โรงพยาบาลเอกชน จี้ สปส.เพิ่มค่าหัวรักษาคนไข้ โอดยืนราคา 1,460 นาน 6 ปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2633 ครั้ง

โรงพยาบาลเอกชน จี้ สปส.เพิ่มค่าหัวรักษาคนไข้ โอดยืนราคา 1,460 นาน 6 ปี

สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ยื่นหนังสือถึง รมว.แรงงานจี้ประกันสังคมปรับเพิ่มค่าหัวเหมาจ่ายรักษาคนไข้รายปี โอดยืนราคา 1,460 มานาน 6 ปี รักษาโรคเพิ่ม แต่ค่าบริการไม่ปรับตาม เผย รพ.เอกชน 140 แห่ง เหลือเป็นคู่สัญญาแค่ 80 แห่ง ที่มาภาพประกอบ: DarkoStojanovic (CC0)

ไทยรัฐออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560 ที่กระทรวงแรงงาน นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญาประกันสังคม พร้อมด้วยตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ที่กำกับดูแลสำนักงานประกันสังคม (สปส.)

ทั้งนี้ เพื่อให้ปรับขึ้นค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายปีผู้ประกันตน จากอัตราเดิม 1,460 ต่อคน ซึ่งคงที่มานาน 6 ปี มีนายบุญเลิศ ธีระตระกูล รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นตัวแทนรับหนังสือ พร้อมรับปากจะติดตามเรื่องที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของบอร์ดประกันสังคม ส่วนจะปรับขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับบอร์ดจะพิจารณาตามข้อเท็จจริง

นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญาประกันสังคม 140 แห่ง ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ 80 แห่ง เพราะต้นทุนสูงขึ้นจนอยู่ไม่ได้ ต่อไปอาจเหลือ 70 และ 60 แห่ง ลดลงไปเรื่อยๆ จึงขอให้ รมว.แรงงานช่วยดูแลเอาใจใส่ปัญหา เพราะต่อไปความเดือดร้อนจะไปถึงผู้ประกันตน หากโรงพยาบาลเอกชนไม่รับรักษา จะต้องไปรักษาโรงบาลรัฐอย่างเดียว ไปรักษา 30 บาทแทน ซึ่งคุณภาพต่างกัน

เมื่อโรงพยาบาลเอกชนดูแลผู้ประกันตน ประกันสังคมก็ต้องดูแลโรงพยาบาลด้วย แต่ 6 ปี ไม่ปรับขึ้นค่าบริการรายหัว ทั้งที่ต้นทุนสูงขึ้น ค่าแรงพยาบาลสูงขึ้นปีละ 4% ถ้าไม่ปรับ หรือปรับน้อยกว่า 4% จะอยู่ไม่ได้ ทุกวันนี้โรงพยาบาลที่รับประกันสังคมอย่างเดียวอยู่ไม่รอด ต้องเอาเงินสดจากคนไข้ทั่วไปมาจุนเจือ กรณีโรงพยาบาลเดชา ที่ปิดกิจการ ส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุนี้ด้วยเช่นกัน ส่วนโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล พหลโยธิน ก็ไม่รับประกันสังคม

"ปัจจุบัน 30 บาท รักษาหัวละ 3,100 บาท มีแต่ รพ.รัฐรับรักษา ขาดทุนก็มีรัฐสนับสนุนทีละ 5 พันล้าน แต่เอกชนไม่มี จึงมีความเสี่ยงสูง ทุกวันนี้เข้าเนื้อ ต้องเอาในส่วนของผู้ประกันตนที่ไม่ใช้สิทธิ ไปเฉลี่ยกับคนใช้สิทธิ ถ้าไม่เฉลี่ยตายไปแล้ว เพราะ 6 ปี ไม่ปรับเลย อย่างน้อยต้องปรับปีละ 4% รวม 6 ปี ต้องไม่ต่ำกว่า 20% หรือ 290 บาท ถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ไม่ได้ หากทุกแห่งพร้อมใจไม่รับประกันสังคม บางกลุ่มโรงพยาบาล มีผู้ประกันตน 8 แสนคน บางแห่งมี 5-6 แสนคน ถ้าเขาทิ้งไปทีเดียวพร้อมๆ กัน ลองคิดดูว่าจะเป็นยังไง"

ด้าน นพ.กำพล พลัสสินทร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลเอกชนเพื่อประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญา โดยเหมาจ่ายค่ารักษาผู้ประกันตนคนละ 1,460 ต่อปี และยืนอัตรานี้มานาน 6 ปี ตั้งแต่ปี 2555 ทำให้ต้องแบกรับค่าครองชีพสูงขึ้น เจ้าหน้าที่ทางวิชาชีพ ด้านแพทย์และสาธารณสุข เพิ่มขึ้นมากเกือบเท่าตัว ผู้ประกันตนมีอายุมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น ต้องรับเข้ามารักษามากขึ้น มีการเพิ่มโรคให้รักษาเพิ่มขึ้น มีโรคซับซ้อน โรคเรื้อรัง ล่าสุดเพิ่มรักษาโรคจิตเวช แต่ค่ารักษายังยืนในราคาเดิม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโรงพยาบาลบางแห่งทนแบกภาระขาดทุนไม่ไหว เช่น โรงพยาบาลคามิลเลียน โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ซึ่งรักษาผู้ประกันตนกว่า 1 แสนคน ต้องลาออกจากคู่สัญญา และมีบางแห่งที่จะทยอยลาออก ที่ยังอยู่ก็ต้องรัดเข็มขัด จ้างหมอ พยาบาลน้อยลง จึงขอให้ปรับค่าบริการทางการแพทย์ที่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการแพทย์ของประกันสังคมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้น และน่าจะปรับขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค. แต่บอร์ดประกันสังคมตีกลับไปทบทวน โดยไม่รู้ว่าต้องรออีกนานแค่ไหน แม้จะต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น แต่ทุกโรงพยาบาลก็จะยังรับรักษาผู้ประกันตนประกันสังคมจะดูแลให้ดีที่สุด แต่ต้นทุนที่สูงขึ้นก็อาจส่งผลกระทบกับการรักษาที่อาจจะทำได้ไม่เต็มที่ จึงต้องออกมาบอกให้ผู้ใหญ่ทราบปัญหาและเห็นใจบ้าง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: