จับตา: การเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ของไทย

ทีมข่าว TCIJ : 12 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 6335 ครั้ง


ปี 2565 จะเป็นปีแรกที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์  ถ้าแบ่งประชากรตามกลุ่มอายุออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ จะเห็นได้ว่า จำนวนผู้สูงอายุ (วัย 60 ปีขึ้นไป) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประชากรวัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) จะมีสัดส่วนลดลง และในปี 2563 จะเป็นปีแรกที่ไทยมีประชากรสูงอายุมากกว่าประชากรวัยเด็ก  ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลจากสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ระบุว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุแล้ว (Aging Society) ตั้งแต่พ.ศ. 2547 โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (วัย 60 ปีขึ้นไป) เกินร้อยละ 10 ของประชากร อย่างไรก็ตาม การจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Absolute Aged Society) ก็ต่อเมื่อมีสัดส่วนประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป เกิน ร้อยละ 20 ของประชากรตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN) นั่นหมายถึงว่าในอีก 5 ปี ข้างหน้าหรือในปี 2565 จะเป็นปีแรกที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์  ถ้าแบ่งประชากรตามกลุ่มอายุออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ เพื่อแสดงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอายุของประชากร จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้สูงอายุ (วัย 60 ปี ขึ้นไป) ในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประชากรวัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) จะมีสัดส่วนลดลงเป็นลำดับ ส่วนประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) นั้น ประชากรในกลุ่มนี้ยังสูงอยู่ (เกินร้อยละ 60 สะท้อนว่าการขาดแคลนแรงงานจะยังไม่เกิดขึ้นในทันทีทันใด) แต่จะค่อย ๆ ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง

และที่น่าสนใจก็คือในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือ 2563 จะเป็นปีแรกที่ไทย จะมีจำนวนประชากรสูงอายุมากกว่าประชากรวัยเด็ก ก่อนจะเข้าสู่ปี 2565 ที่ไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุจำนวนสูง ถึง 13.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.5 หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ เดินกันมา 5 คน เป็นผู้สูงอายุ 1 คน  หากลองนึกภาพการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรตามเพศและอายุที่อยู่ในรูปทรงพีระมิด จะมองเห็นภาพการเปลี่ยนรูปทรงจากแบบฐานกว้าง ซึ่งหมายถึงประชากรที่ประกอบด้วยวัยเด็กมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ มาเป็นรูปทรงคล้ายแจกันซึ่งหมายถึงการมีประชากรวัยทำงานและวัยสูงอายุมากขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงภาวะ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุ โดยเป็นผลมาจากสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งการขยายตัวของเมือง ผู้หญิงเริ่มมีบทบาททางสังคมมากขึ้น ขณะที่คนให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในอาชีพการงาน นิยมแต่งงานช้าลง อยู่เป็นโสดมากขึ้นและมีบุตรน้อยลง  รวมถึงการค้นคว้าทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ประชาชนสามารถรับรู้ข่าวสาทางการแพทย์และเข้าถึงสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตยืนยาวมากขึ้น       

เหล่านี้ ส่งผลต่อการลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราเจริญพันธุ์และการลดลงของอัตราตายของประชากรในอดีต รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด (ความยืนยาวของชีวิต) ของประชากรไทยในระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศอยู่ที่ 75 ปี เมื่อขยับไปมองอาเซียน เทียบประชากรสูงอายุในอาเซียน พบว่าประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วตามนิยามของ UN ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยมีสัดส่วนประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 17.9,15.8 และ 10.3 ตามลำดับ และคาดว่าในอีก 13 ปีข้างหน้า (ปี 2573) อาเซียนจะเข้าสู่สังคมสูงอายุทั้งหมด ยกเว้น สปป.ลาวที่จะเข้าสู่สังคมสูงอายุเป็นชาติสุดท้ายในปี 2583         

ในด้านผลกระทบนั้น การที่มีประชากรวัยสูงอายุมากขึ้นย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทั้งการรักษา พยาบาลและบริการด้านสุขภาพ ขณะเดียวกันวัยกำลังแรงงาน ต้องมีภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงขึ้น แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีเตรียมพร้อมการออมก่อนเกษียณก็ตาม    

นอกจากนี้ จากการที่กำลังแรงงานเริ่มมีสัดส่วนลดลงตามลำดับ อันเนื่องมาจากคนที่เกิดในยุคเบบี้บูม (ผู้ที่เกิดในช่วง 2489-2507 หลังสงครามโลก ครั้งที่ 2) ทยอยเข้าสู่วัยเกษียณ จึงกระทบต่อผลผลิตมวลรวมของประเทศ เศรษฐกิจในอนาคตจึงมีความเสี่ยงโตช้ากว่าในอดีต  ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องชดเชยด้วยศักยภาพการผลิตของแรงงานให้สูงขึ้น หรือไม่ก็ต้องนำเข้าแรงงานฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาชดเชยแรงงานที่ลดลง หรือไม่ก็ต้องขยายกำหนดการเกษียณออกไปจาก 60 ปี เป็น 65 ปี เป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: