ปรบมือข้างเดียว เปรี้ยวคงไม่ดัง

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม 13 มิ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 2697 ครั้ง


สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีอะไรร้อนแรงเท่ากับการวิพากษ์หน้าที่ของสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวฆ่าหั่นศพตลอดเช้า สาย บ่าย เย็น
ราวกับว่าทั้ง 24 ชั่วโมง มีประเด็นใหญ่เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น

การนำเสนอเรื่องนี้มีในทุกช่องทางข่าวสาร ไม่ว่าผู้ชมจะติดตามข่าวสารผ่านสื่อใด หรือจะสนใจข่าวนี้มาตั้งแต่แรกหรือไม่ ต่างต้องทราบข้อมูลเรื่องนี้อยู่ดี แรงกระตุ้นที่ทำให้สื่อนำเสนอเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งไม่ใช่เพราะสื่อเป็นผู้กำหนดประเด็นเพียงฝ่ายเดียว ว่าจะเล่นเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ หรือไม่ ข่าวนี้ไม่สามารถขายได้ หากไม่มีกระแสตอบรับที่ดีจากผู้รับสารอย่างมากเช่นกัน

เพียงวันที่ 5 มิถุนายน เพียงวันเดียว วันที่เปรี้ยวถูกควบคุมตัว การรายงานสดเกาะติดเรื่องนี้ของสำนักข่าวช่องหนึ่ง ระหว่างช่วงเวลา 9.14-11.27 น. ส่งผลให้เรตติ้งของสำนักข่าวช่องดังกล่าวกระโดดขึ้นจากอันดับที่ 15 เป็นอันดับที่ 11 อย่างรวดเร็ว จากยอดผู้ชมที่เพิ่มขึ้นถึง 16 เท่า จากเดิม 26,000 เป็น 436,000 คน

การปรบมือข้างเดียวไม่มีทางดังได้ แน่นอนว่าการเล่นข่าวเรื่องนี้ตลอด 24 ชั่วโมงก็คือการเลี้ยงเรตติ้ง เรตติ้งที่หล่อเลี้ยงเม็ดเงินให้กับธุรกิจสื่อ

แต่ปัญหาการตีกลับของสังคมในเรื่องนี้ คือการเหมารวมว่าสื่อทำไมสะท้อนภาพผู้ต้องหาในลักษณะยกย่องผู้ต้องหา ทำไมภาพความสวยเซ็กซี่ของผู้ต้องหาจึงกลายเป็นจุดขายที่สื่อบางเจ้าใช้สำหรับการตีประเด็นเลี้ยงเรตติ้งไปเรื่อยๆ จนทำให้เกิดภาพ 'ไอดอล' หรือแม้กระทั่ง 'ฆาตกรสาวสวย' จนประชาชนบางส่วนกังวลว่าการสะท้อนภาพเช่นนี้ออกไปจะทำให้ผู้ต้องหากลายเป็นบุคคลที่น่ายกย่องและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้รับสารที่เป็นเยาวชน

ความหมั่นไส้ผู้ต้องหาของผู้รับสารในเรื่องนี้ยิ่งทวีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเกิดภาพหลุดจากห้องควบคุมตัวที่ชายแดน ไม่ว่าจะเป็นภาพสูบบุหรี่ ภาพมาส์กหน้าก่อนนอน และการถ่ายรูปคู่กับตำรวจในใบหน้าเปื้อนยิ้ม

กล่าวได้ว่านี่เป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับสื่อ เพื่อใช้เลี้ยงกระแสเรียกเรตติ้ง เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไร ข่าวที่มีกลิ่นเรื่องเพศ (sex) มีภาพลักษณ์ของสาวสวยยั่วยวน มีความเซ็กซี่ มักได้รับความสนใจจากผู้รับสารอยู่เสมอ (ไม่อย่างนั้นทุกวันอาทิตย์ คงไม่มีคอลัมน์มาลัยไทยรัฐในหน้าแรก) ยิ่งเป็นข่าวอาชญากรรมที่มีกลิ่นอายเรื่องเพศ ข่าวนี้จะยิ่งดึงดูดความสนใจเป็นผู้รับสารได้อีกหลายเท่า เพราะเรื่องเพศ มักกระตุ้นความใคร่รู้ของผู้คนได้อยู่เสมอ แม้ประเทศนี้จะถูกฉาบหน้าว่าเป็นเมืองพุทธ มีศีลธรรม แต่ทุกครั้งที่มีข่าวลักษณะนี้ออกมา มักจะขายได้ และมีที่ท่าว่าจะขายดีเสียด้วย

ข่าวอาชญากรรมเชิงเพศยังเรียก Engagement ให้กับโพสต์ข่าวจากเพจน้อยใหญ่ทั้งหลายด้วย ทั้งยอดไลค์ การแสดงความเห็น ไม่ว่าผู้แสดงความเห็นจะมีปฏิสัมพันธ์ใดก็ตามกับโพสต์ มันก็ยิ่งกระตุ้นให้โพสต์นั้นเกิดการเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และแม้ผู้รับสารจะแชร์เพื่อด่าหรือตั้งคำถาม กับเปรี้ยว กับสำนักข่าว กับตำรวจ หรือแม้แสดงความเห็นกับความคืบหน้าที่เกิดขึ้น อัลกอริทึ่มมันก็จะทำงานของมันไป ยิ่งโพสต์แอคทีฟมากเท่าไหร่ ผู้เผยแพร่ก็ยิ่งยินดีกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น การเลี้ยงกระแสจึงเกิดขึ้น ทั้งสำนักข่าวและเพจน้อยใหญ่จึงต้องหาประเด็นเรื่องเปรี้ยวมานำเสนออยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ความแอคทีฟเหล่านี้หายหดไป

แต่คดีมันไม่ได้คืบหน้าทุกวัน

นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงมีการขุดคุ้ยตั้งแต่เรื่องไม่เป็นเรื่องของเปรี้ยวขึ้นมา ทั้งภาพกิจกรรมและการตามหาผู้คนรอบข้างเพื่อสัมภาษณ์และหาประเด็นแบบ 'เปรี้ยวๆ' มานำเสนออยู่เสมอ แหล่งที่ขุดคุ้ยความเปรี้ยวได้ดีที่สุดไม่ใช่สำนักข่าวใหญ่ๆ แต่เป็นเพจออนไลน์ที่มีทั้งผู้ชมส่งข้อมูลมาให้ และเข้าไปหาข้อมูลเรื่องนี้โดยแอดมินของเพจเอง ข้อดีของสื่อออนไลน์คือไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองอะไรมากเหมือนสำนักข่าวที่มีโครงสร้างกองบรรณาธิการค่อนข้างใหญ่ ซึ่งส่งผลให้การคัดเลือกประเด็นข่าวของสำนักข่าวลักษณะนี้ต้องใช้เวลาในระดับหนึ่ง ขณะที่เพจบางเพจ เราจะพบความยิบย่อยของประเด็นเปรี้ยวมากมาย จนทำให้รู้จักเปรี้ยวตั้งแต่ขาหนีบไปจนถึงปลายผม และเกิดคำถามต่อมาว่า

"กูต้องรู้เรื่องผู้หญิงคนนี้ขนาดนี้เลยเหรอวะเนี่ย"

เมื่อเพจข่าวนำเสนอเรื่องเปรี้ยวล่วงหน้าข่าวประจำวันของสำนักข่าวไปมากแล้ว ความกลัวและความหวั่นไหวของสำนักข่าวก็เกิดขึ้นไปพร้อมกันๆ ด้วยว่า 'นี่ฉันพลาดอะไรไปหรือเปล่า' สำนักข่าวส่วนกลางจึงหยิบประเด็นออนไลน์ขึ้นมานำเสนอต่อเนื่องในช่องทางของตนเอง และเกิดเป็นมหกรรมการขุดคุ้ยเปรี้ยวโดยไม่มีที่สิ้นสุดจากสำนักข่าวส่วนกลาง เพจออนไลน์ และผู้รับสารที่มีความรู้จักกับเปรี้ยว

ท่ามกลางการควานหาตัวเปรี้ยวในแนวชายแดน พื้นที่เฟสบุ๊คของเธอและเพื่อนๆ จึงกลายเป็นสนามขนาดใหญ่สำหรับทุกคนที่เข้าไปค้นเรื่องนี้ และนี่คือสนามที่ทุกคนชอบ เพราะใช้ต้นทุนการค้นหาน้อยมาก ทุกคนสามารถค้นหาตัวตนของเธอผ่านหน้าจอ ไม่ต้องขับรถ แบกกล้อง ไม่ต้องเสียค่าโรงแรมพักต่างจังหวัด ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงต่างจังหวัดให้กับนักข่าวและทีม ไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ทางไกล ต้นทุนการสืบค้นเปรี้ยวในสื่อออนไลน์ใช้ต้นทุนพื้นฐานเพียงเวลา อินเทอร์เน็ต และค่าไฟเท่านั้น

เรื่องของเปรี้ยวมันจึงไม่ใช่แค่เรื่องจริยธรรมของสื่อ มันคือเรื่องธุรกิจสื่อ และเรื่องตลาดของธุรกิจสื่อ

วันนี้ทุกคนอาจชี้หน้าด่านักข่าวว่าไม่มีจริยธรรม ทำงานแบบหิวเงิน หิวเรตติ้ง
แต่จะมีใครสักกี่คนที่ชี้หน้าตัวเอง แล้วยอมรับว่า กระแสสื่อก็คือกระจกสะท้อนภาพผู้คนในสังคมนั้น

และนั่นก็คือตัวเรา 'ผู้รับสาร'

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: