การแจกผ้าห่มเป็นประเด็นทางการเมืองมาแล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2491 ส่วนหมุดหมายการแจกผ้าห่มในการเมืองสมัยใหม่น่าจะเป็นหลังปี 2542 ที่ประเทศไทยมีอุณหภูมิต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ และการที่ ‘กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย’ ชงเรื่องให้ผู้ว่าฯ ประกาศ ‘เขตพิบัติภัย’ พบการแจกผ้าห่มของ อปท. มีอย่างแพร่หลาย ดูกรณีศึกษาจาก สตง. ว่าการแจกผ้าห่มต้านภัยหนาวนั้นมีความไม่ชอบมาพากลอย่างไรบ้าง - การตั้งเกณฑ์ซื้อผ้าห่มใหม่อุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาฯ ทำแจกผ้าห่มยากขึ้น
‘ผ้าห่มกับการเมืองไทย’ ยุคแรก
ประเด็นการแจกผ้าห่มที่มีการพูดถึงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เท่าที่สืบค้นย้อนได้พบมีครั้งแรกใน การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5/วันที่ 25 พ.ย. 2491 มีกระทู้ถาม เรื่อง กรรมกรและชาวนาผู้ยากจน ขาดแคลนผ้าห่ม โดยนายทองดี อิสราชีวิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.เชียงใหม่ ได้ตั้งกระทู้ถาม จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่า "เนื่องด้วยขณะนี้ทางภาคเหนือหนาวจัดมาก ทั้งนี้จึงเป็นมูลเหตุให้บรรดาพี่น้องกรรมกรและชาวนาคนไทยผู้ยากจนและเป็นผู้ที่ขาดแคลนผ้าห่ม ไม่สามารถจะทนทานกับความหนาวอาจถึงตายได้ เฉพาะอย่างยิ่งพวกเด็ก ๆ และคนชรา ข้าพเจ้าจึงขอเรียนถามนายกรัฐมนตรีว่า ท่านมีนโยบายช่วยเหลือโดยสั่งให้ อจส. รีบจัดส่งผ้าห่มขึ้นไปให้ข้าหลวงประจำจังหวัดภาคเหนือ ช่วยจัดจำหน่ายให้แก่บรรดากรรมกรและชาวนาผู้ยากจนของชาติโดยด่วนในราคาถูกกว่าท้องตลาดจะได้หรือไม่และจะจัดส่งไปได้เมื่อใด"
โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตอบกระทู้นี้ว่า "ข้าพเจ้าขอตอบกระทู้ท่านผู้แทนเชียงใหม่ดังนี้ ในเรื่องที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยเหลือประชาชนในการที่จะให้ผ้าห่มในฤดูหนาว เฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่ท่านผู้แทนได้ตั้งกระทู้มานั้น ขอยืนยันว่ารัฐบาลนี้มีนโยบายที่จะช่วยเหลือราษฏรให้ได้รับความสุขโดยทั่วกัน ไม่แต่เฉพาะในเรื่องผ้าเท่านั้น ทั่ว ๆ ไป" เฉพาะในเรื่องผ้าที่ท่านถามว่าจะส่งของ อจส. ไปให้จะได้หรือไม่นั้น ได้สอบถามทาง อจส. แล้วว่ายังไม่ได้สั่งผ้าห่มเข้ามาจำหน่าย มีแต่ที่ติดมากับหน่วยของโรงพยาบาลบ้างไม่กี่ร้อยผืน ก็ทำการจำหน่ายแล้ว นอกนั้นก็เป็นของชำรุดใช้การไม่ได้เสียเป็นจำนวนมาก และอย่างไรก็ดี อจส. ได้ซื้อกางเกงกันหนาวของอเมริกามาจำหน่ายแล้ว ซึ่งมีจำนวนพอที่จะเฉลี่ยให้จังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือได้บ้าง ในเรื่องนี้ทางกระทรวงมหาดไทยเมื่อได้ทราบกระทู้ของท่าน และทราบว่าทาง อจส. มีเครื่องกันหนาวเช่นนี้ จึงได้สั่งให้กระทรวงมหาดไทยให้จัดการสั่งแก่ข้าหลวงประจำจังหวัด ได้จัดการซื้อกางเกงกันหนาวนี้ไปขายให้แก่ประชาชนในราคาถูกต่อไปแล้ว ในการที่ อจส. ไม่ได้ซื้อผ้าเข้ามานั้นก็เพราะเหตุว่าในกรุงเทพฯ เปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลนี้ได้เข้ามาทำหน้าที่ก็ปรากฎว่า อจส. จึงอยู่ในบัญชีต่าง ๆ ระหว่างจำหน่ายชำระบัญชีและตรวจข้าวตรวจของกัน จึงไม่มีเวลาที่จะสั่งของเพิ่มเติมเข้ามา แต่อย่างไรก็ตามในกาลภายหน้ารัฐบาลนี้จะพยายามที่จะเตรียมกิจการต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ล่วงหน้า ก็หวังว่าในหน้าหนาวคราวหน้า ชาวเชียงใหม่จะได้ผ้าห่ม" (อ่านเพิ่มเติมใน จับตา: ย้อนอดีต ‘ผ้าห่มกับการเมืองไทย’)
หมุดหมายใหม่การแจกผ้าห่ม หลังปี 2542 ไทยหนาวเป็นประวัติการณ์
5 อันดับแรกพื้นที่ที่อุณภูมิต่ำสุดรายภาคในไทยช่วง 63 ปีจากข้อมูลของ ศูนย์ภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ที่ได้ทำการเก็บข้อมูลอุณหภูมิต่ำสุดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยในช่วง 63 ปี พ.ศ. 2494 - 2556 โดย พบว่าในช่วงปี 2542 เป็นปีที่ประเทศไทยมีอุณหภูมิต่ำที่สุดในหลายพื้นที่ของประเทศ
ปี 2542 ประเทศไทยเผชิญกับอากาศหนาวที่สุดในรอบหลายทศวรรษ หลายพื้นที่ของประเทศมีอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส มีผู้เสียชีวิตจากภัยหนาวหลายราย โดยจากข้อมูลข่าว ณ เดือน ธ.ค. 2542 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากความหนาวในขณะนั้นประมาณ 30 คน [1] และยังมีนักโทษเสียชีวิตสืบเนื่องมาจากอากาศหนาวถึง 16 คน [2] หลังปี 2542 สังคมไทยเริ่มมีการตื่นตัวเรื่องการแจกผ้าห่มในพื้นที่ทุรกันดารมากขึ้น ตัวอย่างเช่น
ปี 2543 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มโครงการแจกผ้าห่มปีละ 200,000 ผืน มูลค่า 50 ล้านบาท (โครงการแจกผ้าห่มของไทยเบฟฯ เป็นโครงการแจกผ้าห่มมูลค่าสูงสุดเท่าที่ภาคเอกชนเคยแจกมา และจะเห็นได้ว่าต้นทุนผ้าห่มของไทยเบฟฯ อยู่ที่ผืนละ 250 บาท)
ปี 2544 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 50 ล้านบาท ให้กรมประชาสงเคราะห์เพื่อนำไปจัดซื้อผ้าห่มแจกจ่ายประชาชนที่ประสบภัยหนาว ซึ่งนายเดช บุญ-หลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมซึ่งดูแลกรมประชาสังเคราะห์ในขณะนั้นได้มีคำสั่งกำชับให้ปลัดกระทรวงและอธิบดีทุกกรมได้รับทราบถึงวิธีการปฏิบัติในการดำเนินการแจกจ่ายผ้าห่มว่า การจะแจกจ่ายให้จังหวัดใดจะต้องมี ส.ส. ส.ว. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการแจกด้วย เพื่อป้องกันข้อครหาว่าเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น บางจังหวัดได้น้อย บางจังหวัดได้มาก ทั้งนี้การแจกผ้าห่มจะยึดผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นหลัก [3]
ปี 2545 น่าจะเริ่มมีการแจกผ้าห่มตามการประกาศเขตภัยพิบัติที่มีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นตัวหลัก โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นหน่วยงานหลักของการชงเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตพิบัติภัย และยังเป็นหน่วยหลักในการจัดซื้อจัดจ้างพิเศษบรรเทาทุกข์ให้ประชาชน หน่วยงานนี้จัดตั้งขึ้นใหม่ตอนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยปฏิรูประบบราชการ ตาม พ.ร.บ. ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 โดยเป้าหมายวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ปภ. ก็เพื่อเป็นหน่วยงานหลักรองรับปัญหาสาธารณภัย (Disaster) ประเภทต่าง ๆ ทั้งจากธรรมชาติและจากมือของมนุษย์สร้าง โดยการบรรเทาปัญหาภัยหนาวนั้นมีเกณฑ์ว่าหากพื้นที่ไหนมีความหนาวเย็นต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 3 วัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถดำเนินการจัดซื้อผ้าห่มเพื่อแจกจ่ายประชาชนได้ [4] [5]
ปี 2546 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2546 กำหนดให้จัดซื้อผ้าห่ม (สำหรับแจกบรรเทาภัยหนาว) จากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ตำบล ที่ได้ขึ้นทะเบียนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด [6]
ปี 2548 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวในรายการนายกฯ คุยกับประชาชนว่าขณะนี้ 43 จังหวัด มีความหนาวเย็น ประชาชนเดือดร้อนประมาณ 200,000 ครัวเรือน ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้แจกผ้าห่มไปแล้วประมาณ 700,000 ผืน เสื้อกันหนาวอีกกว่า 20,000 ตัว หมวกไหมพรมกว่า 30,000 ใบ เครื่องกันหนาวอื่น ๆ อีก 20,000 ชิ้น และได้กำชับกระทรวงมหาดไทย ให้ดูแลพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีภัยหนาวอย่างใกล้ชิด ถ้าพื้นที่ไหนมีความหนาวเย็นต่ำกว่า 15 องศา ติดต่อกัน 3 วัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถดำเนินการจัดซื้อผ้าห่มเพื่อแจกจ่ายประชาชนได้เลย ซึ่งเป็นตามระเบียบใหม่เพื่อความสะดวกและแต่ละจังหวัดมีงบของตัวเอง ถ้างบไม่มีหรือหมดก็ให้ขอที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงอยากเรียนถึงประชาชนว่าเรื่องงบประมาณดูแลประชาชนนั้น ราชการมีอย่างพอเพียง ส่วนที่ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคองค์กรมูลนิธิทั้งหลาย อยากจะไประดมจากประชาชนที่มีจิตกุศล เอาเงินไปช่วยก็ทำได้เลย แต่ว่าทางราชการโดยเฉพาะรัฐบาลจะไม่ทำ เพราะเรามีงบประมาณดูแลโดยตรงอยู่แล้ว [7]
ปี 2556 มีการออก ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทันด่วน โดย หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556ได้ตั้งเกณฑ์ไว้ว่าในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวจากอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียสติดต่อกันเกิน 3 วัน ทางจังหวัดจึงจะเบิกงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้นั้น
มีความไม่ชอบมาพากลในการแจกผ้าห่มอย่างไร ?
นอกเหนือจากการร้องเรียนเรื่องนักการเมืองแจกผ้าห่มในขณะหาเสียง ที่มีมาเกือบทุกยุคทุกสมัยแล้ว ก็ยังมีข่าวคราวการทุจริตเงินงบ ประมาณจากรัฐในการแจกผ้าห่มโดยตรงอีกด้วย โดยก่อนการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแจกผ้าห่มขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นั้น หน้าที่หลักของการแจกจ่ายผ้าห่มได้แก่กระทรวงมหาดไทย กรมประชาสงเคราะห์ หน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมทั้งภาคองค์กรเอกชน ซึ่งในอดีตนั้นถึงแม้ทางราชการจะเข้าไปช่วยเหลือแล้วก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการเนื่องจากผู้ยากไร้มีจำนวนมาก แต่งบประมาณของทางราชการมีจำกัด
ในช่วงหลัง บทบาทการแจกผ้าห่มถูกมอบเป็นหน้าที่หลักให้แก่ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นทางจังหวัด (โดยมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นหน่วยงานหลักของการชงเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตพิบัติภัยและเป็นหน่วยหลักในการจัดซื้อจัดจ้างพิเศษบรรเทาทุกข์ให้ประชาชน) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่าง ๆ ซึ่งก็มีการร้องเรียนเรื่องการทุจริตอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้าง
ตัวอย่างเช่น กรณีในปี 2554 กลุ่มทอผ้าห่มใน จ.ร้อยเอ็ด ได้ร้องเรียนรัฐและสื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบกรณีที่มีการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวด้วยงบประมาณ 68,975,600 บาท เป็นผ้าห่มนวมจำนวน 378,420 ผืน และเป็นผ้าห่มไหมพรมจำนวน 6,000 ผืน เนื่องจากคาดว่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้น โดย ปภ.จ.ร้อยเอ็ด จะทำการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวและผ้าห่มไหมพรมจาก 28 กลุ่มแม่บ้านใน จ.ร้อยเอ็ด จึงได้นำสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน และสมุดบัญชีเงินฝากของกลุ่มไปยื่นเสนอกับผู้รับผิดชอบ พร้อมกับแจ้งยอดผ้าห่มที่แต่ละกลุ่มจะขายให้กับโครงการแจกผ้าห่มในครั้งนี้ แต่ต่อมากลุ่มทอผ้าห่มหลายกลุ่มได้พบความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะมีการนำผ้าห่มจากที่อื่นมาแจกจ่ายให้กับประชาชนในหลายพื้นที่โดยไม่มีท่าทีว่าจะซื้อผ้าห่มของกลุ่มทอผ้าในจังหวัด จึงได้พากันไปขอเอกสารต่าง ๆ ที่ได้ยื่นเสนอไปคืน แต่ผู้รับผิดชอบไม่ยอมคืนเอกสารให้ และยังบอกว่าให้ลงชื่อรับทราบว่ามีส่วนร่วมในการซื้อขายผ้าห่ม โดยเสนอว่าจะให้เงินเปล่า ๆ กลุ่มละ 10,000 บาท ในการทำสัญญา แต่ทุกคนไม่ยอมทำตาม โดยยืนยันว่าจะขอเอกสารคืนเท่านั้น [8]
นอกจากนี้ ในปี 2556 พรรคประชาธิปัตย์แถลงว่าได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่ประสบภัยหนาวจากจังหวัดทางภาคเหนือและอีสานว่ามีการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างโครงการผ้าห่มต้านภัยหนาวของกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) ได้มีการจัดซื้อจัดจ้างผ้าห่มในโครงการนี้ไปแล้วล็อตแรก 500,000 ผืน ส่งลงไปในพื้นที่ภัยหนาวแล้ว และจะมีการจัดซื้อเพิ่มอีก 1,000,000 ผืน โดยการจัดซื้อดังกล่าวทาง ปภ.ได้โยนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบภัยหนาวจัดซื้อจัดจ้างเอง ซึ่งน่าแปลกใจเพราะทุกปีโครงการนี้ทาง ปภ. จะจัดซื้อจัดจ้างเองโดยตรง การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าการจัดซื้อผ้านวมมีสเป็คกลาง 2 แบบ คือ 1.มีผ้าหุ้มกว้างคูณยาว 1.40 คูณ 1.90 เมตร หนัก 900 ถึง 1000 กรัม ราคากลาง 240 บาท 2.ผ้าห่มขี้งา เท่ากับราคากลางที่มีการจัดซื้อจัดจ้างคือ 180 บาท นอกจากนี้ยังพบมีการกว้านซื้อผ้าห่มที่มีเสป็คต่ำกว่าเสป็คจริง คือมีน้ำหนัก 300-400 กรัม มาเบิกจ่ายในราคา 240 บาท ทั้งที่ราคาจริงอยู่ที่ 40 บาท โดยมีการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว 120 ล้านบาท และจะมีการซื้อเพิ่มอีก 1,000,000 ผืน [9]
ปี 2557 มีการร้องเรียนโครงการช่วยภัยหนาว เพื่อชาวอุดร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พบลักษณะการแจกผ้าห่มที่ไม่มีประสิทธิภาพ สิ้นเปลืองงบประมาณ และส่อการทุจริต [10]
ปี 2558 เกิดปัญหาจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งใน จ.กาฬสินธุ์ มีการร้องเรียนว่าจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวใช้งบประมาณที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ ใช้งบประมาณสูง และกระบวนการจัดซื้อเป็นกรณีพิเศษที่ไม่พบว่ามีการเรียกผู้ประกอบการกลุ่มอาชีพสตรีในจังหวัดเข้ามาแข่งขันในเรื่องของราคา [11]
ตัวอย่างกรณีที่กล่าวมานี้ นำไปสู่การแก้ไขหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556
ความไม่ชอบมาพากลในการแจกผ้าห่ม ผลตรวจจาก สตง.
จากผลการสอบสวน 2 กรณี ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้แก่ รายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการ “ช่วยภัยหนาว เพื่อชาวอุดร” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และ ผลการตรวจสอบการแจกผ้าห่มภัยหนาวจังหวัดกาฬสินธุ์ พบลักษณะการแจกผ้าห่มที่ไม่มีประสิทธิภาพ สิ้นเปลืองงบประมาณ และส่อการทุจริตดังนี้
|
สตง. vs อปท. (อีกแล้ว)
ในปี 2558 กระทรวงการคลังได้แก้ไขหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ข้อ 5.1.14 จากกรณีอากาศหนาวมีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และมีช่วงเวลาอากาศหนาวยาวติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้จ่ายค่าจัดซื้อเครื่องกันหนาวสงเคราะห์ราษฎรได้เท่าที่จ่ายจริง คนละไม่เกิน 240 บาท ทั้งนี้จังหวัดหนึ่งไม่เกินงบประมาณปีละ 1,000,000 บาท เป็นกรณีอากาศหนาวจัดผิดปกติมีอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส และมีช่วงเวลานานติดต่อกันเกิน 3 วัน โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2558 เป็นต้นไป การแก้ไขครั้งนี้เนื่องจากกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทันด่วน หรือเป็นที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้และจำเป็นต้องแก้ไขโดยฉับพลันตามความจำเป็นและเหมาะสม
ก่อนหน้าการแก้ไขระเบียบครั้งนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา รายงานผลการตรวจสอบการจัดหาและแจกผ้าห่มกันหนาว จ.กาฬสินธุ์ ในปีงบประมาณ 2558 และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงมหาดไทยพิจารณากำหนดหนทางปฏิบัติให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงประโยชน์ ความคุ้มค่างบประมาณ และความพึงพอใจ หากไม่ใช่ผ้าห่มจะช่วยอะไร ผ้าห่มที่แจกไปใช้จริงหรือไม่ เป็นการใช้จ่ายงบประมาณรั่วไหล ไม่เกิดประโยชน์หรือไม่ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการคลังพิจารณาความเห็นของ สตง. กรณีขอให้กระทรวงการคลังทบทวนความหมายของคำว่า “อากาศหนาวจัดผิดปกติ” เข้าข่ายเป็นภัยพิบัติ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และเห็นควรให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการข้อ 5.1.14 ที่กำหนดอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ให้สอดคล้องกับเกณฑ์อากาศหนาวจัดของกรมอุตุนิยมวิทยา จนนำมาสู่การปรับแก้ระเบียบดังกล่าว ทั้งนี้มีการระบุว่าการปรับลดเกณฑ์อุณหภูมิมาอยู่ที่ 8 องศาเซลเซียส นั้นเป็นไปตามเกณฑ์ภัยหนาวจัดของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่มีความเหมาะสม และเป็นการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการรั่วไหล ฟุ่มเฟือย จากเดิมที่อุณหภูมิที่ 15 องศาเซลเซียส ยังถือเป็นสภาพอากาศที่ยังไม่ถือว่าเป็นภัยพิบัติ (ปัจจุบันใช้ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559)
การแก้ไขระเบียบครั้งนี้ (จากการชงเรื่องของ สตง.) ได้สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นอย่างมาก นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ออกมาระบุเมื่อปี 2558 ว่า
"สำหรับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2558 ที่มีการแก้ไขล่าสุด (จากปี 2556) โดยเฉพาะกรณีอากาศหนาวจากอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส เป็น 8 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 3 วัน ทางจังหวัดจึงจะเบิกงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้นั้น ส่วนตัวเห็นว่าประเด็นนี้ยังไม่สมเหตุสมผล เพราะกรณีดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ชายขอบ หรือพื้นที่สูงมาก ๆ เช่น พื้นที่ดอยซึ่งมีลมพัดแรง หากเกิดขึ้นเพียงแค่วันเดียวถามว่าเด็กเล็กและผู้สูงอายุจะอยู่ได้อย่างไรในสภาพอากาศที่หนาวเย็นถึง 8 องศาเซลเซียส ยิ่งหากร่างกายไม่แข็งแรง อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ จากการที่ลงพื้นที่พูดคุยและสอบถามประชาชนใน จ.เชียงใหม่ ทุกคนต่างสะท้อนถึงเรื่องนี้ตรงกันว่าไม่เห็นด้วยและรู้สึกรับไม่ได้"
"ผมเชื่อว่าประชาชนหลายพื้นที่อาจจะไม่ทราบถึงระเบียบตัวนี้ เพราะไม่มีการประชาสัมพันธ์ใด ๆ ให้ประชาชนรับทราบเลย ผู้ที่แก้ไขระเบียบอาจจะไม่เข้าใจสภาพที่เกิดขึ้น ผมก็ไม่อยากมองว่าเป็นการตัดการให้ความช่วยเหลือประชาชนหรือไม่ แต่หากเป็นไปได้อยากให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง พิจารณาแก้ไขระเบียบใหม่ โดยอาจจะปรับให้อุณหภูมิต่ำกว่า 12 - 14 องศาเซลเซียส ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้" นายบุญเลิศ ระบุ
รวมทั้งเสียงสะท้อนจาก อปท. ใน จ.พะเยา ที่ระบุว่าหากจะนำเกณฑ์ในเมืองหลวงที่กรุงเทพฯ มาวัดสภาพอากาศหนาวเย็น ต้อง 8 องศาเซลเซียส นั้นจะทำให้ประชาชนที่ยากจนลำบากไม่มีรายได้เพียงพอจะหาซื้อผ้าห่มหรือเสื้อผ้ากันหนาวต้องลำบากยิ่งขึ้นจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น หากรัฐบาลยังยืนยันใช้เกณฑ์ใหม่นี้เกรงว่าจะมีประชาชนที่ประสบเหตุภัยหนาวเสียชีวิตได้ [12]
อ้างอิง
[1] หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, 28 ธ.ค.2542
[2] หนังสือพิมพ์สยามรัฐ, 30 ธ.ค. 2542
[3] หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, 14 ธ.ค. 2544
[4] “ภัยหนาว”แบบระบบราชการไทย (บัณรส บัวคลี่, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1/12/2557)
[5] วิกิพีเดีย (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 16/12/2560)
[6] หนังสือพิมพ์บ้านเมือง, 2 ก.พ. 2556
[7] หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, 24 ธ.ค. 2548
[8] หนังสือพิมพ์สยามรัฐ, 17 ก.พ. 2554
[9] ปชป.แฉคนใกล้ชิดนายกฯ ทุจริตผ้าห่มกันหนาว ราคา 40 ซื้อ 240 (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 31/1/2556)
[10] รายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการ “ช่วยภัยหนาว เพื่อชาวอุดร” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน, 12/10/2560)
[11] ฉาวอีก! สตง.ชี้จัดซื้อผ้าห่มของ อปท.ส่อทุจริต (กรุงเทพธุรกิจ, 16/2/2558)
[12] โวยปรับเกณฑ์ภัยหนาว (ข่าวสด, 15/12/2558)
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
‘จับตา:ย้อนอดีต ‘ผ้าห่มกับการเมืองไทย’’
เปิดงบภัยพิบัติ 8 หน่วยอุ้ม 3.8 พันล้าน ป.ป.ท.สอบพบส่อทุจริต 270 โครงการ ชงรัฐบาลตั้งเกณฑ์ให้ชัด
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ