กกพ.คาดปี 2561 การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เข้าระบบ 689 เมกะวัตต์ โดยจะมาจากโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm 300 เมกะวัตต์ VSPP Hybrid Semi Firm 269 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประชารัฐ 42 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 78 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินที่รัฐต้องเข้าไปสนับสนุน 45,089 ล้านบาท และกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) 26.12 สตางค์ต่อหน่วย ในขณะที่มีการคาดการณ์เม็ดลงทุนในส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนช่วง 5 ปี (2560-2564) ข้างหน้า จะสูงเกือบ 1 แสนล้านบาท ที่มาภาพ: Energy News Center
เว็บไซต์ Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2560 ว่านายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในปี 2561 จะมีโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) จำนวน 689 เมกะวัตต์ คิดเป็นวงเงินที่รัฐต้องเข้าไปสนับสนุนทั้งในรูปแบบ “เงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือ Adder”และ “เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ ฟีดอินทารีฟ” รวม 45,089 ล้านบาท หรือคิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ไปบวกอยู่ในค่าไฟฟ้า 26.12 สตางค์ต่อหน่วย ที่ประชาชนต้องร่วมกับแบกภาระนี้
โดยโครงการโรงไฟฟ้าหมุนเวียนที่จะเข้าระบบในปี 2561 ได้แก่ (1)โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของเอกชนรายเล็กในรูปแบบผสมผสานเชื้อเพลิงและขายเข้าระบบแบบเสถียร (SPP Hybrid Firm) จำนวน 300 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครผู้ร่วมโครงการและจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในวันที่ 14 ธ.ค. 2560 นี้
(2) โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของเอกชนรายเล็กมากในรูปแบบผสมผสานเชื้อเพลิงและขายเข้าระบบแบบกึ่งเสถียร (VSPP Hybrid Semi Firm) จำนวน 269 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 2561 หลังจากโครงการSPP ดังกล่าวประมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว (3)โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 78 เมกะวัตต์ คาดว่าจะประกาศเปิดโครงการได้ในสัปดาห์หน้า กำหนดขายเข้าระบบในปี 2562 และ (4)โรงไฟฟ้าประชารัฐจำนวน 42 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อย่างไรก็ตามคาดว่าทั้ง 4 โครงการจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุน 50 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ รวมประมาณ 34,450 ล้านบาท (ยังไม่นับรวมโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี ที่ยังรอการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติอีกจำนวน 300 เมกะวัตต์)
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ผ่านมา จนถึง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2560 มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ผูกพันกับรัฐ (PPA) แล้ว 9,259 เมกะวัตต์ แต่ผลิตเข้าระบบ (COD) 7,078 เมกะวัตต์ และคิดเป็นเงินที่รัฐเข้าไปสนับสนุนในกลุ่ม PPA รวม 13,015 ล้านบาท ซึ่งผลกระทบต่อค่า Ft จำนวน 22.86 สตางค์ต่อหน่วย
นายวีระพล กล่าวด้วยว่า มีการประเมินลงทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) คาดว่าจะมีไฟฟ้าเข้าระบบจำนวน 1,794 เมกะวัตต์ คิดเป็นวงเงินลงทุนรวม 96,510 ล้านบาท มาจากการลงทุนในปี 2561 จำนวน 689 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 34,450 ล้านบาท รวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่ทยอยเข้าระบบมาตั้งแต่ปี 2559 และจะได้เห็นการผลิตจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบมากที่สุดในปี 2561นี้ถึง 951 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือรวมเป็น 57,060 ล้านบาท เนื่องจากภาครัฐได้เคลียร์ปัญหาเรื่องการใช้ที่ดิน สปก. สำหรับติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชนเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับกลุ่มราชการและสหกรณ์การเกษตร ระยะที่ 2 จำนวน 154 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินลงทุน 35 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ รวมประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในกรอบ 5ปี จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในส่วนของค่า Ft เท่าไหร่นั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกพ.
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ