รอบ 6 เดือน ยอดขายและเช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรวม 1,541.94 ไร่ เพิ่มขึ้น 120.94 ไร่

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2455 ครั้ง

รอบ 6 เดือน ยอดขายและเช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรวม 1,541.94 ไร่ เพิ่มขึ้น 120.94 ไร่

รอบ 6 เดือน (ต.ค. 2559-มี.ค. 2560) มียอดขายและเช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรวม 1,541.94 ไร่ เพิ่มขึ้น 120.94 ไร่หรือคิดเป็น 8.5%คิดเป็นเงินลงทุนรวม 71,591 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 38.5% โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นพื้นที่นิคมฯใน EEC ถึง 1,457.40 ไร่ ที่มาภาพประกอบ: psrc.org

หนังสือพิมพ์แนวหน้า รายงานเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่ในการรองรับการลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 นั้นพบว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้มีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นโดยผลการดำเนินงานของกนอ. รอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2559-31มีนาคม 2560) มียอดขายและเช่าพื้นที่นิคมฯรวม 1,541.94 ไร่ เพิ่มขึ้น 120.94 ไร่หรือคิดเป็น 8.5%คิดเป็นเงินลงทุนรวม 71,591 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 38.5% โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นพื้นที่นิคมฯใน EEC ถึง 1,457.40 ไร่

"การเพิ่มขึ้นของยอดขายและเช่าพื้นที่ ดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่ามาจากนโยบาย EEC ของรัฐบาลที่เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญซึ่งปัจจุบันมีนิคมฯหลายแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยและเป็นที่ที่มีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตที่นักลงทุนยังให้ความสำคัญ เพราะมีความพร้อมด้านโครงสร้าง พื้นฐานและความชัดเจนนโยบายของรัฐในการดำเนินการ พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ปัจจุบันกนอ. มีนิคมฯทั้งสิ้น 54 แห่งใน 15 จังหวัดมีพื้นที่รวม 164,493 ไร่" นายวีรพงศ์กล่าว

กลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนในนิคมฯหลักได้แก่ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มเหล็กและโลหะ กลุ่มยางและพลาสติก กลุ่มเครื่องยนต์และเครื่องจักรกลที่ไม่ได้ใช้ยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าแนวโน้มการลงทุนยังคงมีต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนหลังจะเห็นจากดัชนีความเชื่อมั่น ภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว ผู้ประกอบการทั้งใน และต่างประเทศ เริ่มกลับเข้าลงทุน

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ประเมินตัวเลขขอรับส่งเสริม การลงทุนในปีนี้ประมาณ 550,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนปี2559 เนื่องจากรัฐบาลได้ออกมาตรการเร่งรัดการลงทุน โครงการต่างๆที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการคุณภาพสูง ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งมูลค่าอาจไม่สูงมาก แต่จะเกิดประโยชน์กับประเทศมากขึ้น ดังนั้น จากความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ฟื้นตัวมั่นใจว่ายอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมฯจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ กนอ. ตั้งไว้ในปีงบประมาณ 2560 ที่มียอดขาย ทั้งสิ้น 3,000 ไร่

นายวีรพงศ์กล่าวว่า โจทย์ของรัฐบาลที่เร่งรัดการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม New S-Curve ประกอบด้วย First S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน กนอ. เตรียมความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรม เป้าหมายเพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ในระยะ 5 ปีแรก (2560-2565) ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินด้านการลงทุน ประมาณ 500,000 ล้านบาท และจะมีความต้องการใช้พื้นที่เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 3 พื้นที่ ประมาณ 50,000 ไร่ ขณะนี้มีพื้นที่นิคมฯพร้อมรองรับนักลงทุนได้ทันที จำนวน 14 แห่ง ประมาณ 12,000 ไร่ พื้นที่นิคมฯที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 7 แห่ง ประมาณ 15,000 ไร่ และ พื้นที่เขต/สวนอุตสาหกรรมประมาณ 10,000 ไร่ และพื้นที่ที่ต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 10,000 ไร่เศษ

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนานิคมฯสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวกนอ.มั่นใจว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการส่งเสริมและขับเคลื่อนการลงทุนในอนาคตให้เกิดการลงทุนเป็นตามเป้าหมายอย่างที่คาดการณ์ไว้ ประมาณ 500,000 ล้านบาท ในระยะ 5 ปีแรก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: