิทธิและกีดกันทางการค้า

จีงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: