สภานิติบัญญัติของรัฐกลันตัน (Kelantan) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมาเลเซียที่มีพรรค PAS (Pan-Islamist Party) ซึ่งเป็นมุสลิมสายจารีตที่ครองเสียงข้างมาก ได้ลงมติผ่านการแก้ไขกฎหมายหลักอิสลามหรือชารีอะห์ (Sharia Law) อนุญาตให้ลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการเฆี่ยนโบยต่อหน้าสาธารณะได้ ต่างจากเดิมที่การลงโทษโบยชาวมุสลิมที่กระทำความผิดตามกฎหมายนี้จะไม่กระทำในที่สาธารณะ
ที่ผ่านมาพรรค PAS พยายามผลักดันการใช้หลักกฎหมายอาญาอิสลามอย่างเคร่งครัดในรัฐกลันตันนี้ รวมถึงการลงโทษตามหลักดังกล่าว เช่น การตัดมือผู้ขโมยหรือลักทรัพย์ และการปาหินให้ตายหากพบว่ามีการคบชู้หรือนอกใจคู่สมรส
ด้าน Mohd Amar Nik Abdullah รองรัฐมนตรีรัฐกลันตัน เปิดเผยว่าภายหลังการลงมติแก้กฎหมายนี้ ต่อไปจะเป็นหน้าที่ของศาลชะรีอะห์ (Islamic courts) ที่ต้องตัดสินว่าการเฆี่ยนโบยจะกระทำในคุก หรือลงโทษต่อหน้าสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม นาย Ahmad Zahid Hamidi รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังทราบข่าวการแก้ไขกฎหมายของพรรค PAS ว่ายังไม่ทราบรายละเอียดของเนื้อหามากนัก แต่คาดว่าจะบังคับใช้เฉพาะ 'ชาวมุสลิม' ในรัฐกลันตันเท่านั้น ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาอื่นๆ จะยังคงยึดตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญมาเลเซียต่อไป
ปัจจุบันประเทศมาเลเซียมีประชากร 32 ล้านคน โดยมากกว่า 60% นับถือศาสนาอิสลาม แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาวัฒนธรรมความอดกลั้นในประเทศที่มีความหลากหลายเชื้อชาติแห่งนี้กำลังลดน้อยถอยลง ขณะที่ความคิดแบบอนุรักษนิยมกลับเพิ่มขึ้น ระบบกฎหมายในประเทศนี้ใช้ระบบกฎหมายคู่กัน โดยศาลอิสลามจะพิจารณาคดีทางศาสนาและคดีครอบครัว เช่น การหย่าร้าง การเลี้ยงดูและการสืบมรดก หรือการคบชู้ ส่วนคดีอาญานั้นอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐบากลาง ซึ่งแม้จะมีบทลงโทษด้วยการโบย แต่ที่ผ่านมาก็กระทำภายในคุกเท่านั้น
ที่มาข่าวและภาพประกอบ: Asian Correspondent, 14/7/2017
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ