เผยไทยนำเข้าเสื้อผ้าพุ่ง ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าผู้หญิง

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ก.พ. 2560 | อ่านแล้ว 5058 ครั้ง

เผยไทยนำเข้าเสื้อผ้าพุ่ง ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าผู้หญิง

นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยเผยการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ปี 2559 ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้ากว่า 854 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 17% เมื่อเทียบกับปี 2558 ส่วนมากเป็นเสื้อผ้าสุภาพสตรีที่ขยายตัวสูงมากกว่าของสุภาพบุรุษ ที่มาภาพประกอบ: markusspiske (CC0)

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2560 ว่านายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับฐานเศรษฐกิจ โดยระบุว่าในปี 2559 ไทยมีการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มไปทุกตลาดมูลค่ารวม 2,412.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 8.46 หมื่นล้านบาท) ขยายตัวลดลงจากปีก่อน -8.9% โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วน 35.2% ส่งออกไปมูลค่า 849.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 10.8% 2.สหภาพยุโรป(28) สัดส่วน 21.2% มูลค่า 513.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 7.6% 3.ญี่ปุ่น สัดส่วน 15.3% มูลค่า 369.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 3.6% 4.จีน+ฮ่องกง สัดส่วน 6.3% มูลค่า 152.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัวเป็นบวกที่ 15.4% และ 5. อาเซียน(9) สัดส่วน 5.3% มูลค่า 128.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 10.6%

“ตลาดส่งออกหลักของไทยอยู่ที่สหรัฐฯกับสหภาพยุโรปหรืออียู สัดส่วนรวมกันมากกว่า 50% ซึ่งการส่งออกที่ลดลงใน 2 ตลาดนี้รวมถึงญี่ปุ่นและอาเซียนเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนตลาดจีนรวมฮ่องกงเป็นตลาดเดียวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นและมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งผลจากมีบางแบรนด์ของยุโรปมาสั่งผลิตในไทย แทนที่จะส่งกลับไปยุโรป ก็มีบางส่วนที่ให้เราส่งไปให้คู่ค้าเขาในจีน ขณะที่ปัจจุบันต้นทุนการผลิตของโรงงานในจีนที่ตั้งอยู่ตามเมืองชายฝั่งค่าแรงและต้นทุนการผลิตก็สูงกว่าไทย”

ส่วนแนวโน้มมูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยในปีนี้ น่าจะขยายตัวได้ที่ 2-3% จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มดีขึ้น โดยในส่วนของตลาดสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากสหรัฐฯมีการขึ้นภาษีสินค้าจากจีนจริงตามคำขู่ของนายโดนัลด์ทรัมป์ ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ จะส่งผลให้สินค้าไทยจะมีโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯเพิ่ม เพื่อทดแทนสินค้าจีนได้บางส่วน ขณะผลพวงจากที่สหรัฐฯได้ถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ไทยก็มีโอกาสส่งออกสินค้าแข่งขันกับเวียดนามที่เป็นสมาชิกทีพีพีเพิ่มขึ้น จากสินค้าจากเวียดนามไม่ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าสหรัฐฯมากกว่าที่เป็นอยู่

“ทั้งเรื่องขึ้นภาษีสินค้าจีน เรื่องทิศทางทีพีพีคงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง แต่ทั้ง 2 เรื่องถือส่งผลบวกต่อสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ส่วนการส่งออกไปตลาดอียูปีนี้น่าจะทรงๆ ตัว เบร็กซิทคงไม่กระทบการส่งออกไทยไปอังกฤษมาก เพราะตลาดใหญ่เราอยู่ที่เบลเยียม เยอรมนี ฝรั่งเศส ขณะตลาดญี่ปุ่นแนวโน้มน่าเพิ่มขึ้น แต่คงขึ้นกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนตลาดอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น และตลาดจีน+ฮ่องกงคาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

ที่น่าจับตาคือด้านการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้ากว่า 854 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(หรือประมาณ 3.03 หมื่นล้านบาท) ขยายตัว 17% เมื่อเทียบกับปี 2558 ส่วนมากเป็นเสื้อผ้าสุภาพสตรีที่ขยายตัวสูงมากกว่าของสุภาพบุรุษ

การนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปดังกล่าว ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน ญี่ปุ่น อิตาลี เวียดนาม เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ เป็นต้น โดยมีการนำเข้าสินค้าที่เป็นแบรนด์ดังระดับโลกราคาสูง แบรนด์ระดับภูมิภาคราคาระดับกลาง และแบรนด์ท้องถิ่นราคาต่ำ เข้ามาทั้งในลักษณะเปิดสาขาหรือร้านจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ การนำผ่านชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่าย รวมถึงมีคนไทยไปท่องเที่ยวในต่างประเทศแล้วหิ้วเข้ามาขายผ่านช่องทางโซเชียลที่ไม่ใช่การค้าออนไลน์ เช่น ขายผ่านไอจี ผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งตัวเลขนำเข้า 2 กลุ่มหลังนี้ไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่พบมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ตลาดเสื้อผ้าในประเทศของไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ เมื่อรวมกับเสื้อผ้านำเข้า คาดมูลค่าตลาดรวมเวลานี้ตกราว 2 แสนล้านบาท เนื่องจากไทยยังเป็นผู้นำด้านแฟชั่นของอาเซียน มีห้างสรรพสินค้าจำนวนมาก แบรนด์ดังๆ ถ้าจะมาเปิดตลาดอาเซียนก็จะมาเริ่มต้นเปิดสาขาหรือจุดจำหน่ายในไทยก่อน คาดในปีนี้มูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าของไทยมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 20%”

นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ยังกล่าวถึง ผลจากความตกลงทีพีพีทีที่หยุดชะงักลงว่า ในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่ได้ขยายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม เพื่อรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี 0% ในการส่งสินค้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯได้รับผลกระทบในแง่ลบ แต่อีกด้านหนึ่งกลุ่มนี้ยังคงมีโรงงานหรือฐานผลิตในไทย ดังนั้นภาพรวมคงไม่กระทบมากนัก เพราะยังมี 2 ฐานผลิตในต้นทุนที่อาจแตกต่างกันให้ลูกค้าเลือก แต่สำหรับในรายที่คิดจะปิดโรงงานในไทยเพื่อไปเปิดในเวียดนามเพื่อรับอานิสงส์จากทีพีพีคงชะลอการตัดสินใจออกไป เพราะมีความเสี่ยง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: