เปิดคำวินิจฉัยศาลให้ บ.ฟาร์อีสท์ปั่นทอ จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง 95 คน 6.8 ล้านบาท

พัชณีย์ คำหนัก 12 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 6304 ครั้ง

เปิดคำวินิจฉัยศาลให้ บ.ฟาร์อีสท์ปั่นทอ จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง 95 คน 6.8 ล้านบาท

ศาลแรงงานภาค 3 (นครราชสีมา) มีคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ให้ บริษัท ฟาร์อีสท์ ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด สาขาพุทไธสง จ.บุรีรัมย์ จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง 95 คน รวมเป็นเงินกว่า 6.8 ล้านบาท 

จากกรณีพนักงานการ์เมนท์ของบริษัท ฟาร์อีสท์ ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 95 คนเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทฯ ที่ออกประกาศถึงพนักงานแผนกการ์เมนท์ 6 สาขาพุทไธสง เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2559 สั่งให้ทุกคนย้ายสถานที่ทำงาน โดยให้ไปรวมกับแผนกการ์เมนท์ 2 สาขาเพชรเกษม ถ.เพชรเกษม เขตหนองแขม กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 เป็นต้นไป  

ซึ่งพนักงานเห็นว่า เป็นการกลั่นแกล้งเอาเปรียบลูกจ้างเกินควรทำให้ลูกจ้างเดือดร้อน  ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 14/1 เนื่องจากบริษัทฯ รู้อยู่แล้วว่า ลูกจ้างทั้งหมดมีภูมิลำเนาพร้อมครอบครัวอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ และไม่สามารถย้ายไปทำงาน ณ สถานที่ทำงานตามคำสั่งได้ จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างและถือว่าเลิกจ้างโจทก์ทั้ง 95 คน ลูกจ้างจึงฟ้องร้องเรียกค่าจ้างค้างจ่าย ค่าสินจ้างแทนบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี

 ส่วนจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างให้การว่า สาเหตุที่ต้องย้ายเพราะประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การผลิตปริมาณลดลง ต้องปิดกิจการบางสาขา ซึ่งการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไขใหม่ มาตรา 75 ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งหากลูกจ้าง 95 คนไม่ย้ายไปตามคำสั่งถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ หากละทิ้งเป็นเวลา 3วันติดต่อกัน ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย 

บริษัท ฟาร์อีสท์ ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอ มีสาขาทั้งหมด 8 แห่ง โดยสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ถ.สาธุประดิษฐ์ เขตยานนาวา กรุงเทพฯ  มีกรรมการบริหาร 3 คน เคยผลิตให้แก่   แบรนด์โลตัส, Hybrid Apparel, Salalee, Gab, Levi, Amno  โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง 95 คนส่วนใหญ่มีตำแหน่งพนักงานฝ่ายผลิต ที่เหลือเป็นพนักงานตรวจสอบคุณภาพ เสมียน แพ็คกิ้งสโตร์ พนักงานทำความสะอาด ช่างไฟฟ้า ทำงานวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 8.00-17.00 น กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 8 และ 23 ของทุกเดือน อัตราเงินเดือนของพนักงานรายเดือน 8 คน จาก 95 คน ได้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่ 9,900/9,600 บาท ส่วนลูกจ้างรายวันจำนวน 87 คนได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2559 บริษัทฯ ออกประกาศแจ้งให้พนักงานทั้งหมดหยุดงาน โดยได้รับค่าจ้างร้อยละ 75 ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.-30 ก.ย. 2559 และต่อมาวันที่ 24 ส.ค. 2559 บริษัทฯ ก็ได้ออกประกาศย้ายสถานที่ทำงานดังที่กล่าวมาข้างต้น

 ลูกจ้างไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวเพราะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการย้ายถิ่นที่อยู่ เพราะบริษัทฯ ไม่ได้จัดหาที่พัก รถรับ-ส่ง หรือสวัสดิการอื่นเพิ่ม ทั้งเป็นการเอาเปรียบและเป็นการแสดงเจตนาที่ไม่สุจริต คือ ประกาศของบริษัทฯ ลงวันที่ 24 ส.ค. 2559 นี้ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่สาขาเพชรเกษมได้แจ้งปิดสถานประกอบกิจการไปเมื่อวันที่ 9 ก.ย. /ถ59  อีกทั้ง บริษัทฯ ยังได้ออกประกาศย้ายสถานที่ทำงานพนักงานทั้งหมดของแผนกการ์เมนท์ 2 สาขาเพชรเกษม เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2559 ให้ไปรวมกับพนักงานโรงงานปั่นด้ายนครชัยศรี จ.นครปฐม แล้วปิดกิจการแผนกการ์เมนท์ 2 ที่สาขาเพชรเกษม

 ต่อมาบริษัทฯ ก็ออกประกาศลงวันที่ 7 ก.พ. 2560 สั่งย้ายพนักงานโรงงานปั่นด้ายนครชัยศรีไปรวมกับพนักงานสำนักงานใหญ่ สาขาสาธุประดิษฐ์ กรุงเทพฯ ซึ่งในอดีตบริษัทฯ ได้ประกาศให้พนักงานการ์เมนท์ 1 สาขาสาธุประดิษฐ์ไปรวมกับพนักงานการ์เมนท์ 2 สาขาเพชรเกษมเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2558

 และในระหว่างที่มีคำสั่งย้าย (ต.ค.-พ.ย. 2559) พนักงานทั้งหมดของแผนกการ์เมนท์ 2 สาขาเพชรเกษม ไปรวมกับพนักงานโรงงานปั่นด้ายนครชัยศรี จ.นครปฐม และเมื่อพนักงานประสงค์จะย้ายตามคำสั่งของบริษัทฯ  บริษัทฯ ได้ขยายเวลาในการย้ายสถานที่ทำงานออกไป และได้ใช้วิธีบีบบังคับโดยตรงและโดยอ้อม หว่านล้อมต่างๆ ให้พนักงานลาออก เช่น ถ้าใครไม่ลาออกจะถูกมอบหมายงานหนักกว่าเดิม ถ้าใครเขียนใบลาออกจะพิจารณาเงินช่วยเหลือ 1.5 - 2 เดือน ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ต้องลาออกโดยไม่สมัครใจ

 นอกจากนี้บริษัทฯ ก็ไม่ได้นำสืบหักล้างในประเด็นข้างต้น บอกเพียงว่า การย้ายพนักงานการ์เมนท์ 6 สาขาพุทไธสงนั้นเพราะประสบปัญหาทางธุรกิจ  ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 56 ทำให้ต้นทุนสูง จึงต้องลดต้นทุน และบริษัทฯ ว่ามีสิทธิ์ที่จะโยกย้ายสับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงลักษณะงาน สถานที่ทำงานหรือเวลาทำงาน วันหยุดของลูกจ้างลงในหนังสือสัญญาว่าจ้างได้ จึงวางแผนที่จะปิดกิจการ แผนกการ์เมนท์ 6 สาขาพุทไธสงรวมถึงสาขาอื่นๆ ไว้ล่วงหน้า

คำวินิจฉัยของศาล

 การที่บริษัทฯ ออกประกาศให้ลูกจ้างแผนกการ์เมนท์ 6 สาขาพุทไธสงย้ายไปเพชรเกษม ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 แล้วสั่งให้ลูกจ้างแผนกการ์เมนท์ 2 สาขาเพชรเกษม ย้ายไปโรงงานปั่นด้ายนครชัยศรี ตามประกาศฉบับเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2559 นั้นเป็นระยะเวลาใกล้ชิดกัน และออกประกาศวันที่ 7 ก.พ. 60 สั่งย้ายพนักงานโรงงานปั่นด้าย นครชัยศรีไปทำงานที่สำนักงานใหญ่สาธุประดิษฐ์  และใช้วิธีหว่านล้อมพนักงานให้ลาออก เพื่อพ้นความรับผิดในการจ่ายค่าชดเชย สร้างความได้เปรียบแก่ลูกจ้าง 95 คน ศาลใช้ดุลพินิจพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำของบริษัทฯ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 14/1 อีกทั้งเป็นการกลั่นแกล้งพนักงานให้ลาออก คำสั่งของบริษัทฯ ลงวันที่ 24 ส.ค. 2559 จึงมิชอบ

 สำหรับประเด็นค่าชดเชย ศาลวินิจฉัยว่า บริษัทฯ ออกประกาศฉบับวันที่ 22 ส.ค. 2559 ให้พนักงานหยุดงานตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. - 30 ก.ย. 2559 แสดงว่า บริษัทฯ เจตนาปิดกิจการ พนักงานจึงไม่ได้ไปทำงาน จึงไม่ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ ที่เป็นเหตุให้บริษัทฯ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่กลับถือว่าบริษัทฯ เลิกจ้างพนักงานทั้ง 95 คนไปโดยปริยาย ซึ่งมีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 บริษัทฯ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง 95 คนตามกฎหมาย พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง (3 ต.ค. 2559) พร้อมออกหนังสือรับรองการทำงานแก่ลูกจ้างด้วย

ลูกจ้างได้ยื่นคำร้องให้ศาลออกคำบังคับให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำบังคับ แต่จนถึงปัจจุบันบริษัทฯ ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันบริษัทฯ พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างทั้งหมด ด้วยการขายทรัพย์สินให้กับบุคคลภายนอก

หมายเหตุ  พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 14/1 ระบุว่า สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างที่ทําให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ให้ศาลมีอํานาจสั่งให้ สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งนั้น มีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี

ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณบุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: