นศ.กัมพูชาในไทยยังถูกเหยียด ชี้แบบเรียนรัฐเป็นเครื่องมือสร้างอคติ

กานดา ประชุมวงค์ * TCIJ School รุ่นที่ 4 : 14 ก.ค. 2560 | อ่านแล้ว 30629 ครั้ง

หลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นศ.กัมพูชาข้ามแดนมาศึกษาในไทยเพิ่มมากขึ้น แต่คนไทยโดยเฉพาะนศ.ยังมีอคติกับนศ.กัมพูชา เผยผลวิจัยชี้แบบเรียนคือเครื่องมือในการสร้างอคติระหว่างสองชาติ ขณะที่นศ.กัมพูชายังเห็นความหวัง หากสองฝ่ายเรียนรู้และลดอคติ (ที่มาภาพ:ASEAN Watch)

สถานการณ์การศึกษาข้ามชาติหลังเปิดประชาคมอาเซียน

ภายหลังการเปิดประชาคมอาเซียน (Asean Comunity) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะรวมกันเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน รวมถึงสามารถเคลื่อนย้ายการลงทุนและแรงงานฝีมือได้อย่างเสรีภายใต้กฎกติกาที่ตกลงกัน

เมื่ออาเซียนคือการเปิดเสรีในด้านต่างๆ ระบบคมนาคมของประเทศสมาชิกอาเซียนก็เริ่มเดินทางไปมาหาสู่กันอย่างสะดวกสบายและง่ายขึ้น ส่งผลให้การเข้ามาประเทศไทยของคนในประเทศสมาชิกอาเซียนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิม และมักปรากฏให้เห็นว่ามีการกระจายตัวทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งการเข้ามาของพวกเขาเหล่านั้นประกอบไปด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยว นักกีฬา ครู/อาจารย์ แรงงาน รวมไปถึงนักศึกษา

การจัดการศึกษาในอาเซียน ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของอาเซียน หลังการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเห็นว่ามีความร่วมมือในการเปิดเสรีด้านการศึกษา ซึ่งครอบคลุมการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมกันด้านการศึกษา ความสามารถ ประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพสำคัญต่างๆ ควบคู่กับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน ทั้งนี้ระบบการศึกษาไทยก็มีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการเปิด-ปิดภาคเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียนอีกด้วย ที่เรียกกันติดปากว่า ’ปิดเทอมอาซียน‘

เมื่อระบบต่างๆ อำนวยให้การเดินทางข้ามไป-มาสะดวกขึ้น ทำให้ปริมาณนักศึกษาต่างชาติในประเทศอาเซียน เกิดการแลกเปลี่ยนจากเดิมที่มีจำนวนมากยิ่งมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งกับประเทศไทยเอง

เสียงสะท้อนของนักศึกษาข้ามแดน

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเปิดเผยตัวเลขนักศึกษาที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดและในกำกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาปีการศึกษาประจำปี 2556 พบว่า มีจำนวน 18,814 คน ซึ่งในจำนวนนี้ประกอบด้วยนักศึกษากัมพูชาจำนวน 1,018 คน

ขณะที่จำนวนนักศึกษาจากอาเซียน ที่เข้ามาศึกษาในประเทศไทย พบว่ากัมพูชาอยู่ในลำดับที่ 4 รองจากพม่า 1,610 คน ลาว 1,372 คน และเวียดนาม 1,083 คน (อ่านเพิ่มเติมที่ 'จับตา: จำนวนนักศึกษาอาเซียนที่ศึกษาในประเทศไทย')

บรรยากาศยามว่างของนักศึกษาชาวกัมพูชาและนักศึกษาไทย ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

เฉพาะนักศึกษากัมพูชาที่เข้ามาศึกษาในจังหวัดศรีสะเกษ ที่มีจำนวน 23 คน แบ่งออกเป็นนักศึกษากัมพูชาในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จำนวน 11 คน นักศึกษากัมพูชาในมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จำนวน 12 คน

นายเมือง ตราว นักศึกษาชาวกัมพูชา ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จังหวัดศรีสะเกษ

นายเมือง ตราว นักศึกษากัมพูชาที่กำลังศึกษาอยู่ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สาขาสัตวศาสตร์ จังหวัดศรีสะเกษ เล่าถึงช่วงระยะเวลาแรกที่เข้ามาศึกษา ณ สถาบันแห่งนี้ว่า มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับเพื่อนคนไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเชื้อชาติ ที่เพื่อนร่วมสถาบันมักจะอ้างว่าประเทศกัมพูชาเป็นฝ่ายปล้นเอาดินแดน 4 รัฐ ในช่วงที่ฝรั่งเศสครอบครองดินแดนไป รวมถึงแย่งชิงปราสาทเขาพระวิหารของคนไทยไปอีกด้วย

“ตอนมาเรียนในไทย ช่วงแรกๆ ก็จะโดนคนไทยบอกว่า เขมรเอาเขาพระวิหารของไทยไปบ้าง เอาดินแดน 4 รัฐในยุคที่ฝรั่งเศสครอบครองอาณานิคมไปบ้าง เอาตัวอักษรไทยไปบ้าง” เมืองกล่าว

เช่นเดียวกับนายปราบ (นามสมมติ) ซึ่งเล่าว่า“ตอนที่มาเรียนใหม่ๆ เพื่อนๆ ที่นี่เขาจะบอกอยู่บ่อยๆว่าพวกเราเอาเขาพระวิหารของคนไทยไป และก็เอาตัวหนังสือไทยไปด้วย” ปราบกล่าว

เหล่านี้คือคำตอบต่อคำถามถึงปัญหาและอุปสรรคของนักศึกษากัมพูชาในการเข้ามาศึกษาในไทย นำมาสู่การตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดคนไทยจึงเกิดกระบวนการคิดและความรู้สึกจงเกลียดจงชังคนกัมพูชา และความคิดความรู้สึกนี้เกิดขึ้นจำเพาะกับคนไทยหรือเปล่า ?

ชี้ ‘แบบเรียน’ สร้างอคติและชาตินิยม

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ปลูกสร้างความเป็นชาติทั้งชาติไทยและกัมพูชา ก็คือแบบเรียนของรัฐที่บรรจุเนื้อหาต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งอาจทำขึ้นโดยความตั้งใจและมีความหมายแฝงตามกระบวนการสร้างชาติของรัฐไทย

งานวิจัยของ เปรม จาบ ศึกษา ข้อพิพาทพรมแดนกัมพูชา-ไทย ปัญหาชาตินิยมและอำนาจ : ศึกษากรณีปราสาทพระวิหาร(เสียงสะท้อนจากกัมพูชา) มีข้อเสนอว่า ในการทำงานวิเคราะห์หลักสูตรการศึกษาระดับประถมศึกษาของกระทรวง ศึกษาธิการไทย  พบว่าหลักสูตรมีลักษณะแสดงให้เห็นทัศนะและอคติต่อประเทศเพื่อนบ้าน เช่นในแบบเรียนประวัติศาสตร์ จะกล่าวถึงการเสียดินแดนให้กับประเทศเพื่อนบ้านในยุคอาณานิคม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกัมพูชา

ขณะเดียวกันหนังสือ ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์  ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ยังได้กล่าวถึงแบบเรียนไทยที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ว่า มีแก่นเรื่องที่แน่นอนตายตัวคือ ประเทศไทยดำรงอยู่ได้ตลอดมาด้วยการทำสงครามรักษาเอกราชเอาไว้ และไม่เคยตกอยู่ในอาณานิคมของใครตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เมื่อหันมาดูแบบเรียนรัฐทางฝั่งกัมพูชา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษา เยาวชนและกีฬา แบบเรียนของเขาเองก็ปรากฏว่ามีการสอดแทรกเนื้อหาให้ผู้เรียนเกิดทัศนะและอคติระหว่างกันเช่นกัน ดังเช่นในผลการวิจัย ของ ชาญชัย คงเพียรธรรม เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์บทอ่านในหนังสือเรียนภาษาเขมรระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 กล่าวถึงแบบเรียนกัมพูชาว่ามีเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ในบทอ่านหรือหลักสูตรแฝง เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากเนื้อหาที่กระทรวงศึกษา เยาวชน และกีฬา กำหนดไว้ในหลักสูตรปกติ

ตัวอย่างเช่นในหนังสือเรียนภาษาเขมรระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 บทเรียนที่ 1 เรื่อง วีรชนเก่งกล้า เป็นการให้เรื่องราวของวีรวีรบุรุษท้องถิ่นชาวเขมร ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ สิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวนี้คือการบอกว่าสยามเป็นศัตรูร้ายในสายตาของคนเขมร คอยกดขี่ย่ำยีเขมรอยู่ตลอดเวลา การกระทำและความโหดร้ายนี้ ทำให้คนเขมรพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าพวกเขาเองสู้ไม่ได้ เพื่อปกป้องประเทศบ้านเกิด

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเรื่อง การเสนอแนวทางการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา จากการวิเคราะห์เนื้อหาประวัติศาสตร์ในหนังสือแบบเรียนสังคมศึกษา ของ มัทนียา พงศ์สุวรรณ ยังพบว่าแบบเรียนทั้งในหนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษาของประเทศไทยและกัมพูชา ปรากฏว่ามีเนื้อหาประวัติศาสตร์ด้านการเมืองการปกครองที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ด้านการสงครามมากที่สุด

‘มายาคติ’ แบ่งพรมแดนความสัมพันธ์

เมื่อประชาชนของทั้งสองรัฐชาติต่างสร้างมายาคติต่อกัน ทั้งที่เกิดจากกระบวนการสร้างของรัฐทั้งสองประเทศและปัจจัยอื่น เช่น การมีประสบการณ์ส่วนตัวที่ยังคงปรากฏและดำรงอยู่กับสังคมทั้งสองประเทศเช่นนี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าหลังการรวมตัวเป็นหนึ่งในประชาคมอาเซียน มายาคติที่มีระหว่างกันของทั้งไทยและกัมพูชาเหล่านี้จะหายไปหรืออย่างน้อยที่สุด บาดแผลที่เคยมีจะสมานกันดีขึ้นกว่าเดิม

ผศ.ชานนท์ ไชยทองดี อาจารย์ประจำสาขาภาษาไทย คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสระเกษ กล่าวถึงอนาคตในห้วงเวลาที่ทั้งคู่เป็นสมาชิกอาเซียนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาว่า หากเราคิดว่าจะทำให้การมองของประชาชนไทยและกัมพูชาที่มีต่อกันเต็มไปด้วยการเข้าอกเข้าใจก็คงจะยาก หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ ภาพของชาวกัมพูชามักปรากฏในสื่อด้วยการถูกนำเสนอให้เห็นความยากจนเต็มไปด้วยผู้คนยากไร้ ประกอบอาชีพขอทาน รับจ้างต่าง ๆ ไม่ก็นำเสนอภาพของผู้คนที่ได้รับบาดแผลจากผลพวงสงครามสมัยเขมรแดง

“ที่ผ่านมาสื่อไทยมักให้ภาพของประเทศกัมพูชาไปในลักษณะของพื้นที่ ที่ให้นักการเมืองไทยหรือผู้ร้ายไปหลบซ่อน โดยมีผลประโยชน์บางอย่างเคลือบแฝง ภาพของความล้าหลังปรากฏในวรรณกรรมเพื่อนบ้านที่ชวนให้เราสยดสยองกับคนที่ไปสมสู่กับงู เหล่านั้นหลอมรวมเป็นมายาคติที่ชวนให้เรายากที่จะมองกันและกันในแง่บวก แต่แปลก ที่หากภาพของประเทศหรือประชาชนชาวกัมพูชาได้รับการนำเสนอจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีนักแสดงชื่อดังเป็นสื่อบุคคล เรากลับให้ความสนใจต่อประเทศกัมพูชาในฐานะของพื้นที่ที่ควรใส่ใจดูแลมากกว่าการเหยียดหยาม” ผศ.ชานนท์ กล่าว

ขณะเดียวกัน นายฮงลี ฮอง นักศึกษากัมพูชาซึ่งกำลังศึกษาระดับปริญญาโท คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ  กลับมองถึงความสัมพันธ์อนาคตในลักษณะค่อนข้างมั่นใจว่าทั้งสองประเทศ จะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะทั้งประเทศไทยและกัมพูชามีอาณาเขตและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันมาก

“ไทยกับกัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ใกล้เคียงกันมาก แล้วเป็นประเทศอยู่ในประชาคมอาเซียนเดียวกันที่จะต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ผมเชื่อว่าประเทศทั้งสองจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เรามีทูตประจำประเทศถ้ามีปัญหาเราจะต่อสู้กันทางการทูต เราต้องเข้าใจกัน รับรู้กฎหมายนานาชาติ สร้างความสัมพันธ์โดยการประกวด กีฬา แลกเปลี่ยนการศึกษา วัฒนธรรม ต่างๆ และการนำออกนำเข้าสินค้า” นายฮงลี กล่าว

จะเห็นได้ว่า การปลูกฝังและถ่ายทอดประวัติศาสตร์แห่งชาติผ่านแบบเรียนและระบบการศึกษาของรัฐ ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ปลูกฝังให้คนในชาติไทยและกัมพูชาเองกลายเป็นศัตรูกัน ส่งผลให้คนในชาติเกิดความรู้สึกเหนือกว่าและด้อยกว่าซึ่งกันและกันเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ความหวังในการลบล้างอคติเหล่านี้ มีคำตอบอยู่ในสายลมหรือในแบบเรียนแห่งชาติกันแน่ ?

อ้างอิง

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2557). ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์  ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน.

เปรม จาบ. (2555). ศึกษาข้อพิพาทพรมแดนกัมพูชา-ไทย ปัญหาชาตินิยมและอำนาจ : ศึกษา  กรณีปราสาทพระวิหาร(เสียงสะท้อนกับกัมพูชา).

ชาญชัย คงเพียรธรรม. (2555). การศึกษาวิเคราะห์บทอ่านในหนังสือเรียนภาษาเขมรระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6.

มัทนียา พงศ์สุวรรณ. (2547). การเสนอแนวทางการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา จากการวิเคราะห์เนื้อหาประวัติศาสตร์ในหนังสือ  แบบเรียนสังคมศึกษา.

 

*กานดา ประชุมวงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: จำนวนนักศึกษาอาเซียนที่ศึกษาในประเทศไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: