กรมธุรกิจพลังงาน เตรียมเสนอ กบง. ให้ปรับราคาแก๊สโซฮอล์ 91/95 ให้เท่ากัน ก่อนยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ในที่สุด ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน คาดว่าสถานการณ์ราคาพลังงานจนถึงสิ้นปีนี้จะอยู่ในทิศทางขาขึ้น ทั้งราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวในประเทศไทยและฤดูหนาวในต่างประเทศ ทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงมากขึ้น โดยราคาเชื้อเพลิงในปีนี้เปรียบเทียบกับปีก่อน 9 เดือนแรกของปีนี้ น้ำมันดีเซล ราคาเพิ่มขึ้น 2.64 บาทต่อลิตร อยู่ที่ 25.79 บาทต่อลิตร ส่วนเบนซินเพิ่มขึ้น 3.443 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ 34.16 บาทต่อลิตร และน้ำมันอี 20 เพิ่มขึ้น 2.96 บาท มาอยู่ที่ 24.54 บาทต่อลิตร
ซึ่งจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประกอบกับการรณรงค์ให้ใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยเฉพาะ อี 85 สูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.9 หรือ 1.04 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 อยู่ที่ 30.01 ล้านลิตรต่อวัน โดยน้ำมันเบนซินใช้ลดลงร้อยละ 6.7 อยู่ที่ 1.25 ล้านลิตรต่อวัน ,แก๊สโซฮอล์ 91 ใช้ 10.73 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงร้อยละ 4.3 ,แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นร้อยละ 105 อยู่ที่ 11.83 ล้านลิตรต่อวัน ,อี 20 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เฉลี่ย 5.16 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเฉลี่ย 62.14 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 การใช้แอลพีจีอยู่ที่ 16.66 ล้านกก.ต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เอ็นจีวี 6.84 ล้านกก.ต่อวัน ลดลงร้อยละ 12.4
“ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี จะเป็นไฮซีซั่นด้านการท่องเที่ยว และมีการขนส่งสินค้ามาก ดังนั้นคาดว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้น โดยดีเซลคาดว่าจะเพิ่มร้อยละ 10 จากปีก่อน โดยมียอดการใช้เฉลี่ย 68 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนกลุ่มเบนซินคาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เฉลี่ย 31.25 ล้านลิตรต่อวัน อย่างไรก็ตามขอเตือนว่า ราคาในช่วงหน้าหนาวจะสูงขึ้น” นายวิฑูรย์กล่าว
นายวิฑูรย์กล่าวว่า จะเสนอที่ประชุม กบง.ที่มีรมว.พลังงานเป็นประธานเร็ว ๆ นี้ ขอให้ปรับราคาแก๊สโซฮอล์ 91/95 อยู่ในราคาเดียวกัน จากที่ต่างกัน 27 สต.ต่อลิตร หากทำได้ จะสร้างทางเลือกกับประชาชนว่า จะยกเลิกการใช้แก็สโซฮอล์ 91 หรือไม่ หากยกเลิกได้จะเป็นผลดี เพราะน้ำมันทุกผลิตภัณฑ์จะมีออกเทน 95 เท่ากัน และแต่ละปั๊มจะมีหัวจ่ายชนิดของน้ำมันลดลง ต้นทุนขนส่งจะต่ำลง และอาจมีผลดีต่อการแข่งขันและผลดีต่อประชาชน
ส่วนสถานการณ์ราคาพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป จากปีนี้ราคาจะเพิ่มขึ้น แต่ก็มีฐานที่ต่ำกว่าอดีต ทำให้รถที่ใช้ก๊าซหันมาใช้น้ำมันมากขึ้น ทำให้จำนวนปั๊มเอ็นจีวีลดลง เหลือ 422 แห่ง จากปีก่อน 487 แห่ง ปั๊มแอลพีจีเหลือ 2,071 แห่ง จาก 2,092 แห่ง และปั๊มน้ำมันเพิ่มเป็น 26,988แห่ง จาก 25,613 แห่ง โดยจำนวนปั๊มที่เพิ่มขึ้น ปั๊มพีที เพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 21 คือ จาก 1,240 แห่งในปีก่อน เป็น 1,506 แห่ง ส่วนปั๊มปตท.เพิ่มขึ้นจาก 1,601 เป็น 1,721 แห่ง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ