กรมสุขภาพจิต ขอสังคมเข้าใจโรคจิตให้ถูกต้อง ไม่ควรตัดสินและเรียกใครว่าโรคจิตโดยไม่ผ่านการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ เพราะจะกลายเป็นการตีตราและทำร้ายชีวิตคนโดยไม่รู้ตัว ที่มาภาพประกอบ: Skitterphoto (CC0)
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2560 ว่านาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง การเรียกบุคคลที่มีพฤติกรรมหรือบุคลิกที่ผิดแปลกแตกต่างจากคนทั่วไป รวมถึงผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้า ว่า “โรคจิต” ยังเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของหลายคนในสังคม ซึ่งการเรียกเช่นนี้ทำให้เกิดการตีตราผู้ป่วยจิตเวชให้ดูน่าเกลียด น่ากลัว มากยิ่งขึ้น กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงบริการบำบัดรักษา สังคมไม่ควรตัดสินว่าใครป่วยเป็นโรคจิตเอง ทั้งนี้ควรให้เป็นการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะโรคนี้ในบางรายไม่แสดงอาการชัดเจน อาจต้องรับการตรวจประเมินทดสอบทางจิตวิทยาจากนักจิตวิทยาที่ชำนาญการ ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น “โรคจิต” จะเสียการรับรู้ต่อสภาพความเป็นจริง มีความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและบุคลิกภาพ บางครั้งรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติเหมือนคนธรรมดาทั่วไป การแสดงออกทางอาการจะแตกต่างกันไป ทางการแพทย์จะพิจารณา ลักษณะอาการของผู้ป่วยจากหลักการ 3 ข้อ เบื้องต้น คือ 1. ผู้ป่วยมีบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ เช่น จากที่เคยเป็นคนร่าเริงเปลี่ยนเป็นอยู่คนเดียวเงียบ ๆ หรืออารมณ์ร้อนผิดปกติ 2. ผู้ป่วยมีการรับรู้ที่ผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ เช่น ผู้ป่วยมักบ่นว่าได้ยินเสียงในหูแว่ว ๆ เพียงคนเดียว เห็นภาพหลอน หรือมีอาการพูดคนเดียวเพียงลำพังเป็นเรื่องเป็นราว และ 3. ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้อาการป่วยของตนเองใช่หรือไม่ ถ้าแพทย์พิจารณาแล้วว่าเข้าข่ายหลักเกณฑ์ใน 3 ข้อนี้ มีปัญหาข้อใดข้อหนึ่ง จึงจะตรวจอย่างละเอียดต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ