วันที่ 7 ประชา-ชาติ
และแล้ววันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง คือวันที่ 7 กุมภา ฯ วันนี้เมื่อ 70 ปีที่แล้วคือปี 1947 หรือ 5 วันก่อนลงนามสนธิสัญญาปางโหลง รัฐฉานประกาศใช้ธงชาติและเพลงชาติไต อันเป็นสัญลักษณ์ของการมีชาติ ตั้งเป้าหมายว่าจะขอเอกราชจากอังกฤษ จนถึงตอนนี้ก็บรรจบครบ 70 ปีพอดี ทุกปีบนดอยไตแลงแห่งนี้จึงจัดงานขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญนั้น และตอกย้ำเตือนถึงภารกิจที่ยังไม่สำเร็จ โดยช่วงเช้าจะมีการเดินสวนสนามของทหารไทใหญ่ร่วมกับขบวนของภาคประชาชนจากหลายหลายพื้นที่ ต่อจากนั้นจะมีการแสดงศักยภาพทางการทหารและโชว์จากนักเรียนโรงเรียนแห่งชาติดอยไตแลงบนลานกิจกรรมหน้าเวที ในปีนี้การเดินสวนสนามมีความพิเศษคือ ทหารที่เดินสวนสนามจะไม่มีการติดอาวุธ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการลงนามในสัญญาหยุดยิงของรัฐฉาน เมื่อขึ้นมาถึงลานกิจกรรม ก็พบว่ามีประชาชนยืนรอบบริเวณลานกิจกรรมกันหนาแน่น โดยไฮไลท์ของงานในทุกปีก็คือ การแสดงความสามารถของหน่วยจู่โจมพิเศษกองทัพรัฐฉาน โดยการจำลองเหตุการณ์ที่ประชนในรัฐฉานกำลังถูกทหารพม่าเข้ารุกรานรังแก ในขณะที่กำลังดูการแสดงฉากนี้ คุณป้าวัยประมาณ 40-50 ปี ที่ยืนชมข้าง ๆ ผม พูดกับเพื่อน ๆ ที่มาด้วยกันว่า “ดูแล้วอยากจะร้องไห้ตาม” จากนั้นหน่วยจู่โจมพิเศษโรยจะตัวลงมาหอคอย เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชน การแสดงชุดนี้ได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมอย่างเกรียวกราว
ช่างภาพและประชาชนยืนรอขบวนทหาร
นักข่าวไทยกำลังสัมภาษณ์นักวิชาการไทยที่ไปร่วมงาน
ประชาชนชาวไทใหญ่ทั้งจากรัฐฉานและไทยมาร่วมเดินขบวน
การแสดงความสามารถจากเด็กนักเรียนที่งานกิจกรรม
การจำลองเหตุการณ์ที่ประชาชนถูกกดขี่จากทหารพม่า
หน่วยจู่โจมพิเศษที่จะไปช่วยเหลือตัวประกัน
อยู่ด้านหลังต้องหาที่สูง ๆ ดูการแสดงที่ลานกิจกรรม
จากนั้นเจ้ายอดศึกและบรรดาตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงานก็ผลัดกันขึ้นพูดถึงความสำคัญของงานวันชาติ ส่วนผมก็หลบร้อนหนีไปแอบงีบในเต็นท์ที่กางอยู่หลังเวที พอตื่นมาประมาณ 11.30 ก็เจอผู้ชายคนหนึ่งยืนอยู่ตรงบันไดทางลง หลังเวที ใกล้ ๆ กับเต็นท์ที่ผมนอน เขาทักผมว่า “แอบนอนเหรอครับ” ผมยิ้ม ๆ คุยไปคุยมาพี่เขาเป็นคนอีสาน ปีนี้พาพระชาวอีสานฝ่ายธรรมยุติ จากวัดรักไทย แม่ฮ่องสอน ถึงว่าผมเห็นพระใส่จีวรสีขนุนหลายรูปในงานตั้งแต่เมื่อวาน แต่ไม่ได้สนใจ เขาบอกว่าปีนี้คณะของเขาจะนำของมาแจกให้เด็ก ๆ ในวันที่ 9 จะถือโอกาสมาคุยกับเจ้ายอดศึกเรื่องอยากจะขอมาตั้งวัดฝ่ายธรรมยุติบนดอยไตแลง จะพาพระจากอีสานมาจำพรรษาอยู่ เขายังบอกอีกว่า เจ้ายอดศึก มีครบแล้วทั้งสถาบันชาติและผู้นำ ตอนนี้ยังขาดศาสนาที่ดี เขาเห็นว่า การจะสร้างชาติได้ ศาสนา เป็นเรื่องสำคัญ และพระสายธรรมยุติก็เป็นพระที่เคร่งครัดธรรมวินัยจะช่วยเสริมบารมีให้กับเจ้ายอดศึก ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาจะมาสร้างวัดบนดอยไตแลงได้หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ อาจต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะสงฆ์ของวัดแลงหาญไต วัดของชาวไทใหญ่บนนี้เสียก่อน
ช่วงหนึ่งขณะที่ผมนั่งอยู่กับเพื่อนที่มาด้วยกันสองคนบริเวณที่พักของเรา ซึ่งอยู่หลังเวที ที่หลังเวทีกำลังมีการซ่อมแซมอนุสาวรีย์เจ้าเสือข่านฟ้า พวกเรามองไปที่คนงานที่กำลังทำงานอยู่บริเวณนั้น ได้ยินเขาพูด “คำเมือง” (ภาษาเหนือ) กัน ก็รู้สึกสะดุดใจ เพื่อนที่มาด้วยกันพูดติดตลกว่า ที่จริงตอนนี้คนกลุ่มนี้ก็ถือเป็นแรงงานต่างด้าวเหมือนเรานะ เพราะเขาเข้ามาทำงานในบ้านเรา เราน่าจะลงไปจับเขาไถเงินบ้างนะ สักคนละสามหมื่น ขอตรวจค้นว่ามีบัตรไตไหม ฮ่า ๆ ๆ แต่พอถึงประเทศไทย เขาก็คงจับเราแล้วเรียกเงินสัก 4 หมื่นก็ได้ กำไรเห็น ๆ เพราะยังไงเราก็ต้องกลับไปที่ประเทศไทยอยู่แล้ว ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องตลก แต่เป็นเรื่องตลกร้ายทีเดียว
ช่วงค่ำของวันที่ 7 มีคอนเสิร์ตจากนักร้องและวงดนตรีชื่อดังของรัฐฉานที่มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง มีเวทีลิเกไทใหญ่ หรือ จ๊าดไต อยู่อีกด้านของลานกิจกรรม ที่พิเศษในปีนี้มีการนำสารคดีที่สร้างขึ้นเพื่อให้เห็นถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาลวิน ของรัฐบาลพม่ากับรัฐบาลจีน จัดทำโดยกลุ่ม action for shan state rivers นำมาฉายให้ประชาชนดู โดยการตั้งเครื่องโปรเจ็คเตอร์ฉาย
ในขณะที่บนเวทีมีการแสดง การฟ้อน การรำ จากที่ต่าง ๆ รวมกว่า 20-30 โชว์ ทั้งจากเมืองไทย รัฐฉาน และจีน จากนั้นก็เป็นเวทีคอนเสิร์ตที่เล่นยาวไปจนถึงตีสี่
จ๊าตไต ออกโรงแล้ว
ฉายสารคดีว่าด้วยเขื่อนแม่น้ำสาลวิน
คณะจากรัฐฉานกำลังฟ้อน - รำ บนเวที
วงดนตรี คนหนุ่มไตเชียงใหม่ ขึ้นเล่นเป็นวงสุดท้ายตอนตีสี่
วันที่ 8 ครบรอบ 60 ปี เจ้ายอดศึก
วันนี้ผมตื่นตอน 9 โมงครึ่ง ตอนนี้เริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะป่วย รู้สึกมึนหัว เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว อากาศด้านนอกร้อนมาก ลมพัดตลอดเวลา ประมาณ 11โมงผมก็ลงมาหาอะไรทานด้านล่าง พบว่า เริ่มมีการเก็บร้านขายของและเดินทางกลับกันบางส่วนแล้ว แต่ยังไม่หมดเพราะคืนนี้ยังมีงานต่อ เนื่องจากเป็นวันครบรอบ 60 ปีของเจ้ายอดศึกด้วย ผู้นำกองกำลังรัฐฉาน พอถึงตอนเย็น หน้าลานเวทีจัดโต๊ะจีนไว้เหมือนเมื่อวาน ถัดจากโต๊ะจีนมาจะเป็นที่นั่งของทหารมีการจัดสำรับกับข้าววางอยู่บนพื้นที่ปูด้วยผ้า แขกที่มาร่วมงานนั่งบนโต๊ะ ทหารนั่งด้านล่าง ชาวบ้านและนักเรียนบนดอยไตแลงต่างช่วยกันจัดสำรับกับข้าว กำหนดการของงานในค่ำคืนนี้ คือ การจุดผลุฉลองวันเกิดเจ้ายอดศึกกว่า 30 สิบลูก มีป้ายไฟที่เขียนว่า ครบรอบ 60 ปีเจ้ายอดศึก อยู่ด้านข้างเวทีด้วย หลังจากจุดพลุเสร็จแล้ว แขกผู้มีเกียรติที่นำของขวัญมาให้เจ้ายอดศึก ขึ้นมามอบของขวัญให้กับเจ้ายอดศึก บนเวที ของขวัญที่ฮือฮามากที่สุดรถฮัมเมอร์คันใหม่เอี่ยมที่นายทหารระดับสูงร่วมกันซื้อให้เจ้ายอดศึก นอกจากนั้นแขกวีไอพีจากจีนมอบเงินช่วยเหลือโรงเรียนแห่งชาติดอยไตแลง 5 แสน ต่อด้วยภาคประชาชนและกลุ่มต่าง ๆ ที่ทยอยกันขึ้นมามอบของขวัญ เสียดายแบตเตอรี่กล้องถ่ายรูปผมหมดพอดี เลยไม่ได้ถ่ายรูปช่วงนี้ไว้ หลังจากมอบของขวัญกันเสร็จแล้ว เจ้ายอดศึกก็ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานวันเกิดของตัวเอง เจ้ายอดศึกเล่าให้ฟังว่า นี่เป็นการจัดงานวันเกิดครั้งแรกของตัวเอง ก่อนหน้านั้นไม่เคยจัดที่ไหนมาก่อน แกเล่าว่า ช่วงชีวิตของคนเรามี 4 ช่วงคือ 1-20 เป็นวัยรุ่นต้องเร่งค้นคว้าหาวิชาความรู้ 20-40 ต้องทำงานสร้างเสื้อสร้างตัว 40-60 ต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัว เป็นผู้นำคนอื่น และ 60-80 คือช่วงที่ต้องอยู่เบื้องหลังคอยเตือนคอยสอนรุ่นต่อ ๆ ไป ฟัง ๆ เหมือนแกกำลังบอกว่าถึงเวลาที่แกจะต้องวางมือแล้ว
เจ้ายอดศึกเล่าย้อนหลังไปถึงปณิธานที่แกไม่ยอมวางอาวุธ และบอกว่าที่มีวันนี้ได้ไม่ใช่เพราะแก แต่เป็นเพราะประชาชนชาวไทใหญ่ทุกคนที่หนุนหลังแก ตามประวัติศาสตร์การต่อสู้ของรัฐฉาน ปลายปี พ.ศ. 2538 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ ซึ่งในขณะนั้นบัญชาการโดย ขุนส่า เป็นยุคปลายของขุนส่าที่เคยรุ่งเรืองอย่างมาก เมื่อเกิดปัญหาภายในกองทัพ ขุนส่าตัดสินใจมอบตัวและวางอาวุธให้กับรัฐบาลพม่า การรับมอบอาวุธอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2539 มีทั้งเจ้าหน้าที่ของพม่าและสำนักข่าวทั่วโลกมาทำข่าวการรับมอบอาวุธครั้งนี้ แต่ว่าในช่วงนั้นหลายกลุ่มที่ไม่ยอมวางอาวุธ จึงแยกตัวจากขุนส่ามาตั้งกองกำลังของตนเองใหม่ เจ้ายอดศึก ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไม่ยอมวางอาวุธ ได้นำกองกำลังประมาณ 400 คนหนีการตามล่าของทหารพม่า ในขณะที่หนีการตามล่าของทหารพม่าก็ได้รวบรวมกองกำลังที่กระจัดกระจายขึ้นใหม่ จนในที่สุดปี 2542 ก็มาตั้งฐานทัพอยู่ที่บริเวณ ขุนน้ำเพียงดิน เขตรอยต่อระหว่างเมืองปั่น-เมืองโต๋น ของรัฐฉาน ตรงข้ามกับอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย และเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ดอยไตแลง” จนกลายมาเป็นฐานที่มั่นสำคัญของรัฐฉานในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองจนถึงทุกวันนี้
การเมืองในพม่านั้น เคยมีผู้หนึ่งกล่าวให้ผมฟังว่า ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดในพม่านั้น มีเพียงกลุ่มชาติพันธุ์ Burma เท่านั้นที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ เพราะกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นยังคงเป็นแค่รัฐอาณานิคมภายใน ที่ถูกปกครองด้วยพม่าอีกทีหนึ่ง ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์และศาสนา ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในประเทศพม่าเป็นอย่างมาก รัฐบางรัฐยังห่างไกลและเข้าไม่ถึงประโยชน์จากการสสร้างชาตินั้น
เจ้ายอดศึกเล่าต่อว่า ช่วงแรกของการแยกตัวออกมาเคยได้รับฉายาว่า “ยอดศึกเมืองฮาม” อันแสดงถึงว่า เมื่อกองทัพของเจ้ายอดศึกเดินทางไปถึงเมืองไหน เมืองนั้นก็จะกลายเป็นเมืองฮาม หรือเมืองร้าง แต่ไม่ใช่เพราะกองกำลังเจ้ายอดศึกเก่งกาจอะไรหรอก แต่เป็นเพราะช่วงนั้นกองกำลังของเจ้ายอดศึกถูกไล่ล่าอย่างหนักจากทหารพม่า ไปเมืองไหนก็ถูกกองกำลังทหารพม่าเข้ากวดล้างหมู่บ้านอย่างหนัก จึงได้ฉายามาเพิ่มอีกว่า ยอดศึกหัวไข้ อันแสดงถึงว่า กองทัพนี้ไปถึงหมู่บ้านไหน ก็ปวดหัว-วุ่นวายที่นั่น กองกำลังของเจ้ายอดศึกจึงต้องอาศัยอยู่ในป่าและบนยอดเขา สิ่งหนึ่งที่เจ้ายอดศึกบอกว่าทำให้ท่านอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้คือ การช่วยเหลือจากประชาชนชาวไทใหญ่ที่ยังให้การสนับสนุนท่านอยู่
เจ้ายอดศึกพูดถึงโครงการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งชาติขึ้นบนดอยไตแลง โดยจะนำเงินที่ได้รับบริจาคในวันนี้เข้าร่วมสมทบทุนสร้าง ท่านยังให้คำมั่นสัญญาอีกว่า ปีหน้าเมื่อขึ้นมาอีกจะต้องได้เห็นความคืบหน้าของโครงการเป็นแน่ หลังจากเจ้ายอดศึกพูดเปิดงานเสร็จก็เริ่มทานอาหารค่ำด้วยกันได้ เจ้ายอดศึกจะลงมาชนแก้วกับทุกโต๊ะที่มาร่วมงาน เมื่อเจ้ายอดศึกเดินมาถึงโต๊ะของเราทุกคนก็รินแสงโสมใส่แก้วเล็กน้อย แล้วก็ยกแก้วขึ้นพร้อมกับเจ้ายอดศึก ดื่มพร้อมกัน
วันที่ 9 ลาก่อน
คำกล่าวที่ว่า “ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา” นั้นเป็นอมตะเสมอ แม้จะมีความสุขบนดอยไตแลงตลอด 5 วัน เมื่อถึงวันที่ 9 ทุกคนก็แยกย้าย ร้านค้าถูกเก็บเหลือเพียงเนินดินตามไหล่เขาสองข้างทาง ผู้คน 7 พันกว่าคนที่เข้าร่วมงานต่างทยอยกันกลับ แต่ชีวิตของนักเรียนกว่า 800 คน ทหารกว่า 5 พันนาย ประชาชนกว่าพันคนตามหุบเขาและไหล่ทาง จะยังอยู่รอต้อนรับประชาชนกลับมาเยี่ยมบ้านเมืองของพวกเขาอีกครั้ง เพื่อน ๆ ทุกคนที่มาร่วมงานกันกับผม ต่างไม่ลืมว่าตัวเองมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ มีงานที่ต้องทำ หลาย ๆ คนบ่นคิดถึงลูก คิดถึงเมีย คิดถึงบ้าน คิดถึงด่านตำรวจ คิดถึงเจ้านาย
ทันทีที่รถของพวกเราแล่นเข้าเขตประเทศไทย เพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “รู้สึกใจหายจัง แม้บนดอยไตแลงจะไม่สะดวกสบาย แต่ทุกครั้งที่ขึ้นมา ผมจะรู้สึกอบอุ่นใจ ปลอดภัยอย่างบอกไม่ถูก ไม่ต้องกลัวอะไร พอรถกลับเข้ามาเขตไทย ก็เกิดความรู้สึกกลัวขึ้นอีกแล้ว มันรู้สึกเหมือนไม่ใช่บ้านเรา บนดอยเราทำอะไรก็ได้ ไปไหนก็ได้ไม่มีใครมาดักจับไถเงินเรา ไม่ต้องมีใครมาดูถูกว่าเราเป็นต่างด้าว ไม่มีใครมารังเกียจเรา อย่างพวกเราเนี่ย อยู่พม่าก็ถูกเขาเอาเปรียบ อยู่เมืองไทยก็ถูกเขาดูถูก” บางทีนี่อาจจะเป็นคำตอบลึก ๆ ในใจของชาวไทใหญ่ว่าทำไมพวกเขาถึงต้องการมี “ชาติ”
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ