คนไทยรู้ยัง: ปี 2559 เม็ดเงินโฆษณานิตยสารลดลงมากกว่า 30%

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2677 ครั้ง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559 อ้างข้อมูลจาก The Nielsen Company ระบุตัวเลขเม็ดเงินโฆษณา 11 เดือนของปี 2559 ว่ามียอดรวมกว่า 9.83 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.49% โดยสื่อหลักไม่ว่าจะเป็นทีวี/เคเบิลทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร มีเม็ดเงินลดลงทั้งสิ้น ขณะที่สื่ออื่น ๆ แม้จะมีการเติบโตแต่ก็มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับสื่อหลัก จึงไม่ได้ช่วยผลักดันให้สื่อรวมมีการขยายตัวแต่อย่างใด

ตั้งแต่เดือนมกราคมซึ่งพบว่านิตยสารต่าง ๆ มีเม็ดเงินโฆษณาลดลง 31% ส่งผลให้หลายหัวต้องยุติบทบาทลง ไม่ว่าจะเป็นแม็กกาซีนวัยรุ่นอย่าง 'แคนดี้' ของค่ายโมโน รวมถึง Volume ที่ปิดตัวในเดือนถัดมา ถือเป็นอีกกลุ่มที่ถอนตัวออกจากธุรกิจตามเปรียว, Oops , ซุบซิบ ขณะที่บางหัวเลือกที่จะปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาองค์กรให้เดินต่อไป อย่าง "ดิฉัน" แม็กกาซีนผู้หญิงที่เป็นตำนานของวงการ กับการพลิกโฉมเป็นรายเดือน จากเดิมที่เป็นรายปักษ์, Zoo นิตยสารหัวนอกแนวหวือหวา ปรับจากรายสัปดาห์เป็นรายปักษ์, Lips ปรับเป็นฟรีก๊อบปี้ 3 ฉบับ ได้แก่ Lips LOVE, Lips GARCON และ Lips PALETTE ไม่ขายแต่แจกฟรี เป็นต้น จนถึงเดือนพฤศจิกายน นิตยสารต่าง ๆ ก็ยังมีเม็ดเงินโฆษณาลดลง 30.84% พร้อมกับการประกาศปิดตัวของนิตยสารชื่อดังต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น 'สกุลไทย' ที่วางแผงฉบับสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน ตามด้วย 'พลอยแกมเพชร' ที่โพสต์ข้อความปิดตัวปลายปีนี้ โดยฉบับสุดท้ายวางแผงในวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ปิดฉากตำนาน 25 ปีในวงการ รวมถึง WHO ที่ยุติบทบาทหลังจากเปิดตัวในวงการได้ไม่นาน

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมนิตยสาร มาจากจำนวนผู้ซื้อลดลงในอัตรา 20-30% และปัญหาหลักคือโฆษณาลดลงระดับ 40-50% แม้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวสู่รูปแบบอี-แม็กกาซีนเพื่อเพิ่ม ช่องทางการขายและยอดดาวน์โหลดมีแนวโน้มเติบโต แต่ยังไม่สามารถทดแทนเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลงในอัตราสูงจากนิตยสารเล่มได้ และเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลงจากรูปเล่มไม่ได้ย้ายไปที่อี-แม็กกาซีน ขณะที่รายได้หลักของนิตยสารมาจากโฆษณากว่า 50% สถานการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้นิตยสารที่มีต้นทุนสูงกว่ารายได้ต้องทยอยปิดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยแนวทางที่เชื่อว่าจะทำให้สื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะนิตยสารอยู่รอดคือการปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ควบคู่กันเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตนั่นเอง

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: kconcha (CC0)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: