ต้นทุนดูแลคนชราพุ่ง คาดอีก 10-15 ปีทะลุ 6-7 แสนล้าน

ทีมข่าว TCIJ : 12 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 12548 ครั้ง

เมื่อไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย ประกอบกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ลูกหลานนิยมแยกครอบครัว การดูแลคนชราตกเป็นภาระของสังคมมากขึ้น ก.คลังประเมินอีก 10-15 ปี รัฐต้องใช้งบดูแลคนชราถึง 6-7 แสนล้านบาท เตรียมนำเงินจากภาษีสุรายาสูบอุดหนุนคนชรา 2%  งานศึกษาพบต้นทุนการดูแลบ้านพักคนชรารัฐพุ่ง 13,635 บาท/คน/เดือน แต่ยังต้องพึ่งเงินบริจาคกว่า 17% สะท้อนหากไม่มีเงินอุดหนุนเพิ่มบ้านพักคนชราก็อยู่ไม่ได้ โอนให้ท้องถิ่นจัดการยังขาดการเตรียมความพร้อมที่ดี โดยเฉพาะด้านบุคคลากร ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ (Aging Society) มาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไปเท่ากับร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ปัจจุบันสัดส่วนของประชากรสูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 15  และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2565 ไทยจะเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์’ (Aged Society) ประชากรอายุ 60 ปี จะขึ้นเพิ่มขึ้นเป็น 13.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.5 ของประชากรทั้งหมด [อ่านเพิ่มเติม จับตา: การเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ของไทย]

และจากการเก็บข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า จากตัวอย่างชุมชน 2,618 แห่ง ที่มีประชากรรวมจำนวน 8,181,181 คน ในปี 2560  มีผู้สูงอายุร้อยละ 18.5 โดยภาคเหนือมีประชากรสูงวัยมากที่สุดร้อยละ 22 ภาคกลางร้อยละ 20 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 17 และภาคใต้ร้อยละ 16 โดยเฉลี่ยพบว่าร้อยละ 20 มีปัญหาสุขภาพที่ต้องไปหาหมอเป็นประจำ

อีก 10-15 ปี รัฐต้องใช้งบดูแล 6-7 แสนล้าน เตรียมเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 900-1,300 บาท/เดือน

เมื่อเดือน ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา ในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง 'Wellness Aging สูงวัย มีสุข'  มีการเปิดเผยข้อมูลของกระทรวงการคลังว่าหากไม่เริ่มสนับสนุนเรื่องการออมเพื่อวัยเกษียณ ในช่วงอีก 10-15 ปี ข้างหน้า รัฐบาลจะต้องใช้งบดูแลผู้สูงอายุถึง 6-7 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีการเพิ่มเติมเงื่อนไขระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุให้สอดคล้องกับอนาคตประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น กองทุนประกันสังคม ที่กำลังมีการเสนอให้รับเงินบำเหน็จบำนาญจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี ส่วนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของกฤษฎีกา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2561และจะทยอยดำเนินการการจ่ายเงินสมทบเป็นขั้นบันได โดยหวังว่าภายใน 7 ปี จะมีสมาชิก 11 ล้านคนจากปัจจุบันที่มีแรงงานนอกระบบอยู่ที่ 25 ล้านคน คาดจะมีเม็ดเงินกองทุนฯ ประมาณ 1,700 ล้านบาท

และในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้นำเสนอโครงการสละสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 7 พ.ย.นี้ เพื่อให้มีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2560 เป็นต้นไป โดยหลักการเพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีฐานะดีหรือไม่จำเป็น ต้องใช้เบี้ยยังชีพให้สามารถสละสิทธิการรับเบี้ย เพื่อส่งเงินนำเข้ากองทุนผู้สูงอายุได้ และหลังจากนั้นจะนำเงินดังกล่าวไปจัดสรรเป็นเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย โดยจะเปิดให้สละสิทธิได้อย่างต่อเนื่องแบบไม่มีจำกัดระยะเวลา นอกจากนี้ก็ยังได้มีการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ (เข้า สนช. เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2560) ที่มีการกำหนดแหล่งเงินเพิ่มเติมสำหรับกองทุนผู้สูงอายุ โดยให้ได้รับเงินบำรุงกองทุนในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่เก็บจากสินค้าสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต (แต่ไม่เกินปีละ 4,000 ล้านบาท) ซึ่งคาดว่าจะนำมาเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุจาก 600-1,000 บาท เป็น 900-1,300 บาท ต่อเดือน

'อุทัยธานีโมเดล' ต้นแบบ ‘home care ท้องถิ่น’ ดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในชุมชน

 

กองทุนดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (LTC) ได้นำเสนอตัวอย่างการจัดระบบการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับสูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใน จ.อุทัยธานี ที่ได้เข้าร่วมดำเนินงานบริหารจัดการการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันมี อปท.สมัครเข้าร่วม 60 แห่ง จากจำนวน อปท.ในอุทัยธานี ทั้งสิ้น 62 แห่ง สำหรับ อปท.ที่เหลืออีก 2 แห่ง เตรียมที่จะเข้าร่วมเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้อุทัยธานีเป็นจังหวัดแรกของประเทศที่ อปท.เข้าร่วมดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงครบทุกแห่ง 

สำหรับโครงการนี้ นอกจากการสนับสนุนโดย สปสช.ที่ได้จัดสรรงบภายใต้กองทุน LTC จำนวน 5,000 บาทต่อคนต่อปีแล้ว อปท.ในอุทัยธานียังได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานพี่เลี้ยงกองทุน จ.อุทัยธานี เพื่อเป็นพี่เลี้ยงในการขับเคลื่อนกองทุน LTC ขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีตัวแทน อปท.และหน่วยงานสาธารณสุขทั้งระดับอำเภอและจังหวัด เป็นทีมสนับสนุนการดำเนินงานดูแลระยะยาวสำหรับผู้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงให้กับ อปท.ในพื้นที่ การวางกลไกติดตาม กระตุ้น และให้คำปรึกษาแนะนำ ส่งผลให้เกิดเครือข่ายและขยายการบริการดูแลผู้สูงอายุที่พึ่งพิงอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปี 

ข้อมูลจากคณะทำงานระบุว่าในยุคเริ่มต้นของการทำงาน LTC จ.อุทัยธานี มีรูปแบบการดำเนินงาน LTC น้อยมาก เนื่องจากมี อปท.ที่ทำในเรื่องนี้ไม่มาก ทำให้ อปท.และผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager: CM) ใน จ.อุทัยธานี ต่างมีความกังวลและไม่กล้าขับเคลื่อนงาน LTC ทำให้ผู้สูงอายุที่พึ่งพิงต้องเสียโอกาสที่จะได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบที่ดี คณะทำงานฯ จึงได้ร่วมปรึกษาหารือและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรค อาทิ การจัดทำแบบฟอร์มธุรการเพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน นอกจากนี้ยังพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สนใจและดำเนินงานกองทุน LTC โดยแต่ละ อปท.ต่างหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพเพื่อมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจ สิ่งใดที่เป็นข้อสงสัยก็ซักถามกันในเวที โดยมี สปสช.เป็นที่ปรึกษาสนับสนุนความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นทาง Online จนเกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุน LTC อย่างจริงจัง ซึ่งนอกจากการจัดอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver: CG) แล้ว จากความร่วมมือร่วมใจนี้ยังได้เกิด ‘กองทุนบุญ CG และ CM’ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุในส่วนที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ รวมทั้งเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน

 

ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในไทยมีกว่า 800 รายแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ

ผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจเห็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นด้วยเช่นกัน ปัจจุบันพบว่า ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในสถานบริการของไทยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ 1.รูปแบบการดูแลผู้สูงอายุระดับต่ำ (low care) เป็นการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่เน้นการรักษาจากแพทย์ แต่เน้นการดูแลทางสังคม การช่วยเหลือการดำรงชีวิตและการดูแลสุขภาพเบื้องต้น เช่น บ้านพักคนชรา และสถานดูแลช่วยเหลือเพื่อการดำรงชีวิต บุคลากรประกอบด้วย นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ระดับต่ำกว่า นอกจากนี้อาจมีนักกายภาพบำบัด นักอาชีวบำบัด และนักโภชนากร และ 2. รูปแบบการดูแลผู้สูงอายุระดับสูง (high care) เป็นการดูแลผู้สูงอายุมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือมีภาวะเปราะบาง ต้องการการช่วยเหลือดูแลติดตามอาการอย่างต่อเนื่องในด้านการพยาบาลและการรักษาจากแพทย์ เช่น สถานบริบาล สถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาล และสถานดูแลระยะสุดท้าย การดูแลจึงเน้นการดูแลความสุขสบายทั่วไป การฟื้นฟูสภาพ การทุเลาจากความทุกข์ทรมาน และการดูแลแบบองค์รวมที่มีความมุ่งเน้นที่การดูแลจิตวิญญาณ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่าปัจจุบัน (ปี 2560) มีผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยประมาณ 800 ราย เป็นนิติบุคคลจำนวน 200 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 2,282.97 ล้านบาท และเป็นบุคคลธรรมดาราว 600 ราย มีธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพบริหารจัดการจำนวน 75 ราย (นิติบุคคล 35 ราย และบุคคลธรรมดา 40 ราย) แต่หากนำจำนวนธุรกิจมาเปรียบเทียบกับสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปีแล้ว จะเห็นว่ายังมีช่องว่างความต้องการของตลาดอยู่มาก

ธุรกิจ Home care อีกหนึ่งทางเลือกของผู้สูงอายุ กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลได้เปรียบด้านการลงทุน

ธุรกิจ home care มีแนวโน้มพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ครอบคลุมมากกว่าแค่การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ แต่กระนั้นการเข้าถึงบริการนี้ก็มีราคาพอสมควรในบ้านเรา ที่มาภาพประกอบ: agilemktg1 (Public Domain)

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ที่เปิดเผยเมื่อเดือน พ.ค. 2560 ระบุว่าผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียงซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการการดูแลมากที่สุด ด้วยแนวโน้มอายุขัยเฉลี่ยของคนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 80 ปี ในปี 2563 จะยิ่งทำให้สัดส่วนผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียงมีความต้องการการดูแลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 36 นอกจากนี้การดูแลรักษาตัวที่บ้านมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเฉลี่ยราว 3 เท่า จึงเป็นโอกาสของธุรกิจ home care ในการตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุไทยที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ถึงแม้ว่า home care จะมีส่วนแบ่งตลาดในไทยเพียงร้อยละ 20 ของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ รองจากสถานดูแลผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันธุรกิจ home care เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นและมีแนวโน้มเติบโต สะท้อนได้จากการเติบโตของรายได้ราวร้อยละ 7 ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้หากเทียบอัตรากำไรของธุรกิจ home care กับ nursing home ที่มีระยะเวลาในการประกอบธุรกิจใกล้เคียงกัน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า home care มีอัตรากำไรเพิ่มขึ้นราว 2 เท่า ในขณะที่ nursing home มีอัตรากำไรที่ลดลง โดยจุดเด่นของ home care คือสามารถทำธุรกิจได้ง่ายกว่าและมีต้นทุนต่ำ เพียงแค่มีบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมให้สามารถดูแลผู้สูงอายุก็สามารถเริ่มทำธุรกิจได้ ซึ่งถ้าหากมีทักษะพยาบาลและมีความรู้ทางด้านการแพทย์จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการการดูแลผู้สูงอายุได้มากขึ้น ที่สำคัญ home care สามารถตอบโจทย์ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ได้มากกว่า โดยผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้งได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย ไม่ต้องปรับตัวมากเมื่อเทียบกับ nursing home นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าบริการรายเดือนในลักษณะการดูแลผู้สูงอายุที่ส่วนตัวเหมือนกันนั้น พบว่า home care มีค่าบริการต่ำกว่า nursing home ราวร้อยละ 10

ธุรกิจนี้มีแนวโน้มพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งการบริการพื้นฐานที่ดูแลด้านสุขภาพไปสู่การบริการที่ครบวงจร ซึ่งรูปแบบธุรกิจแบบแฟรนไชส์เป็นการขยายธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากใช้เงินลงทุนต่ำแต่ให้ผลตอบแทนสูง และยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ตลอดจนมีการจัดการที่เป็นระบบตั้งแต่การคัดกรองผู้ดูแลและมีโรงเรียนจัดอบรมผู้ดูแลให้มีมาตรฐานในการบริการที่เหมือนกัน ตัวอย่างในต่างประเทศ ธุรกิจ home care ในสหรัฐฯ ได้รับความนิยมสูงมีอัตราการเติบโตของรายได้ถึงร้อยละ 5 ต่อปี และมีการขยายธุรกิจในลักษณะแฟรนไชส์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งธุรกิจ home care 3 แห่งในสหรัฐฯ ได้แก่ Right at Home, Bright Star Care และ Synergy Home Care ติดอันดับธุรกิจแฟรนไชส์ยอดนิยมที่ใช้เงินลงทุนต่ำที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนแฟรนไชส์รวมกันถึง 1,162 แฟรนไชส์  บางรายมีรายได้จากการเปิดแฟรนไชส์แห่งแรกถึง 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 1 ปี และมีการขยายสาขาในต่างประเทศด้วย อาทิ สหราชอาณาจักร เยอรมนี จีน แคนาดา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นต้น สำหรับประเทศไทยกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลจะมีความได้เปรียบในการเข้ามาลงทุนธุรกิจ home care  มากกว่าผู้ประกอบการกลุ่มอื่น เนื่องจากมีผู้ดูแลที่มีทักษะพยาบาลและมีความรู้ทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยอยู่แล้ว

 

ต้นทุนบ้านพักคนชรารัฐอยู่ที่ 454.50 บาท/คน/วัน โอนท้องถิ่นแต่ขาดการเตรียมบุคคลากร

เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ของบ้านพักคนชราสังกัดหน่วยงานรัฐ พบว่า ต้นทุนการดูแลคนชราต่อหัวเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากงานวิจัยเรื่อง ต้นทุนการจัดการดูแลผู้สูงอายุระยะในสถาบัน: กรณีศึกษาศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ จังหวัดเชียงใหม่  โดย รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา และคณะ พบว่าในปี 2557 ต้นทุนการจัดการดูแลผู้สูงอายุ ณ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ จ.เชียงใหม่ สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นทั้งหมด ต้นทุนอยู่ที่ 461.39 บาทต่อคนต่อวัน ผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นในระดับมาก 456.91 บาทต่อคนต่อวัน และผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นในระดับปานกลาง 445.20 บาทต่อคนต่อวัน (นำมาหาค่าเฉลี่ยโดย TCIJ อยู่ที่ 454.50 บาทต่อคนต่อวัน หรือคิดเป็น 13,635 บาทต่อคนต่อเดือน) โดยร้อยละ 17 ของต้นทุนดูแลผู้สูงอายุมาจากเงินบริจาค ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลเพื่อการดูแลผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราของรัฐนั้น ไม่สามารถขาดแหล่งเงินสนับสนุนหรือทรัพยากรจากแหล่งอื่น ๆ ได้

ก่อนหน้านี้ ในการศึกษาเรื่อง Projection of demand and expenditure for institutional long term care in Thailand (อ้างในงานวิจัยของ รศ.ดร.วรเวศม์ และคณะ) ได้คำนวณต้นทุนของบ้านพักคนชราเมื่อปี 2550 จากของภาครัฐ 2 แห่ง องค์กรไม่แสวงกำไร (NGO) 1 แห่ง และภาคเอกชน 5 แห่ง พบว่าต้นทุนบ้านพักคนชราของภาครัฐเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 10,799-12,450 บาทต่อคนต่อเดือน ขององค์กรไม่แสวงกำไร 9,354 บาทต่อคนต่อเดือน และของเอกชน (รวมบริการพื้นฐานและบริการของนักกิจกรรมบำบัด) เฉลี่ย 25,750 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนงานศึกษาเรื่อง  Financing of long-term care services for older persons in Bangkok Metropolitan (อ้างในงานวิจัยของ รศ.ดร.วรเวศม์ และคณะ) ระบุว่าในปี 2551 อัตราค่าบริการของสถานบริบาลผู้สูงอายุรายเดือนที่เหมารวมเฉลี่ย โดยไม่จำแนกห้องในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 16,000 บาทต่อเดือน ในภาคเหนืออยู่ที่ 14,000 บาทต่อเดือน และในภาคใต้อยู่ที่ 22,000 บาทต่อเดือน

ที่มาตาราง: รายงานการติดตามประเมินผลการถ่ายโอนภารกิจสถานสงเคราะห์คนชราและศูนย์บริการทางสังคมผู้สูงอายุให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นอกจากนี้จากรายงานการวิจัยเรื่อง การติดตามประเมินผลการถ่ายโอนภารกิจสถานสงเคราะห์คนชราและศูนย์บริการทางสังคมผู้สูงอายุให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย ภุชงค์ เสนานุช และ วนิดา ดุรงค์ฤทธิชัย  ที่เผยแพร่ใน วารสาร มฉก.วิชาการ เมื่อปี 2555 พบว่าในขณะนั้นมีสถานสงเคราะห์คนชราและศูนย์บริการทางสังคมผู้สูงอายุที่ถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว 15 แห่ง ผลการติดตามประเมินผลพบข้อค้นพบที่สำคัญคือ 1.การเตรียมความพร้อมก่อนการถ่ายโอนภารกิจ ยังขาดการเตรียมความพร้อมที่ดี 2.ด้านภารกิจการดูแลผู้สูงอายุสถานสงเคราะห์และศูนย์บริการทางสังคมยังคงภารกิจเดิม มีเพียงบางแห่งเท่านั้นที่เน้นการทำงานเชิงรุก โดยเข้าไปสนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนมากขึ้น นอกจากนี้การดำเนินงานของหน่วยงานดังกล่าวยังขาดการตรวจและประเมินคุณภาพตามมาตรฐานการจัดบริการสังคมผู้สูงอายุซึ่งระบุไว้ในแผนการถ่ายโอนภารกิจ และ 3.ด้านการบริหาร สถานสงเคราะห์ฯส่วนใหญ่ขาดความคล่องตัวในการบริหารงาน บุคลากรที่ถ่ายโอนไปขาดโอกาสก้าวหน้าในสายงาน และขาดแคลนบุคลากรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งผู้วิจัยฯ มีข้อเสนอว่าควรมีการพัฒนาสถานสงเคราะห์ฯและศูนย์บริการทางสังคมผู้สูงอายุโดยเริ่มจากการตรวจประเมินมาตรฐานการจัดบริการสังคมผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ควรมีการกำหนดกรอบอัตรากำลัง ตำแหน่งงานและโอกาสก้าวหน้าในสายงานที่ชัดเจน รวมทั้งการพัฒนาบุคลกรที่ถ่ายโอนอย่างต่อเนื่อง

  

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: การเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ของไทย
ธุรกิจไทยเริ่มจ้างพนักงานสูงวัย แต่พบ ‘งานทักษะต่ำ-สัญญาจ้างปีต่อปี’

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: