ทำไมต้องมี ‘บัตรคนจน’? หวั่นซ้ำซ้อน-ซ้ำรอยปัญหา ‘บปช.สมาร์ทการ์ด’

ทีมข่าว TCIJ : 14 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 14353 ครั้ง

รัฐบาลจะออก ‘บัตรสิทธิประโยชน์ผู้ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ’ หรือ ‘บัตรคนจน’ ในเดือนตุลาคม 2560 นำมาซึ่งคำถามของสังคมว่าทำไมไม่ใส่ข้อมูลไปในบัตรประชาชนที่มีกันทุกคนอยู่แล้ว ? TCIJ ตรวจสอบการใช้บัตรสมาร์ทการ์ด ปี 2486-2557   รวม 7 รุ่น พบจุดอ่อนของบัตรคือความล้าหลังของเทคโนโลยี เช่น ใช้งานกับโปรแกรมอ่านบัตรบางโปรแกรมไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์ ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ช่วงเดือน เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้เปิดเผยถึงการจัดทำบัตรสิทธิประโยชน์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า'บัตรคนจน'  เพื่อมอบให้กับผู้ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ว่า กรมบัญชีกลางได้หารือกับธนาคารกรุงไทยเพื่อเป็นผู้จัดทำบัตรดังกล่าว รูปแบบจะคล้ายกับบัตรประชาชน คือมีชื่อ มีรูป เป็นบัตรมีชิปการ์ด บัตรจะมีอายุ 5 ปี สามารถนำมาใช้กับเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ (EDC) ที่กำลังติดตั้งในโครงการอีเพย์เมนต์ (e-Payment) และสามารถเป็นบัตรเอทีเอ็ม (ATM) หรือบัตรเดบิต (Debit) ได้ในอนาคต เบื้องต้น บัตรดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นส่วนลด หรือนำไปใช้กับสวัสดิการที่รัฐจะให้ เช่น ส่วนลดค่าน้ำ ค่าไฟ ใช้บริการรถเมล์ รถไฟฟรี โดยสามารถเพิ่มหรือลดสวัสดิการด้วยการใช้วิธีการใส่โปรแกรมเข้าไปในระบบอีเพย์เมนต์ และใส่โปรแกรมเข้าไปในหน่วยงานที่จะรับบัตร เช่น ไฟฟ้า ประปา ส่วนเบี้ยยังชีพคนชราจะเป็นระยะต่อไปที่จ่ายให้ผ่านบัตร โดยในระยะแรกกรมบัญชีกลางจะทดลองนำเบี้ยยังชีพคนชราที่จ่ายโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาจ่ายโดยกรมบัญชีกลาง แบบเงินสดหรือโอนเข้าบัญชีก่อน หลังจากนั้นหากไม่มีปัญหาก็พร้อมจะจ่ายผ่านบัตรสวัสดิการ และในอนาคตรัฐจะโอนสวัสดิการ เช่น เบี้ยยังชีพคนชรา ฯ ผ่านบัตรนี้ได้

ต่อกรณีนี้ หลายฝ่ายได้ออกมาตั้งคำถามว่า ทำไมถึงไม่บันทึกข้อมูลผู้เข้าโครงการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐลงในบัตรประชาชน ซึ่งปัจจุบันก็เป็นเทคโนโลยีแบบสมาร์ทการ์ด (Smart card) อยู่แล้ว จะต้องทำบัตรใหม่ให้ซ้ำซ้อนอีกทำไม ทั้งที่ประเทศไทยเคยมีนโยบาย 'คนไทย 1 ใบก็พอ' มาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 รวมทั้ง ครม. ได้มีมติให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐบูรณาการข้อมูลตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2559 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เองก็เคยระบุว่า "บัตรประชาชนน่าจะมีการระบุอาชีพและรายได้ เพื่อแยกแยะให้ได้ว่ารัฐบาลจะได้ใช้งบประมาณอย่างไรให้เหมาะสม" (อ่านเพิ่มเติม: ทำไมถึง ? ดัน “บัตรประชาชนใส่รายได้-อาชีพ” - รบ.ยันไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน)

ประมูลผลประโยชน์มหาศาล ใช้ไม่ได้จริง รัฐสูญงบซ้ำซ้อน

อินโฟกราฟฟิคแสดงความ ‘ไม่ฉลาด’ ของ ‘บัตรฉลาด(สมาร์ทการ์ด)’  ที่มา: หนังสือ 'เมนูคอร์รัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์' ที่เรียบเรียงจากโครงการ 'คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์' โดย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดูภาพอินโฟกราฟฟิคขนาดใหญ่ (คลิ๊กที่นี่)

เริ่มแรกในประเทศไทยนั้น ภาคเอกชนเป็นผู้นำเทคโนโลยี ‘สมาร์ทการ์ด’ มาใช้ก่อน คือบัตรเครดิตของธนาคารกสิกรไทยรุ่น 'บัตรเครดิตกสิกรไทยอัจฉริยะ' หรือ 'ทีเอฟบีบัตรอัจฉริยะ' เมื่อปี 2536 ต่อมาหลาย ๆ รัฐบาลในอดีตได้มีความพยายามจัดซื้อจัดหาสมาร์ทการ์ด มาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ใช่เพียงแค่บัตรประชาชนเท่านั้น โดยหน่วยงานรัฐหน่วยงานแรกที่พยายามจะนำเทคโนโลยีสมาร์ทการ์ดมาใช้ คือกระทรวงแรงงานเมื่อปี 2545 ในโครงการทำบัตรรับรองของสำนักงานประกันสังคม แต่มีกระแสข่าวการทุจริตในโครงการนี้ ทำให้บัตรสมาร์ทการ์ดของสำนักงานประกันสังคมไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงจนถึงปัจจุบัน จากนั้นในช่วงปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มโครงการการใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดของไทย มีงานศึกษาจาก Gartner Group ระบุว่า ในขณะนั้นโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกล้มเหลวกว่าร้อยละ 70 โดยมีสาเหตุมาจากความไม่รัดกุมในการนำไปใช้ และขาดการศึกษาอย่างถ่องแท้ รวมทั้งยังขาดความพร้อมของหน่วยงานบางแห่งที่ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้ ทำให้การทำธุรกรรมไม่สามารถสื่อสารข้อมูลระหว่างกันอย่างทั่วถึง ตลอดจนมีปัญหาเรื่องระบบความปลอดภัยของข้อมูล ต่อมาในปี 2548 ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ก็ได้ออกมาเตือนถึงปัญหาการใช้บัตรสมาร์ทการ์ด ว่าระบบการจัดการบัตรที่กระทรวงมหาดไทยมีอยู่นั้นไม่สามารถใช้กับสมาร์ทการ์ดได้ทุกยี่ห้อ ปัญหาใหญ่ของการใช้สมาร์ทการ์ดในช่วงแรกเริ่ม จึงเป็นระบบของรัฐที่มีอยู่ไม่รองรับเทคโนโลยีสมาร์ทการ์ด

นอกจากนี้ในการประมูลสมาร์ทการ์ดหลายรุ่น มักจะมีการล้มประมูล-แล้วประมูลใหม่หลายรอบ รวมถึงการไม่สามารถตรวจรับสินค้าได้ มีข่าวคราวการเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจบางกลุ่ม เนื่องจากมูลค่าของการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดนี้มีสูงระดับหลักร้อยล้านถึงพันล้าน และอีกปัญหาที่สำคัญคือ บัตรในแต่ละรุ่นจะมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ขึ้นกับว่าการจัดซื้อในแต่ละครั้งนั้นซื้อจากผู้ผลิตรายใด และมีการเพิ่มลักษณะ เฉพาะอะไรลงไปหรือไม่ และเมื่อใช้ไปสักระยะเวลาหนึ่งก็เกิดปัญหาความล้าหลังของเทคโนโลยี คือใช้งานกับโปรแกรมอ่านบัตรบางโปรแกรมไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์ตลอดเวลา นอกจากนี้ในอดีตก็ยังมีปัญหาระหว่าง 2 หน่วยงาน ที่คอยจัดหาทั้งตัวบัตรและระบบใช้งาน คือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับกระทรวงมหาดไทย เกิดปัญหาการประสานงานระหว่าง 2 หน่วยงานและเกิดความขัดแย้งในการตรวจรับงานบ่อยครั้ง

ด้านปัญหาการขาดแคลนบัตรนั้นพบว่า ในช่วงปี 2553 ด้วยการผลิตและส่งมอบที่ล่าช้าได้ส่งผลให้ประชาชนกว่า 240,000 คน ต้องกลับมาใช้ 'บัตรเหลือง' อีกครั้งกว่าครึ่งปี (หลังที่เคยมีการอวดอ้างมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วว่าการใช้สมาร์ทการ์ดจะทำให้คนไทยไม่ต้องใช้บัตรเหลืองแทนบัตรประชาชนอีกต่อไป) รวมทั้งตั้งแต่มีการทำบัตรประชาชนให้เด็กอายุ 7 ขวบขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ก็ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดอย่างต่อเนื่อง แม้แต่อธิบดีกรมการปกครองยังเคยออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การทำบัตรประชาชนให้เด็กอายุ 7 ขวบขึ้นไป นี้ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะบัตรหนึ่งใบรวมต้นทุนค่าบัตรและการลงโปรแกรมข้อมูลและเลขหลังบัตรราคาอยู่ที่ประมาณ 100 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก

ในด้านผลกระทบโดยรวมต่อประชาชน ข้อมูลจากการหนังสือ 'เมนูคอร์รัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์' เมื่อปี 2557 ที่เรียบเรียงจากโครงการ 'คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์' โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า รัฐบาลดำเนินโครงการบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดโดยไม่มีการเตรียมความพร้อมเรื่องระบบข้อมูล จากเดิมที่มุ่งหวังจะใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดเพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ ทั้งข้อมูลระบบทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลระบบประกันสุขภาพ ข้อมูลระบบประกันสังคม ฯลฯ แต่จากความไม่พร้อมดังกล่าว ทำให้ข้อมูลอื่น ๆ นอกจากข้อมูลระบบทะเบียนราษฎร์ไม่ได้ถูกบรรจุลงในบัตร ส่งผลให้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น ซึ่งแทบไม่ต่างจากบัตรประชาชนแถบแม่เหล็กแบบเดิมที่มีราคาเพียงใบละประมาณ 15 บาท รวมถึงเรื่องการกำหนดเงื่อนไขการประมูลไว้สูง โดยมิใช่เงื่อนไขด้านเทคนิค ทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลมีน้อยราย ขาดการแข่งขันอย่างทั่วถึง เป็นเหตุให้ราคาประมูลสูงกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในการประมูลราคาจ้างเหมาผลิตบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด รุ่นที่ 1 ที่ตั้งราคาประมูลเริ่มต้นไว้สูงถึงใบละ 120 บาท ในขณะที่เคยมีรายงานว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถจัดทำบัตรดังกล่าวได้ในราคาใบละประมาณ 40 บาทเท่านั้น และปัญหาความไม่โปร่งใสในการประมูล ทำให้การดำเนินการจัดจ้างผลิตบัตรประชาชนล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ราว 2 ปีครึ่ง ในขณะที่มีความต้องการใช้บัตรประชาชนถึงปีละกว่า 10 ล้านใบ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก และปัญหาความล่าช้าในการจ้างผลิตบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดซื้อบัตรแถบแม่เหล็กเพื่อใช้แทนบัตรสมาร์ทการ์ด ตัวอย่างเช่นในช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดทั้ง 3 รุ่น ระหว่างปี 2547-2552  กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต้องจัดซื้อบัตรแถบแม่เหล็กเพื่อใช้ทำบัตรประชาชนอย่างน้อย 21 ล้านใบคิดเป็นงบประมาณกว่า 320 ล้านบาท

บัตรประชานแบบสมาร์ทการ์ด 7 รุ่น

คณะกรรมการบูรณาการและปฏิรูประบบการทะเบียนแห่งชาติ ในรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะกรรมการ ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนมีบัตรหลักบัตรเดียวในการขอรับบริการจากรัฐ (e-Citizen) สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนเป็น ‘บัตรสมาร์ทการ์ด’ เนื่องจากกรมการปกครอง ได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนเป็นแบบแถบแม่เหล็กมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เห็นว่าเทคโนโลยีบัตรพลาสติกมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และมีราคาถูกลง ประกอบกับแนวนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้การบริการของภาครัฐมีความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกส่วนราชการ จึงได้เปลี่ยนจากบัตรแถบแม่เหล็กเป็นบัตรสมาร์ทการ์ด ซึ่งมีความปลอดภัยและจัดเก็บข้อมูลได้มาก เพื่อให้สามารถจัดเก็บข้อมูลของส่วนราชการต่าง ๆ ที่ประสงค์เพื่อการบริการและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน  บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์หรือบัตรสมาร์ทการ์ด ที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเลือกใช้เป็นเทคโนโลยีชนิด Contact smart cards ชนิดจาวา (Java Card) ซึ่งจะต้องใช้คู่กับเครื่องอ่านบัตร (Smart card Reader)  ซึ่งรัฐบาลได้มีการจัดซื้อจัดหา และใช้งานบัตรประชาชนแบบ Smart card นี้มาแล้วหลายรุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นจะมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ขึ้นกับว่าการจัดซื้อในแต่ละครั้งนั้นซื้อจากผู้ผลิตรายใด และมีการเพิ่มลักษณะเฉพาะอะไรลงไปหรือไม่

บัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดรุ่นนำร่อง (ใช้ระหว่างปี 2547-2548) บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ หรือบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด มีรูปแบบคล้ายบัตรประชาชนรุ่นที่ 4 โดยเพิ่มไมโครชิพบันทึกข้อมูล และเพิ่มรายการเจ้าของบัตรที่มีชื่อสกุลภาษาอังกฤษ ดำเนินการโดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ 111 หน่วยงาน ในการเชื่อมโยง การใช้ข้อมูล โดยใช้สมาร์ทการ์ดใบเดียวไม่ต้องพกบัตรหลายใบ เช่น บัตรประกันสังคม บัตรรับรองสิทธิการพยาบาล การใช้บัตรประชาชนต่อใบอนุญาตหนังสือเดินทาง โดยไม่ต้องใช้ทะเบียนบ้าน อนาคตขยายการเชื่อมต่อข้อมูลในบัตรกับส่วนข้าราชการอื่น ๆ มาจนกระทั่งปัจจุบัน วันเริ่มใช้บัตร 1 เม.ย. 2547 บัตรรุ่นนี้ออกมาจำนวน 10,000 บัตร ต่อมาได้มีการพัฒนาบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด ออกมาอีก 6 รุ่น ข้อเสียของบัตรรุ่นนี้คือ ความล้าหลังของเทคโนโลยี คือใช้งานกับโปรแกรมอ่านบัตรบางโปรแกรมไม่ได้ต้องมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์

บัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดรุ่นที่ 1 ที่มาภาพ: สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

บัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดรุ่นที่ 1 (ใช้ระหว่างปี 2548-2549) เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2548 โดยออกบัตรให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2548 และให้กับประชาชนในกรุงเทพฯ เดือนพ.ย. 2548 โดยมีข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในบัตร (IC-Chip) เฉพาะข้อมูลด้านทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครองเท่านั้น ซึ่งบัตรรุ่นนี้มีพื้นที่ในการเก็บข้อมูลเพียง 28 กิโลไบต์ (Kbytes) ลักษณะของบัตรสมาร์ทการ์ดรุ่นนี้คือด้านบนซ้ายของหน้าบัตรยังไม่มีเครื่องหมายรูปครุฑ มีแถบแม่เหล็กอยู่ด้านหลังบัตร มีข้อมูลตัวอักษรสำหรับการอ่านด้วยระบบ อู่ซีอาร์ และมีรหัสบัตรด้านหลังขึ้นต้นด้วย PM0 บัตรรุ่นนี้ออกมาจำนวน 12 ล้านใบ (บัตรรุ่นนี้จัดการประมูลครั้งสุดท้ายในเดือน มิ.ย. 2547 โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ราคาเริ่มต้นที่ใบละ 108.9 บาท ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้า CST เป็นผู้ชนะการประมูลโดยเสนอราคา 888 ล้านบาท หรือเฉลี่ยใบละ 74 บาท) ข้อเสียของบัตรรุ่นนี้ดังที่กล่าวไปคือ มีพื้นที่ในการเก็บข้อมูลเพียง 28 กิโลไบต์ และจัดเก็บข้อมูลด้านทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครองเท่านั้น รวมทั้งความล้าหลังของเทคโนโลยี คือใช้งานกับโปรแกรมอ่านบัตรบางโปรแกรมไม่ได้ต้องมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์

บัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดรุ่นที่ 2 ที่มาภาพ: สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

บัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดรุ่นที่ 2 (ใช้ระหว่างปี 2551-2553) บัตรรุ่นนี้ออกมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2551 ซึ่ง ณ เวลานั้นถือเป็นบัตรรุ่นที่มีความพร้อมและใช้ประโยชน์ได้มากกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ เนื่องจากได้บรรจุข้อมูลที่ประชาชนได้รับประโยชน์จำนวนมาก ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานตามหน้าบัตร ข้อมูลตามทะเบียนบ้าน ข้อมูลทะเบียนอื่น ๆ และยังได้บรรจุข้อมูลของหน่วยงานอื่น ๆ อีก 4 หน่วยงาน รวมส่วนของกรมการปกครองด้วยเป็น 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก หน่วยบัญชาการกำลังสำรอง และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นบัตรขนาด 64 กิโลไบต์ (Kbytes) ลักษณะของบัตรรุ่นนี้ คือ ด้านบนซ้ายของหน้าบัตรมีเครื่องหมายรูปครุฑ ยังไม่มีเส้นสีแดงพาดผ่านรูปถ่าย และมีรหัสบัตรด้านหลังขึ้นต้นด้วย JC0 บัตรรุ่นนี้ออกมาจำนวน 26 ล้านใบ (บัตรรุ่นนี้จัดการประมูลครั้งสุดท้ายในเดือน ก.ค. 2550 โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำหนดราคาเริ่มต้นที่ 1,612 ล้านบาท หรือเฉลี่ยใบละ 62 บาท การประมูลครั้งนี้ กิจการร่วมค้า VSK เป็นผู้ชนะการประมูลโดยเสนอราคา 921 ล้านบาท หรือเฉลี่ยใบละประมาณ 35.4 บาท)

บัตรรุ่นนี้จัดเก็บข้อมูลดังต่อไปนี้ 1. ข้อมูลด้านการทะเบียนของกรมการปกครอง ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.1 ข้อมูลส่วนที่สามารถเปิดเผยได้ (Public) โดยหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากกรมการปกครองและได้รับซอฟต์แวร์ในการตรวจสอบข้อมูล จึงสามารถอ่านข้อมูลได้ ประกอบ ด้วยข้อมูลตามรายการหน้าบัตรทุกรายการ 1.2 ข้อมูลทะเบียนอื่นที่เป็นส่วนบุคคล (Private) ประกอบด้วยข้อมูลตามรายการทะเบียนบ้านสูติบัตร การสมรส การหย่า การเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล 2. ข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกอบด้วย ข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาล ประเภทของสิทธิ์ สถานบริการหลัก สถานบริการรอง ประเภทการจ่ายเงิน และอื่น ๆ ซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนแต่ละใบสามารถบอกสิทธิการรักษาพยาบาลของเจ้าของบัตรได้ทุกใบ 3. ข้อมูลขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกประกอบด้วยชั้นบัตร เลขที่บัตร เหรียญที่ได้รับ เป็นต้น 4. ข้อมูลของหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง ประกอบด้วยข้อมูลวันที่ลงบัญชีทหาร ภูมิลำเนาทหารเลขที่หนังสือสำคัญ ปีที่สำเร็จการศึกษา เป็นต้น 5. ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประกอบด้วย ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร โดยข้อเสียของบัตรรุ่นนี้คือความล้าหลังของเทคโนโลยี คือใช้งานกับโปรแกรมอ่านบัตรบางโปรแกรมไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์

บัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดรุ่นที่ 3 ที่มาภาพ: สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

บัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดรุ่นที่ 3(ใช้ระหว่างปี 2554-2555) เริ่มออกบัตรตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2554 คุณลักษณะของบัตร (spec) โดยรวมเหมือนกับรุ่นที่ 2 แต่จะเพิ่มพื้นที่จัดเก็บข้อมูล (EEPROM) เป็น 80 กิโลไบต์ (Kbytes) และยังมีการจัดเก็บข้อมูลของส่วนราชการอื่นเหมือนกับรุ่นที่ 2 แต่มีส่วนที่แตกต่างจากบัตรรุ่นเดิมอยู่บ้าง ส่วนลักษณะอื่น ๆ โดยรวมจะเหมือนกับบัตรรุ่น 2 ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ลักษณะของบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์นี้ คือ มีเส้นสีแดง (MicroText) 2 เส้นพาดผ่านรูปถ่าย และด้านล่างของบัตร ข้อความภายในเส้นเป็นคำว่า THAILAND โฮโลแกรมด้านหลังบัตร มีรูปพระบรมมหาราชวังเพิ่มซ้อนอยู่บนแผนที่ประเทศไทย และมีรหัสบัตรด้านหลังขึ้นต้นด้วย JC1 บัตรรุ่นนี้ออกมาจำนวน 26 ล้านใบ (บัตรรุ่นนี้จัดการประมูลครั้งสุดท้ายในเดือน พ.ค. 2552 โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำหนดราคาเริ่มต้นที่ 960 ล้านบาท หรือเฉลี่ยใบละประมาณ 37 บาทการประมูลครั้งนี้ กิจการร่วมค้า VK ซึ่งประกอบด้วยบริษัทหลักเดียวกันกับกิจการร่วมค้า VSK ที่ชนะการประมูลในปี 2550 เป็นผู้ชนะการประมูลโดยเสนอราคา 902 ล้านบาท หรือเฉลี่ยใบละประมาณ 34.7 บาท) ข้อเสียของบัตรรุ่นนี้คือความล้าหลังของเทคโนโลยี คือใช้งานกับโปรแกรมอ่านบัตรบางโปรแกรมไม่ได้ต้องมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์

และในปี 2554 นี้ก็ได้มีการเริ่มทำบัตรประชาชนสำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่10 ก.ค. 2554 ที่ให้กลุ่มบุคคลอายุ 7 ปีบริบูรณ์ ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนภายใน 60 วัน ซึ่งหากเด็กยื่นคำขอมีบัตรเกินกำหนดก็ไม่ถูกเปรียบเทียบปรับแต่อย่างใด

บัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดรุ่นที่ 4 (ใช้ระหว่างปี 2555-2556) เป็นบัตรที่จัดทำเสริมขึ้นมาระหว่างรอการประกวดราคาจัดซื้อ เริ่มออกบัตรตั้งแต่ปี 2555 - เม.ย. 2556 พื้นที่จัดเก็บข้อมูล (EEPROM) 80 กิโลไบต์ (Kbytes) และยังมีการจัดเก็บข้อมูลของส่วนราชการอื่นเหมือนกับรุ่นที่ 3 รูปแบบบัตรเหมือนกับรุ่นที่ 3 แต่เลขเลเซอร์หลังบัตรขึ้นต้นด้วย KN0-XXXXXXX-X  รหัสบัตรด้านหลังขึ้นต้นด้วย KN0 บัตรรุ่นนี้ออกมาจำนวน 3.9 ล้านใบ ข้อเสียของบัตรรุ่นนี้คือใช้งานกับโปรแกรมอ่านบัตรบางโปรแกรมไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์ก่อน

บัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดรุ่นที่ 5 (ใช้ระหว่างปี 2556-2557) เริ่มออกบัตร 7 พ.ค. 2556 มีพื้นที่จัดเก็บข้อมูล (EEPROM) 80 กิโลไบต์ (Kbytes) และยังมีการจัดเก็บข้อมูลของส่วนราชการอื่นเหมือนกับรุ่นที่ 3 รูปแบบบัตรเหมือนกับรุ่นที่ 3 แต่เลขเลเซอร์หลังบัตรขึ้นต้นด้วย JT0-XXXXXXX-XX การใช้งาน และการใช้ประโยชน์จากบัตร กรมการปกครองได้ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนใช้โปรแกรมสำหรับการอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 เพื่อให้ภาครัฐ และภาคเอกชน ได้ใช้ประโยชน์จากบัตรประจำตัวประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงในการใช้ประโยชน์จากบัตรแล้ว จำนวน 111 หน่วยงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2556) รหัสบัตรด้านหลังขึ้นต้นด้วย JT0 บัตรรุ่นนี้ออกจำนวน 16 ล้านใบ ข้อเสียของบัตรรุ่นนี้คือแม้จะทำงานเร็วกว่าบัตรรุ่นเดิม ประมาณ 3 ถึง 4 เท่า แต่พบว่าใช้งานกับโปรแกรมอ่านบัตรบางโปรแกรมไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์ก่อน

บัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดรุ่นที่ 6 (ใช้ระหว่างปี 2557-ปัจจุบัน) เริ่มออกใช้งานตั้งแต่ต้นปี 2557 มีลักษณะภายนอกเหมือนกับบัตรรุ่นที่ 3 รหัสบัตรด้านหลังขึ้นต้นด้วย JC2 มีจำนวน 1.9 ล้านใบ ข้อเสียของบัตรรุ่นนี้คือแม้ความเร็วในการทำงานเท่ากับบัตรรุ่นที่ 4 แต่พบว่าใช้งานกับโปรแกรมอ่านบัตรบางโปรแกรมไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์ก่อน

ย้อนดูบัตรประชาชนไทย 4 รุ่นแรก

ข้อมูลที่รวบรวมโดย สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือน ก.ย. 2559  ระบุว่าตั้งแต่ปี 2486 สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 รัฐบาลโดยการนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดทำเอกสารเฉพาะตัวบุคคล จึงได้เสนอออก พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2486 เป็นกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนฉบับแรกของไทย ซึ่งเป็นผลของการออกหนังสือเดินทางสำหรับราษฎรตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ทำให้ทางราชการเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำเอกสารเป็นหลักฐาน เพื่อแสดงว่าใครคือใครอยู่ที่ไหน รูปพรรณเป็นอย่างไร เพื่อประโยชน์ในการปกครองท้องที่ และการควบคุมราษฎรของทางราชการรวมทั้งประชาชนก็จะได้ประโยชน์ในการติดต่อซึ่งกัน โดยเฉพาะการค้าขาย มาบังคับใช้เป็นการเฉพาะครั้งแรกเพื่อให้ทำบัตรประจำตัวประชาชนแก่คนไทย แต่บังคับใช้เฉพาะราษฎรในจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี (กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน) โดยมีบัตรประจำตัวประชาชนมาแล้วตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันทั้งหมด 5 รุ่น (รุ่นหลัก 4 รุ่น และรุนที่ 5 คือบัตรแบบสมาร์ทการ์ด ที่ยังมีแยกย่อยอีก 7 รุ่น) โดย 4 รุ่นหลักมีดังต่อไปนี้

บัตรประชาชนรุ่นแรก ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2486 ที่มาภาพ: สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

บัตรประจำตัวประชาชนรุ่นแรก (ใช้ระหว่างปี 2486-2505) มีลักษณะเป็นบัตรรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พับเป็น 4 ตอนคล้ายบัตรยืมหนังสือของห้องสมุดมีขนาดกว้าง 4 นิ้วยาว 3 นิ้ว คล้ายบัตรยืมหนังสือของห้องสมุด มีทั้งหมด 8 หน้า ปกหน้า (ด้านหน้า) มีรูปครุฑ และคำว่า“บัตรประจำตัวประชาชน” พร้อมเลขทะเบียนที่ออกบัตร ปกหลัง (ด้านหลัง) เป็นคำเตือน สำหรับผู้ถือบัตร เช่น ต้องพกติดตัวและแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้เสมอ ต้องขอเปลี่ยนบัตรเมื่อบัตรหมดอายุต้องแจ้งขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในบัตร เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล หรือที่อยู่ เป็นต้น บัตรประจำตัวประชาชนตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีอายุการใช้ 10 ปี เมื่อบัตรหมดอายุแล้ว ต้องทำคำร้องขอเปลี่ยนบัตร โดยเสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 25 สตางค์ ส่วนบุคคลซึ่งจะต้องมีบัตรตามกฎหมาย คือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์จนถึง 70 ปีบริบูรณ์ และกำหนดให้ยื่นคำร้องภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นต้องมีบัตรตามพระราชบัญญัตินี้ คือ พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2486 สำหรับ

ข้อเสียของบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นแรก คือ มีจุดอ่อนในด้านการพกพา ทั้งนี้เนื่องจากมีลักษณะใหญ่เกินไป ทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อผู้ใช้ที่จะต้องนำพกพาติดตัวไปด้วยเสมอ ประกอบกับลักษณะของบัตร หลักการ และวิธีการทางกฎหมายในเรื่องการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนล้าสมัย

บัตรประชาชนรุ่นที่ 2 ประมาณการว่ามีการใช้บัตรรุ่นนี้ตั้งแต่ปี 2506 จนถึงสิ้นปี 2530 รวม 24 ปี ประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบัตร ที่มาภาพ: สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

บัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่ 2 (ใช้ระหว่างปี 2506-2530) ต่อมาความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองโดยเฉพาะความเจริญของภูมิภาคส่งผลให้ราชการ และประชาชนคนไทยต้องปรับตัว และปรับวิถีทางของความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นการติดต่อทางสังคม และเศรษฐกิจของประชาชนก็เปิดกว้างขวางขึ้น ในรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และให้สามารถบังคับใช้กับประชาชนคนไทยทั่วประเทศโดยการออกบัตรจะมี “กรมการปกครอง” เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการออกบัตรประจำตัวประชาชนทั่วประเทศ สาระสำคัญที่แตกต่างกับฉบับปี 2486 มีหลายประการ เช่น การกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่ต้องมีบัตรต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยอายุระหว่าง 17 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ บัตรมีอายุ 6 ปี กำหนดค่าธรรมเนียมในการออกบัตรหรือเปลี่ยนบัตร ไว้ฉบับละ 5 บาท และให้ยกเลิกบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นแรก และใช้บัตรประชาชนรุ่นที่ 2 แทน

โดยตัวบัตรมีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสีขาวดำ รายการผู้ถือบัตรพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดธรรมดาเคลือบพลาสติกใส ขนาดกว้าง 6 เซนติเมตร ยาว 9 เซนติเมตร ด้านหน้า เป็นรูปตราครุฑอยู่ตรงกลาง มีข้อความ “สำนักงานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชนกระทรวงมหาดไทย” วันที่ออกบัตร และวันบัตรหมดอายุ ด้านหลัง เป็นรายการของผู้ถือบัตร ประกอบด้วยรูปถ่ายที่มีเส้นบอกส่วนสูง เป็นนิ้วฟุต ใต้รูปจะมีเลข และตัวอักษรแสดงถึงอำเภอที่ออกบัตร และเลขทะเบียนบัตร และตราประจำตำแหน่งเจ้าพนักงานออกบัตรปรากฏอยู่ทางด้านซ้าย ส่วนด้านขวาจะมีชื่อตัว ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด อายุ ที่อยู่ และลายมือชื่อเจ้าพนักงานออกบัตร พร้อมขยายอายุผู้มีบัตร 17 ปีแต่ไม่เกิน 70 ปี อายุบัตร 6 ปี ค่าธรรมเนียมในการออกบัตร และเปลี่ยนบัตร 5 บาทจำนวนบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นนี้ ตั้งแต่ปี 2506-2530 รวม 24 ปี ประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบัตร จึงเป็นที่รู้จักและแพร่หลายของคนไทยในช่วงระหว่างปีดังกล่าว ข้อเสียของบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่ 2 คือ พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 ใช้บังคับได้ประมาณ 21 ปี พบว่า มีจุดอ่อนหลายประการ คือ อายุของผู้ที่จะต้องมีบัตรที่กำหนดไว้ 17 ปีบริบูรณ์ ไม่สัมพันธ์กับกฎหมายคุ้มครองแรงงานประกอบกับกฎหมายฉบับนี้ กำหนดการให้นับอายุตามปีพุทธศักราช ทำให้จำนวนประชาชนผู้ขอยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนจะมายื่นทำบัตรกันมากในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-ก.พ. ของทุกปี และปัญหาทางข้อกฎหมายทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง

บัตรประชาชนรุ่นที่ 3 เริ่มมีการจัดเก็บข้อมูลผู้ทำบัตรและการตรวจสอบรายการบัตรเดิม ดำเนินการในรูปของฐานข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2531 ที่มาภาพ: สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

บัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่ 3 (ใช้ระหว่างปี 2531-2538) ในสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ยกเลิก พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 และตรา “พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526” ขึ้นใช้บังคับแทน กฎหมายนี้ได้ปรับปรุงจุดอ่อนของกฎหมายฉบับก่อน ได้แก่ การลดอายุของผู้ที่จะต้องขอมีบัตรจาก 17 ปีบริบูรณ์ เป็น 15 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การนับอายุผู้ขอมีบัตร 15 ปีบริบูรณ์ ให้นับชนวันเดือนปีเกิดของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นการนับอายุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากนั้น ได้ขยายระยะเวลาการขอมีบัตรเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ 60 วัน เป็น 90 วัน กำหนดให้บัตรที่ยังใช้ได้ในวันที่ผู้ถือบัตร มีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ สามารถใช้ได้ต่อไปจนกว่าผู้ถือบัตรจะเสียชีวิต กำหนดลักษณะความผิดเกี่ยวกับบัตร และบทลงโทษเพิ่มขึ้น และไม่เก็บค่าธรรมเนียมในการขอมีบัตรครั้งแรก หรือขอมีบัตรใหม่เมื่อบัตรเดิมหมดอายุ การเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสูงขึ้น ทั้งประเทศค่ายเสรีประชาธิปไตย ค่ายสังคมนิยม ค่ายคอมมิวนิสต์ และค่ายประเทศที่สาม ทำให้มีบุคคลต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นทั้งในลักษณะของผู้เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย และผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองโดยมิชอบ ความต้องการบัตรประจำตัวประชาชนในหมู่ของคนต่างด้าวเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้เหมือนคนไทย ก่อให้เกิดปัญหาการปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชนระบาดอย่างหนักนอกจากนี้ตัวแปรทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคเอกชน และภาคราชการไทยสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องกระตุ้นให้มีการเรียกร้องปรับปรุงรูปโฉมของบัตรประจำตัวประชาชนให้สวยงาม ก้าวหน้าทันสมัย และสามารถป้องกันการปลอมแปลงได้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้มีมติในปี 2529 เห็นชอบโครงการปรับปรุงระบบการผลิตบัตรประจำตัวประชาชนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอและอนุมัติให้ดำเนินการได้ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกโฉมหน้าของบัตรประจำตัวประชาชน มาสู่รูปแบบใหม่เป็นบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่ 3

โดยบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่ 3 เป็นบัตรรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 5.4 เซนติเมตร ยาว 8.4 เซนติเมตร คล้ายกับบัตรประชาชนรุ่นที่ 2 ที่โดดเด่น คือ รูปถ่ายเจ้าของบัตรเป็นรูปพิมพ์สี และเคลือบวัสดุพิเศษป้องกันการปลอมแปลง ตัวบัตรจะเป็นสีขาว และมีลายพื้นเป็นเส้นสีฟ้าทั่วบัตรทั้งสองด้านด้านหน้าของบัตรมีรูปครุฑอยู่ตรงกลาง มีตัวอักษรคำว่า “บัตรประจำตัวประชาชน” อยู่ด้านบนครุฑคำว่า “กรมการปกครอง” อยู่ด้านซ้าย คำว่า “กระทรวงมหาดไทย” อยู่ด้านขวา ส่วนด้านล่างครุฑมีลายมือชื่อเจ้าพนักงานผู้ออกบัตร และตราประจำตำแหน่งด้านหลังของบัตรแถวบนสุดจะมีเลขประจำตัว 13 หลัก ซึ่งเป็นเลขชุดเดียวกับที่ปรากฏในทะเบียนบ้าน ถัดมาจะมีเลข 8 หลัก ซึ่งเลข 2 หลักแรกบ่งบอกถึงรอบของการออกบัตร ส่วนเลข 6 หลัก ต่อมาหมายถึงลำดับที่ของการทำบัตร ถัดลงมาด้านซ้ายจะมีรูปถ่ายของผู้ถือบัตรเป็นรูปสีธรรมชาติ โดยมีเส้นแสดงส่วนสูงเป็นเซนติเมตร ส่วนด้านขวาจะมีรายการของผู้ถือบัตร ประกอบด้วย ชื่อตัว ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด วันออกบัตร วันบัตรหมดอายุ และที่อยู่ ลักษณะที่พัฒนาซึ่งถือว่า เป็นจุดเด่นของบัตรรุ่นนี้ คือ รูปถ่ายผู้ถือบัตรเป็นรูปสี พิมพ์รายการผู้ถือบัตรด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ มีการป้องกันการปลอมแปลงด้วยการเคลือบวัสดุป้องกันการปลอมแปลงชนิดพิเศษ มีลายสัญลักษณ์รูปสิงห์ และคำว่า “กรมการปกครอง” ฝังอยู่ในเนื้อวัสดุไม่สามารถมองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า การจัดเก็บข้อมูลผู้ทำบัตร และการตรวจสอบรายการบัตรเดิมถูกดำเนินการในรูปของฐานข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์

วันเริ่มใช้บัตร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2531 เป็นต้นมา ส่วนข้อเสียของบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่ 3 คือ มีความล้าหลังในเรื่องระบบฐานข้อมูลทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน และการให้บริการประชาชนที่มีความล่าช้า

บัตรประชาชนรุ่นที่ 4 หรือ 'บัตรประจำตัวประชาชนไฮเทค' เนื่องจากทุกขั้นตอน ตั้งแต่การพิมพ์คำขอมีบัตร รายการบุคคลของผู้ขอมีบัตร รวมถึงภาพใบหน้า การลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงานออกบัตรและการตรวจสอบหลักฐานรายการบัตรเดิม ดำเนินการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น ที่มาภาพ: สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

บัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่ 4 (ใช้ระหว่างปี 2539-2546) ช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กระแส 'โลกาภิวัตน์' เริ่มเป็นที่กล่าวถึงในสังคมไทย ส่งผลให้เกิดแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ทันสมัย ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอ “โครงการจัดทำระบบการให้บริการประชาชนทางด้านการทะเบียนและบัตรด้วยระบบคอมพิวเตอร์” โดยเป้าหมายหลักที่จะนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการออกบัตรประจำตัวประชาชนอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งระบบเปลี่ยนแปลงรูปโฉมของบัตรให้ทันสมัย และเพื่อเป็นการปรับปรุงระบบการให้บริการประชาชน ให้สะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง ทั้งนี้ การผลิตบัตรจะกระจายไปถึงสำนักทะเบียนแต่ละแห่ง ประชาชนที่มาทำบัตรสามารถรอรับบัตรได้ทันทีด้วยความรวดเร็ว ภายในวันที่ติดต่อขอทำบัตร โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบรับ บ.ป. 2 หรือใบเหลืองอีกต่อไป โครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2538 หลังจากติดตั้งระบบ และให้บริการด้านทะเบียนราษฎรแล้วกรมการปกครอง จึงสามารถเปิดระบบให้บริการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่เป็นครั้งแรก ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร โดยถือปฐมฤกษ์ในวันที่ 5 ธ.ค. 2539 ทั้งนี้ยังคงใช้ พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 เพื่อบริการประชาชนในการขอทำบัตรในกรณีต่าง ๆ สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อรองรับการจัดทำบัตรระบบใหม่ ได้แก่ การออกกฎกระทรวง กำหนดลักษณะของบัตร และการประกาศกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการเท่านั้น

โดยบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่ 4 จะมีลักษณะคล้ายบัตรเครดิต ทำด้วยพลาสติก มีความยืดหยุ่น และแข็งแรง ขนาดมาตรฐานสากล (ISO) กว้าง 5.4 เซนติเมตร ยาว 8.6 เซนติเมตร หนา 0.76 มิลลิเมตร พื้นบัตรทั้ง 2 ด้านเป็นสีขาว มีลายสีฟ้าด้านหน้าของบัตร มีรูปถ่ายเจ้าของบัตร พร้อมรายการเกี่ยวกับประวัติของเจ้าของบัตร ได้แก่เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ชื่อตัว ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน หมู่โลหิต วันที่ออกบัตรวันที่บัตรหมดอายุ และมีลายมือชื่อเจ้าพนักงานผู้ออกบัตร ด้านหลังของบัตร มีคำว่า “บัตรประจำตัวประชาชน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย” รูปครุฑและแถบแม่เหล็ก สำหรับบันทึกข้อมูลของเจ้าของบัตร นอกจากนี้จะมีรหัสกำกับบัตร ซึ่งเป็นชุดของตัวเลขผสมตัวอักษร เพื่อควบคุมกำกับการออกบัตรของแต่ละสำนักทะเบียน รวมทั้งใช้แถบแม่เหล็กบันทึกข้อมูลผู้ถือบัตร และควบคุมรหัสการออกบัตร ผลิตด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งระบบ ประชาชนที่มาทำบัตรรอรับการบริการได้ทันทีภายในวันเดียวที่มายื่นทำบัตร โดยไม่ต้องรอใช้ใบเหลืองที่เป็นใบทดแทนบัตรประชาชนระหว่างรอบัตรใช้บัตรประชาชน บัตรรุ่นใหม่นี้ เรียกกันว่า “บัตรประจำตัวประชาชนไฮเทค” เนื่องจากทุกขั้นตอน ตั้งแต่การพิมพ์คำขอมีบัตร รายการบุคคลของผู้ขอมีบัตร ซึ่งรวมถึงภาพใบหน้า การลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงานออกบัตรและการตรวจสอบหลักฐานรายการบัตรเดิม ดำเนินการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น การให้บริการจัดทำบัตรระบบใหม่ด้วยคอมพิวเตอร์นั้น ได้ดำเนินการในรูปแบบของการตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ภาค จำนวน 9 ภาค เพื่อควบคุม และดูแลระบบการดำเนินงานของสำนักทะเบียนทุกแห่งทั่วประเทศ ส่วนข้อเสียของบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่ 4 คือ ระบบเทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูลมีความล้าหลังและต้นทุนของบัตรมีราคาสูง

 

อ่านเพิ่มเติม:
คนไทยรู้ยัง: คุณใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดรุ่นที่เท่าไร? ออกมากี่ใบ?
จับตา: เปรียบเทียบบัตรประชาชนตั้งแต่ปี 2486-2557
 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: